คลังเดินหน้าโปรยเงินหนุนรากหญ้า แบงก์รัฐป่วนหนักต้นทุนหายกำไรหด


คลังเดินหน้าโปรยเงินหนุนรากหญ้า แบงก์รัฐป่วนหนักต้นทุนหายกำไรหด
คลังสั่งแบงก์รัฐเดินหน้าโครงการประชานิยม หั่นดอกสวนกระแสทุนหาย กำไรหด ล่าสุดแผนโยกเงินฝากกองทุนหมุนเวียนมาพยุงดอกส่อแววล่ม  ธ.ก.ส. ประเดิมลดดอก 1% ช่วยเกษตรกรขาดทุนทันทีเกือบ 600 ล้านบาท ส่วน ธอส. กัดฟันสู้ ตรึงดอกเอื้ออาทร 5.5% ทำมาร์จิ้นหด 1% เตรียมแผนปรับสูตร KPI เสนอคลังประเมินผลงานปลายปีใหม่จากการที่รัฐบาลได้มีการดำเนินนโยบายประชานิยมมาอย่างต่อเนื่อง โดยใช้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐเป็นกลไกสำคัญในการส่งผ่านเม็ดเงินเข้าไปกระตุ้นระบบเศรษฐกิจในระดับฐานราก หรือที่เรียกว่า "นโยบาย     กึ่งการคลัง (QUASI FISICAL POLICY)" ด้วยการปล่อยสินเชื่อให้กับบุคคลที่ค่อนข้างมีความเสี่ยงสูงหรือ        ขาดหลักทรัพย์ค้ำประกัน ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าต้นทุนของเงิน (COST OF FUND) ตั้งแต่ยุคดอกเบี้ยต่ำ        มาจนถึงยุคดอกเบี้ยขาขึ้นที่มีการแข่งขันกันในการระดมเงินฝากส่งผลให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐต้องขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากสู้กับธนาคารเอกชน เพื่อรักษาฐานลูกค้าของตนเอง ทำให้ต้นทุนของเงินสูงขึ้นในขณะที่รัฐบาลยังเดินหน้าสานต่อโครงการประชานิยม ล่าสุดกระทรวงการคลังภายใต้การนำของ นายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้สั่งการให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐเข้าไปตรึงดอกเบี้ย และลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือประชาชนในระดับรากหญ้า สวนกับกระแสของดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในทิศทางขาขึ้น   ถึงแม้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐจะมีสภาพคล่องส่วนเกินเหลือ แต่ก็ไม่มีธนาคารใดที่จะตอบสนองนโยบายของรัฐได้ เพราะเม็ดเงินที่ระดมมาได้มีต้นทุนที่สูง หากผืนกลไกของตลาดจะทำให้เกิดภาวะขาดทุน ดังนั้นแนวทางแก้คือการหาแหล่งเงินต้นทุนต่ำมาผสมกับแหล่งเงินที่มีต้นทุนสูง ล่าสุดทางกระทรวงการคลังได้มีคำสั่งให้กองทุน นอกงบประมาณ หรือส่วนราชการที่นำเงินงบประมาณไปฝากกับธนาคารทั่วไปเพื่อรับดอกเบี้ยสูง ๆ ให้นำเงินกลับมาฝากกับธนาคารเฉพาะกิจของรัฐในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ๆ เพื่อที่รัฐบาลจะนำเม็ดเงินเหล่านี้ไปใช้ในการดำเนินนโยบายประชานิยมต่อไปนายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ สศค.   ได้เข้าไปศึกษาในรายละเอียดของแผนการโอนย้ายเงินฝากของส่วนราชการหรือเงินกองทุนหมุนเวียนให้นำกลับมาฝากไว้กับธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ พบว่าในกรณีที่เป็นเงินฝากระยะยาว หากให้ส่วนราชการหรือกองทุนหมุนเวียนถอนก่อนกำหนดระยะเวลา เพื่อที่จะนำเงินมาฝากกับแบงก์รัฐจะต้องได้รับผลตอบแทนไม่น้อยกว่าเดิม ส่วนเงินที่ส่วนราชการนำไปฝากไว้ในบัญชีออมทรัพย์ เม็ดเงินส่วนนี้จะนำโอนมาฝากระยะยาวไม่ได้ เพราะจะต้องเตรียมไว้ใช้จ่ายนายสมชัย สัจจพงษ์ โฆษกกระทรวงการคลัง ยอมรับว่า แผนการโอนย้ายเงินฝากจากกองทุนต่าง ๆ นั้น ในขณะนี้อาจจะได้เม็ดเงินไม่ถึงแสนล้านบาทตามที่เคยคาดการณ์ไว้ ทางกรมบัญชีกลาง กำลังศึกษาหาแนวทางอื่นมาเสริมอยู่ นายวิศิษฐ์ ตันติสุนทร ผู้จัดการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยว่าหากจะให้ กบข. นำเงินไปฝากกับธนาคารของรัฐคงจะต้องรอเงินงวดใหม่ที่สมาชิกจะจ่ายเข้ามาในเดือนหน้า เม็ดเงินลงทุนที่ฝากอยู่ก่อนหน้านี้ส่วนใหญ่จะเป็นเงินฝากประจำ ซึ่งหลักการในการบริหารเงินลงทุนของ กบข. นั้นจะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของสมาชิกกองทุนเป็นหลัก โดยสมาชิกของ กบข. จะต้องได้รับผลตอบแทนไม่ต่ำกว่าที่เคยได้รับหรืออยู่ที่ระดับ 5.2-5.3% ของเงินลงทุน นายธีระพงษ์ ตั้งธีรสุนันท์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา บอร์ดของ ธ.ก.ส. มีมติให้ ธ.ก.ส. ดำเนินการลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงอีก 1% สำหรับเกษตรกรรายย่อยที่กู้เงินวงเงินไม่เกิน 1 แสนบาท โดยจะให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคมนี้ และในการลดดอกเบี้ยครั้งนี้จะมีเกษตรกรรายย่อยได้รับประโยชน์ 2.2 ล้านครัวเรือน แต่จะทำให้ ธ.ก.ส. สูญเสียรายได้ไปประมาณ 590 ล้านบาท นางชมพูนุท สุมนะเศรณี รองกรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ธอส. มีสภาพคล่องส่วนเกินอยู่ประมาณ 64,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 18% ของแหล่งเงินทุนเพียงพอในการขยายสินเชื่อไปได้ถึงสิ้นปี ธอส. มีต้นทุนเงินที่ระดมมาได้ประมาณ 5.25% ทั้งนี้ยังไม่นับรวมต้นทุนในการดำเนินงานอีกเกือบ 1% ในขณะที่ทางธนาคารต้องยืดระยะเวลาการตรึงดอกเบี้ย สินเชื่อบ้านเอื้ออาทรออกไปจนถึงสิ้นปี ทำให้ผู้กู้ทั่วไปจ่ายดอกเบี้ยปีแรกในอัตรา 5.5%, ปีที่ 2 จ่าย 6%, ปีที่ 3 จ่าย 6.5% และปีที่ 4 อัตรา MRR   ส่วนกลุ่มของข้าราชการไม่เดือดร้อนมากเพราะได้รับดอกเบี้ยพิเศษ MRR - 2.25% ทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยรับกับดอกเบี้ยจ่าย (MARGIN) ของ ธอส. อยู่ในระดับ 1% ลดลงจากในอดีตที่เคยอยู่ในระดับ 2% ทำให้ธนาคารต้องเร่งหารายได้ที่ไม่ใช้ดอกเบี้ยมาเสริม รวมทั้งการเร่งติดตามหนี้และขายสินทรัพย์รอการขายออกไป   "ขณะนี้ธนาคารกำลังจะแยกบัญชีให้เห็นชัด ๆ ว่าที่ผ่านมามีการปล่อยสินเชื่อนโยบายเท่าไหร่ ปล่อยสินเชื่อปกติเท่าไหร่ เพื่อที่จะนำไปหารือกับกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับการจัดทำบัญชี PSA (Public Service Accounting) เพื่อจะแสดงให้เห็นผลการดำเนินงานที่แท้จริงของธนาคาร เพราะในการประเมินผลงานของธนาคารโดยใช้ค่าดัชนี KPI ให้น้ำหนักกับการช่วยเหลือสังคมเพียงแค่ 5% เท่านั้น" นางชมพูนุทกล่าวนายกรพจน์ อัศวินวิจิตร ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางธนาคารออมสินพร้อมที่จะให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์กู้เงิน ทางธนาคารจะคิดดอกเบี้ยเท่ากับดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลอายุ 3 ปีประมาณ 5.1% บวกอีก 0.7% รวมแล้ว 5.8% แต่ทางกระทรวงการคลังขอให้ธนาคารออมสินคิดดอกเบี้ยเพียง 5.35% ซึ่งยังไม่ได้นับรวมค่าใช้จ่ายในการดำเนินการด้านอื่น แนวทางนี้จึงไม่น่าจะเป็นไปได้

ประชาชาติธุรกิจ  15  มิ.ย.  49

คำสำคัญ (Tags): #การคลัง
หมายเลขบันทึก: 34312เขียนเมื่อ 16 มิถุนายน 2006 12:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท