สภามหาวิทยาลัยดูแลความถูกต้องชอบธรรมในการดำเนินกิจการของมหาวิทยาลัยอย่างไร



          นี่ก็เช่นเดียวกันกับ ๒ บันทึกที่แล้ว    ผมได้แนวคิดมาจากการอภิปรายของนักศึกษาหลักสูตรธรรมาภิบาลเพื่อพัฒนาอุดมศึกษา รุ่น ๐ เมื่อวันที่ ๒๖ ก.พ. ๕๓   ต่อกรณีศึกษาที่มีปัญหาคณะกรรมการสรรหากรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนหนึ่งใช้วิธีตกลงกันไว้ล่วงหน้า (บล็อกโหวด)    ใช้มติของเสียงข้างมากทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง    คือเลือกพรรคพวกของตนมาเป็นกรรมการสภาฯ ผู้ทรงคุณวุฒิ    ซึ่งเรื่องจริงเกิดขึ้นที่ มรภ. แห่งหนึ่ง 

          ความถูกต้องชอบธรรมในการดำเนินกิจการของมหาวิทยาลัย ขึ้นกับ

*  ระบบกำกับดูแล (UG) ที่เอาใจใส่ ตรงไปตรงมา   ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจหรือเกรงใจฝ่ายบริหาร


*  ระบบการบริหารที่มีความสามารถ ซื่อสัตย์สุจริต


*  การดำเนินการระดับปฏิบัติการ


          จากเอกสารกรณีศึกษา แสดงให้เห็นว่า ข้อบังคับว่าด้วยการสรรหากรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ มีปัญหา คือเปิดโอกาสให้ฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยรวมหัวกันกำหนดตัวกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ    โดยกำหนดให้อธิการบดีเป็นประธาน และกรรมการสรรหาจากผู้บริหาร ๖ คน  จากคณาจารย์ ๕ คน   รวมเป็น ๗ : ๕  

          นักศึกษากลุ่มนี้เสนอวิธีแก้ไขหรือป้องกันปัญหานี้โดย

๑.  องค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาควรให้นายกสภาฯ เป็นประธาน   และมีกรรมการจากภายนอกที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียเพิ่มขึ้น เช่น นายกสมาคมศิษย์เก่า  ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก   เพื่อให้เกิด check and balance ในคณะกรรมการสรรหา


๒.  ควรกำหนดหลักเกณฑ์การได้มาซึ่งรายชื่อกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ   ว่าจะต้องมีองค์ประกอบเหมาะสม   สามารถทำงานเป็นองค์คณะได้ดี  เช่นมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านบัญชีและการเงินอย่างน้อย ๑ คน  ด้านกฎหมายอย่างน้อย ๑ คน  ด้านการบริหารอย่างน้อย ๑ คน  ด้านกลุ่มสาขาวิชาที่มหาวิทยาลัยต้องการเน้นอย่างน้อย ๑ คน เป็นต้น 

          ผมมีข้อสังเกตว่า การดำเนินการ ณ จุดใดก็ตาม แบบเล่นพวก   จะนำไปสู่ความเสื่อมในด้านอื่นๆ จุดอื่นๆ ตามมา   เพราะการเล่นพวกมีแนวโน้มจะไม่สุจริตสูง เสี่ยงต่อเจตนาของการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง    และการเล่นพวกกำหนดตัวบุคคลที่จะมาทำหน้าที่กำกับดูแล เท่ากับเป็นการทำลายระบบกำกับดูแลนั่นเอง   ถือเป็นพฤติกรรมทุจริต พูดแรงๆ ได้ว่าเป็นอาชญากรรม 

          ผมมองว่า สภามหาวิทยาลัยมีหน้าที่สร้างวัฒนธรรมซื่อสัตย์สุจริตในการหาองค์ประกอบของกลไกกำกับดูแลที่เข้มแข็ง   เห็นคุณค่าของกลไกกำกับดูแลที่มีคุณภาพสูง ต่อความวัฒนาถาวรของสถาบัน   โดยที่ธรรมชาติของกลไกกำกับดูแลมหาวิทยาลัยเป็น self-governance      

 

วิจารณ์ พานิช

๒๖ ก.พ. ๕๓

                 
          
                 

หมายเลขบันทึก: 344492เขียนเมื่อ 15 มีนาคม 2010 13:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 13:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท