คุณภาพการศึกษาหรือจะเอาแค่ปฏิรูป ตอนที่ 2


มองไปข้างหน้าแต่ไม่ศึกษาประวัติศาสตร์ เป้าหมายสู่ยอดแต่ไม่รู้ค่ารากฐาน

ตอนที่ 2 การศึกษาไทยย่างก้าวเข้าสมัย

การเรียนรู้ของมนุษย์มีพัฒนาการเรื่อยมา จากคนรุ่นแล้วรุ่นเล่า จนในที่สุดจากการเรียนรู้จากธรรมชาติ การเลียนแบบ การบอกต่อจากรุ่นต่อรุ่น ก็มีระบบระเบียบมากขึ้น มีการแบ่งหน้าที่เป็นผู้เรียน ผู้สอนที่ชัดเจนขึ้น จากการเรียนรู้เฉพาะสิ่งที่มีอยู่ สิ่งที่เคยพบ เป็นการค้นหาสิ่งที่ยังไม่เคยมี ยังไม่เคยพบ ค้นหาคำอธิบายถึงสิ่งที่เร้นลับ หรือสิ่งที่ยังหาคำตอบไม่ได้ กลายเป็นการศึกษาที่มีพัฒนาการมาจนถึงปัจจุบัน

จะเห็นได้ว่าการศึกษามีพัฒนาการที่ต่อเนื่องมาโดยตลอด และจะมีการก้าวกระโดดทุกครั้งที่มีการค้นพบนวัตกรรมใหม่ๆ

ระบบการศึกษาของไทยก็คงจะมีพัฒนาการมาไม่ต่างจากชนชาติใด สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดวัฒนธรรม ประเพณีอันเป็นเอกลักษณ์ การเรียนรู้ที่สั่งสมเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลานานทำให้เกิดความเสถียรกลายเป็นรูปแบบระบบการศึกษาของตนเอง

ความเป็นมาของระบบการศึกษาไทยได้มีการแบ่งออกได้เป็น 5 ช่วง (ประไพ เอกอุ่น 2542 : 75) ซึ่งอาจจะกล่าวพอสังเขปได้คือ
    
    1. การศึกษาของไทยสมัยโบราณ ครอบคลุมระยะเวลาตั้งแต่ พ.ศ.1781 - พ.ศ.2411 สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ช่วงคือ
        การศึกษาสมัยสุโขทัย
        การศึกษาสมัยกรุงศรีอยุธยา
        การศึกษาสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
    2. การศึกษาของไทยสมัยปฏิรูปการศึกษา พ.ศ.2412 - พ.ศ.2474
    3. การศึกษาของไทยสมัยการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญระยะแรก พ.ศ.2475 - พ.ศ.2491
    4. การศึกษาของไทยสมัยพัฒนาการศึกษา พ.ศ.2492 - พ.ศ.2534
    5. การศึกษาของไทยสมัยปัจจุบัน พ.ศ.2535 - ปัจจุบัน

การศึกษาของไทยในสมัยโบราณ (พ.ศ.1781 - พ.ศ.2411) มีรูปแบบเป็นการสืบทอดวัฒนธรรมประเพณี ผู้คนต้องขวนขวายหาความรู้ด้วยตนเองจากผู้รู้ในชุมชนต่างๆ มีบ้านและวัดเป็นศูนย์กลาง พ่อแม่จะถ่ายทอดอาชีพให้กับลูกๆ วังเป็นสถานที่รวบรวมนักปราชญ์สาขาต่างๆซึ่งจะมีการถ่ายทอดความรู้กันอย่างมีระบบแบบแผน ส่วนวัดจะเป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนา พระทำหน้าที่อบรมสั่งสอนธรรมะ การบวชเรียนเป็นการเข้าถึงการศึกษาอีกรูปแบบหนึ่ง

การถ่ายทอดวิชาความรู้มีทั้งการอบรมสั่งสอนด้วยวาจา การปฏิบัติกิจกรรมตามวัฒนธรรมประเพณี ไปจนถึงการบันทึกเป็นตำราในรูปแบบของวรรณกรรมต่างๆ ซึ่งหากเราได้ศึกษาประวัติศาตร์จะพบว่า จะมีความรุ่งเรืองและซบเซาสลับกันอยู่ไปมาในหลายยุคหลายสมัย สมัยใดที่การศึกษามีความเจริญรุ่งเรือง ระบบเศรษฐกิจ การเมือง สังคมของคนในยุคนั้นก็จะดีไปด้วย แต่หากในยุดใดมีความตกต่ำถดถอยสภาพต่างๆก็จะเป็นตรงกันข้าม บ้านเมืองอ่อนแอและมักมีสงครามเกิดขึ้นได้เสมอ

กล่าวกันว่า ระบบการศึกษาของไทยเข้ามาสู่ยุคที่อาจเรียกได้ว่าเป็นยุคปฏิรูปการศึกษาในสมัยรัชการที่ 5 โดยมีจุดมุ่งหมายให้คนเข้ารับราชการ และมีความรู้ความสามารถทัดเทียมฝรั่งแต่ไม่ใช่ฝรั่ง (คณะภาควิชาพื้นฐาน 2532 : 7) ซึ่งเราคงรู้กันดีว่าในสมัยนั้น ภัยจากการล่าอาณานิคมของฝรั่งต่างชาติมีความล่อแหลมและกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของชาติเป็นอย่างยิ่ง แต่จากสายพระเนตรอันยาวไกลของพระมหากษัตริย์ไทยที่ทรงทราบว่า การที่ชาติจะดำรงเอกราชอยู่ได้นั้นไม่สามารถทำได้ด้วยการต่อสู้ด้วยกำลัง แต่ต้องทำให้ผู้คนมีความรู้มีวิชาการที่เท่าทัน จึงได้ทรงส่งเสริมด้านการให้การศึกษาอย่างจริงจัง ไม่เพียงแต่กับพระบรมวงศานุวงศ์และบรรดาข้าราชบริพารที่สนองพระเดชพระคุณเท่านั้น แต่ยังได้ขยายไปถึงสามัญชนทั่วไปด้วย

นี่เองจึงทำให้ระบบการจัดการศึกษาที่เป็นไปอย่างมีแบบแผนได้ถือกำเนิดและมีการขยายตัวออกไปอย่างต่อเนื่อง มีการจัดตั้งโรงเรียนหลวงขึ้นในพระบรมหาราชวัง มีโรงเรียนสุนันทาลัยเป็นโรงเรียนสตรีในพระบรมหาราชวัง มีการปรับปรุงโรงเรียนสวนกุหลาบให้เป็นโรงเรียนนายทหารมหาดเล็กซึ่งต่อมาได้กลายมาเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนเมื่อ พ.ศ.2453 จัดตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ.2459 และการจัดตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับราษฎรอันมีโรงเรียนมหรรณพารามเป็นต้น

ต่อมาเมื่อมีโรงเรียนเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องมีหน่วยงานที่เข้ามารับผิดชอบโดยตรง ในการนั้นกระทรวงธรรมการจึงได้ถือกำเนิดขึ้น

มีการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอน เรียบเรียงแบบเรียนหลวงชุดมูลบรรพกิจ และจัดให้มีการสอบไล่ขึ้น

ในช่วงที่เกิดสงครามมหาเอเซียบูรพา หรือสงครามโลกครั้งที่สองในแถบเอเซียตะวันออก ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากสงครามอย่างมากในหลายด้าน แต่การศึกษาของเราก็ยังมีพํฒนาการที่ดีตลอดมา

การศึกษาที่มีส่วนเชื่อมต่อกับยุคปัจจุบันเริ่มตั้งแต่ การจัดทำแผนการศึกษาชาติฉบับที่ 1 ในปี พ.ศ.2503 เป็นต้นมา


ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก : Administrator, http://www.kroobannok.com/3345

คำสำคัญ (Tags): #การศึกษา
หมายเลขบันทึก: 342411เขียนเมื่อ 6 มีนาคม 2010 17:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 02:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ชอบบันทึกนี้ครับ

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท