เสวนายามบ่าย (Learning Workshop) เรื่อง “Story Telling” กับ ดร. ประพนธ์ ผาสุขยืด


การเล่าเรื่องต้องให้ความสำคัญกับบริบท (Context) คือ มีตัวละคร มีอารมณ์ ความรู้สึก เวลา เหตุการณ์ สภาพแวดล้อม เป็นเรื่องราวที่ได้ประสบด้วยตัวเอง และสามารถเอาไปทำได้จริง

 

 

 

จากบันทึกที่แล้ว ผมได้เล่าถึงเรื่อง Deep Listening ที่ได้เรียนรู้จากท่าน อ. ประพนธ์  ผาสุขยืด ไปแล้ว มาบันทึกนี้ผมก็ได้มีโอกาสต่อยอดความรู้นี้ไปยังเรื่อง Story Telling กับทีมงานเดิม ที่ประกอบไปด้วย ท่าน อ. ประพนธ์  ผาสุขยืด และคุณ อุไรวรรณ  เทิดบารมี ในช่วงบ่ายแก่ๆของวันต่อมา (วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา 15.00-17.00 น. )  โดยวันนั้นเป็นลักษณะการสัมนาในรูปแบบของ Learning Workshop กับเรื่อง “ปลดปล่อยความรู้ปฏิบัติด้วย Story Telling”

 

 

 

บรรยากาศการเสวนาเริ่มต้นด้วยการให้ดู VDO การพัฒนาการเรียนการสอนการอ่านของนักเรียนชั้น ป. 2 ด้วยการบัตรคำ ของครูวันย์วิสา  แจ้งสว่าง ครูโรงเรียนวัดท่าไชย และบรรยากาศตัวอย่างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของครูในโรงเรียนด้วยการนั่งล้อมวงคุยกันด้วยบรรยากาศเป็นกันเอง อย่างไม่เป็นทางการ  ซึ่งจะเห็นว่าความรู้ที่ได้จากการปฏิบัตินั้นสามารถแลกเปลี่ยนได้ด้วยวิธีการนี้ได้อย่างเป็นธรรมชาติ  ไม่เหมือนกับความรู้ที่ได้จากทฤษฎีแล้วนำไปปฏิบัติ เพราะบางครั้งอาจจะไม่เห็นผลจริง

 

หลังจากดู VDO จบแล้ว ทางวิทยากร (คุณ อุไรวรรณ  เทิดบารมี ) ก็ได้สรุป และโยงเข้าสู่เนื้อหาจาก Pre – Post Content โดยการ ให้ตอบแบบสอบถามก่อนและหลังการสัมนา ว่า Story Telling คืออะไร ประโยชน์ของ Story Telling คืออะไร จากนั้นวิทยากร ได้แสดงตัวอย่างของการเล่าเรื่องให้ฟัง คือ เรื่องการเลี้ยงปลา และเปิดโอกาสให้เราได้มีโอกาสฝึกเล่าเรื่อง โดยการจับคู่แลกเปลี่ยนการเล่าเรื่องที่ได้เคยเรียนรู้และประทับใจ ซึ่งกันและกัน  หลังจากที่ได้ฝึกเล่าเรื่องกันแล้ว วิทยากรได้เปิดเพลง นิทานหิ่งห้อยของวงเฉลียงให้ฟัง แล้วถามว่าการเล่าเรื่องมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์อย่างไรกับเพลงๆ นี้  ซึ่งจะเห็นว่าเพลงนี้เป็นการลองนำเอาสิ่งที่ได้รับรู้มา (ทฤษฎี) ไปปฏิบัติแล้วดูผลความสำเร็จ โดยเด็กน้อยในเพลงพยายามเอาหิ้งห้อยใส่กล่องไว้ใต้หมอนแล้วเชื่อว่าจะนอนหลับฝันดี แต่ผลสุดท้าย ผลของการปฏิบัติก็ไม่เป็นจริงตามที่ได้ยินมา ตื่นเข้ามาก็เห็นแค่หนอนตัวน้อยเท่านั้นเอง  จากการบรรยายของวิทยากร วิทยากรได้เชื่อมโยงเข้าไปสรุปหลักการของวิธีการเล่าเรื่องที่ดีว่าลักษณะของโครงสร้างของเรื่องที่จะเล่านั้นต้องให้ความสำคัญกับบริบท (Context) คือ มีตัวละคร มีอารมณ์ ความรู้สึก เวลา เหตุการณ์ สภาพแวดล้อม เป็นเรื่องราวที่ได้ประสบด้วยตัวเอง และสามารถเอาไปทำได้จริง

 

 

ต่อมา อ. ประพนธ์ ได้ทำหน้าที่เป็นผู้นำการบรรยายต่อ โดยเชื่อมโยงเนื้อหาว่า การเล่าเรื่องนั้นเป็นการดึงเอาความรู้ฝังลึก (Tacit Knowledge) ที่อยู่ในแต่ละบุคคลออกมา ที่การถ่ายทอดความรู้อย่างเป็นทางการ (Explicit Knowledge) ไม่สามารถทำได้ เช่น เรื่องของภูมิปัญญาโบราณ เคล็ดวิชา ประเพณี วัฒนธรรม ประสบการณ์ต่างๆ เป็นต้น ความรู้ที่ได้จากการเล่าเรื่องเป็นความรู้ตามบริบทนั้นๆ ไม่สามารถเหมาโหลตามเหตุการณ์ทั่วไปได้ การแก้ปัญหาหรือการนำความรู้ที่ได้จากการเล่าเรื่องนั้นต้องคำนึงถึงบริบทที่เกี่ยวข้อง เช่น กาลเทศะ สถานการณ์ สิ่งแวดล้อม ประเพณีวัฒนธรรม นั้นๆ เป็นต้น  ดังนั้นการจัดการความรู้ต้องให้มีความสมดุลกันทั้งความรู้ฝังลึก (Tacit Knowledge) และ ความรู้อย่างเป็นทางการ (Explicit Knowledge) ที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าเราสามารถจัดการความรู้อย่างเป็นทางการ (Explicit Knowledge) ค่อนข้างง่ายและทำอยู่แล้ว เช่น การจัดการศึกษา อบรมในระบบ เป็นต้น แต่การจัดการความรู้ฝังลึก (Tacit Knowledge) ยังไม่ค่อยได้ทำกัน จึงต้องให้ความสำคัญกับการจัดการความรู้ประเภทนี้ มิฉะนั้น ความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาโบราณบางอย่าง ก็อาจจะสูญหายไป

 

วิทยากรบอกให้เรามองความรู้หลายมุมมอง คือ เป็นทั้งของดีและของเสีย เพราะถ้าความรู้มากไปแต่ไม่ได้ใข้ประโยชน์ ก็จะเป็นภาระ ดังที่ท่านกฤษณะมูรติได้กล่าวไว้ว่า “Knowledge is barrier”  เข้าทำนอง “ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด” เราต้องเปลี่ยนความรู้ที่เป็นภาระนั้นให้เป็นพลังให้ได้ และต้องสร้างนวัตกรรมต่อยอดความรู้นั้นนำไปทำให้เกิดสิ่งใหม่เพื่อประโยชน์ของผู้ใช้ต่อไป

 

 

สำหรับมือใหม่หัดเล่าเรื่อง ควรจะเริ่มจากเรื่องที่ประทับใจและประสบความสำเร็จ ก่อน เพราะเป็นเรื่องที่ทุกคนอยากเล่าและรู้สึกภูมิใจ เพราะถ้าเป็นเรื่องที่ล้มเหลวหรือผิดพลาด อาจทำให้เกิดการโจมตี ขุดคุ้ย หาแพะ ได้ สำหรับคนที่มีประสบการณ์ดีแล้วก็สามารถทำได้ แต่ต้องเล่าเพื่อเป็นบทเรียน Lesson Learn/Case Study เท่านั้น โดยเรื่องที่เล่าต้องเป็นเรื่องที่จบไปแล้ว ตัดสินไปแล้ว

 

 

ประสิทธิผลของการการเล่าเรื่องจะทำได้ดีเมื่อมี คุณอำนวย (Facilitator) มาช่วยกระตุ้น เพื่อสร้างบรรยากาศ เชิงบวก ให้กำลังใจ ซึ่งการเล่าเรื่องจะต้องเป็นเรื่องที่น่าเชื่อถือ เป็นกันเอง และแสดงออกถึงการชื่นชมยินดี นอกจากนี้ ยังมีคุณลิขิต (Note-Taker) ทำหน้าที่จดประเด็น จดบันทึกจากเรื่องเล่าของสมาชิกในกลุ่ม  และคุณกิจ (Knowledge Practitioner) ที่ทำหน้าที่นำเสนอผลความสำเร็จของงานออกมา

 

 

 

ผลของการเล่าเรื่องจะต้องถูกบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร / รูปภาพ สัญญลักษณ์ เพื่อสืบทอดความรู้นั้นและนำไปใช้งานในทางปฏิบัติด้านอื่นๆต่อไป การเล่าเรื่องยังมีรูปแบบอีกรูปแบบหนึ่งที่ก้าวข้ามผ่านการล้อมวงคุยกัน ลัดเข้าเป็น Shortcut ของการบันทึกได้ โดยการเขียนบันทึกเรื่องราวต่างๆ ผ่าน Website เช่น Blog ต่างๆ ซึ่งขณะนี้ผมเข้าใจว่าผมก็กำลังเล่าเรื่องผ่านการบันทึก ของ Blog GTK อยู่ครับ

 

หมายเลขบันทึก: 341476เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2010 17:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท