สุนทร เตียวัฒนาตระกูล
สุนทร เตียวัฒนาตระกูล กิตติ์ เตียวัฒนาตระกูล

จากทฤษฎีสู่การประยุกต์


ความสำคัญของการเปลี่ยนแปลง หลักการสู้การปฏิบัติจริง

จากทฤษฎีสู่การประยุกต์ 

                     ทฤษฎีการแพร่กระจายเริ่มตั้งแต่การดำเนินการในภาคเกษตรกรรมไปจนถึงการจัดการทางการตลาด ที่ก่อให้เกิดการแพร่กระจายความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทั้งด้านผลิตภัณฑ์และแนวความคิด มุ่งเน้นที่วิธีการที่นักเทคโนโลยีนำนวัตกรรมที่เกิดขึ้นมาใช้ในการเพิ่มผลผลิต รวมถึงในด้านการศึกษาที่พยายามตรวจสอบหาวิธีการที่เหมาะสมในการนำสื่อมาดัดแปลงให้ใช้ทางการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมการเรียนแบบ 1 สัปดาห์ หรือวิธีการเรียนที่ครอบคุลมทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา Aufderheide (1993) กล่าวว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อคือ คนที่มีความสามารถถอดรหัส ประเมิน วิเคราะห์ และผลิตสื่อพื้นฐานและสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ โดยวัตถุประสงค์หลักคือ สามารถเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสื่อต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ ดังนั้น วัตถุประสงค์หลักของทฤษฎีการแพร่กระจายมุ่งเน้นตรวจสอบวิธีการที่สามารถนำโปรแกรมสื่อต่างๆ ไปประยุกต์ใช้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องจัดให้มีการตรวจสอบ ทบทวน เพื่อให้สามารถนำนวัตกรรมที่เกิดขึ้นไปใช้กับโรงเรียนทั่วประเทศได้เช่นกัน

ทฤษฎีการแพร่กระจายนวัตกรรม

                Rogers กล่าวว่า การแพร่กระจายต้องอาศัยทฤษฎีหลายทฤษฎีด้วยกัน ในทางทฤษฎีจะต้องเกี่ยวข้องกับแนวคิดด้านการแพร่กระจายเป็นทฤษฎีหลัก การแพร่กระจายเป็นกระบวนการที่นำนวัตกรรมมาดัดแปลงโดยสมาชิกของชุมชน มีองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

       1. ตัวสื่อ              2. ช่องทางการสื่อสาร                3. เวลา           4. ธรรมชาติของสังคม

                สอดคล้องกับผลการวิจัยของ Ryan and Gross ที่ทำการวิจัยโดยการสัมภาษณ์เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการแพร่กระจาย ซึ่ง Rogers ได้นำเสนอทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการแพร่กระจายนวัตกรรม 4 ทฤษฎี คือ ทฤษฎีการตัดสินใจเลือกนวัตกรรม  ทฤษฎีคุณลักษณะของสื่อ ทฤษฎีอัตราการเปลี่ยนแปลง และทฤษฎีการยอมรับ

                ทฤษฎีการตัดสินใจเลือกนวัตกรรม ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน คือ

                1. ขั้นการรับรู้ คือ การเรียนรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมที่เกิดขึ้น
                2. ขั้นการชักจูงใจ คือ การถูกชักชวนให้ใช้นวตกรรมนั้นๆ

                3. ขั้นการตัดสินใจปรับปรุงสื่อ

               4. ขั้นประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน

                5. ขั้นการยอมรับนวัตกรรม

                ทฤษฎีคุณลักษณะของสื่อ เป็นการศึกษาเกี่ยวกับผู้ที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงสื่อ จากการวิจัยพบว่า ผู้ที่ทำหน้าที่ด้านสื่อมีลักษณะการเปลี่ยนแปลงเป็นรูประฆัง คือ

                1. กลุ่มของผู้พัฒนาสื่อ (2.5%) เป็นผู้ทำหน้าที่นำสื่อต่างๆ มาพัฒนาและทดลองใช้ได้ด้วยตนเอง

               2. กลุ่มนักพัฒนาเบื้องต้น (13.5%) เป็นนักพัฒนาสื่อแบบง่ายๆ เบื้องต้น

                3. กลุ่มนักเทคโนโลยีทั่วไป (34%) เป็นกลุ่มผู้ใช้สื่อที่นำสื่อที่มีการพัฒนามาใช้ให้เกิดประโยชน์

               4. กลุ่มล้าหลัง (16%) มีลักษณะต่อต้านการเปลี่ยนแปลง

                ทฤษฎีอัตราการเปลี่ยนแปลง จากการวิจัยพบว่า การเปลี่ยนแปลงสื่อมีลักษณะเป็นรูปตัว S คือ อัตราการเริ่มต้นเป็นไปอย่างช้า และมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงกลางและหยุดการเจริญหรือเติบโตอย่างช้าในช่วงท้าย

                ทฤษฎีการยอมรับ แบ่งเป็นขั้นตอนต่างๆ คือ
                1. สื่อที่เกิดขึ้นใหม่ต้องมีความเชื่อมโยงกับสื่อเดิมที่มีอยู่แล้ว
                2. สื่อที่เกิดขึ้นใหม่ต้องมีคุณค่ามากขึ้นกว่าเดิม
                3. นวัตกรรมที่เกิดขึ้นใหม่ต้องไม่มีความซับซ้อน
                4. นวัตกรรมนั้นต้องพิสูจน์ได้ นำมาทดลองให้เกิดผลลัพธ์ที่ถูกต้องได้
เทคโนโลยีการเรียนการสอนและทฤษฎีการแพร่กระจาย
                 Surry and Farquhar เสนอแนะว่า นักเทคโนโลยีการศึกษาควรต้องศึกษาทฤษฎีการแพร่กระจายเนื่องจาก
                1. นักเทคโนโลยีการศึกษาไม่รู้สาเหตุของการเปลี่ยนแปลง เมื่อได้ศึกษาทฤษฎีการแพร่กระจาย นักเทคโนโลยีการศึกษาจะสามารถอธิบาย ทำนาย และหาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
                2. เทคโนโลยีการศึกษาต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติ เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าในการเรียนการสอนให้ทันสมัย เหมาะสมกับกาลเวลา
                3. นักเทคโนโลยีการศึกษามีความสามารถในการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ เพื่อค้นหารูปแบบที่เหมาะสมกับการเรียนการสอนมากที่สุด
                นอกจากนี้ ทฤษฎีการพัฒนาการเรียนการสอนเปรียบเสมือนหลักการ ที่มีการวิจัยในระดับมหภาคและจุลภาค การเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบเป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบการศึกษาให้เหมาะสมตามความต้องการ เป็นการปรับเปลี่ยนทั้งโครงสร้างและองค์กร ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงเพียงบางส่วนเท่านั้น
 การกำหนดแนวทางและการเลือกเครื่องมือ
                 Surry and Farquhar ได้แบ่งการเปลี่ยนแปลงออกเป็น 2 ส่วน คือ
                1. การกำหนดแนวทาง (นักพัฒนา)
                2. การเลือกเครื่องมือ (ผู้นำไปใช้)
                นักพัฒนามีความเชื่อหลากหลายกัน เช่น การเปลี่ยนแปลงไม่อยู่ในความควบคุมของมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงในสังคมเกิดขึ้นจากระบบต่างๆถูกแทนที่ด้วยระบบและผลผลิตที่มีความเกี่ยวข้องกันตามธรรมชาติ และเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและเป็นไปตามกระบวนการของวิวัฒนาการ  นักพัฒนามีความเห็นว่าเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่มีประโยชน์และมีคุณค่า เชื่อว่าเทคโนโลยีสามารถช่วยเยียวยาความเจ็บป่วยของมนุษย์ แต่ Surry and Farquhar มองว่า นักพัฒนาเป็นผู้คิด ประดิษฐ์ และนักผลิตเป็นต้นเหตุของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เน้นว่าเทคโนโลยีเป็นตัวแปรสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในสทุกส่วนที่มีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง
                ในด้านของผู้นำไปใช้ พบว่า ผู้ใช้เป็นตัวแปรสำคัญที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง โดย Burkman ได้นำเสนอกระบวนการการเปลี่ยนแปลงโดยให้ผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง แบ่งออกเป็น 5 ขั้นตอน คือ
                1. ระบุตัวผู้ใช้
                2. วัดระดับการรับรู้ของผู้ใช้
                3. พัฒนาสื่อ
                4. แจ้งกลับผลการใช้สื่อ
                5. นำผลมาปรับปรุงแก้ไข
ผู้ที่มีความสามารถในการใช้สื่อเป็นเหมือนนักพัฒนาทางเทคโนโลยี
                 Rogers ได้นิยามการแพร่กระจายว่า เป็นกระบวนการที่ใช้นวตกรรมเป็นสื่อที่มีช่องทางการสื่อสารที่แน่นอนผ่านไปยังสมาชิกของสังคม โดยนวัตกรรม หมายถึง แนวความคิดใหม่ วิธีการ หรือเครื่องมือใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น และกล่าวว่า เทคโนโลยีเป็นการออกแบบเครื่องมือที่ทันสมัยและช่วยมีผลกระทบช่วยสร้างความสัมพันธ์ต่อผลลัพธ์ที่ต้องการได้เป็นอย่างดี  เทคโนโลยีเป็นข้อมูลประเภทหนึ่งไม่ใช่เครื่องมือ แต่อาจนำเสนอในรูปของอุปกรณ์หรือซอฟต์แวร์ ความสามารถในการใช้สื่อเปรียบได้กับนวตกรรมอย่างหนึ่งเพราะเป็นการสร้างแนวความคิดใหม่ให้เกิดขึ้นกับผู้ใช้

 

การประยุกต์ทฤษฎีการแพร่กระจายไปสู่ความสามารถในการใช้สื่อ
                 การนำทฤษฎีการแพร่กระจายไปประยุกต์ใช้เป็นการสร้างความเข้าใจแก่ผู้ใช้สื่อให้มีความสามารถในการใช้สื่อมากขึ้น เนื่องจาก
                1. ทฤษฎีการแพร่กระจายเป็นแนวคิดที่ช่วยให้เกิดความเข้าใจในการใช้สื่อโดยเป็นแนวคิดที่พัฒนาขึ้นจากบุคคลในแวดวง เช่น นักเทคโนโลยีการศึกษามีความสามารถในการนำทฤษฎีการแพร่กระจายมาอธิบาย ทำนาย และหาปัจจัยที่ส่งเสริมการพัฒนาสื่อให้มีคุณภาพและเหมาะสมกับการใช้งาน โดยคำนึงความเหมาะสมในเรื่องของเวลา ลักษณะของผู้ใช้
                2. นักเทคโนโลยีทางการศึกษาสามารถนำเสนอการเปลี่ยนแปลงหรือเสนอแนะสื่อฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์ใหม่ๆ ได้
                3. การวิจัยทฤษฎีการแพร่กระจายจะส่งเสริมให้การสร้างรูปแบบของสื่อได้รับการตอบรับและสร้างความเข้าใจได้ดีขึ้น

 

 ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงนวัตกรรม
                 1. ตัวสื่อ พิจารณาในด้านต่างๆ  5 ด้าน คือ
                                1.1 ประโยชน์ที่เกี่ยวเนื่องกัน
                                1.2 ความสอดคล้อง
                                1.3 ความซับซ้อน
                               1.4 การพิสูจน์ข้อค้นพบ
                                1.5 การสังเกต
              ประโยชน์ที่เกี่ยวเนื่องกัน
                ประโยชน์ที่พบในการฝึกให้มีความสามารถในการใช้สื่อคือ นักเรียนสามารถเพิ่มระดับการเข้าถึงข้อมูล การวิเคราะห์ การประเมิน และการเข้าใจเนื้อหาผ่านสื่อได้มากขึ้น ความสามารถในการใช้สื่อจะช่วยให้นักเรียนมีทักษะในการคิดและการมองเห็นต่างๆ ที่ช่วยชักจูงให้นำเทคนิคต่างๆ มาใช้ในการสื่อสารผ่านสื่อ นักเรียนจะสามารถหาวิธีการสร้างรูปแบบการเข้าถึงข้อมูลด้วยตนเองผ่านสื่อใดๆ ก็ได้
                ตัวอย่างหนึ่งที่ใช้ในการทดสอบ คือ การให้นักเรียนคิดโฆษณาโทรทัศน์ เนื่องจาก 1. นักเรียนจะสามารถเข้าใจกระบวนการผลิตและสร้างสื่อที่ต้องถ่ายทอดเนื้อหาขึ้น 2. เรียนรู้การใช้เครื่องมือในการถ่ายทำ 3. สามารถประเมินผลของโฆษณาที่ผู้ฟังตอบสนองต่อโฆษณานั้น 4. สามารถทำงานเป็นทีมร่วมกับผู้อื่น ผู้เรียนจะต้องใช้ความสามารถในการวิเคราะห์ สร้าง ผลิต วิเคราะห์ผู้ชม เขียนบท  ฯลฯ ทั้งในขั้นก่อนและหลังการถ่ายทำ สามารถเชื่อมโยงขั้นตอนต่างๆ เข้าด้วยกันเพื่อผลิตผลงานโดยอาศัยทักษะในการใช้สื่อที่มีความหลากหลายประเภทด้วยกัน

 

                 ความสอดคล้อง
                ผู้ใช้สื่ออยากรู้ว่าในการฝึกทักษะจะสามารถสร้างคุณค่าและสอดคล้องกับความสามารถเดิมที่มีได้อย่างไร  เปรียบได้กับการสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนที่สอนให้นักเรียนอ่านและวิเคราะห์เหตุการณ์ในหนังสือนิยายที่ได้รับรางวัลต่างๆ เมื่อนักเรียนสามารถวิเคราะห์เหตุการณ์ได้จะสามารถเขียนแนวคิดหลัก เข้าใจความคิดของตัวละครและเนื้อหาในแต่ละส่วนได้ดี หรือในกรณีที่ศึกษา วิเคราะห์บทภาพยนตร์ นักเรียนจะเกิดความสามารถในการเขียนบทภาพยนตร์หลังจากสามารถวิเคราะห์ อธิบาย แนวคิดหลักของแต่ละตอนในภาพยนตร์ได้ รวมถึงการวิเคราะห์ด้านภาพ เสียง บท แสง เสียง ได้อีกด้วย  Kubey and Baker ได้วิจัยพบว่า ในการเรียนการสอน 48 รัฐจาก 50 รัฐ ได้สอนให้นักเรียนเกิดความรู้ ความเชี่ยวชาญในการเรียนภาษาและการสื่อสาร เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงกับความรู้ด้านอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น

 

                 ความซับซ้อน
                ผู้ใช้สื่อไม่ชอบการฝึกใช้สื่อที่มีลักษณะการฝึกยุ่งยาก จากอดีต ผู้สอนใช้เพียงหนังสือเป็นสื่อในการสอนเท่านั้น การนำสื่อมาใช้เริ่มต้นในช่วงปี 1970 เนื่องจากโทรทัศน์มีอิทธิพลต่อนักเรียนอย่างมาก จึงได้มีการจัดทำโครงการด้านการศึกษาเพื่อพัฒนาและสร้างสื่อใหม่ๆ ขึ้น แต่ไม่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการพัฒนาโครงการมีเนื้อหาจำนวนมาก  และในปัจจุบันสังคมมีผู้คนมากขึ้น การสื่อสาร และการศึกษามีความเจริญมากขึ้น การหาแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่มีความหลากหลายจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้สอน เว็บไซต์จึงเป็นแหล่งข้อมูลที่ช่วยให้ผู้สอนสามารถหาข้อมูลได้หลากหลาย จำนวนมาก และไม่ยุ่งยากในการใช้ สามารถนำมาประยุกต์ในการเรียนแต่ละบทหรือการเรียนรายบุคคลได้ ดังนั้น การฝึกฝนความสามารถในการใช้สื่อตึงต้องเป็นการใช้สื่อที่ช่วยสร้างแหล่งข้อมูลที่ไม่มีความยุ่งยากในการใช้งานด้วย

 

                 การพิสูจน์ข้อค้นพบ
                การพิสูจน์ข้อค้นพบหรือการทดลองใช้สื่อเป็นขั้นตอนสำคัญในการใช้สื่อเนื่องจากผู้ใช้สื่อต้องการทราบผลที่เกิดขึ้นจากการนำมาใช้จริง เช่น จากเดิมผู้สอนสอนหนังสือตามแผนการสอนที่จัดทำขึ้นเดิมอยู่เสมอ แต่เมื่อมีการกำหนดมาตรฐานและการใช้สื่อจะเป็นการช่วยให้ผู้สอนนำสื่อมาใช้ในกระบวนการเรียนการสอนได้ง่ายขึ้นและเป็นแนวทางในการจัดหลักสูตรได้อีกด้วย
                เช่น ในการเรียนสุขศึกษาเป็นวิชาสำคัญสำหรับนักเรียน  จากเดิมครูใช้วิธีการสอนเนื้อหาเกี่ยวกับสารอาหารแก่นักเรียน แต่เมื่อผู้สอนนำสื่อโทรทัศน์มาใช้ โดยให้นักเรียนเลือกตัวละครในหนังที่ชอบ และติดตาม จด อาหารและเครื่องดื่มที่ตัวละครกิน แล้วให้วิเคราะห์ผลของการกินอาหารนั้น นำมาอภิปรายร่วมกัน ผู้เรียนจะสามารถสร้างความสัมพันธ์ระหว่างชนิดของอาหาร ลักษณะการดำรงชีวิต ประเภท ขนาด รูปร่าง ประโยชน์ ของอาหารและคนที่กินอาหารประเภทนั้นๆ ได้

                 การสังเกต

                การสังเกตเป็นด้านที่ผู้ใช้สื่อต้องคำนึงถึง ถ้าผู้สอนสังเกตพฤติกรรมของนักเรียน เช่น ในการเรียนวิชาสุขศึกษา ผู้สอนสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการเรียนของนักเรียน ผู้สอนอาจเปลี่ยนวีการให้นักเรียนจดรายการอาหารที่นักเรียนกิน แล้วนำมาเปรียบเทียบกับนิสัยของนักเรียน  นั่นคือ ผู้สอนต้องรู้จักสังเกตเพื่อที่จะสามารถเลือกใช้สื่อได้ถูกต้องกับความสามารถในการเรียนของนักเรียน

 

                2. ช่องทางการสื่อสาร
                 การศึกษาช่องทางการสื่อสารที่ใช้ในการถ่ายทอดเนื้อหาเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่ง  Rogers กล่าวว่า ช่องทางการสื่อสาร คือ ส่วนที่ช่วยให้ข้อความ เนื้อหา ส่งผ่านจากผู้หนึ่งไปยังอีกผู้หนึ่งได้  โดยช่องทางการสื่อสารที่ดีจะต้องสามารถส่งผ่านข้อมูลได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ส่งข้อมูลแก่คนกลุ่มใหญ่ได้เป็นอย่างดี และผู้ฟังจะต้องได้รับแนวความคิดใหม่นี้เช่นกัน  ซึ่งวีการสื่อสารแบบ face to face เป็นการสื่อสารที่ส่งผลต่อผู้ฟังและมีประสิทธิภาพมากที่สุด

 

                 3. เวลา
                เวลาเป็นปัจจัยที่ได้รับการละเลยมากที่สุดในการวิจัย แต่ปัจจัยด้านเวลาถือเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญในการวิจัยเกี่ยวกับการแพร่กระจายข้อมูล แต่เนื่องจากเวลาเป็นตัวแปรที่มีเกณฑ์การวัดไม่แน่นอน จึงแบ่งปัจจัยด้านเวลาออกเป็นส่วนๆ ดังนี้

 

                   เวลากับกระบวนการตัดสินใจเลือกสื่อ

                  กระบวนการตัดสินใจเลือกสื่อเป็นกระบวนการที่แต่ละบุคคลเรียนรู้เกี่ยวกับสื่อใหม่ๆ  Rogers ได้นำเสนอขั้นตอน 5 ขั้นในกระบวนการ ได้แก่

                1. ขั้นการรับรู้ คือ การเรียนรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมที่เกิดขึ้น

                2. ขั้นการชักจูงใจ คือ การถูกชักชวนให้ใช้นวตกรรมนั้นๆ

                3. ขั้นการตัดสินใจปรับปรุงสื่อ
                4. ขั้นประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน
                5. ขั้นการยอมรับนวัตกรรม
                เนื่องจากในแต่ละขั้นตอนของการสร้างทักษะให้มีความสามารถในการใช้สื่อเป็นทักษะที่ต้องฝึกปฏิบัติกันอย่างยากลำบากและใช้ระยะเวลาในการเรียนรู้เป็นอย่างมาก เช่น ในอดีตโรงเรียนในสหรัฐอเมริกา 50 รัฐ ไม่ยอมรับการเรียนโดยใช้โทรทัศน์เป็นสื่อ เนื่องจากให้เหตุผลว่าการเรียนในห้องเรียน ทั้งด้านการอ่าน เขียน ฯลฯ มีความยุ่งยากอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้สื่ออื่นๆ มาสอนเพิ่มอีก ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อต้องใช้กระบวนการในการตัดสินใจเลือกสื่อ โดยใช้ระยะเวลานั้นการชักจูงใจเป็นเวลานานที่สุดเพื่อสร้างให้ผู้สอนเกิดความเข้าใจและนำโทรทัศน์มาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนจนเป็นที่แพร่หลาย ในปัจจุบันความก้าวหน้าในการตัดสินใจเลือกสื่อเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น ที่นิวเม็กซิโก ผู้สอนนำสื่อมาสอนแก่นักเรียนให้เกิดความชำนาญ โดยก้าวข้ามขั้นตอนการรับรู้และการชักจูงใจ ปลูกฝังให้นักเรียนฝึกฝนขั้นตอนการประยุกต์ใช้สื่อและยอมรับนวตกรรมจากการเรียนการสอน ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจ และวิธีการนี้กำลังได้รับความนิยมใน ฟลอริด้า เท็กซัส และแมซซาชูเสต อีกด้วย

                 เวลากับการเปลี่ยนแปลงรายบุคคล

                กระบวนการตัดสินใจเลือกสื่อเป็นกระบวนการที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของแต่ละบุคคล  Rogers ได้นิยามถึงการเปลี่ยนแปลงว่า เป็นระดับการเรียนรู้ที่ผู้เรียนแต่ละคนสามารถนำสื่อไปใช้ให้เกิดแนวความคิดใหม่มากกว่าที่สมาชิกคนอื่นๆ ในกลุ่มจะได้รับ ซึ่งกลุ่มผู้เรียนที่มีระดับการเรียนรู้สูงกว่ากลุ่มอื่นๆ เรียกได้ว่า ผู้นำด้านนวัตกรรม

                กลุ่มผู้นำด้านนวตกรรมมีลักษณะชอบเสาะหาข้อมูลใหม่ๆ และสามารถจัดลำดับการรับรู้ข้อมูลเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี ผ่านทางช่องทางการสื่อสารที่ส่งผ่านให้แก่คนทั่วไป ตรงกันข้ามกับกลุ่มคนล้าหลังที่มีลักษณะต่อต้าน ไม่ยอมรับข้อมูลผ่านช่องทางการสื่อสารที่จัดให้ หรือยอมรับข้อมูลผ่านช่องทางการสื่อสารที่ตนจำกัดขึ้นเท่านั้น

 

                 เวลากับอัตราการเปลี่ยนแปลง
                การเปลี่ยนแปลงสื่อจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ ในช่วงต้นของการเปลี่ยนแปลง และมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงกลางและหยุดการเจริญหรือเติบโตอย่างช้าในช่วงท้าย แสดงให้เห็นว่า ในการเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงใดๆ ผู้สอนและผู้เกี่ยวข้องมีความไม่แน่ใจในการยอมรับการเปลี่ยนแปลงนวัตกรรม  แต่เมื่อเกิดการยอมรับแล้วจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว กราฟการเปลี่ยนแปลงมีลักษณะคล้ายตัว S เนื่องจากมีการแพร่กระจายการใช้สื่ออย่างรวดเร็วและต่อเนื่องกัน

 

                4. ธรรมชาติของสังคม
                 Rogers กล่าวว่า สังคม คือ กลุ่มของคนที่มีความสัมพันธ์ในการร่วมกันแก้ไขปัญหาเพื่อก่อให้เกิดความสุขต่อคนกลุ่มใหญ่ สมาชิกในสังคมจึงอาจมีรูปแบบแตกต่างกัน เช่น อยู่คนเดียว เป็นกลุ่มแบบไม่เป็นทางการ หรือรวมกันเป็นองค์กร ผู้สอนหรือผู้เกี่ยวข้องทางการศึกษาก็เป็นสมาชิกของสังคมที่ต้องทำงานร่วมกันโดยมีบทบาทตามระบบสังคม ขึ้นอยู่กับโครงสร้างทางสังคม วิถีประชา และความเป็นผู้นำ

 

                โครงสร้างทางสังคม
                ในระบบสังคม นักการศึกษาเป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทเฉพาะของตน สังคมกำหนดให้นักการศึกษามีความสามารถในการทำนายพฤติกรรม กำหนดระเบียบ การปฏิบัติตนของผู้เรียน  รวมถึงวิธีการสื่อสารระหว่างกัน รูปแบบการสื่อสารจึงมีรูปแบบที่สังคมเป็นผู้กำหนดขึ้น หากบุคคลใดมีวิธีการสื่อสารเช่นเดียวกับที่สังคมกำหนด ถือว่ามีลักษณะถูกต้องตามโครงสร้างของสังคม

 

                 วิถีประชา
                วิถีประชาเป็นแนวทางการปฏิบัติและการแสดงพฤติกรรมของบุคคลในสังคม ซึ่งแนวทางนี้อาจก่อให้เกิดการสร้างกำแพงไม่ให้มีการแพร่กระจายนวัตกรรม เช่น ในโรงเรียนประถมศึกษาที่มีการสอนการอ่าน การเขียน และคณิตศาสตร์ ผู้สอนใช้วิธีการสอนตามแบบที่นิยมโดยไม่ยอมรับการนำสื่อใหม่ๆ มาใช้ในการสอน เนื่องจากมีความผิดแปลกจากผู้สอนคนอื่นๆ

 

                ความเป็นผู้นำ
                ความเป็นผู้นำมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของผู้นำด้านนวตกรรมเป็นอย่างยิ่ง ผู้นำด้านนวตกรรมที่มีความเป็นผู้นำจะเป็นสมาชิกคนสำคัญของสังคม ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางเครือข่ายการสื่อสารและเชื่อมโยงข้อมูลกับคนอื่นๆ ในสังคมได้อย่างง่ายดาย
สรุป

             การวิจัยทฤษฎีการแพร่กระจายในที่นี้เน้นที่การยอมรับนวัตกรรม ช่องทางการสื่อสาร เวลา และธรรมชาติของสังคม ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงด้านการนำสื่อมาใช้ อาจกล่าวได้ว่า ความสามารถในการใช้สื่อเป็นทักษะที่มีความสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคม อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการใช้สื่อหมายรวมถึงการใช้เครื่องมือของผู้นำสื่อมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งการประยุกต์ใช้สื่อเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญ ตัวอย่างเช่น โครงการ USOE ที่ประสบความล้มเหลวเนื่องจากผู้วิจัยไม่มีความสามารถในการนำสื่อมาประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ต่อโครงการ เช่นเดียวกับ Surry and Farquhar ได้กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของสื่อจะเป็นไปอย่างช้าๆ ในช่วงแรกของการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากการสร้างทักษะความสามารถในการใช้สื่อเป็นโปรแกรมการเรียนในโรงเรียนที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนวัตกรรมทางการศึกษาในอนาคตต่อไป

หมายเลขบันทึก: 343382เขียนเมื่อ 10 มีนาคม 2010 23:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 20:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท