ชุมชนกับเรื่องวุ่น ๆ ทางวิชาการ...


น่าจะเอาดัชนีมวลรวมความสุข (GDH : Gross domestic happiness) มาเปรียบเทียบกันระหว่างนักวิชาการกับคนในชุมชนว่าใครมีความสุขมากกว่ากัน

อยากรู้จริง ๆ ว่าใครเป็นคนบัญญัติศัพท์คำว่า "ชาวบ้าน" ขึ้นมาใช้ ถ้าเดาไม่ผิดก็คงจะเป็น "นักวิชาการ"

ที่จริงแล้วคนที่เราไปเรียกเขาว่าชาวบ้านนั้น เขาไม่ได้มีปัญหาอะไรเลย ชีวิตเขาสุขสบายกว่าเราตั้งเยอะ

แต่ไอ้เราเนี่ยมันเรียนเยอะ ร้อนวิชา หรือไม่ก็อยากจะสร้างผลงาน อยากทำวิจัย ต้องการทำวิทยานิพนธ์ ปริญญาตรี โท เอก ก็เลยไปติ๊ต่างว่าเขามีปัญหา แล้วก็ทำโครงร่างการวิจัย ทำแผนต่าง ๆ ลงไปเพื่อยุ่งกับชีวิตเขา

ที่จริงแล้วชุมชนเขามีพระคุณกับพวกเราหรือนักวิชาการอย่างล้นพ้น ที่เขาไม่ไล่ตะเพิดเราออกจากบ้านของเขา เพราะตั้งแต่มีพวกเรา เขาก็วุ่นวายกันไม่รู้จักจบ

เรียกเขาไปประชุมบ้าง เขาทำงานอยู่ดี ๆ ก็ไปให้เขาตั้งกลุ่มโน่น กลุ่มนี่ พาเขาไปประชุมโน่นประชุมนี่

เด็ก ๆ ลูกหลานเขาดี ๆ ก็เอาหนังสือวัยรุ่น นิตยสาร "กิเลส" เข้าไปสร้าง "ตัณหา" ให้ลูกหลานเขา

ที่จริงแล้วปัญหาทั้งหมดนี้เป็น "ปัญหากู" ทั้งนั้น กูอยากเรียน กูอยากมีผลงาน กูอยากสร้างรายได้ แล้วก็ไปบอกเขา หลอกเขาบ้าง จริงครึ่ง ไม่จริงครึ่ง บอกว่าจะมาสร้างโน่น สร้างนี่ พัฒนาโน่น พัฒนานี่ พอเรียนจบ ได้ผลงาน ตำแหน่งขึ้นแล้วก็หายแซ่บไป

พอเกิดปัญหาอย่างนี้ก็ยิ่งเข้าทาง เรียกงบพัฒนาได้ เสนอของบวิจัยได้ วิจัยและพัฒนา (Research & Development) กันไม่รู้จบ พา (PAR) โน่น พานี่สนุกกันไปใหญ่

เขากินอาหารอะไรอยู่ ก็เที่ยวไปบอกว่าอาหารของเขา "สกปรก" ไม่ถูกหลักอนามัย ได้โครงการพัฒนาสุขภาพและชีวอนามัยอีกแล้ว...!!!

ที่ไปทำงานครั้งนี้ (การวิจัยแบบมีส่วนร่วม : คำถามที่เกิดจากบ้านผาตูบ ต.ผาสิงห์ อ.เมือง จ.น่าน ) ก็ไปบอกเขาว่า ปัญหาของเราคือ นักศึกษาจะต้องเรียนวิจัย ขอเข้าไปเรียนกับเขาได้ไหม (ปัญหากูแท้ ๆ)

ชุมชนเขาก็เมตตาให้เราเข้าไปนักศึกษาเข้าไปเรียนด้วย เรียนรู้ชีวิตที่เรียบง่ายและมีความสุขของเขา จะได้ไม่มองแต่ชีวิตเขาว่ามีแต่ปัญหา

อย่าไปคิดแต่ว่า ถ้าไม่มีเราเขาจะอดตาย เราต้องคิดเสมอว่า ถ้าไม่มีเขา เรานั่นแหละที่จะตาย (ไม่มีพื้นที่ลงไปทำงาน)

นักวิชาการชอบกดขี่ชุมชนด้วยความรู้ นึกว่าตนเองเก่ง เรียนมาก รู้มาก และก็อยากให้คนอื่นรู้มากเหมือนตนเอง ไอ้ที่ทุกวันนี้ "ทุกข์" มากก็เพราะรู้มากกันมิใช่หรือ

เขารู้อยู่ รู้กิน หาเช้ากินค่ำก็สบาย ๆ กันอยู่แล้ว

พวกเรารู้จักหลุยส์ วิคส์ตอง ก็หาเรื่องไปซื้อกระเป๋ามาหิ้ว มาห้อย ชุมชนเขาใช้ย่ามก็ใส่ของได้สบาย ไม่เห็นจะต้องไปใช้อะไรแปลก ๆ แบบเราเลย

มีแต่เรานั่นแหละที่ไปบอกเขาว่า "ด้อยพัฒนา" ด้อยเพราะกรอบ ด้อยเพราะมาตรฐานที่เราตั้งไว้

เขามีเงินน้อยก็หาว่าเขาจน เขาจนแล้วเขาน่าจะไม่มีความสุข แล้วคนที่รวย ๆ ทุกวันนี้สุขกันมากเหรอ...?

น่าจะเอาดัชนีมวลรวมความสุข (GDH : Gross domestic happiness) มาเปรียบเทียบกันระหว่างนักวิชาการกับคนในชุมชนว่าใครมีความสุขมากกว่ากัน

ทุกวันนี้เล่นเอาแต่ GDP (Groos Domestic product) มาวัดกัน ก็หาเรื่องไปปั่นราคาพืชผลทางเกษตรเพื่อสร้างความร่ำรวยให้แก่ "พ่อค้าคนกลาง"

ตอนนี้ยิ่งมีมหาวิทยาลัยวิจัย ที่เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อท้องถิ่นเยอะ ถ้าอาจารย์หรือนักวิจัยไม่เข้าใจยิ่งน่ากลัว เพราะชาวบ้านก็จะ "ร่วม" ทำวิจัยกันจน "โงหัว" ไม่ขึ้น

ทั้งอาจารย์ ทั้งนักศึกษา ก็จะ "เหละโล" ลงไปชุมชนกันยกใหญ่ แล้วส่วนใหญ่ก็จะเลือกแต่ชุมชนที่ดูจะเข้าท่า เข้าทาง (ชุมชนเดิม ๆ)

ชุมชนไหนใครเคยเข้าไปแล้วเขาต้อนรับก็บอกกันปากต่อปาก (Word of mouse) ชุมชนไหนมีโครงการด้านนี้แล้วเวิร์ค นักวิชาการอีกสายหนึ่งก็จะเข้าไป "ต่อยอด"

คราวนี้ชุมชนก็ไม่ต้องทำมาหากินกัน ต้องคอยเข้ามา "ร่วม" ทำวิจัยเพื่อสร้างผลงานให้กับนักวิชาการไทยอยู่นี่เอง... 

 


หมายเลขบันทึก: 343110เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2010 20:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

ขออนุญาตแลกเปลี่ยนเรียนกับคุณโยมเล็กน้อย

ชาวบ้านเจอแต่แบบสอบถามจนสะดุ้งกันยกใหญ่

ชาวบ้านนี่น่าจะเป็นของจริง รู้จริง ของแท้ได้เลยนะ

เจริญพร

เรื่องนี้มองดูเผิน ๆ จะเปรียบเหมือน "น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า" แต่ถ้าจะมองให้ดี มองลึก ๆ ก็จะกลายเป็นเราต้องพึ่งเขาเสียมากกว่า

พวกเรา ได้แก่ นักวิชาการ อาจารย์ และนักศึกษาทั้งหลาย มีความจำเป็น มีความต้องการที่จะเรียน จะใช้ประชากร ใช้กลุ่มตัวอย่างในการวิจัย ทั้งที่เป็นหน้าที่ เป็นงาน หรือการเรียน ถ้าไม่มีเขา (ชุมชน) เราก็ลำบาก เพราะไม่รู้จะใช้กลุ่มตัวอย่างที่ไหน แต่ถ้าเขาไม่มีเราเข้าไป ชีวิตเขาก็จะ "สบาย" ขึ้นอีกเยอะ

เรามักคิดว่าไอ้วิชาการที่เราเรียนมานี้มันดี มันเจ๋ง

เรามักคิดว่าชุมชนหรือที่พวกเรานักวิชาการมักเรียกกันว่า "ชาวบ้าน" นั้นด้อยพัฒนา หรือเรียกง่าย ๆ กว่า "โง่"

เราจึงสวมบทบาทผู้ฉลาดลงไปสอนโน่น สอนนี่ เปลี่ยนนั่น พัฒนานี่ วุ่นวายกันไม่รู้จักจบ

แล้วยิ่งประเทศมีปัญหามาก ๆ เราก็ยิ่งไปมองว่าปัญหาต่าง ๆ นั้นเกิดขึ้นมาจากชุมชน แต่น้อยคนนักที่จะมองว่าต้นเหตุของปัญหาที่แท้จริงก็คือ "ตัวของเราเอง"

ตัวเราที่จะการตำแหน่ง ต้องการผลงาน ต้องการใบปริญญา แล้วใช้ชุมชนเป็นกลุ่มเป้าหมาย ใช้ชุมชนเป็นสถานที่ทดลอง ชุมชนจึงเปรียบเสมือนหนูทดลองที่ใครต่อใครสามารถเข้าไปตักตวงผลประโยชน์ได้อย่างไม่รู้จบ

เรามักจะว่าคนป่า คนดอยชอบทำไร่เลื่อนลอยชอบตัดไม้ทำลายป่า สิ่งที่พวกเรานักวิชาการลงไปทำวิจัยกันในทุกวันนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับการไปทำไร่เลื่อนลอยเช่นเดียวกัน คนป่า คนดอยเขาตัดไม้ แต่พวกเรานักวิชาการเข้าไปตัดรอน "วิถีชีวิต"

เรานำวิถีชีวิตของเราไปครอบวิถีชีวิตของเขา

นำวิถีชีวิตนักวิชาการที่ต้องประชุม สัมมนา นำชีวิตที่ต้องพึ่งพาเอกสารลงไปให้แล้วบอกว่าสิ่งทั้งหลายนี้เยี่ยม เจ๋ง สุดยอด

วิถีชีวิตแบบธรรมชาติ ๆ ถูกทำลาย ระบบครอบครัวถูกแทรกแซงด้วยน้ำมือของนักวิชาการ

พอชุมชนนี้หมดผลประโยชน์ ก็หันไปหาชุมชนใหม่ หาชุมชนใหม่ไปเรื่อย พองานจบ เราก็หายแซ่บไปและอย่าหวังว่าชาตินี้จะได้เจอกันอีก

ลองนึกย้อนดูสิว่า พวกเราที่เคยเข้าไปทำงานในชุมชน มีกี่คน กี่โครงการที่กลับไปเยี่ยม ไปดู ไปตรวจสอบ หรือไปค้นหาสิ่งที่เราไป "ขี้" ใส่ไว้ในชุมชน

เราไปดื่ม ไปกิน ไปดู ไปซับเอาผลประโยชน์อันได้แก่ข้อมูลก็ดี กระบวนการต่าง ๆ ก็ดี เป็นเหมือนเหลือบ ยุง ลิ้น ไร เข้าไปไต่ตอมเอาน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ที่มีชื่อว่า "ชุมชน"

พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ให้รู้จักทำตัวให้เป็นเหมือนดั่งแมลง ที่เมื่อเข้าไปกินเกสรของดอกไม้แล้วจักไม่ทำความเสียหายให้กับดอกไม้นั้น แต่พวกเรานักวิชาการในวันนี้ เข้าไปทำงาน เข้าไปตักตวง เข้าไปหาผลประโยชน์จากชุมชนแล้วทำให้เขาเสียหายหรือไม่ ทำให้วิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมที่เคยเข้มแข็งของเขาง่อนแคลนและคลอนแคลนหรือไม่

ถ้าเราเข้าไปแล้วทำให้เกิดความเสียหายกับชุมชน ก็ไม่ต่างอะไรกับคนอกตัญญูที่ได้ดื่ม ได้กินแล้วก็ทิ้งปัญหา ทิ้งจาน ทิ้งชาม ไม่รู้จักล้าง ไม่รู้จักเช็ด บางครั้งก็เข้าไปตีกัน ก่อเรื่องทะเลาะวิวาททางวิชาการ บอกว่าทฤษฎีโน้นที่คนเก่าเคยทำไม่ดี ต้องเปลี่ยนมาทำทฤษฎีของฉัน นักวิจัยชุดหนึ่งเข้าไปก็ใช้ทฤษฎีหนึ่ง อีกชุดหนึ่งเข้าไปก็เปลี่ยนไปใช้อีกทฤษฎีหนึ่ง ลองกันไป ลองกันมา นักวิชาการได้ผลงานแต่ปัญหาเกิดขึ้นกับชุมชนบานตะไท

วิถีชีวิตชุมชน เป็นวิถีที่ดำรงตนอยู่ตามธรรมชาติ ถ้าหากจะเข้าไปเรียนรู้ ก็ขอให้เข้าไปอย่างแมลงที่เข้าไปชื่นชมเกสรดอกไม้ ที่ดูดกินน้ำหวานแล้วย่อมไม่ทำลายดอกผลของต้นนั้น

พึงอย่าเข้าไปแบบหนอน ที่เข้าไปเจาะกินผลของต้นไม้ เพราะผลของต้นไม้นั้นเป็นของลำต้น ของชุมชน มิใช่เป็นของหนอนที่จะเข้าไปชอนไชหาอะไรเกาะกินไปเรื่อย

ทุกวันนี้ชุมชนบอบช้ำจากน้ำมือนักวิชาการมามากแล้ว ถึงเวลาหรือยังที่เราจะหยุดยั้งการทำลายชุมชนด้วย "วิชาการ..."

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท