จากฮีตสิบสอง ถึงปัญญา


สว่าง ไชยสงค์ นักเขียนเรื่องเกี่ยวกับคติอีสาน ที่มีมุมมองแบบ KM

จากฮีตสิบสอง ถึงปัญญา

สว่าง ไชยสงค์

        ฮีตสิบสอง เป็นวิถีของคนอีสานที่สืบทอดกันมานมนาน มีการเรียนรู้ทั้งระดับชาวบ้านและในโรงเรียน วันก่อนผมก็ได้นำเรื่องนี้ไปสอนนักเรียน ซึ่งเด็กยุคใหม่บางคนก็รู้ บางคนก็ไม่รู้ ตามแต่ประสบการณ์ของแต่ละคน แต่เด็กบางคนรู้ไปถึงคลองสิบสี่ด้วย ก็นับว่าเป็นเรื่องสบายใจของผู้ใหญ่ที่เด็กรู้ถึงขนาดนั้น
     "ฮีต" เป็นคำย่อของ "จารีต" เพราะอีสานใช้ "ฮ" แทน "ร" ฮีตสิบสองก็คือ จารีตที่ปฏิบัติกันในแต่ละเดือน ตรงกับทางภาคกลางว่าประเพณี 12 เดือนนั่นเอง ในสมัยโบราณเขาถือเอาเดือนอ้ายเป็นการเริ่มต้นปีใหม่ (เดือนเจียงก็เรียก) แล้ววนไปจนถึงเดือน 12 เป็นเดือนสุดท้าย ในแต่ละเดือนมีประเพณีประจำเดือน ประเพณีเหล่านั้นส่วนใหญ่เป็นเรื่องพุทธศาสนา แต่ถ้าเป็นเรื่องอื่นก็พยายามดึงเข้าพุทธ เพื่อให้ได้โอกาสทำบุญด้วย คือ
     เดือนอ้าย เป็นบุญเข้าปริวาสกรรม ผญาประกอบมีว่า   "เถิงเมื่อเดือนเจียงเข้ากลายมาแถมถ่าย ฝ่ายหมุ่สังฆเจ้าเตรียมเข้าอยู่กรรม"
     เดือนยี่ ทำบุญคูณลาน  ผญาประกอบมีว่า   "พอเมื่อเดือนยี่ได้ล้ำล่วงมาเถิง ให้พากันหาฟืนสู่คนโฮมไว้"
     เดือนสาม  บุญข้าวจี่  ผญาประกอบมีว่า    "เดือนสามค้อยเจ้าหัวคอยปั้นเข้าจี่ ข้าวจี่บ่ใส่น้ำอ้อยจัวน้อยเช็ดน้ำตา" หรือ   "เถิงเมื่อเดือนสามได้จงพากันทำข้าวจี่ ไปถวายสงฆ์เจ้าเอาแท้หมู่บุญ"
     เดือนสี่ บุญมหาชาติ ชาวอีสานนิยมเรียกว่า "บุญผผะเหวด" (พระเวสสันดร)    

     เดือนห้า บุญตรุษสงกรานต์

     เดือนหก บุญบั้งไฟ นอกจากนี้ก็มีพิธีรดน้ำพระสงฆ์ยกฐานเป็น ยาซา ยาครู สำเร็จและบวชลูกหลาน
     เดือนเจ็ด บุญซำฮะ (ชำระ) หรือเรียกว่าทำบุญด้วยเบิกบ้าน ทำ    ผญาประกอบมีว่า   "เดือนเจ็ดแล้วจงพากันบูชาราช ฝูงหมู่เทพเล่านั้นบูชาแท้ซู่ภาย"
     เดือนแปด ทำบุญเข้าพรรษา  ผญาประกอบมีว่า   "เดือนแปดได้ล้ำล่วงมาเถิง ฝ่ายหมู่สังโฆคุณเข้าวัสสาจำจ้อย"

     เดือนเก้า ทำบุญข้าวประดับดิน  ผญาประกอบมีว่า     "เดือนเก้าแล้วเป็นกลางแห่งวัสสกาล ฝูงประชาชาวเมืองเล่าเตรียมกันไว้      พากันนานยังข้ววประดับดินกินก่อน ทายกนานให้เจ้าพระสงฆ์พร้อมซู่ภาย"     

เดือนสิบ ทำบุญเข้าสาก (สลากภัต)     "เถิงเดือนสิบแล้วทายกทอดบัวบาน เบิกพลีทำทานต่อมาสองซ้ำ  ข้าวสากน้ำไปให้สังโฆทานทอด พากันหวังยอดแก้วนิพพานพ้นที่สูง"
     เดือนสิบเอ็ด ทำบุญออกพรรษา ผญาประกอบมีว่า       "เถิงเดือนสิบเอ็ดแล้วเป็นแนวทางป่อง เป็นช่องของพระเจ้าเคยเข้าแล้วออกมา      เถิงวัสสามาแล้ว 3 เดือนก็เลยออก เฮียกว่าออกพรรษาปวารณากล่าวไว้ เอาได้เล่ามา"
     เดือนสิบสอง ทำบุญกฐิน  ผญาประกอบมีว่า     "ในเดือนนี้เฟิ่นว่าให้ลงทอดพายเฮือ ช่วงกันบูชาฝูงนาโคนาคเนาในพื้น"

ส่วนคลองสิบสี่ คือครรลอง หรือ  แบบแผน แนวทางการดำเนินชีวิตคล้าย ๆ กับคำฝรั่งหนึ่งว่า "Way of life" แต่คลองในที่นี้มุ่งไปทางศีลธรรมประเพณีที่ถูกผิดมากกว่าด้านอาชีพ เห็นจะตรงกับภาคกลางว่า ทำนองคลองธรรม นั่นเอง แต่ชาวอีสานออกเสียงคลองเป็นคองไม่มีกล้ำ เช่นว่าถ้าทำไม่ถูกผู้ใหญ่ท่านจะเตือนว่า "เฮ็ดบ่แม่นคอง" หรือว่า "เฮ็ดให้ถืกฮีตถืกคอง" เป็นต้นฉบับของท่านเจ้าพระอริยานุวัตร มีคำฮีตนำหน้าด้วย คือ
     1. ฮีตเจ้าคลองขุน เป็นหลักสำหรับผู้ปกครองในสมัยโบราณ ขุนก็คือเจ้าเมือง เช่น ขุนเบฮม ขุนลอ ขุนทึง เป็นต้น (ภาคกลางก็มีเช่นพ่อขุนรามคำแหง)
     2. ฮีตท้าวคลองเพีย (เจ้าปกครองขุน)

     3. ฮีตไพร่คลองนาย (ไพร่ปฎิบัติต่อนาย)
     4. ฮีตบ้านคลองเมือง (ประเพณีของบ้านเมือง)
      5. ฮีตปู่คลองย่า
      6. ฮีตตาคลองยาย
      7. ฮีตพ่อคลองแม่ (พรหมวิหารธรรม)
      8. ฮีตไภ้คลองเขย (หลักปฎิบัติของลูกสะใภ้ลูกเขย)
      9. ฮีตป้าคลองลุง
      10. ฮีตลูกคลองหลาน
      11. ฮีตเถ้าคลองแก่ (ธรรมของผู้ชายที่มีต่อเด็ก)
     12. ฮีตปีคลองเดือน (คือฮีตสิบสองนั่นเอง)
      13. ฮีตไฮ่คลองนา
      14. ฮีตวัดคลองสงฆ์

ทีนี้ เรามาดูบุญปริวาสกรรม  ซึ่งเป็นฮีตประจำเดือนอ้าย ว่าเป็นอย่างไร มีอานิสงฆ์ใดบ้าง

ปริวาสกรรม เป็น พุทธบัญญัติ เป็นพระบรมพุทธานุญาต  เมื่อพระองค์ทรงบัญญัติสังฆาทิเสสสิกขาบทแล้ว ทรงบัญญัติวุฏฐานวิธี คือปริวาสกรรม อันเป็นวิธีออกจากอาบัติไว้ด้วย  เรื่องปริวาสกรรมนี้เป็นหัวข้อใหญ่ หัวข้อหนึ่งในพระวินัยปิฏกเล่มที่ 6  จุลลวรรค   ปริวาสิกขันธกะ และสมุจจยขันธกะ

พระวินัยมิใช่ที่สุดของเป็นพรหมจรรย์ แต่เป็น อาทิพรหมจรรย์ (เบื้องต้นของ

พรหมจรรย์) ความเข้าใจนี้เป็นสิ่งที่ระบุให้ผู้รักษาพระวินัยสำเหนียกอยู่ในตัวอยู่แล้ว   ความกังวลในพระวินัยนั้นอาจจะเกิดขึ้นได้สำหรับผู้ปฏิบัติ ที่ไม่เข้าใจถึงจุดประสงค์ที่แท้จริงของพระวินัย หากเป็นเช่นนั้น พระวินัยก็จะกลายเป็นอุปสรรคไป มิใช่อุปการะ เป็นการยึดมั่นในข้อวัตรหรือสีลัพพตปรามาส อันเป็นการเข้าใจจุดมุ่งหมายในการรักษาพระวินัยอย่างไม่ถูกต้อง

ภิกษุปุถุชนมีโอกาสล่วงละเมิดพระวินัยได้เสมอ พอ ๆ กับที่ฆราวาสปุถุชนมีโอกาสผิดศีล 5 ตราบใดที่ยังมีกิเลสเป็นเหตุให้ทำความผิดอยู่   เพราะฉะนั้นจึงต้องอาศัยหิริโอตตัปปะมีสติเป็นสิ่งยับยั้งเตือนใจเป็นอย่างมาก    พระอริยะเจ้าเท่านั้นที่ศีลของท่านกลายเป็นปกติศีล คือไม่ต้องระวังก็ไม่มีโอกาสละเมิด เพราะเหตุว่ากิเลสอันเป็นเหตุให้ละเมิดศีลได้หมดไปจากใจท่านแล้ว

ความจริงคำว่า”วินัย” กับ “ศึล”  ผมว่าเหมือนกัน เพียงแต่วินัยใช้กับพระ ศีล ใช้กับฆราวาส และต่างกันที่จำนวนข้อ และความเข้มข้นในการปฏิบัติ

การรักษาศีลเป็นการเพียรพยายามเพื่อระงับโทษทางกายและวาจา อันเป็นเพียงกิเลสหยาบมิให้กำเริบขึ้น และเป็นการบำเพ็ญบุญบารมีที่สูงขึ้นกว่าการให้ทาน ทั้งในการถือศีลด้วยกันเอง ก็ยังได้บุญมากและน้อยต่างกันไป กล่าวกันว่า

1. การให้อภัยทาน แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถือศีล 5 แม้จะได้ถือแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม

2. การถือศีล 5 แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถือศีล 8 แม้จะถือแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม

3. การถือศีล 8 แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถือศีล 10 คือการบวชเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา แม้จะบวชมาได้แต่เพียงวันเดียวก็ตาม

4. การที่ได้บวชเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา แล้วรักษาศีล 10 ไม่ให้ขาด ไม่ด่างพร้อย แม้จะนานถึง 100 ปี ก็ยังได้บุญน้อยกว่าผู้ที่ได้อุปสมบทเป็นพระในพระพุทธศาสนา มีศีลปาฏิโมกข์สังวร 227 แม้จะบวชมาได้แต่เพียงวันเดียวก็ตาม
ฉะนั้น ในฝ่ายศีลแล้ว การที่ได้อุปสมบทเป็นพระในพระพุทธศาสนาได้บุญบารมีมากที่สุด เพราะเป็นเนกขัมมบารมีในบารมี 10 ทิศ ซึ่งเป็นการออกจากกามเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติธรรมขั้นสูงๆ คือการภาวนาเพื่อมรรค ผล นิพพาน ต่อๆไป ผลของการรักษาศีลนั้นมีมาก ซึ่งจะยังประโยชน์สุขให้แก่ผู้นั้นทั้งในชาตินี้และชาติหน้า เมื่อได้ละอัตภาพนี้ไปแล้วย่อมส่งผลให้ได้บังเกิดในเทวโลก 6 ชั้น ซึ่งแล้วแต่ความละเอียดประณีตของศีลที่รักษาและที่บำเพ็ญมา ครั้งเมื่อสิ้นบุญในเทวโลกแล้วด้วยเศษของบุญที่ยังคงหลงเหลืออยู่แต่เพียงล็กๆน้อยๆหากไม่มีอกุศลกรรมอื่นมาให้ผล ก็อาจจะน้อมนำให้ได้มาบังเกิดเป็นมนุษย์ที่ถึงพร้อมด้วยสมบัติ 4 ประการ เช่นอานิสงส์ของการรักษาศีล 5 กล่าวคือ

(1) ผู้ที่รักษาศีลข้อ 1 ด้วยการไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ด้วยเศษของบุญที่รักษาศีลข้อนี้ เมื่อน้อมนำมาเกิดเป็นมนุษย์ก็จะทำให้มีพลานามัยแข็งแรง ปราศจากโรคภัย ไม่ขี้โรค อายุยืนยาว ไม่มีศัตรูเบียดเบียนให้ต้องบาดเจ็บ ไม่มีอุบัติเหตุต่างๆที่จะทำให้บาดเจ็บหรือสิ้นอายุเสียก่อนวัยอันสมควร
(2) ผู้ที่รักษาศีลข้อ 2 ด้วยการไม่ถือเอาทรัพย์ของผู้อื่นที่เจ้าของมิได้เต็มใจให้ ด้วยเศษของบุญที่นำมาเกิดเป็นมนุษย์ ย่อมทำให้ได้เกิดในตระ+++ลที่ร่ำรวย การทำมาหาเลี้ยงชีพในภายหน้ามักจะประสบช่องทางที่ดี ทำมาค้าขึ้นและมั่งมีทรัพย์ ทรัพย์สมบัติไม่วิบัติหายนะไปด้วยภัยต่างๆ เช่น อัคคีภัย วาตภัย โจรภัย ฯลฯ

(3) ผู้ที่รักษาศีลข้อ 3 ด้วยการไม่ล่วงประเวณีในคู่ครอง หรือคนในปกครองของผู้อื่น ด้วยเศษของบุญที่รักษาศีลข้อนี้ เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็จะประสบโชคดีในความรัก มักได้พบรักแท้ที่จริงจังและจริงใจ ไม่ต้องอกหัก อกโรย และอกเดาะ ครั้นเมื่อมีบุตรธิดา ก็ว่านอนสอนง่าย ไม่ดื้อด้าน ไม่ถูกผู้อื่นหลอกลวงฉุดคร่าอนาจารไปทำให้เสียหาย บุตรธิดาย่อมเป็นอภิชาตบุตร ซึ่งจะนำเกียรติยศชื่อเสียงมาสู่วงศ์ตระกูล

(4) ผู้รักษาศีลข้อ 4 ด้วยการไม่กล่าวมุสา ด้วยเศษของบุญที่รักษาศีลข้อนี้ เมื่อนำมาเกิดเป็นมนุษย์ จะทำให้เป็นผู้ที่มีสุ้มเสียงไพเราะ พูดจามีน้ำมีนวลชวนฟัง มีเหตุมีผลชนิดที่เป็น "พุทธวาจา" มีโวหารปฏิภาณไหวพริบในการเจรจา จะเจรจาความสิ่งใดก็มีผู้เชื่อฟังและเชื่อถือ สามารถว่ากล่าวสั่งสอนบุตรธิดาและศิษย์ให้อยู่ในโอวาทได้ดี

(5) ผู้ที่รักษาศีลข้อ 5 ด้วยการไม่ดื่มสุราเมรัยเครื่องหมักดองของมึนเมา ด้วยเศษของบุญที่รักษาศีลข้อนี้ เมื่อนำมาเกิดเป็นมนุษย์ ย่อมทำให้เป็นผู้ที่มีสมอง ประสาท ปัญญา ความคิดแจ่มใส จะศึกษาเล่าเรียนสิ่งใดก็แตกฉานและทรงจำได้ง่าย ไม่หลงลืมฟั่นเฟือนเลอะเลือน ไม่เสียสติ วิกลจริต ไม่เป็นโรคสมอง โรคประสาท ไม่ปัญญาทราม ปัญญาอ่อนหรือปัญญานิ่ม

อานิสงส์ของศีล 5 มีดังกล่าวข้างต้น สำหรับศีล 8 ศีล 10 และศีล 227 ก็ย่อมมีอานิสงส์เพิ่มพูนมากยิ่งๆขึ้นตามระดับและประเภทของศีลที่รักษา

อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่าศีล คือเครื่องกำจัดกิเลสอย่างหยาบ สมาธิ คือเครื่องกำจัดกิเลสอย่างกลาง ปัญญา คือเครื่องกำจัดกิเลสอย่างละเอียด ดังนั้นถ้ามุ่งตรงสู่นิพพาน  อย่าลืมใช้ปัญญา นตฺถิ ปญฺญา สมาอาภา  แสงสว่าง เสมอด้วยปัญญา  ไม่มี

วันนี้ขึ้นธรรมมาสมาพอสมควร ขอลงก่อน เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้.

ปิดท้ายด้วยของฝากจากมหาสว่าง

คติอีสาน

1. ย่านคนอื่นได้ลื่น คือ อิจฉา
2. ย่านผู้อื่นเว้าให้ คิอ กลัวการนินทา
3. ย่านเฮ็ดบ่ได้ คือขาดความมั่นใจ
 
1. จังวะ (ไม่รู้เรื่องใด ๆเลย)
2. จักแหล่ว คือไม่รู้เรื่อง
3. แล้วแต่หมู่ คิอ ตามเพื่อน
4. กูว่าแล้ว คือ ชอบซ้ำเติม

หมายเลขบันทึก: 344753เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2010 13:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 13:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ย่าน เพราะว่าเป็นตาย่านละมี บ่ คะรับ

ออนซอนเด้

ผู้เพิ่นสืบฮอยตา

ผู้เพิ่นว่าฮอยปู่

จิ่งได้เอิ้น "พ่อตู้"

ติ่มไว้บ่อนผญา

ออนซอนหลาย

ขอบคุณทุกคำติชม และการม้ำใจมาแวะเวียนของกัลยาณมิตร เบญจมิตร และสมาชิกป่งใบทุรูปทุกนาม ช่วงนี้ผมงานล้นมือจริง ๆ เหนื่อยหนักกับชีวิต ที่อุดมด้วยอุปสรรคคอยถาโถมโลมเลียจนหนาวเหน็บ แต่ก็จะสู้ ขอบคุณทุกท่านนะคะรับ

คือคน เมืองตักสิลา

ขอให้สุขกับการทำงานทุกท่าน เทอญ

ที่ภาคเหนือปีนี้ข่าวว่าออกข้อสอบบรรจุครู มีเรื่อง ฮีตสิบสอง คลองสิบสี่ด้วยแหละ และหลายคนก็งง เพราะเป็นคนยุค Post modernization

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท