การกลับมาสู่กามของพระโสดาบัน


ได้รับรู้มาว่า พระโสดาบัน จะกลับมาสู่กาม หรือเกิดใหม่ อีกไม่เกิน 7 ครั้ง
ซึ่งมักมีการตีความหมายของคำว่า ครั้ง ว่าคือ ชาติ ที่ถือกำเนิดมาจากท้องแม่
หากท่านพุทธทาสได้ให้ความหมายไว้อีกแง่ ท่านว่า จำนวน 7 ครั้ง เป็นการสั่งสอนตามๆกันมา (1)
และคำว่า ครั้ง นี้มิได้มีกำหนดหมายว่าเป็นจำนวนครั้งของชาติที่อุบัติขึ้นบนโลก ดังนั้นจึงอาจเป็นจำนวนครั้งที่เกิดการยึดมั่นในตัวตนจนเกิดเป็นภพ ชาติ ในขณะจิตหนึ่งๆในชีวิตนี้ก็ได้ (2) ซึ่งในวันหนึ่งๆ เราอาจ เกิด ได้หลายครั้งตามผลของตัณหา
ซึ่งท่านมุ่งหมายคำว่า ครั้ง ไปตามความหมายหลังนี้
น่าสนใจดีนะคะ
มองว่าที่ท่านตีความเช่นนี้ สอดคล้องกับการที่ท่านตีความเรื่องปฏิจจสมุปบาท
เนื่องจากท่านพุทธทาสให้ความเห็นว่า ปฏิจจสมุปบาทเกิดในชาตินี้ตลอดสายเพียงสายเดียว ไม่คร่อมชาติภพคือแบ่งแยกสายออกเป็นสามส่วนตามที่แบ่งกันมา (นั่นคือแบ่งช่วงต้นคือ อวิชชา สังขาร เป็นอดีตเหตุในชาติก่อน ช่วงต่อมาคือวิญญาณ นามรูป อายตนะ ผัสสะ เวทนา เป็นปัจจุบันผลในชาตินี้ ตัณหา อุปาทาน และภพในส่วนที่เป็นกรรมภพเป็นปัจจุบันเหตุในชาตินี้ และช่วงท้ายคือภพในส่วนที่เป็นอุปัติภพ ชาติ ชรา มรณะ เป็นผลส่งไปในชาติหน้า)
ท่านว่าการแบ่งอย่างนี้ทำให้คนเราไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับเหตุในอดีตชาติที่จบไปแล้ว และทำอะไรก็ไม่ได้รับผล ไม่ว่าจะเป็นกุศลหรือไม่ใช่ เพราะเป็นเรื่องของชาติหน้า การควบคุม หรือความรู้สึกว่าแก้ไขอะไรไม่ได้นี้เอง ทำให้เราปล่อยชีวิตไป ตามกรรม ไม่ได้คิดจะพัฒนาตนให้ดีขึ้น
หรือก็คือ พัฒนากรรม ตามความเห็นของพระพรหม คุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ซึ่งเห็นว่า คนเราควรเกิดมาเพื่อพัฒนากรรม ไม่ใช่เพื่อชดใช้กรรม แล้วสร้างกรรมใหม่ให้ต้องชดใช้ต่อไป
ท่านพุทธทาสยังมีความเห็นอีกว่าไม่มีวิญญาณไปเกิดใหม่แต่อย่างใด เมื่อเหตุปัจจัยดับ ทุกสิ่งก็ดับ บุญกรรมที่ทำเราจึงล้วนรับผลกันในชีวิตนี้
ซึ่งจุดที่ว่าไม่มีการเกิดใหม่แต่อย่างใดนี้บางท่านไม่เห็นด้วย บางท่านบอกว่าเป็นหน้าที่ของชาวพุทธที่จะศึกษาและตีความกันต่อไป
อย่างไรก็ดี หลายท่านเห็นด้วยกับการเกิดวงจรปฏิจจสมุปบาทแบบตลอดสายในขณะจิต เพราะที่เราทุกข์ สุข อยู่ทุกวันนี้ก็เพราะปัจจยาการตามที่ปรากฏในสายปฏิจจสมุปบาท
จึงไม่แปลกใจที่ท่านพุทธทาสให้ความหมายของคำว่า ครั้ง ว่าหมายไปถึงครั้งแห่งขณะจิต
ส่วนผู้ที่ตีความโดยแบ่งสายปฏิจจสมุปบาทให้เกิดคร่อมสามชาติ (คือมีชาติก่อน ชาติปัจจุบัน และชาติหน้า) ตามคัมภีร์วิสุทธิมรรค จะยังมีการเกิดใหม่ในชาติหน้าอยู่ พระโสดาบัน การกลับมาสู่กาม จึงมาด้วยการเกิดใหม่จากท้องแม่ตามนัยนี้
แต่ก็มีบางท่านให้ความเห็นว่า ปฏิจจสมุปบาทเกิดได้ทั้งสองแบบ คือนอกจากจะเกิดยาวตลอดสายเป็นสายเดียวในชาตินี้แล้วยังเกิดแบบแบ่งสายเป็นสามส่วน คือเป็นชาติก่อน ชาติปัจจุบัน และชาติหน้าได้อีกด้วย (3)
ถ้าตีความตามความหมายนี้ คำว่า ครั้ง จึงเป็นได้ทั้ง จำนวนครั้งที่เกิดความยึดถือมั่นเป็นตัวตนขึ้นมาในหนึ่งขณะจิตในชีวิตนี้ และจำนวนครั้งที่เกิดจากท้องแม่
เรื่องของปฏิจจสมุปบาทนี้ น่าศึกษาดีนะคะ
แล้วก็น่างงด้วยค่ะ
ว่าบันทึกนี้เขียนถึงปฎิจจสมุปบาท หรือการเกิดใหม่ของพระโสดาบัน
เพราะอ่านแล้วรู้สึกเหมือนมะลิซ้อน
ที่พอแตกใบอ่อน
กลับกลายเป็นมะลิลาซะงั้น
......................................................................................
ส่วนอ้างอิง
(1)พระสกิทาคามี ก็แปลว่าผู้ที่จะกลับมาเพียงครั้งเดียว ผู้ที่จะกลับมาเพียงครั้งเดียว สำหรับพระโสดาบันนั้น ในตัวชื่อไม่ได้บอกว่า จะกลับมากี่ครั้ง แต่ตามหลักที่เขาสอนกันอยู่ เขาว่า 7 ครั้ง อย่างน้อยก็สอง-สามครั้ง
พุทธทาสภิกขุ ธรรมศาสตราเล่ม 1 ธรรมทานมูลนิธิ หน้าสวนโมกข์ ไชยา (หน้า 402)
(2) การตีความมานี่ตีความกันว่ากลับมาสู่โลกนี้ คือตายแล้วเกิดเป็นมนุษย์นี่อีกตั้ง 7 ครั้ง อีก 2 3 ครั้งบ้าง อย่างพระสกิทาคามีนี้มาอีกครั้งเดียว แล้วพระอนาคามีนั้นไม่มาอีกเลย เขาตีความกันอย่างนี้
ผมไม่ตีความอย่างนั้น เดี๋ยวจะว่าให้ฟังว่า พระโสดาบันจะเกิดอีก 7 ชาติเข้าโลงอีก 7 ชาติ ผมว่าไม่ใช่อย่างนั้น คือ จะมีจิตที่วกกลับมา กามารมณ์อีกเพียง 7 ครั้งเป็นอย่างมาก พระสกิทาคามีก็จะกลับมาอีกครั้งหนึ่งอย่างมาก พระอนาคามีก็จะไม่กลับมาเลย นี้เป็นเรื่องชาติ ที่อธิบายด้วยความรู้สึกในจิตที่ยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวกู-ของกูเป็นชาติหนึ่ง แล้วชาตินั้นเกิดขึ้นเพราะอาศัยสิ่งที่เรียกว่ากาม หรือกามารมณ์เป็นต้นเหตุ
พุทธทาสภิกขุ ธรรมศาสตราเล่ม 1 ธรรมทานมูลนิธิ หน้าสวนโมกข์ ไชยา (หน้า 403)
(3) ปฏิจจสมุปบาทซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้โดยตรัสถึงปัจจัย หรือองค์ประกอบต่างๆ 5 อย่างบ้าง 10 อย่างบ้าง 12 อย่างบ้างดังกล่าวมาแล้วนั้น แสดงถึงวงจรชีวิตของสัตว์ทั้งหลายทั้งในรูปแบบวงจรชีวิตแบบข้ามชาติปัจจุบัน หรือชั่วขณะจิตและในรูปแบบของวงจรชีวิตแบบข้ามภพข้ามชาติ
แต่พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสจำแนก 2 รูปแบบนี้ไว้อย่างชัดเจน โดยตรัสความหมายของปัจจัย 12 อย่างไว้อย่างเป็นกลางๆ คือบางความหมายก็สื่อนัยไปในทางข้ามภพข้ามชาติ บางความหมายก็สื่อนัยไปในทางชาติปัจจุบัน ทำให้นักคิดหรือนักวิชาการทางพุทธศาสนาบางคนตีความปัจจัยเหล่านี้ว่า หมายถึงวงจรชีวิตแบบข้ามภพข้ามชาติเพียงอย่างเดียวบ้าง หมายถึงวงจรชีวิตแบบชาติเดียวบ้าง
แต่ทัศนะกระแสหลักของพุทธศาสนาเถรวาทเห็นว่าหมายถึงวงจรชีวิตทั้ง 2 แบบ โดยถือว่าในคัมภีร์วิสุทธิมรรคอธิบายปฏิจจสมุปบาทในแบบข้ามภพชาติ ส่วนคัมภีร์วิภังค์ของอภิธรรมปิฎกและอรรถกถาคัมภีร์วิภังค์อธิบายในแบบชาติปัจจุบัน ซึ่งแสดงว่ายอมรับความหมายของปฏิจจสมุปบาททั้ง 2 แบบ และนักวิชาการสมัยใหม่ส่วนมากก็ดูจะมีทัศนะในทำนองเดียวกันนี้เช่นกัน
ดร.วัชระ งามจิตรเจริญ พุทธศาสนาเถรวาท สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรุงเทพ พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ.2552(หน้า 186-187)
หมายเลขบันทึก: 342236เขียนเมื่อ 6 มีนาคม 2010 06:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ตุลาคม 2013 09:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

สวัสดีค่ะ

ก่อนอื่นต้องบอกว่า วาดภาพดอกไม้สวยมากเลยค่ะ

วันนี้ทำงานกะดึก แวะมาส่งดอกไม้ค่ะ

 

 

สวัสดีค่ะ ครูวิไลแวะมาเยี่ยม

สบายดีนะคะ (อ่านแล้วงง อิๆๆๆๆๆๆๆๆ)

แวะมาทักทายครับ...

ขอบคุณสำหรับแง่คิดดีๆครับ ^^

ปฏิจจสมุปบาท คือวงจรที่มีอำนาจต่อการตัดสินใจของมนุษย์ในการเลือกที่จะกระทำการใดๆออกมา ทั้งขบวนความคิด พูด การกระทำทางกายต่างๆ  ..เป็นวงจรที่เกิด ดับอยู่ตลอดเวลา ไม่มีการหยุดยั้ง ทั้งละเอียดและซับซ้อน ผลของมันจึงครอมกันไปหมดทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต... ข้ามผ่านวงจรนี้ได้..คืออิสรภาพที่งดงาม"

สวัสดีจ๊ะตุ๊กตา

ขอบคุณภาพวาดดอกกุหลาบที่สวยงาม

และหลักธรรมดีดี

ขอให้มีความสุขนะคะ

สวัสดีค่ะคุณณัฐรดา...มาอ่านหลักธรรมค่ะ และอยากบอกว่าชื่นชมการวาดภาพดอกไม้ และทุกภาพที่นำเสนอค่ะดูเหมือนง่าย..แต่ก็คงยากเพราะใช้สีที่ไม่คุ้นเคยเลย..ขอสีน้ำของลูกใช้จะสวยไหมค่ะ..ฮิ...ฮิ...ปิดเทอม เม.ย. จะมาสอนมาเยี่ยมเยือนทาง เชียงใหม่ไหมค่ะอยากวาดจังเลย

  • สวัสดีค่ะ 
  • แวะมาเยี่ยมพี่สาวค่ะ ช่วงนี้อากาศร้อนมาก ๆ นำภาพนี้มากฝากเผื่อจะคลายความร้อนได้บ้าง 
  • ด้วยความระลึกถึงค่ะ

 

มาชม

ผมเข้าใจว่า...ท่านอาจารย์พุทธทาส ภิกขุมองการเกิดดับที่นี่และเดี๋ยวนี้...ไม่ข้ามภพข้ามชาติอย่างที่หลายคนคิดนะครับ

แวะมาน้อมรับธรรมครับ

คนเราเกิดมาใช้หนี้กรรมเก่า

และควรจะพัฒนากรรมใหม่ด้วยนะครับ

ขอบพระคุณมากครับ...

สวัสดีค่ะ คุณณัฐรดา

มาอ่านบันทึกดีดี

ธรรมะสวัสดีค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท