ประวัติความเป็นมาของการวิจัยสถาบัน


ประวัติวิจัยสถาบัน

ประวัติความเป็นมาของการวิจัยสถาบัน

                จุดเริ่มต้นที่ก่อให้เกิดการวิจัยสถาบัน  คือ  แนวความคิดจากงานเขียนของ Professor W.H. Cowley แห่งมหาวิทยาลัย Standford โดยได้รับการสนับสนุนจาก Western Interstate Commission for Higher Education แนวคิดดังกล่าวเป็นผลมาจากข้อค้นพบของมหาวิทยาลัยเยล (Yale University)  เมื่อปี ค.ศ.1701  ต่อมาในปี ค.ศ.1820  ก็ได้นำแนวคิดที่ว่านี้มานำเสนอต่อที่ประชุมเพื่อประเมินผลของคณะกรรมการของคณะกรรมการปฏิบัติงานที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) หลังจากนั้นก่อให้เกิดการวิจัยในขั้นพื้นฐานที่เกี่ยวกับสถาบัน  เพื่อติดตามผลระยะสั้นๆ  โดยคณะผู้วิจัยที่อยู่ในสถาบันเดียวกัน  บางท่านเรียกการวิจัยในขั้นนี้ว่า “การวิจัยตนเอง” (Self study) ภายหลังสงครามโลกครั้งที่  2  การวิจัยสถาบันได้เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการที่มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ (University of Illinois)  และที่มหาวิทยาลัยมินนิโซตา(University of Minnesota) แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา  ต่อมาได้กระจายไปสู่มหาวิทยาลัยอื่นๆ อย่างกว้างขวาง  จนกระทั่งปี ค.ศ.1974 (พ.ศ.2517) ก็ได้มีการจัดตั้งสมาคมวิจัยสถาบัน (Institutional research association) ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกา  โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ Florida State University  ทั้งนี้เพื่อเป็นศูนย์กลางในการกระตุ้น  และส่งเสริมให้มีการวิจัยในสถาบันอุดมศึกษา  ทั้งในมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยต่างๆ  ของประเทศสหรัฐอเมริกา  และประเทศอื่นๆ  ที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษาอุดมศึกษา(เยาวดี  วิบูลย์ศรี,2535)

                การวิจัยสถาบันในระยะเริ่มแรกได้รับเงินทุนสนับสนุนเพียงเล็กน้อย  จึงจำกัดอยู่ในวงแคบคือ  ทำการศึกษาเฉพาะปัญหาในการดำเนินงานของหน่วยงาน ไม่ได้คำนึงถึงการศึกษาในส่วนของผลกระทบที่ตามมา  ซึ่งนับว่ามีความสำคัญมากต่อการบริหารงานสถาบันระยะยาว  นอกจากนั้นการวิจัยในระยะเริ่มต้นดังกล่าว  ยังขาดความเป็นระบบ  เพราะต่างคนต่างทำ  ก่อให้เกิดการซ้ำซ้อนและเป็นเหตุให้ข้อมูลทั้งหลายกระจัดกระจายกันอยู่ ในปัจจุบัน  การวิจัยสถาบันได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมเพิ่มมากขึ้น  รวมทั้งมีหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรงทำให้ได้ข้อมูลที่เป็นระบบ  และทันต่อความต้องการ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งความต้องการด้านสารสนเทศ  เพื่อช่วยให้เข้าใจสภาพของสถาบันได้อย่างชัดเจน

                ในปี ค.ศ.1966  ผู้แทนจากมหาวิทยาลัยกว่า  300  แห่ง  ในสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นสมาคมวิจัยสถาบัน(Association for Institutional Research) ได้ประชุมตกลงและวางมาตรการเอาไว้ว่าหน่วยงานวิจัยสถาบันจะต้องรับผิดชอบงานวิจัยสถาบันนั้นโดยเป็นผู้วางแผน  และประสานงานจากหน่วยงานวิจัยสถาบัน  ประกอบด้วย  นักสถิติ  ผู้อำนวยการศูนย์คอมพิวเตอร์  นายทะเบียน  คณบดี  นักวิเคราะห์งบประมาณ  รองอธิการบดีฝ่ายแผนและพัฒนา  รองอธิการบดี  ประธานนักศึกษา  นักนิเทศโครงการ ฯลฯ

                การอุดมศึกษาของประเทศไทยมีการพัฒนาที่แตกต่างไปจากการอุดมศึกษาในประเทศตะวันตก  ในระยะแรกการอุดมศึกษาจัดขึ้นเพื่อฝึกอบรมให้มีความรู้และเข้ารับราชการ  มหาวิทยาลัย  5  แห่งแรก  ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อต้องการผลิตบัณฑิตที่มีความชำนาญในศาสตร์แขนงต่างๆโดยเฉพาะ  ต่อมาเมื่อมีการศึกษาและพัฒนาการศึกษาให้มีลักษณะเป็นสากลและได้มาตรฐานยิ่งขึ้น  จึงได้รวมมหาวิทยาลัยทั้งหลายไว้ในสังกัดเดียวกันและให้เพิ่มศาสตร์แขนงต่างๆในแต่ละมหาวิทยาลัย  เพื่อให้มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์แบบ  นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาค  มหาวิทยาลัยเปิด  และให้สถาบันอุดมศึกษาในสังกัดอื่นเปิดสอนในระดับปริญญาตรี  ทั้งยังให้ภาคเอกชนช่วยรัฐจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาด้วยบทบาทและหน้าที่ในการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่เปลี่ยนไปยิ่งซับซ้อนมากขึ้น  หน่วยงานมีเพิ่มมากขึ้นในแต่ละสถาบัน  เพราะการขยายตัวทางการศึกษาทำให้การบริหารงานทั้งบุคลากร  สถานที่  ทรัพยากรและวิชาการของสถาบันมีความซับซ้อน  ทำให้ลำบากที่จะเห็นปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นได้ชัดเจนและทันท่วงที  ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่สถาบันทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษาต้องตระหนัก  และคาดคะเนปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ  เพื่อสร้างความพร้อมในการพัฒนาสถาบันให้ก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว  เป็นพลังในการสร้างกำลังคนที่มีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของสังคมและประเทศชาติ  การศึกษาปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นหรือที่จะเกิดขึ้น  เพื่อให้ได้แนวทางในการพัฒนาสถาบันไปในทางที่ถูกต้อง  โดยใช้ข้อมูลในการศึกษาวิเคราะห์อย่างมีระบบ  ควรจะได้ดำเนินการเพื่อให้ได้ข้อมูลในการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาให้ถูกทางคือ  การวิจัยสถาบัน                หลายมหาวิทยาลัยได้รวมเอาหน่วยวิจัยสถาบันขึ้นตรงยู่กับสำนักงานอธิการบดี  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อความรวดเร็วในการจัดสินใจ  หรือเพื่อความรวดเร็วในการแก้ปัญหาต่างๆ  ซึ่งนักวิชาการหลายฝ่ายมีความเห็นว่า  ควรเป็นเอกเทศ  เพื่อการบริการทางการวิจัยแก่คณาจารย์เปรียบเหมือนศูนย์กลางของการบริหาร  อย่างไรก็ตามหน่วยงานวิจัยสถาบันก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าควรจะสังกัดอยู่ในฝ่ายใด  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความใหญ่โตและปัญหาความสลับซับซ้อนของมหาวิทยาลัย  แต่โดยทั่วไปยึดหลักการที่ว่าการวิจัยสถาบันนั้น  จะต้องบริการแก่หน่วยงานของมหาวิทยาลัย  4  อย่างคือ

  1. ศูนย์กลางของการบริหาร(Center Administration)
  2. คณาจารย์(Faculty)
  3. นักศึกษา(Student)
  4. คณะกรรมกาสรฝ่ายประสานงาน(Coordinating Boards) หรือหน่วยงานอื่นๆ

นอกสถาบัน (มนตรี  วงษ์สะพาน.  2544  :22-23)

                สำหรับประเทศไทยนั้น  เมื่อประมาณปี พ.ศ.2510  ได้เริ่มมีการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  และการอุดมศึกษาก็ได้รับการบรรจุเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  ทำให้ชาวมหาวิทยาลัยต้องหันมาใส่ใจกับการวางแผนพัฒนามหาวิทยาลัย/สถาบันเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ  ได้มีการนำเอาเรื่องการวิจัยสถาบัน  หรือที่เรียกว่า Institutional research เข้ามาเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งในการที่จะสร้างฐานข้อมูลเพื่อสำหรับการวางแผน (วิจิตร  ศรีสะอ้าน, 2545)

                และในปี พ.ศ.2514 ได้มีการจัดตั้งหน่วยวิจัยสถาบันขึ้นเป็นครั้งแรกที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ผู้ริเริ่มคือ  ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร  ศรีสะอ้าน  และมีศาสตราจารย์ แจมริช(Prof. John X. Jamrich) จากมหาวิทยาลัยมิชิแกนมาช่วยเป็นที่ปรึกษา  และเตรียมการจัดตั้งหน่วยงานวิจัยสถาบัน(อุทัย  บุญประเสริฐ, 2545) โดยมีหน้าที่สำคัญ  3  ประการ  คือ  (เยาวดี  วิบูลย์ศรี, 2535)

                1) รวบรวมข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการวางแผนพัฒนาและการบริหารมหาวิทยาลัย

                2) ทำการวิจัยตามความต้องการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  และทำการวิจัยอื่นๆที่เป็นไปตามภาระหน้าที่ประจำตามปกติ

                3) ทำการเผยแพร่ข้อมูลในรูปแบบต่างๆ

                ในการนี้ทางจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยได้นำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้การจัดระบบข้อมูลด้วยโดยมีชื่อภาษาอังกฤษว่า “Chulalongkorn University Management Information System”  หรือมีชื่อย่อว่า “CU-MIS” ระบบข้อมูลเพื่อการบริหารของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนี้ได้อาศัยตัวแทนของระบบข้อมูลที่พัฒนาขึ้นโดยศูนย์วิจัย  และพัฒนาระบบบริหารงานการอุดมศึกษาแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา  ซึ่งมรชื่อเรียกว่า “National Center for Higher Education Management System” ตั้งอยู่ที่เมืองโบลเตอร์ รัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา  ส่วนใหญ่เรามักเรียกชื่อย่อกันว่า “เอ็มเชมส์” (NCHEMS) ซึ่งข้อมูลเบื้องต้นในระบบที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพัฒนาขึ้น  ประกอบด้วย  ข้อมูล  5  ประเภท  คือ

                1) ข้อมูลด้านโปรแกรมการศึกษา

                2) ข้อมูลด้านอาจารย์ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่

                3) ข้อมูลด้านนิสิต

                4) ข้อมูลด้านการเงิน

                5) ข้อมูลด้านอาคารสถานที่

                และเมื่อระบบพัฒนาเต็มรูปแบบแล้วจะช่วยให้หน่วยวิจัยภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  สามารถจัดระบบวิเคราะห์ใหญ่ๆ ได้ดังนี้

                1) ระบบวิเคราะห์ปฏิบัติงาน (Operation analysis system)

                2) วิธีวิเคราะห์ระบบวางแผนของมหาวิทยาลัย(Analysis methods for planning University system)

                3) ระบบการวางแผนการใช้ทรัพยากร (Resource planning system)

                4) ระบบวิเคราะห์ค่าใช้จ่าย (Cost analysis system)

                5) ระบบวิเคราะห์พิจารณางบประมาณ (Budget review system)

                6) ระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างมหาวิทยาลัย(Information exchange system)

                จะเห็นได้ว่า  ระบบวิเคราะห์ข้างต้น  จะเป็นประโยชน์ต่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในระยะยาว  นอกจากนั้น  ระบบเดียวกันจะได้ขยายเป็นโครงการระบบข้อมูลเพื่อการวางแผนด้านอุดมศึกษาของทบวงมหาวิทยาลัยต่อไป

หมายเลขบันทึก: 341705เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2010 14:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 15:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท