พวกเราอาจจะคิดว่า ต้องออกกำลัง “อย่างเป็นทางการ” เช่น วิ่ง ว่ายน้ำ เล่นกีฬา ฯลฯ ถึงจะได้ออกกำลังกาย และได้แรง(แข็งแรง)
ข่าวดีคือ การใช้แรงในชีวิตประจำวันก็มีส่วนช่วยเผาผลาญพลังงานได้มาก ช่วยป้องกันโรคอ้วน เมื่อใช้แรงก็จะได้แรง(แข็งแรง)
คนเราควรออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อยเทียบเท่าการเดินเร็วครั้งละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 ครั้งขึ้นไป หรือเทียบเท่าการออกกำลังอย่างหนัก เช่น วิ่งจ๊อกกิ้งครั้งละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3 ครั้งขึ้นไป ฯลฯ
ถ้านับเป็นก้าว... คนเราควรจะเดินให้ได้วันละ 10,000 ก้าว ข่าวดีคือ การใช้แรงทำงานในชีวิตประจำวันมีส่วนช่วยให้ร่างกายเผาผลาญไขมันส่วนเกินออกไป
ตัวอย่างการใช้แรง 15 นาทีในกิจกรรมต่างๆ จะช่วยให้เราเข้าใจคุณค่าของการใช้แรงในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น ตัวเลขในวงเล็บเปรียบเทียบจำนวนพลังงานที่ใช้เทียบกับการเดินออกกำลังกาย 10,000 ก้าว
- การยืนรดน้ำต้นไม้เทียบเท่าเดิน 600 ก้าว / 6 %
- เก็บและล้างจาน 900 ก้าว / 9 %
- ยืนทำอาหาร 950 ก้าว / 9.5 %
- เล่นจานร่อน โบว์ลิ่ง ทำงานไม้ 1,200 ก้าว / 12 %
- เข็นรถซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ต 1,400 ก้าว / 14 %
- ทำความสะอาดบ้าน 1,400 ก้าว / 14 %
- เล่นปิงปอง ขี่ม้า 1,600 ก้าว / 16 %
- ล้างรถ 1,850 ก้าว / 18.5 %
- ใช้พลั่วขุดดิน 1,950 ก้าว / 19.5 %
กิจกรรมทางเพศอย่างแข็งขันจะใช้แรงเทียบเท่าการเดิน 750 ก้าว หรือ 7.5 % ของการเดิน 10,000 ก้าว
ตัวอย่างข้างต้นคงจะบอกอะไรเราได้บ้าง เช่น ถ้าล้างรถแทนไปจ้างคนอื่นล้าง 15 นาทีจะได้ออกแรงประมาณ 1 ใน 5 ของการออกกำลังขึ้นต่ำใน 1 วัน ฯลฯ
ถ้าใช้แรงโน่นบ้างนี่บ้าง หลายๆ อย่างรวมกันก็จะได้ออกแรงมากขึ้น ป้องกันโรคอ้วน และโรคเรื้อรังได้หลายอย่าง เช่น ความดันเลือดสูง เบาหวาน ฯลฯ
ผู้เขียนเห็นคำขวัญพิมพ์ไว้บนเสื้อยืดตัวหนื่งว่า “สุขภาพดีเริ่มต้นที่ตัวเรา” จึงขอเรียนเชิญท่านผู้อ่านใช้แรงในชีวิตประจำวันในทางสร้างสรรค์ให้มากขึ้นครับ...
แหล่งข้อมูล:
- ขอขอบคุณ > ออกกำลังโดยไม่รู้ตัว. สรรสาระ Reader’s Digest (มีนาคม 2549). ปี 3 ฉบับ 6. หน้า 134.(จาก “The Low Gi Diet”. Hodder Headline, Australia.).
- ความเห็นและการอ้างอิงในบันทึกเป็นไป เพื่อสนับสนุนการให้ข้อมูลข่าวสาร และส่งเสริมการดูแลสุขภาพ... ไม่ใช่เพื่อการรักษา
-
ท่านที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาทันตแพทย์ แพทย์ หรือบุคลากรสุขภาพที่ดูแลท่าน เช่น หมออนามัย พยาบาล เภสัชกร นักโภชนาการ นักวิทยาศาสตร์การกีฬา ฯลฯ
- ขอขอบพระคุณ > โรงพยาบาลค่ายสุรศักดิ์มนตรี + อาจารย์เทวินทร์ อุปนันท์ IT + หน่วยรังสีกรรม > สนับสนุนทางเทคนิค + อินเตอร์เน็ต.
- ขอขอบพระคุณ > ศูนย์มะเร็งลำปาง + อาจารย์ ณรงค์ ม่วงตานี และอาจารย์เทพรัตน์ บุณยะประภูติ IT + กลุ่มงานรังสีวินิจฉัย > สนับสนุนทางเทคนิค + อินเตอร์เน็ต.
- นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ ศูนย์มะเร็งลำปาง จัดทำ > ๑๗ มิถุนายน ๒๕๔๙
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นพ. วัลลภ พรเรืองวงศ์ ใน บ้านสุขภาพ