แบบของผู้บริหาร


สิ่งที่สำคัญที่ทุกคนใฝ่หาให้ได้มา คือ “เกียรติยศและศักดิ์ศรี”

แบบของผู้บริหาร

             ผู้นำหรือผู้บริหาร องค์การ หน่วยงาน จะเป็นที่หอมหวนชวนฝันของบุคคลทั่วไปที่ทำงานในองค์การหรือหน่วยงานนั้นๆ เพราะผู้บริหารคือผู้ที่มี “สิทธิ”และ “อำนาจ” ในการบังคับบัญชาผู้อื่น นับสิบ นับร้อย นับพัน ตามแต่ขนาดขององค์การ แต่ยังมีสิ่งที่สำคัญที่ทุกคนใฝ่หาให้ได้มา คือ “เกียรติยศและศักดิ์ศรี” การจะขึ้นเป็นผู้นำหรือผู้บริหารเป็นเรื่องยากและลำบากยิ่ง จะอาศัยความรู้ ความสามารถอย่างเดียวคงไม่สำเร็จแล้ว ซึ่งบางคนต้องอาศัย “เส้นตาย” หรือ “เงินตรา” เป็นบันได แต่เมื่อได้มาแล้วการที่จะดำรงอยู่เป็นผู้บริหารหรือผู้นำให้ยาวนานก็เป็นเรื่องที่ยากยิ่งขึ้นหากบริหารงานไม่รูปแบบ ไม่มีเทคนิคในการบริหาร หรือ กุมหัวใจของผู้ใต้บังคับบัญชาได้ให้เป็นหนึ่งเดียวแล้ว ก็อย่าหวังถึงความสำเร็จในการบริหารองค์การนั้นๆ ในที่นี้จะแยกแยะผู้บริหารออกตามบทบาทที่ผู้บริหารของหน่วยงาน ที่รับผิดชอบ ออกเป็น 4 แบบดังนี้

            1. ผู้บริหารแบบพนักงานขับรถไฟ  รถไฟซึ่งมีตารางเวลาในการวิ่งแน่นอนและตลอดเส้นทางก็มีการปิดกั้นไม่ให้มีสิ่งใดมากีดขวาง เมื่อไม่มีอุปสรรค พนักงานขับรถไฟก็สามารถนำรถไฟไปถึงจุดหมายปลายทางตรงตามเวลาที่กำหนด จะเห็นว่าพนักงานขับรถไฟปฏิบัติหน้าที่ไปตามตามระบบที่ถูกกำหนดไว้แล้ว หากไม่มีอุปสรรคใดๆ พนักงานขับรถไฟก็ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ บรรลุเป้าหมาย ผู้บริหารหากบริหารงานตามแบบพนักงานขับรถไฟ โดยไม่ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ใดๆ ทำตามที่เขาบอกให้ทำ หากเลื่อนขั้นสูงขึ้นไปในตำแหน่งที่จะต้องคิดและบอกให้คนอื่นทำ จะเกิดปัญหาได้เพราะเคยแต่ทำงานตามสั่งหรือตามที่คนอื่นบอกให้ทำเท่านั้น ไม่ได้เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ใดๆ

            2. ผู้บริหารแบบนายแพทย์ แพทย์เป็นผู้แก้ปัญหา รักษาการเจ็บป่วยของคนไข้ไม่ได้ควบคุมร่างกายคนไข้เหมือนพนักงานรถไฟ ความสำเร็จคือเห็นคนไข้มีสุขภาพดี ความสำเร็จผู้บริหารแบบนี้คือการเห็นหน่วยงานของตนเองไม่มีปัญหา เมื่อรักษาผู้ป่วยให้หายแล้วก็ถือว่าเสร็จสิ้นภาระของตนเอง ตราบใดที่คนไม่เจ็บป่วยหรือไม่เกิดปัญหาในองค์การแพทย์หรือผู้บริหารแบบนี้ก็จะมีความสุขและจะไม่ดำเนินการใดๆ อีกเลย

             3. ผู้บริหารแบบชาวนา ชาวนามีจิตมุ่งที่จะเพิ่มผลผลิตเพื่อผลิตข้าวให้ได้มากที่สุด หากนำการเปลี่ยนแปลงมาสู่ท้องนาอาจทำได้โดยเปลี่ยนพันธุ์ข้าว เปลี่ยนหรือเพิ่มวิธีการเกี่ยวข้าวและนวดข้าวที่มีประสิทธิภาพ แต่เขาจะไม่คิดอะไรนอกเหนือจากท้องนาที่ทำ ข้าวมีราคาถือว่าประสบความสำเร็จ เป็นผู้ปฏิบัติ ผู้แก้ปัญหา เป็นผู้เฝ้ารอและแสวงหาโอกาส อาศัยฝนตกตามฤดูกาล ผู้บริหารแบบชาวนาจะเต็มใจแสวงหาโอกาส แต่อยู่ภายในขอบเขตที่กำหนด จะไม่เปลี่ยนทิศทางง่ายๆ

            4. ผู้บริหารแบบชาวประมง  ชาวประมงทำงานด้วยความเสี่ยง ไม่มีพื้นที่เป็นของตนเองไม่มีอะไรเป็นหลักประกัน ออกหาปลาก็ได้ปลากลับมา หาไม่ได้ตามคาดหวังหรือเจอมรสุม อุปสรรค ก็อาจไม่ประสบผลสำเร็จ เป็นผู้แสวงหาโอกาสอย่างแท้จริง ชาวประมง “มีทักษะ มีประสบการณ์ และมีเครื่องมือ” ทำให้ประสบความสำเร็จได้ง่าย ผู้บริหารแบบชาวประมงเน้นการพัฒนาทักษะ และเทคนิคในการทำงาน พร้อมที่จะทำงานได้เมื่อมีโอกาส ผิดกับผู้บริหารแบบชาวนาที่เน้นผลผลิตหรือการตลาด

               จากแบบของผู้บริหารข้างต้น หากนำมาใช้ผสมผสานในโรงเรียน ทั้ง 4 แบบจะทำให้หน่วยงานมีประสิทธิภาพ เกิดประสิทธิผลได้สูงสุดเช่นกัน โดยต้องยึดระบบระเบียบตามแบบพนักงานขับรถไฟ  รักษาระบบให้ดี ทำงานให้ได้ดี ปราศจากปัญหาหรือแก้ปัญหาได้ตามแบบนายแพทย์    เเสวงหาให้เกิดผลผลิตสูงสุด ด้วยการปฏิบัติภารกิจภายในขอบเขตที่กำหนดให้ตามแบบชาวนา  และนอกจากภาระหน้าที่ดังกล่าวแล้วต้องกล้าที่จะคิดสร้างสรรค์และพัฒนางานในทุกโอกาสที่เอื้ออำนวยตามแบบชาวประมง 

หมายเลขบันทึก: 344767เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2010 14:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 13:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท