ม.ทักษิณ ทูลเกล้าฯ ถวายพันธุ์ปลาดุกลำพัน สำหรับพระราชทานแก่เกษตรกรในจังหวัดพัทลุง ตามโครงการ “ ปลาดุกลำพันคืนถิ่นเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดพัทลุง ”


โครงการปลาดุกลำพันคืนถิ่นเฉลิมพระเกียรติ

ม.ทักษิณ ทูลเกล้าฯ ถวายพันธุ์ปลาดุกลำพัน สำหรับพระราชทานแก่เกษตรกรในจังหวัดพัทลุง ตามโครงการ “ ปลาดุกลำพันคืนถิ่นเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดพัทลุง ”เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 82 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 

โครงการ “ ปลาดุกลำพันคืนถิ่นเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดพัทลุง ”  เป็นโครงการที่มหาวิทยาลัยทักษิณ ร่วมกับส่วนราชการในจังหวัดพัทลุง จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 82 พรรษา  นับเป็นสิริมหามงคลฤกษ์ในการฟื้นฟู     ทรัพยากรธรรมชาติ ตามเบื้องพระยุคลบาท  การปล่อยปลาดุกลำพันคืนถิ่นอาศัยในแหล่งธรรมชาติเป็นกิจกรรมที่สำคัญอย่างยิ่งในการร่วมเฉลิมฉลองวโรกาสอันสำคัญของประชาชนชาวไทย  และเป็นกิจกรรมหนึ่งในวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัยทักษิณ ครบรอบ 41 ปี ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2552   

 ปลาดุกลำพัน (Clarias nieuhofii) เป็นปลาน้ำจืดในครอบครัวปลาดุกที่มีถิ่นอาศัยเฉพาะในภาคใต้ของประเทศไทย และบางส่วนของภาคตะวันออก เป็นปลาดุกที่เนื้อมีรสชาติดีเป็นที่นิยมบริโภคของชาวภาคใต้ในอดีต  เนื่องจากมีการบุกรุกทำลาย หรือเปลี่ยนแปลงสภาพที่อยู่อาศัยของปลาดุกลำพัน ตลอดจนการจับปลาเพื่อการบริโภคมากเกินกำลังการผลิตตามธรรมชาติ ทำให้คาดการณ์ว่าปลาดุกลำพันในธรรมชาติอาจสูญพันธุ์หมดไปจากธรรมชาติในระยะเวลาอันสั้น  ปลาดุกลำพันจัดปลาน้ำจืดที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในภาคใต้ และจำเป็นต้องดำเนินการอนุรักษ์ ฟื้นฟูพันธุ์ปลาโดยเร่งด่วน  การอนุรักษ์พันธุ์ปลาดุกลำพันสามารถดำเนินการได้ 2 ลักษณะ ได้แก่การฟื้นฟูถิ่นอาศัยของปลาชนิดนี้ และการเพาะขยายพันธุ์ปลาดุกลำพัน โดยการผลิตลูกปลาดุกลำพันจากพ่อ-แม่พันธุ์ที่เพาะพันธุ์และเลี้ยงขึ้นเองในห้องปฏิบัติการ ด้วยวิธีการอนุบาลลูกปลาที่เหมาะสมโดยอาศัยความร่วมมือในการดูแลทำนุบำรุงรักษาทรัพยากร และถิ่นอาศัยของปลาจากชุมชนที่เล็งเห็นความสำคัญ  

จากความสำเร็จในการเพาะขยายพันธุ์และอนุบาลปลาดุกลำพันวัยอ่อนของหน่วยวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง โดย        ดร. สุภฎา คีรีรัฐนิคม และคณะทำงาน ทำให้ปัจจุบันมีพันธุ์ปลาดุกลำพันระยะวัยอ่อนและระยะวัยรุ่นที่เพาะพันธุ์ได้ในห้องปฏิบัติการเป็นจำนวนมากประกอบกับการวิจัยในโครงการ การเพาะเลี้ยงปลาดุกลำพันเพื่อการอนุรักษ์พันธุ์ เครือข่ายการวิจัยภาคใต้ตอนล่าง สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแห่งชาติ (สกอ.) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2551  ได้จัดฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี เรื่อง การเพาะเลี้ยง และขยายพันธุ์ปลาดุกลำพัน ให้แก่เกษตรกรและผู้สนใจทั่วไป เนื่องจากชุมชนในจังหวัดพัทลุงได้ตระหนักดีถึงการลดจำนวนลงของปลาดุกลำพันในธรรมชาติ ประกอบกับเป็นปลาที่นิยมบริโภคในท้องถิ่น และมีราคาสูง จึงมีกลุ่มเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในจังหวัดพัทลุง และบุคคลทั่วไปให้ความสนใจที่จะนำปลาดุกลำพันจากมหาวิทยาลัยทักษิณไปเลี้ยงทั้งในเชิงอนุรักษ์พันธุ์ปลาหายากและเชิงเศรษฐกิจจำนวนมาก

เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พุทธศักราช 2551 โครงการวิจัยการเพาะเลี้ยงปลาดุกลำพันเพื่อการอนุรักษ์พันธุ์ ของมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จทอดพระเนตรกิจกรรมการเพาะเลี้ยงปลาดุกลำพันในห้องปฏิบัติการ นับเป็นสิริมงคลแก่โครงการวิจัย ด้วยพระบารมีส่งผลให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยความราบรื่น สามารถขยายพันธุ์ปลาดุกลำพัน และผลิตลูกพันธุ์ปลารุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2  ได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้การอนุรักษ์สายพันธุ์ปลาดุกลำพันให้คงอยู่สืบไปสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อยอาศัยความร่วมมือจากชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่มีความรู้ความสามารถในการเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ปลาที่ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรปลาดุกลำพัน ร่วมมือกันดำเนินการเลี้ยงลูกพันธุ์ปลาดุกลำพันให้เติบโตเป็นพ่อแม่พันธุ์ปลา และนำไปขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนในท้องถิ่นต่างๆ ให้มากขึ้น

เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 82 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นับเป็นสิริมหามงคลฤกษ์ในการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ตามเบื้องพระยุคลบาท และเพื่อเป็นสิริมงคลแก่มหาวิทยาลัยทักษิณและเกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ในการร่วมอนุรักษ์พันธุ์ปลาดุกลำพันในท้องถิ่นรอบพื้นที่ทะเลน้อยจังหวัดพัทลุง  และเป็นกิจกรรมหนึ่งในวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัยทักษิณ ครบรอบ 41 ปี  ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2552  มหาวิทยาลัยทักษิณ จึงขอพระราชทานพระราชวโรกาส  เฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายพันธุ์ปลาดุกลำพัน แด่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  สำหรับพระราชทานแก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในท้องถิ่น ตามโครงการ “ปลาดุกลำพันคืนถิ่นเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดพัทลุง” จำนวน 9 คน   เพื่อเป็นสิริมหามงคลฤกษ์ในการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ตามเบื้องพระยุคลบาท   และเพื่อให้นำไปเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ปลาชนิดนี้ยังแหล่งน้ำต่างๆ ในท้องถิ่นและดำรงรักษาพันธุ์ปลาชนิดนี้ในท้องถิ่นภาคใต้สืบต่อไป นับเป็นกิจกรรมที่จะช่วยในการฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำที่สำคัญและเป็นการทำนุบำรุงทรัพยากรที่แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

รายชื่อเกษตรกร เข้ารับพระราชทานลูกปลาดุกลำพันเพื่อการอนุรักษ์พันธุ์

  1.นายสมโชค ช่วยเนื่อง                     อำเภอป่าพะยอม                จังหวัดพัทลุง

 2. นายเจริญ ดำนาคแก้ว                     อำเภอป่าพะยอม                จังหวัดพัทลุง

3. นายคมม์ ไชยรัตน์                           อำเภอบางกล่ำ                  จังหวัดสงขลา

4. นายประกอบ ทองนิ่ม                     อำเภอบางกล่ำ                    จังหวัดสงขลา

5. นายทรงเดช ศรีอินทร์                    อำเภอชะอวด            จังหวัดนครศรีธรรมราช

6. นางดอกบัว อรุณรัตน์                     อำเภอควนขนุน                   จังหวัดพัทลุง 

7. นางละมัย สงสม                           อำเภอควนขนุน                   จังหวัดพัทลุง

8. นายพิทักษ์ ศรีอินทร์                       อำเภอควนขนุน                   จังหวัดพัทลุง

9. นายลอย  สุขคร                             อำเภอควนขนุน                   จังหวัดพัทลุง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #ไหม ม.ทักษิณ
หมายเลขบันทึก: 341435เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2010 16:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2012 10:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท