มาตรฐานการใส่คำสำคัญ (Tag)


ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ คนนี้ใส่อย่างหนึ่ง อีกคนใส่อย่างหนึ่ง จนบางครั้งผมเองก็งงว่าจะใช้คำว่าอะไรดีน๊อ เพราะไม่รู้ว่าจะใช้มาตรฐานหรือนิยามของคำ ๆ นั้นอย่างไรดี

บันทึกนี้ขอต่อยอด ขอยืนยันและเห็นด้วยกับแนวคิดและคุณประโยชน์ที่ มะปรางเปรี้ยว ให้เขียนบอกเล่าให้เราได้ฟังในบันทึก การใช้งาน Gotoknow.org » คำสำคัญ (Tag) : "R2R" เชื่อมโยงบันทึกและรวบรวม "มรดกความรู้" ได้อย่างอัศจรรย์ รวมทั้งขออนุญาตแลกเปลี่ยนเรียนรู้และขอคำแนะเพิ่มเติมจากทีมงานว่าเราจะสามารถพัฒนาเรื่องคำสำคัญหรือ tag นี้ให้ได้มาตรฐานเพื่อประโยชน์ที่มากขึ้นได้อย่างไร

จากประสบการณ์น้อย ๆ ของผม (ซึ่งเป็น Tacit knowledge) ในเรื่องของการใส่ tag นี้ ถ้าเกิดเป็นตัวย่อสั้น ๆ ดังเช่นที่ มะปรางเปรี้ยว ยกตัวอย่างมา เช่น r2r หรือ km แบบนี้เวลาใส่แล้วเมื่อต้องการค้นหาก็มักจะไม่ค่อยมีปัญหา แต่ตัวที่มีปัญหานั้นจะเกิดขึ้นกับชื่อเต็มโดยเฉพาะอย่างยิ่ง tag ภาษาไทย

ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ คนนี้ใส่อย่างหนึ่ง อีกคนใส่อย่างหนึ่ง จนบางครั้งผมเองก็งงว่าจะใช้คำว่าอะไรดีน๊อ เพราะไม่รู้ว่าจะใช้มาตรฐานหรือนิยามของคำ ๆ นั้นอย่างไรดี

ยกตัวอย่างที่เห็นได้ใกล้ตัวหน่อยจากบันทึก การใช้งาน Gotoknow.org » คำสำคัญ (Tag) : "R2R" เชื่อมโยงบันทึกและรวบรวม "มรดกความรู้" ได้อย่างอัศจรรย์ เช่นที่มะปรางเปรี้ยวใส่คำว่า การวิจัย ไว้อันหนึ่ง แล้วก็ใส่คำว่า งานประจำสู่งานวิจัย ไว้อีกอันหนึ่ง ซึ่งผมเองก็ไม่แน่ใจว่าคนที่ทำงาน r2r นี้ ใช้คำแปลเป็น r2r เป็นภาษาไทยว่าอะไร...?

หรือว่าจะยกตัวอย่างให้ชัดขึ้นมาหน่อยก็อย่างเช่น คำสำคัญ 2 คำนี้ที่ใส่ไว้ก็คือ tag  กับ tags ซึ่งแน่นอนว่าเวลาที่ search หรือค้นหาตามคำสำคัญ ถ้าเราใส่อักษรไม่เหมือนกันแม้แต่ตัวเดียว (มี s กับ ไม่มี s) หรือการเว้นช่องว่างระหว่างคำที่ไม่เหมือนกัน ก็จะได้ผลลัพธ์ทางสถิติที่ต่างกัน

ถ้าหากเราจะพัฒนาการเก็บสถิติให้มีมาตรฐานมากขึ้นแล้ว ผมขออนุญาตขอคำแนะนำจากทีมงานซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญมากที่สุดในเรื่องนี้ว่าเราควรจะที่ใช้วิธีการอย่างไรดี

ซึ่งถ้าย้อนอดีตกลับไปที่จำได้แว๊บ ๆ ครั้งหนึ่ง ผมเคยเห็นที่เว็บใดสักเว็บหนึ่ง (อาจจะเป็น Gotoknow นี้มั๊ง) ที่พอพิมพ์ตัวอักษรเข้าไปในช่อง tag แล้ว ก็จะมี tag แนะนำอัตโนมัติขึ้นมาข้าง ๆ ว่า คำที่เกี่ยวข้องกับ tag นั้น มีใครเข้าใช้อะไรกันบ้าง คำนี้มีคนใช้กันเท่าไหร่ เรียงลำดับจากมากไปน้อย 

แล้วถ้าจำไม่ผิดอีก ก็มีครั้งหนึ่งที่หน้าจอ G2K เคยมีการโชว์ tag ทั้งหมดให้เห็น (ในหน้าจอเดียวกัน) ผมเคยเข้าไปอ่านดู เห็นมีเต็มไปหมดเลย บางครั้งก็เรื่องเดียวกัน คำเดียวกัน แต่ก็เขียนแตกต่างกันออกไปนับเป็น 10 รูปแบบ ซึ่งเวลา search ตาม tag เพื่อหาบันทึกที่สนใจในเรื่องนั้น ก็จะต้องไล่ใส่ tag ให้ครบทุกอย่างตามที่ Blogger ใส่กันไว้อย่างแตกต่างกัน

เพราะถ้าเราไล่ตามไม่ครบ เราก็อาจจะมีสิทธิที่จะหลุดบันทึก ๆ ดี ๆ ที่ผู้เขียนบอกเล่าเรื่องราวความรู้ฝังลึกของเขาไว้ก็ได้ ซึ่งสิ่งนี้ผมมองว่า (ซึ่งอาจจะผิด) ผู้ที่มาค้นหาความรู้ใน G2K คงหลุดไปหลายบันทึกเหมือนกัน เพราะว่าพิมพ์ tag ไม่ตรงกัน

ที่กล่าวมาเมื่อสักครู่นี้ก็เป็นประโยชน์ในมิติของผู้ใช้งาน

แต่ถ้ามองถึงมิติของผู้ดูแลระบบแล้ว ข้อมูลทางสถิติที่จะใช้ในการสรุปรายงานประจำปีที่จะต้องเสนอต่อหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องหรือมีหน่วยงานมาขอตัวเลขสถิติเพื่อใช้ในการวางแผนพัฒนาประเทศ ถ้ามีตัวเลขทางสถิติที่ชัดเจนว่า มีบันทึกทางด้าน r2r เท่าไหร่  บันทึกเรื่อง km เท่าไหร่ บันทึกเรื่อง lo เท่าไหร่ ที่ถึงแม้จะใช้ tag ทั้งภาษาไทยและภาษาไทยอังกฤษ ตัวย่อหรือตัวเต็มแล้วได้ผลออกมาใกล้เคียงกัน หรือไม่เกิดความแตกต่างกันจนมีนัยยะสำคัญทางสถิติ ก็น่าจะทำให้ระบบสถิติทางด้านวิชาการของประเทศไทยเรานี้มี "มาตรฐาน" มากยิ่งขึ้น

สถิติวิชาการที่ได้มาตรฐานนี้ ก็จะทำให้ "เพื่อนร่วมงาน" ของเราในองค์กรอื่น ๆ ไม่ว่าจะสถาบันการศึกษา กระทรวง ทบวง กรม สามารถหยิบยกสถิติเหล่านี้ไปใช้วางแผน กำหนดนโยบาย เพื่อที่จะทำให้ทิศทางในการพัฒนาประเทศไปในทางเดียวกันและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ผมจึงขออนุญาตสรุปในประเด็นที่เขียนบอกเล่ามาทั้งหมดนี้ว่า ถ้าหากเราทำ tag หรือคำสำคัญให้ได้มาตรฐานแล้ว เราจะสามารถสร้างคุณประโยชน์ให้กับวงการวิชาการไทยนี้ได้อย่างเอนกอนันต์ ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าการลงทุนทำงานให้ได้มาตรฐานในครั้งเดียวก็สามารถใช้งานและสร้างประโยชน์ได้อย่างหลากหลายและยาวนาน ไม่ว่าจะเป็น blogger ผู้ดูแลระบบ นักวิชาการ นักศึกษา หน่วยงานราชการหรือแม้นกระทั่งองค์กรทางธุรกิจ

ซึ่งขออนุญาตแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับ มะปรางเปรี้ยว และทีมงานรวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องทุกท่านไว้เบื้องต้นดังคร่าว ๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วครับ

ขอบพระคุณเป็นอย่างสูง

ปภังกร วงศ์ชิดวรรณ

14 มีนาคม 2553

คำสำคัญ (Tags): #r2r#tag#tags
หมายเลขบันทึก: 344323เขียนเมื่อ 14 มีนาคม 2010 19:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท