งานวิจัยสถาบัน


งานวิจัยสถาบัน

วิจัยสถาบัน

ความหมายของวิจัยสถาบัน     วิจัยสถาบัน(Institutional Research) เป็นการวิจัยประเภทหนึ่งมุ่งศึกษาและวิเคราะห์อย่างมีระบบเกี่ยวกับการดำเนินงานสภาพแวดล้อมของปัญหาที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสถาบันของตนเอง จึงจัดได้ว่าวิจัยสถาบันเป็นการศึกษาวิจัยตนเอง(Self Study)  เพื่อประโยชน์ในการจัดหาข้อมูลหรือข้อค้นพบ สารสนเทศที่ได้ไปเป็นข้อมูลพื้นฐานไปพัฒนาสถาบัน  ทำให้รู้ว่าศักยภาพของสถาบันอยู่ตรงไหน มีจุดแข็งอะไรที่ควรส่งเสริม จุดอ่อนอะไรที่ต้องแก้ไขปรับปรุง  ทำให้ได้แนวทางในการตัดสินใจ  สนับสนุนการวางแผน  กำหนดนโยบาย วิสัยทัศน์ เป้าประสงค์ต่อไปในอนาคต แต่ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวจะต้องทำอย่างต่อเนื่อง มีการเก็บรวบรวมข้อมูลการดำเนินการ ประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร และวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อสร้างเป็นสารสนเทศ  จึงกล่าวได้ว่าวิจัยสถาบันเป็นศาสตร์การบริหารและการปฏิรูปการศึกษา ที่ทุกสถาบันการศึกษาจะต้องกำหนดเป็นภารกิจหลักที่สำคัญนำไปสู่การประกันคุณภาพการศึกษาทั้งการประกันคุณภาพภายในและการประกันคุณภาพภายนอก  การดำเนินการวิจัยสถาบันใช้หลักการวิจัย (กระบวนการวิจัย) มีการเลือกใช้ระเบียบวิธีวิจัยที่มีความเหมาะสม มีการดำเนินการวิจัยอย่างถูกต้องและเหมาะสมกับคำถามการวิจัย จุดสำคัญที่ควรเน้นคือข้อมูลจะต้องทันสมัย(update) และตรงเวลา แต่หากมีข้อจำกัดหรือลักษณะเฉพาะอย่างมีเงื่อนไขต้องแสดงให้ตรวจสอบได้  ซึ่งได้แก่ ระบบการจัดการสารสนเทศ (Management Information System : MIS) และการวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบ (Comparative Analysis) จึงทำให้วิจัยสถาบันไม่เน้นการสร้างองค์ความรู้ที่เป็นศาสตร์  ดังนั้นคุณภาพของการวิจัยจึงพิจารณาจากตัวบ่งชี้ที่สำคัญ คือ  ความตรงภายใน (Internal  Validity ) และความตรงภายนอก (External Validity)  และการนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง (Utility)   ทั้งนี้ขอบเขตของงานวิจัยขึ้นกับลักษณะ หน้าที่ โครงสร้างของงานที่ผู้วิจัยรับผิดชอบหรือปัญหาที่ต้องการคำตอบภายในสถาบัน ซึ่งควรสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ พันธกิจ และวัตถุประสงค์ของสถาบัน โดยผู้วิจัยเป็นบุคคลภายในสถาบันที่ต้องการนำผลการวิจัยมาใช้แก้ปัญหาหรือพัฒนาเพื่อให้เกิดคุณภาพภายในสถาบัน  และอาจเป็นกรณีศึกษาสำหรับสถาบันที่สนใจหรือมีบริบทที่ใกล้เคียงกันได้  นอกจากนี้ยังทำให้งานวิจัยสถาบันนั้นเกิดคุณค่าได้เมื่อสถาบันนั้นมีหน่วยงานวิจัยสถาบันโดยตรงที่มีการประเมินประสิทธิภาพในการรายงาน วิเคราะห์ข้อมูล และมีการเผยแพร่ผลการวิเคราะห์อย่างสม่ำเสมอและดำเนินการทำอย่างต่อเนื่อง

 ประวัติการวิจัยสถาบัน            ผู้ที่จุดประกายการวิจัยสถาบันคือ Professor W.H. Cowley แห่ง Stanford University   ที่ได้รับแนวความคิดจากข้อค้นพบของ Yale University ในค.ศ. 1701 และในค.ศ. 1820 ได้นำแนวความคิดนี้เสนอต่อที่ประชุมเพื่อประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการที่ Harvard University ซึ่งได้รับการยอมรับกันเป็นอย่างดี จึงก่อให้เกิดมีการวิจัยในขั้นพื้นฐานในสถาบัน เพื่อการติดตามผลการดำเนินงานในระยะสั้นๆ โดยคณะผู้วิจัยเป็นผู้ที่อยู่ในสถาบันเดียวกันนั้น จึงเรียกว่าวิจัยตนเอง ( Self Study )และได้มีการทำวิจัยในลักษณะนี้อย่างแพร่หลาย และได้มีการจัดตั้ง สมาคมการวิจัยสถาบัน( Institutional Research Association ) ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1974 สำหรับประเทศไทยได้มีการจัดตั้ง “สถาบันวิจัย” ขึ้นเป็นครั้งแรกที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อ พ.ศ. 2541 โดยมีหน้าที่ 3 ประการคือ
            1. รวบรวมข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการวางแผนพัฒนาและการบริหารมหาวิทยาลัย
            2. ทำการวิจัยตามความต้องการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และการทำวิจัยอื่นๆ ที่เป็นไปตามภาระหน้าที่ ประจำปกติ
            3. ทำการเผยแพร่ข้อมูลในรูปแบบต่างๆ (รศ.ดร.เยาวดี วิบูลย์ศรี การวิจัยสถาบัน แนวคิดพื้นฐาน
                เอกสารประกอบการบรรยาย วันที่ 3 ธันวาคม 2543)

แนวคิดเกี่ยวกับการวิจัยสถาบัน

            ธรรมชาติของการวิจัยสถาบันควรมีแนวความคิดหรือปรัชญาในการวิจัยดังนี้
            1. เป็นการทำวิจัยในหน่วยงาน สถาบัน หรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งโดยเฉพาะซึ่งแตกต่างจากการวิจัยทั่วไป
            2. เป็นการทำวิจัยตามขอบเขต ลักษณะ หน้าที่ หรือโครงสร้างของงานที่รับผิดชอบ หรือปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละองค์กรหรือสถาบันนั้นๆ
            3. เป็นการทำวิจัยทั้งปัญหาเฉพาะหน้าที่หรือการที่จะวางนโยบายหรือแผนระยะยาวของสถาบัน
            4. ผลงานการวิจัยสถาบัน จะต้องนำมาแก้ไขปัญหาหรือกำหนดนโยบายหรือพัฒนาองค์กรหรือสถาบันนั้นๆ   เท่านั้น แต่อาจนำไปเป็นแนวทางในการวิจัยสถาบันอื่นๆ ได้
            5. คณะผู้วิจัยเป็นนักวิจัย หรือ นักวิชาการ ที่สังกัดอยู่ภายในหน่วยงานหรือสถาบันนั้นๆ   (เว้นแต่จะมีที่ปรึกษาจากภายนอกร่วมด้วยก็ได้)
            6. คณะวิจัยควรเป็นนักวิจัยทางด้านสังคมศาสตร์,จิตวิทยา,นักสถิติการศึกษา,สังคมวิทยา,มนุษยศาสตร์,
เศรษฐศาสตร์,กฎหมาย หรือ การปกครองเป็นต้น
            7. แนวคิดหรือเป้าหมายหลักของการวิจัยสถาบันก็คือ เพื่อให้บริหารนำข้อมูลหรือข้อค้นพบต่างๆ
จากการวิจัยไป ใช้ประกอบในการแก้ปัญหา กำหนดนโยบายพัฒนาสถาบัน  หรือตัดสินใจในภาวการณ์ที่คับขัน เป็นต้น

บทบาทและความสำคัญของวิจัยสถาบันต่อสถาบันอุดมศึกษา

                วิจัยสถาบันเป็นวิจัยที่อาจพบว่ามีขั้นตอนการนำเสนอโครงร่างอย่างรวดเร็ว  ซึ่งแตกต่างไปจากงานวิจัยที่สร้างองค์ความรู้ใหม่  ผู้วิจัยอาจทำเพียงคนเดียวหรือเป็นทีมคณะวิจัยก็ได้  ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ (อาจจะไม่เกิน 4-6 เดือน)  เพราะต้องการผลการศึกษาและวิเคราะห์อย่างรวดเร็ว เพื่อให้ทันต่อความต้องการสารสนเทศในแต่ละเรื่อง  ดังนั้นบทบาทและความสำคัญของงานวิจัยสถาบันจึงสามารถแยกเป็นประเด็นเป็นข้อๆ ได้ดังต่อไปนี้

                1.  เพื่อให้เกิดฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพครบถ้วนและมีส่วนสำคัญของการประกันคุณภาพภายในเพื่อรองรับการประเมินภายนอก (สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา : องค์การมหาชน)

               2. เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการตรวจสอบว่า สถาบันได้ดำเนินการตามบทบาท พันธกิจ นโยบาย ภาระหน้าที่หรือไม่ อย่างไร

                3.  เพื่อให้ได้ข้อค้นพบแล้วนำมาวางแผนเพื่อการพัฒนา  กำหนดเป็นนโยบายและการตัดสินใจ

               4.  เพื่อใช้เป็นกลไกในการพัฒนา ปรับปรุงตนเองให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง

               5.  เพื่อให้สถาบันรู้ศักยภาพและจุดแข็ง จุดอ่อนของตนเอง  ตลอดจนชี้ให้เห็นผลลัพธ์/ผลกระทบของงานด้านต่างๆ

               6.  เพื่อให้ได้สารสนเทศที่หลากหลายและน่าเชื่อถือ นำไปสู่ความเป็นเลิศให้กับสถาบันและเป็นประโยชน์สำหรับการพัฒนาสถาบัน

               7.  การวิจัยสถาบันเป็นกระบวนการสร้างระบบงานบริหารและวัฒนธรรมองค์กรที่เน้นการตรวจสอบตนเองและการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง( continuous self improvement)

               8.  การวิจัยสถาบันเป็นเครื่องมือบริหารที่สนับสนุนการตัดสินใจ(decision making) และการบริหารการศึกษา (educational management)

               9.  การวิจัยสถาบันเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาองค์กรที่เรียกว่า organization development

ลักษณะงานวิจัยสถาบัน            การดำเนินการสลับกัน ระหว่างการทำงานของกระบวนการต่อไปนี้
            1. การวิจัยและพัฒนา (Research and Development) หรือ R&D คือ การวิจัยที่มุ่งพัฒนานวัตกรรมที่เป็นทางเลือกใหม่ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพงานโดยผลลัพธ์ของการวิจัยจะปรากฏให้เห็น 2 ลักษณะ
ได้แก่ ประเภทสื่อ / ชิ้นงาน (Material)และประเภทแบบหรือวิธีการทำงาน (Procedure / Process)
            2. การพัฒนาและวิจัย (Development & Research) หรือ D&R คือ การพัฒนามากกว่าวิจัย โดยถือว่า
การวิจัยเป็นเพียงส่วนน้อย
หลักการทั่วไปของการวิจัยสถาบัน

            1. ใช้ระยะเวลาสั้น หวังผลเร็วเพราะต้องการใช้ข้อมูล อาจจะไม่เกิน 6 เดือน
            2. ขั้นตอนการนำเสนอโครงร่างต้องรวดเร็ว ไม่มีขั้นตอนมาก อาจจะเขียนโครงการประมาณ 1-2 แผ่น
รวมถึงขั้นตอน การพิจารณา/อนุมัติด้วย
            3. งบประมาณต้องอนุมัติเร็ว และเพียงพอ
            4. ผู้ทำการวิจัยสถาบันต้องได้รับการลดภาระงานสอนลง เพราะการดำเนินการอาจจะไม่ทันกับระยะ
เวลาที่กำหนด และอาจส่งผลกระทบต่อข้อมูลที่จะใช้ประโยชน์
            5. นักวิจัยอาจวิจัยเดี่ยวหรือเป็นทีมคณะวิจัยก็ได้
            6. อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และคนต้องพร้อมด้วย

ภาระงานของวิจัยสถาบัน

            1. มีการจัดทำสารสนเทศ เพื่อการวางแผนและพัฒนาศึกษาสถาบันอุดมศึกษา
            2. มีการทำเอกสารบทคัดย่อ ผลงานวิจัยเพื่อเผยแพร่ให้กับบุคคล หน่วยงาน องค์กรทั้งภายใน
                และภายนอกมหาวิทยาลัย ในรูปแบบของเอกสารและเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์
            3. ดำเนินการวิจัยสถาบัน เพื่อวางแผนและพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา
            4. จัดทำเอกสารเผยแพร่ สารสนเทศ และผลงานการวิจัยสถาบัน
            5. จัดบริการให้คำปรึกษาและคำแนะนำการใช้ประโยชน์จากข้อมูลสารสนเทศและผลงานการวิจัยสถาบันแก่ผู้มาขอใช้บริการทั้งภายใน และภายนอกสถาบันอุดมศึกษา

 ตัวอย่างประเด็นคำถามที่ได้มีการนำมาศึกษาหาคำตอบโดยวิจัยสถาบัน

1. ด้านนักศึกษา

-      จำนวนคุณลักษณะหรือภูมิหลังของผู้เรียน

-      FTES จำนวนนักศึกษาเต็มเวลา

-      ค่าใช้จ่ายต่อหัวนักศึกษา

-      ระบบการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อ

-      สาเหตุการลาออกกลางคันของนักศึกษา

-      การสำเร็จการศึกษา

-      สภาวการณ์ทำงานของบัณฑิต  เงินเดือน และปัญหาในการทำงานของบัณฑิต

-      ความพึงพอใจของผู้ประกอบการที่บัณฑิตเข้าทำงาน

-      กิจกรรมสนับสนุนการศึกษาช่วงที่เป็นนักศึกษา

-      ความพึงพอใจ-ความคาดหวัง-ความต้องการ-ความคิดเห็นของนักศึกษาในเรื่องต่างๆ

2. ด้านบุคลากร

-      ข้อมูล จำนวนคณาจารย์ คุณวุฒิ ความเชี่ยวชาญทางวิชาการ การวิจัย ความถนัดหรือความสนใจ

-      ความต้องการพัฒนาความรู้ ความก้าวหน้า

-      สภาพความเป็นอยู่ สภาพทางเศรษฐกิจและสังคม

-      เงินเดือน ค่าตอบแทน ค่าจ้าง และสวัสดิการอื่นๆ

-      การเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ

-      ความสามารถในการวิจัยของอาจารย์

-      การประเมินผลการสอน

-      การประเมินผลประสิทธิภาพของผู้สอน

-      ข้อมูลด้านขวัญกำลังใจ ความจงรักภักดีต่อสถาบัน

3.     ด้านหลักสูตร/โปรแกรมการศึกษา

-      ข้อมูลหลักสูตรและเนื้อหาของหลักสูตร รวมทั้งความเหมาะสมของหลักสูตรในปัจจุบัน

-      ทิศทางการพัฒนา / ผลิตบัณฑิต/รูปแบบการผลิตบัณฑิต

-      ข้อมูลความพอใจ ทัศนคติและความต้องการ รวมทั้งปัญหา อุปสรรคในการเรียนแต่ละ

โปรแกรม

-      คุณภาพบัณฑิต

-      อัตราการสำเร็จการศึกษา

-      ประสิทธิภาพการผลิตบัณฑิต

-      การลาออกกลางคัน

-      การประเมินหลักสูตร

สรุป

                วิจัยสถาบันเป็นงานวิจัยที่บุคลากรภายในองค์กรใช้ประโยชน์ในการศึกษาตนเอง เพื่อตอบคำถามทางการบริหารจัดการภายในองค์กรของตนเองให้ได้ ซึ่งจะทำให้ได้สารสนเทศอันเป็นประโยชน์ต่อผู้บริหารในการตัดสินใจ  ทั้งนี้การดำเนินการวิจัยควรทำอย่างต่อเนื่องและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ไม่ใช่ทำแล้วเก็บไว้บนหิ้ง

คำสำคัญ (Tags): #งานวิจัยสถาบัน
หมายเลขบันทึก: 341703เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2010 14:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 20:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท