ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ


ปลุกจิตสำนึก ผนึกความรับผิดชอบ ตอบแทนสังคม

               "เราไม่ได้ขอให้กิจการทำสิ่งต่างไปจากการทำธุรกิจปกติ  แต่เรากำลังขอให้กิจการทำธุรกิจเช่นปกตินั้นด้วยวิธีการที่แตกต่างจากเดิม"  

(We are not saking  corporations  to do something  different  from their normal  business:   we  are  asking  them  to do this  normal business differently)

                                                                        Kofi   Annan 

                                                      อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ (UN)   

 

ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ  หรือ Corporate  Social  Responsibility (CSR)  หมายถึง การดำเนินกิจกรรมภายในและนอกองค์กร  ที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมทั้งในระดับใกล้และไกล  ด้วยการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในองค์กรหรือทรัพยากรจากภายนอกองค์กร  ในอันที่จะทำให้อยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างปกติสุข

        คำว่า กิจกรรม ในที่นี้ หมายรวมถึง การคิด การพูด และการกระทำ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ การวางแผน  การตัดสินใจ  การสื่อสารประชาสัมพันธ์  การบริหารจัดการ และการดำเนินงานขององค์กร

      สังคม  ในที่นี้ จะมุ่งไปที่ผู้มีส่วนได้เสียนอกองค์กร ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ระดับ  ได้แก่ สังคมใกล้ และสังคมไกล     สังคมใกล้ คือ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับองค์กรโดยตรง ได้แก่ ลูกค้า  ครอบครัวของพนักงาน ชุมชนที่องค์กรต้งอยู่  รวมถึงสิ่งแวดล้อมหรือระบบนิเวศ  ส่วนสังคมไกล คือ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับองค์กรโดยอ้อม  ได้แก่ คู่แข่งขันทางธุรกิจ ประชาชนทั่วไป เป็นต้น  

    เหตุใดกิจการจึงควรมีความรับผิดชอบต่อสังคม 

 ที่ผ่านมา แนวคิดและทฤษฎีทางธุรกิจได้รับการปลูกฝังและถ่ายทอดสู่องค์กรโดยส่วนใหญ่ต้องการสร้างให้องค์กรมีความ "เก่ง" ที่ก่อให้เกิดการเจริญเติบโต(Growth) ของกิจการ  ได้แก่ SWOT Analysis   หรือ Diamond  Model (การสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน)

    ส่วนแนวคิดเรื่องซีเอสอาร์ จะมุ่งไปที่การสร้างให้องค์กรมีความ"ดี" ที่ก่อให้เกิดความยั่งยืน(Sustaninability)ของกิจการ เป็นแนวคิดที่มีรากฐานมาจากหลักคุณธรรมทางศาสนา   ซีเอสอาร์ไม่ใช่เรื่องใหม่เพียงแต่เพิ่งมีการบัญญัติคำนี้ขึ้นใช้ในวงการธุรกิจเมื่อไม่กี่สิบปีที่ผ่านมานี้เอง และคนไม่ได้สนใจหรือใส่ใจนอกจากการสร้างภาพพจน์ขององค์กรตัวเองเท่านั้น 

องค์กรที่นำแนวคิดซีเอสอารไปปฎิบัติจะเกิดผลลัพธ์ทั้งในส่วนรูปธรรมที่จับต้องได้(Tangible) และในส่วนนามธรรมที่จับต้องไม่ได้(Intangible) จากผู้ที่อยู่ในองค์กร  ได้แก่ ผู้ถือหุ้นและพนักงาน  และจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับองค์กร  โดยตรงและอ้อม  ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการมี 3 จำพวก    คือ    1. CSR -after-process  เรียกว่า "กิจกรรมเพื่อสังคม"  คือการดำเนินกิจกรรมของหน่วยงาน เช่น การแจกจ่ายสิ่งของช่วยบรรเทาสาธารณภัย   การเป็นอาสาสมัครช่วยบำเพ็ญสาธารณประโยชน์  ซึ่งกิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมอยู่นอกเหนือเวลาทำงานปกติ  2. CSR-in-process เรียกว่า "ธุรกิจเพื่อสังคม" คือการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมที่อยู่ในกระบวนการทำงานหลักของกิจการ หรือเป็นการทำธุรกิจที่หากำไรอย่างมีความรับผิดชอบ  เช่น การป้องกันหรือกำจัดมลพิษในกระบวนการผลิตเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อชุมชน  การผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานตามข้อกำหนดในฉลากผลิตภัณฑ์   การชดเชยความเสียหายให้แก่ลูกค้าที่เกิดจากความผิดพลาดและข้อบกพร่องของพนักงาน  เป็นกิจกรรมที่อยู่ในเวลาทำงานปกติของกิจการ   3. CSR-as-process เรียกว่า "กิจการเพื่อสังคม" มักเป็นองค์กรที่ดำเนินงานโดยไม่แสวงหากำไรให้แก่ตนเอง เป็นหน่วยงานที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อยังประโยชน์ให้แก่สังคมในทุกกระบวนการของกิจการ   เช่น มูลนิธิ  องค์กรสาธารณประโยชน์ องค์กรประชาชน และส่วนราชการต่างๆ  ได้รับการสนับสนุนจากแหล่งทุนภายนอกหรือได้รับการอุดหนุนจากภาษีของประชาชน เรียกว่า เป็นองค์กรที่หากำไรให้แก่สังคม  โดยที่เจ้าของกิจการเหล่านี้  เรียกตัวเองว่า เป็นผู้ประกอบการทางสังคม(Social  Entrepreneur)

 รูปแบบของความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ    ศ.ฟิลิป คอตเลอร์ มหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทริน์และ แนนซี่ ลี  อ.มหาวิทยาลัยวอชิงตัน และมหาวิทยลัยซีแอตเติ้ล ได้จำแนกรูปแบบของซีเอสอาร์ ไว้เป็น  6 กิจกรรม ได้แก่ 

      1.การส่งเสริมการรับรู้ประเด็นปัญหาสังคม (Cause  Promotion)  เป็นการจัดหาเงินทุน วัสดุสิ่งของหรือทรัพยากรอื่นขององค์กร เพื่อขยายการรับรู้และห่วงใยต่อประเด็นปัญหาทางสังคม  2. การตลาดที่เกี่ยวโยงกับประเด็นทางสังคม(Cause Related Marketing) เป็นการอุดหนุนหรือการบริจาครายได้ส่วนหนึ่งของการชายผลิตภัฑณ์เพื่อช่วยเหลือหรือร่วมแก้ไขประเด็นปัญหาทางสังคม จำเพาะหนึ่งๆ มีช่วงเวลาที่จำกัดแน่นอน  3.การตลาดเพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาทางสังคม(Corporate  Social Marketing) เป็นการสนับสนุนการพัฒนาหรือการทำให้เกิดผลการรณรงค์เพื่อเปลื่ยนแปลงพฤติกรรมในด้านสาธารณสุข ด้านความปลอดภัย ด้านสิ่งแวดล้อม หรือด้านสุขภาวะ  มุ่งเน้นที่การเปลื่ยนแปลงพฤติกรรมและสร้างความตระหนัก รวมถึงการสนันสนุนทรัพยากรด้านทุนและอาสาสมัครเพื่อให้รับรู้ถึงประเด็นปัญหา            4.การบริจาคเพื่อการกุศล(Corporate  Philanthropy) เป็นการช่วยเหลือไปที่ประเด็นปัญหาทางสังคมโดยตรง  ในรูปของการบริจาคเงินหรือวัตถุสิ่งของ   5.การอาสาช่วยเหลือชุมชน(Community  Volumteering) เป็นการสนับสนุนหรือจูงใจให้พนักงาน  คู่ค้าร่วมสละเวลาและแรงงานในการทำงานให้แก่ชุมชนที่องค์กรตั้งอยู่และเพื่อตอบสนองต่อประเด็นปัญหาทางสังคมที่องค์กรให้ความสนใจหรือห่วงใย    6. การประกอบธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคม (Socially   Responsible   Business Practices) เป็นการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจอย่างพินิจพิเคราะห์ทั้งในเชิงป้องกันด้วยการหลีกเลี่ยงการก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมหรือในเชิงร่วมกันแก้ไขด้วยการช่วยเหลือเยียวยาปัญหาทางสังคมนั้นๆ ด้วยกระบวนการการทางธุรกิจ เพื่อการยกระดับสุขภาวะของชุมชนและการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม โดยที่องค์กรสามารถที่จะดำเนินการเอง หรือเลือกที่จะร่วมมือกับพันธมิตรภายนอกก็ได้                                                         

       หลักการความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ได้ยกร่างเป็นแนวปฏิบัติให้แก่บริษัทจดทะเบียนและกิจการทั่วไป  มีอยู่ด้วยกัน 8 หมวด  ได้แก่

การกำกับดูแลที่ดี

การประกอบธุรกิจด้วยความเป็นธรรม

การเคารพสิทธิมนุษยชนและการปฎิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม                       

ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค

การร่วมพัฒนาชุมชนและสังคม

การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม

การเผยแพร่นวัตกรรมจากการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม

การจัดทำรายงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

 

         

 ธุรกิจไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ในสังคมที่ล้มเหลว

หมายเลขบันทึก: 343079เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2010 17:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 10:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท