เด็ก CP กับการปรับสิ่งแวดล้อมที่บ้าน


ขอบคุณกรณีศึกษาและผู้ปกครองที่เปิดใจเรียนรู้กระบวนการกิจกรรมบำบัดด้วยตนเองที่บ้านพร้อมกับการปรับสิ่งแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้ทักษะชีวิตของเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายจากสาเหตุสมองพิการ หรือ Cerebral Palsy, CP

ผมยังคงมุ่งมั่นกับกรณีศึกษา: เด็กโตสมองพิการตั้งแต่กำเนิด ได้รับการฝึกกายภาพบำบัดและกิจกรรมบำบัดมาหลายปี และเรียนโรงเรียนพิเศษ

กรณีศึกษายังต้องได้รับความช่วยเหลือหลายด้านจากผู้ปกครอง เช่น ช่วยเหลือในการเคลื่อนย้ายตัว การกินอาหาร การเข้าห้องน้ำ และกิจกรรมการดูแลตนเอง ที่สำคัญมีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อแขนขาทั้งสองข้าง

เมื่อมองศักยภาพของกรณีศึกษา พบว่า เด็กสามารถเล่นดนตรี ฟังคำสั่งได้ ควบคุมอารมณ์อย่างร่าเริงได้บ้าง ถนัดมือซ้ายและเคลื่อนไหวแบบตั้งใจได้พอใช้ เรียนรู้ตัวเลขได้พอใช้

ผู้ปกครองได้ติดตามดูรายการ OneWorld ที่ http://gotoknow.org/blog/otpop/318244 แล้วนัดพบผมเพื่อประเมินว่ากรณีศึกษาสามารถมองเห็นและรับรู้การมองเห็นเพื่อทำกิจกรรมการดำเนินชีวิตได้มากน้อยแค่ไหน และจะช่วยเหลือได้อย่างไรดี

ผมประเมินทางกิจกรรมบำบัด เน้น การรับรู้ทางการมองเห็นได้ระดับพอใช้ เพราะกล้ามเนื้อในการกลอกลูกตาไม่สมมาตรกัน และมีการเคลื่อนไหวของศรีษะและตาไม่สัมพันธ์กัน ที่สำคัญสภาวะกล้ามเนื้อเล็กเกร็งข้างขวามากกว่าข้างซ้าย แม้ว่าจะสามารถใช้มือข้างซ้ายที่ถนัดได้บ้าง แต่ต้องใช้แรงกล้ามเนื้อส่วนอื่นๆ ชดเชยแรงกล้ามเนื้อแขนกับมือข้างขวา ทำให้มองสภาวะเกร็งมีลักษณะติดค้างตั้งแต่พัฒนาการของระบบประสาทหนึ่งเรียกว่า ATNR (คลิกอ่านเพิ่มเติมที่ http://en.wikipedia.org/wiki/Asymmetrical_tonic_neck_reflex)

นอกจากนี้ผมขอไปสำรวจบ้านว่า ตั้งแต่เด็กตื่นนอนมาเข้าห้องน้ำและทำกิจวัตรประจำวันทั้งวันเวลาปิดเทอม อยู่ในท่าทางใด ผู้ปกครองต้องช่วยมากน้อยเพียงใด มีโต๊ะเก้าอี้หรืออุปกรณ์ช่วยจัดท่าทางให้ง่ายต่อการเคลื่อนไหวทำกิจกรรมดูแลตนเอง เช่น นั่งบนพื้นห้องน้ำที่ปูผ้ารองลื่นและผู้ปกครองนั่งสูงกว่าเด็กตรงที่นั่งโถส้วม และอยู่ข้างที่อ่อนแรงและเกร็งมากทางซีกขวา แนะนำให้เด็กหันศรีษะและกรอกตาให้เท่ากันทั้งสองข้างจับฝักบัวช่วยอาบน้ำและถูสบู่ แทนที่วิธีการเดิมคือผู้ปกครองยกเด็กนั่งตักและอาบน้ำเปียกพร้อมกัน เป็นต้น

ผมรู้สึกมั่นใจเมื่อแนะนำหลายๆขั้นตอนของแต่ละกิจกรรมการดูแลตนเองที่สามารถฝึกการเรียนรู้ การรับรู้ และการใช้ตาและมือ พร้อมการช่วยเหลือของผู้ปกครองที่ลดลงและเพิ่มทักษะชีวิตที่จำเป็นตามศักยภาพที่มีอยู่ของเด็ก มิใช่ฝึกกิจกรรมที่เป็นองค์ประกอบแยกส่วนก่อนการฝึกกิจกรรมที่มีขอบเขตที่สำคัญ เช่น ฝึกการเขียนหนังสือที่ยากกว่าการจับช้อนทานข้าว ฝึกมองของเล่นในตารางขาวดำที่จำเป็นน้อยกว่าการมองตามหน้าผู้ปกครองในทุกทิศทางและทุกท่าทาง เป็นต้น

ผมแนะนำให้บุคลากรทางการแพทย์ที่กำลังฝึกทักษะชีวิตของเด็กสมองพิการให้ประเมินลักษณะกิจกรรมการฝึกว่าจะจำเป็นและมีการพัฒนาอย่างไรที่จะทำให้เด็กดำเนินชีวิตอย่างมีความสามารถตลอดชีวิต

 

หมายเลขบันทึก: 343259เขียนเมื่อ 10 มีนาคม 2010 13:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 00:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท