รู้จักกับปลาดุกลำพัน (ตอนที่ 1)


“ปลาดุกลำพันคืนถิ่นเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดพัทลุง ” โครงการดีๆสู่ชุมชนของมหาวิทยาลัยทักษิณ

"ปลาดุกลำพัน"  ปลาดุกธรรมดาที่ไม่ธรรมดา

ปลาดุกลำพัน (Clarias nieuhofii) เป็นปลาน้ำจืดที่มีถิ่นอาศัยเฉพาะในภาคใต้ของประเทศไทย และบางส่วนของภาคตะวันออก ปัจจุบันปลาดุกลำพันจัดปลาน้ำจืดที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในภาคใต้ (ศราวุธ และคณะ, 2538 ; แผนพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา, 2548) และยังถูกจัดสถานะอนุรักษ์เป็นชนิดพันธุ์สัตว์ที่อยู่ในหมวดถูกคุกคาม (threatened) มีความเสี่ยงสูงต่อการสูญพันธุ์ในธรรมชาติ (vulnerable)  (IUCN, 2001) เนื่องจากมีการบุกรุกทำลาย หรือเปลี่ยนแปลงสภาพที่อยู่อาศัยของปลาดุกลำพัน ตลอดจนการจับปลามากเกินกำลังการผลิตตามธรรมชาติ ทำให้คาดการณ์ว่าปลาดุกลำพันในธรรมชาติอาจสูญพันธุ์หมดไปจากธรรมชาติในระยะเวลาอันสั้น  

ปลาดุกลำพัน เป็นปลาที่มีลักษณะส่วนหัวเล็กสั้น ครีบหลังและครีบก้นใหญ่ยาวเกือบเท่าความยาวลำตัว ครีบหางเล็กอยู่ชิดกับครีบหลังและครีบก้น บางตัวก็เชื่อมติดกัน ครีบท้องเล็ก ตัวสีคล้ำอมน้ำตาลแดง มีจุดเป็นแนวตั้งตลอดลำตัว ด้านท้องมีสีจาง ขนาดความยาวลำตัวประมาณ 30 ซม. ตัวใหญ่ที่สุดพบมีขนาด 60 ซม.  ปลาดุกลำพันเป็นปลาน้ำจืดที่มีถิ่นอาศัยเฉพาะในภาคใต้ของประเทศไทย  ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป  และภาคตะวันออกตั้งแต่จังหวัดจันทบุรี และยังพบในประเทศมาเลเซียถึงบอร์เนียว พบอาศัยในแหล่งน้ำที่เป็นกรดและมีสีชา เช่นตามป่าพรุและลำธารในป่าดิบชื้น มีพฤติกรรมชอบรวมกลุ่มกันเป็นฝูงในฤดูแล้ง มีขายเป็นครั้งคราวในตลาดสดทางภาคใต้เช่นที่จังหวัดพัทลุงและนครศรีธรรมราช เนื้อมีรสชาติดีกว่าปลาดุกชนิดอื่น ราคาค่อนข้างสูง และยังมีการเลี้ยงเป็นปลาสวยงามที่มีพบขายเป็นครั้งคราวในตลาดปลาสวยงาม   ปัจจุบันพบว่าเป็นสัตว์น้ำที่ใกล้สูญพันธุ์ในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เนื่องจากมีการบุกทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสภาพที่อยู่อาศัยของปลาดุกลำพัน ตลอดจนการจับปลามากเกินกำลังการผลิตตามธรรมชาติ ทำให้คาดการณ์ว่าปลาดุกลำพันในธรรมชาติอาจสูญพันธุ์หมดไปจากธรรมชาติในระยะเวลาอันสั้น  แม้ว่าจะมีงานวิจัยที่รายงานผลสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลาชนิดนี้แต่จนกระทั่งปัจจุบันยังไม่มีการผลิตลูกพันธุ์ปลาในปริมาณมากเพียงพอ   รวมทั้งยังไม่เคยมีงานวิจัยที่เกี่ยวกับการอนุบาลลูกปลาและเลี้ยงปลาชนิดนี้มาก่อน 

ทะเลน้อย นับเป็นพื้นที่แหล่งน้ำจืดที่มีความสำคัญและเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดพัทลุง และเป็นพื้นที่ที่ในอดีต           พบปลาดุกลำพันแพร่กระจายเป็นจำนวนมาก แต่ในปัจจุบันปลาดุกลำพันได้สูญหายไปจากทะเลน้อย โดยไม่มีรายงานการพบปลาดุกลำพันในแหล่งน้ำดังกล่าวมาเป็นเวลานาน  การอนุรักษ์พันธุ์ปลาดุกลำพันสามารถดำเนินการได้ 2 ลักษณะ ได้แก่การฟื้นฟูถิ่นอาศัยของปลาชนิดนี้ และการเพาะขยายพันธุ์ปลาดุกลำพัน เพื่อปล่อยลูกพันธุ์กลับสู่ถิ่นอาศัยตามธรรมชาติ  โดยเฉพาะการผลิตลูกปลาดุกลำพันจากพ่อ-แม่พันธุ์ที่เพาะพันธุ์และเลี้ยงขึ้นเองในห้องปฏิบัติการ โดยมีการอนุบาลลูกปลาด้วยวิธีการที่เหมาะสม จนกระทั่งลูกปลามีขนาดที่สามารถดำรงชีวิตได้เองในธรรมชาติ แล้วปล่อยพันธุ์ปลานี้กลับสู่ถิ่นอาศัยในปริมาณ และช่วงเวลาที่เหมาะสม โดยอาศัยความร่วมมือในการดูแลทำนุบำรุงรักษาทรัพยากร และถิ่นอาศัยของปลาจากชุมชนที่เล็งเห็นความสำคัญ  

ดังนั้นภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ  จึงได้ร่วมกับ  องค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดพัทลุง  สำนักงานประมงจังหวัดพัทลุง กรมประมง เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย  กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช สถานีพัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าทะเลน้อย   จัดกิจกรรมเนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 82 พรรษา  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยการปล่อยลูกพันธุ์ปลาดุกลำพันคืนถิ่นอาศัย ณ ท่าน้ำ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช  อำเภอควนขนุน  จังหวัดพัทลุง  เพื่อช่วยในการฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำที่สำคัญ และเป็นการทำนุบำรุงทรัพยากรที่แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดพัทลุงอย่างยั่งยืน ในช่วงเดือนพฤศจิกายน –เดือนธันวาคม 2552 

ผู้สนใจข้อมูลเพิ่มเติมหรือต้องการร่วมกิจกรรม โปรดติดต่อ ดร.สุภฎา คีรีรัฐนิคม  ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ    วิทยาเขตพัทลุง โทร. 074-693992   หรือ 084-7503986 หรือ โทร.  074-442660  หรือ 074-311885-7 ต่อ 7203 , 7207

คำสำคัญ (Tags): #ไหม ม.ทักษิณ
หมายเลขบันทึก: 341439เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2010 16:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 เมษายน 2012 10:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีครับ มีภาพให้ชมไหมครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท