ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น "สมัยใหม่"


สมัยใหม่ 

ยุคเมจิ

การปฏิรูปเมจิ ทำให้ยุคเอะโดะสิ้นสุดลงใน ค.ศ.1868  และปีเดียวกันนั้นนับเป็นการเริ่มต้นของยุคเมจิ เป็นสมัยที่เด่นที่สุดสมัยหนึ่งในบรรดาประวัติศาสตร์ของประเทศ ภายใต้การปกครองของสมเด็จพระจักรพรรดิเมจิ ญี่ปุ่นได้บรรลุความสำเร็จในการพัฒนาประเทศโดยใช้เวลาเพียงไม่กี่ทศวรรษ กล่าวคือการสร้างสรรค์ประเทศให้เข้าสู่ยุคใหม่ด้วยอุตสาหกรรม พัฒนาสถาบันทางการเมืองและรูปแบบของสังคมแบบใหม่ ทั้งที่ประเทศตะวันตกต้องใช้เวลาพัฒนานานนับศตวรรษ

ในช่วงปีแรกๆ ของการครองราชย์ สมเด็จพระจักรพรรดิเมจิทรงย้ายเมืองหลวงจากกรุงเกียวโตไปอยู่ที่เมืองเอโดะ ซึ่งเป็นที่ตั้งของรัฐบาลระบบศักดินาที่ผ่านมา และได้ทรงเปลี่ยนชื่อเมืองหลวงเป็นโตเกียว ซึ่งแปลว่า "เมืองหลวงตะวันออก" มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ตลอดจนตั้งคณะรัฐมนตรี และสถาบันนิติบัญญัติระบบสองสภา ยกเลิกการแบ่งชนชั้นแบบเก่าของสมัยศักดินา ญี่ปุ่นทั้งประเทศทุ่มเทพลังงานและความกระตือรือร้นในการศึกษาและรับอารยธรรมตะวันตกมาใช้

การปฏิรูปเมจิเหมือนกับการทลายของเขื่อนที่กอปรด้วยพลังและแรงผลักดันสะสมมานับศตวรรษ ต่างชาติเองรู้สึกถึงความรุนแรงและความตื่นตัวที่เกิดจากการปลดปล่อยพลังเหล่านี้ออกมาในฉับพลัน ก่อนจะสิ้นศตวรรษที่ 19 ญี่ปุ่นเข้าร่วมสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่ง ระหว่างปี ค.ศ.1894 - 1895  ซึ่งลงเอยด้วยชัยชนะของญี่ปุ่น  ผลของสงครามคือญี่ปุ่นได้ไต้หวันมาจากจีน  สิบปีต่อมาญี่ปุ่นประสบชัยชนะอีกครั้งหนึ่งในสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น ระหว่างปี ค.ศ.1904-1905 และยึดได้ซัคคาลินตอนใต้ ซึ่งยกให้รัสเซียเมื่อปี ค.ศ.1875 เพื่อแลกกับเกาะคูริล และทำให้ชาวโลกรับรู้ว่าญี่ปุ่นมีความสนใจในดินแดนแมนจูเรียเป็นพิเศษ หลังจากที่ได้กำจัดอำนาจอื่นๆ ที่จะมามีอิทธิพลเหนือเกาหลีแล้ว ในตอนแรกญี่ปุ่นได้จัดการให้เกาหลีเป็นดินแดนในอารักขา และผนวกเกาหลีในเวลาต่อมาคือในปี ค.ศ.1910

สมเด็จพระจักรพรรดิเมจิทรงปกครองประเทศด้วยความเข้าใจถ่องแท้และสร้างสรรค์ ซึ่งการปกครองของพระองค์ช่วยนำประเทศให้ผ่านพ้นช่วงทศวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลง พระองค์เสด็จสวรรคตในปี ค.ศ.1912 ก่อนจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อสงครามโลกครั้งนี้สิ้นสุดลง ญี่ปุ่นก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจของโลก เพราะญี่ปุ่นได้เข้าร่วมสงครามโลกเนื่องจากได้ทำสัญญาเป็นพันธมิตรกับประเทศอังกฤษไว้เมื่อปี ค.ศ.1902  ทำให้ญี่ปุ่นซึ่งอยู่ฝ่ายไตรภาคี ผู้ชนะ สามารถขยายอำนาจและอาณาเขตต่อไปอีก  และสมเด็จพระจักรพรรดิไทโช ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ต่อจากสมเด็จพระจักรพรรดิเมจิ ใน ค.ศ.1912 ทำให้ปี ค.ศ.1912 นับเป็นปีสิ้นสุดของยุคเมจิ และเป็นจุดเริ่มต้นของ ยุคไทโช และจักรพรรดิไทโชเสด็จสวรรคตใน ค.ศ.1926 และสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโต ครองราชย์ต่อจากสมเด็จพระจักรพรรดิไทโช ซึ่งทำให้ปี 1926 เป็นจุดสิ้นสุดสมัยไทโช และเป็นจุดเริ่มต้นของยุคโชวะ

"สมเด็จพระจักรพรรดิเมจิ"

ยุคไทโช และโชวะ หรือ ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

สมัยโชวะได้เริ่มต้นด้วยบรรยากาศแห่งความหวัง อุตสาหกรรมของประเทศยังคงเจริญเติบโตต่อไปโดยไม่หยุดยั้ง และดูเหมือนว่าการเมืองของญี่ปุ่นหยั่งรากลึกด้วยการปกครองระบบสภา อย่างไรก็ตาม ปัจจัยใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นเริ่มที่จะก่อให้เกิดความวุ่นวายสับสน ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกทำให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นไม่มั่นคง ความเชื่อมั่นในพรรคการเมืองของประชาชนได้ลดน้อยลงหลังจากมีการเปิดโปงเรื่องอื้อฉาวหลายเรื่อง พวกหัวรุนแรงใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ในช่วงนี้ และกลุ่มทหารฉวยโอกาสที่เปิดให้พวกตนในช่วงเวลาอันสับสนวุ่นวาย อิทธิพลของพรรคการเมืองค่อยๆ ลดน้อยลง หลังจากเหตุการณ์ลูกั๋วเฉียว (Lugouqiao Incident)  ซึ่งก่อให้เกิดสงครามกับจีน พรรคการเมืองเหล่านี้ถูกบีบให้รวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียวเพื่อความร่วมมือในยามสงคราม   เป็นผลให้ในที่สุดได้มีการยุบพรรคการเมืองทั้งหมด และตั้งพรรคการเมืองแห่งชาติขึ้นมาแทน  เนื่องจากสภาไดเอ็ตถูกลดบทบาทจนไม่ต่างจากตรายางเท่าใดนัก ทำให้ไม่มีการคัดค้านจากทางสภานิติบัญญัติเกี่ยวกับกระแสเหตุการณ์ทั้งหลายที่นำไปสู่การเกิดสงครามแปซิฟิกในปี ค.ศ.1941

ญี่ปุ่นได้ดำเนินนโยบายขยายดินแดนต่อไปโดยการครอบครองแมนจูเรียใน ค.ศ.1931 และเมื่อถูกนานาชาติประณามในการครอบครองดินแดนนี้  ญี่ปุ่นจึงประกาศลาออกจากองค์การสันนิบาตชาติในสองปีต่อมา   ในปี 1936 ญี่ปุ่นลงนามในสนธิสัญญาต่อต้านองค์การคอมมิวนิสต์สากลกับนาซีเยอรมนี  และเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะในปี 1941  ญี่ปุ่นได้เสริมสร้างอำนาจทางการทหารให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น  หลังจากญี่ปุ่นถูกกีดกันทางการค้าจากสหรัฐอเมริกา  ต่อมาจึงได้เปิดฉากสงครามในแถบเอเชียแปซิฟิก (ซึ่งรู้จักกันทั่วไปในชื่อ สงครามมหาเอเชียบูรพา) ในวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 1941  โดยการโจมตีฐานทัพเรือสหรัฐอเมริกาที่อ่าวเพิร์ล  และการยาตราทัพเข้ามายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นดินแดนอาณานิคมของสหรัฐอเมริกา  สหราชอาณาจักรและเนเธอร์แลนด์  ตลอดสงครามครั้งนั้น ญี่ปุ่นสามารถยึดครองประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ทั้งหมด  แต่หลังจากที่ญี่ปุ่นพ่ายแพ้ให้แก่สหรัฐอเมริกาในการรบทางน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกหลังจากยุทธนาวีแห่งมิดเวย์ ค.ศ.1942  ญี่ปุ่นก็ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบมากขึ้นเรื่อยๆ  แต่ก็ยังไม่ยอมแพ้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตรโดยง่าย เมื่อต้องเผชิญหน้ากับระเบิดปรมาณูของสหรัฐอเมริกา  ซึ่งถูกทิ้งที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ (ในวันที่ 6 และ 9 สิงหาคม ค.ศ.1945ตามลำดับ)  และการรุกรานของสหภาพโซเวียต (วันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ.1945)  ญี่ปุ่นจึงประกาศยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไขในวันที่ 15 สิงหาคม ปีเดียวกัน   สงครามทำให้ญี่ปุ่นต้องสูญเสียพลเมืองนับล้านคนและทำให้อุตสาหกรรมและโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเสียหายอย่างหนัก  ฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกาได้ส่งพลเอกดักลาส แมกอาร์เธอร์เข้ามาควบคุมญี่ปุ่นตั้งแต่หลังสงครามจบ

"ระเบิดนิวเคลียร์แฟทแมน ที่ถูกทิ้งลงนะงะซะกิในวันที่ 9 สิงหาคม  ค.ศ.1945"

ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2  จนถึงปัจจุบัน

ในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1945 ญี่ปุ่นซึ่งพ่ายแพ้และทรุดโทรมลงพิษภัยของสงครามโลกครั้งที่สอง ได้ยอมรับข้อตกลงยอมแพ้สงครามของฝ่ายสัมพันธมิตร  และประชาชนได้วางอาวุธตามพระราชโองการของสมเด็จพระจักรพรรดิ เป็นเวลานานกว่า 6 ปี หลังจากแพ้สงคราม ญี่ปุ่นตกอยู่ใต้การควบคุมของฝ่ายสัมพันธมิตร ส่วนใหญ่ได้แก่ประเทศสหรัฐอเมริกา ภายใต้อำนาจของฝ่ายยึดครองซึ่งนำโดย พลเอกดักลาส แม็คอาเธอร์

1.ห้ามมีกองกำลังป้องกันประเทศและคณะปฏิวัติ เว้นแต่กองกำลังความมั่นคงภายในประเทศ

2.ญี่ปุ่นต้องชาติแห่งประชาธิปไตยเท่านั้นถ้าไม่พอใจผู้นำคนใด ใช้ประชาธิปไตยในการตัดสิน และมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

3.สหประชาชาติและรัฐบาลญี่ปุ่นต้องสนับสนุนญี่ปุ่น ในด้านการส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ ของญี่ปุ่นและชาติอื่นๆ ยูเนสโก และรัฐบาลญี่ปุ่นต้องสนับสนุน ด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม เทคโนโลยีนวัตกรรมต่างๆ การสร้างสรรค์และพัฒนาเปลี่ยนในทางที่ดีให้กับญี่ปุ่นให้รวดเร็วทันต่อโลกาภิวัฒน์ และสนับสนุนอาริยะ

4.ห้ามชนชาติหรือปถุชนองค์กรใดๆ มาทำการแยกประเทศหรือถือกรรมสิทธิ์ใดๆในญี่ปุ่นเด็ดขาด เว้นแต่ ทางธุรกิจและข้อตกลงในกฎหมายเท่านั้น

5.ข้าราชการทุกๆกระทรวงในญี่ปุ่นนอกจากได้รับเงินเดือนแล้วยังได้รับ เงินพิเศษ ค่าคอมมิชชั่น และทำธุรกิจอื่นๆได้ ผสานด้วยกฎหมายญี่ป่น

แต่ห้าม สร้างผลกระทบทางด้าน เศรษฐกิจ ความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ การศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม เทคโนโลยีนวัตกรรมต่างๆ การสร้างสรรค์และพัฒนา ต่อญี่ปุ่นเด็ดขาด

1.สหประชาชาติต้องคุ้มครองการรุกรานต่างๆให้กับญี่ปุ่น

2.ขอให้สหประชาชาติจงเป็นพยานให้กับสนธิสัญญาสันติภาพ ซานฟรานซิสโก ณ ครั้งนี้ ให้คงธำรงไว้ตลอด

ในปี ค.ศ.1951 ญี่ปุ่นลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพ ซานฟรานซิสโก ซึ่งแสดงว่าญี่ปุ่นได้กลับคืนสู่ประชาคมนานาชาติในฐานะที่เป็นรัฐปฏิรูป จากการลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าว ญี่ปุ่นได้สิทธิในการบริหารกิจการต่างประเทศคืนมาหลังจากที่ได้ถูกตัดสิทธิไประหว่างการถูกยึดครอง  งานเร่งด่วนที่สุดประการหนึ่งที่จะต้องดำเนินการหลังสงครามโลก ได้แก่ การฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจ ด้วยความสนับสนุนและเห็นอกเห็นใจจากสหรัฐอเมริกาและชาติอื่นๆ ญี่ปุ่นได้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การระหว่างประเทศหลายแห่ง ซึ่งทำให้ญี่ปุ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการค้าเสรีหลายฝ่ายระหว่างประเทศ ในช่วงกลางทศวรรษที่ 1960 ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่เข้มแข็งทางเศรษฐกิจเพียงพอที่จะแข่งขันในตลาดเสรีของโลกได้เป็นอย่างดี

พร้อมๆ กับการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ญี่ปุ่นใช้ความพยายามในการปรับปรุงสถานะทางการทูตระหว่างประเทศ เริ่มต้นด้วยเมื่อญี่ปุ่นได้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติใน ค.ศ.1956 ญี่ปุ่นได้มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการประชุมอภิปรายระหว่างประเทศทางด้านการเมืองตลอดจนเศรษฐกิจและสังคม ในปี ค.ศ.1960 ได้มีการทบทวนสนธิสัญญาทางด้านความมั่นคงที่ทำไว้กับสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี ค.ศ.1951 เพื่อจะได้อำนวยประโยชน์ต่อกันและกันยิ่งขึ้น ญี่ปุ่นได้ชำระเงินค่าปฏิกรรมสงครามจนครบภายในกลางทศวรรษที่ 1960 หลังจากการเจรจาหลายครั้งที่ยืดเยื้อ ญี่ปุ่นได้สถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับสาธารรณรัฐเกาหลีในปี ค.ศ.1965 เพียง 20 ปีหลังจากแพ้สงคราม ญี่ปุ่นก็ฟื้นตัวจากความพินาศอันเกิดจากสงครามได้เกือบจะสมบูรณ์ มหกรรมกีฬาโอลิมปิค เมื่อปี ค.ศ.1964 ที่โตเกียว เป็นสัญลักษณ์แห่งความเชื่อมั่นใหม่ของชาวญี่ปุ่น และบทบาทของประเทศก็เพิ่มขึ้นในหมู่ประชาคมระหว่างประเทศ

นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1945 ญี่ปุ่นมีเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศอย่างเห็นได้ชัด พรรคอนุรักษ์นิยมมีเสียงข้างมากในสภาไดเอ็ตเป็นนิจ ยกเว้นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ญี่ปุ่นมีรัฐบาลสังคมนิยมในปี ค.ศ.1947 และ 1948  หลังจากช่วงกลางทศวรรษที่ 1960 ญี่ปุ่นเริ่มประสบปัญหาใหม่ๆ หลายประเภททั้งภายในและภายนอก เมื่อมีความพอใจในปัจจัยจำเป็นในชีวิตแล้ว ประชาชนเริ่มจะแสวงหาเป้าหมายอื่นๆ โดยเฉพาะการปรับปรุงคุณภาพชีวิต นักเรียนนิสิตนักศึกษาแสดงความไม่พอใจต่อโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ประชาชนหลายกลุ่มเรียกร้องให้มีการปรับปรุงแก้ไขความไม่เท่าเทียมกันในสังคม และปัญหามลพิษซึ่งเกิดจากการที่ประเทศมุ่งพัฒนาทางเศรษฐกิจเป็นปัญหาที่ประชาชนให้ความสนใจเพิ่มขึ้น

เศรษฐกิจญี่ปุ่นที่มีอัตราการเติบโตต่ำ ในช่วงทศวรรษที่ 1970 ตลอดจนสภาพเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่ทรุดหนักลงเรื่อยๆ มีอิทธิพลอย่างมากต่อชีวิตของชาวญี่ปุ่น โดยก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิด และการดำเนินชีวิต ชาวญี่ปุ่นมีค่านิยมที่ต่างกันไปมากขึ้น และชาวญี่ปุ่นจำนวนมากให้ความสำคัญกับการแสดงออกและการแสวงหาเป้าหมายส่วนบุคคล การที่สหรัฐอเมริกาคืนโอกินาวา (เกาะริวกิว และเกาะไดโตะ) ให้ญี่ปุ่น ในปี ค.ศ.1972 และการฟื้นสัมพันธไมตรีกับประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนในปีเดียวกัน จัดว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญสองเหตุการณ์ในช่วงทศวรรษที่ 1970 สำหรับบทบาทของญี่ปุ่นในเศรษฐกิจโลก ญี่ปุ่นดำเนินมาตรการหลายอย่างเพื่อเปิดตลาดการค้าของตน ในฐานะที่เป็นสมาชิกสำคัญของความตกลงทั่วไปเกี่ยวกับอัตราภาษีศุลกากรและการค้า (General Agreement on Tariffs and Trade) และองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organization for Economic Cooperation and Development) ซึ่งมุ่งที่จะรักษาการค้าเสรี ทำให้ในปัจจุบันญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญในด้านการค้า การเงิน และความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1975 ญี่ปุ่นเป็นสมาชิกของการประชุมสุดยอดประจำปีระหว่าง 7 ประเทศทางด้านเศรษฐกิจ  ซึ่งได้เคยจัดขึ้นที่กรุงโตเกียว ในปี ค.ศ.1979 และ 1986

เมื่อพิจารณาถึงกำลังของประเทศ และความคาดหวังของประเทศอื่นๆ ต่อบทบาทระหว่างประเทศของญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้นนี้  ดังนั้นจากช่วงกลางทศวรรษที่ 1980 รัฐบาลญี่ปุ่นได้มีท่าทีที่แน่ชัดในการขยายความช่วยเหลือแก่ประชาคมโลก  และในปี ค.ศ.1989 เมื่อจักรพรรดิฮิโระฮิโตะเสด็จสวรรคต จักรพรรดิอะกิฮิโตะ ก็ขึ้นครองราชย์ต่อ  ทำให้ปี 1989 นี้ เป็นปีสิ้นสุดของยุคโชวะ  อันเป็นจุดเริ่มต้นของ   เฮเซ  ญี่ปุ่นก็ก้าวเข้าสู่ยุคเฮเซจนถึงปัจจุบัน  โดยภายหลังจากสงครามพ่ายแพ้นั้นญี่ปุ่นก็สามารถพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศด้วยอัตราการเจริญเติบโตที่สูงมาก  จนกลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก  แต่การเติบโตก็หยุดในช่วงทศวรรษที่ 1987 เมื่อญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยหลังฟองสบู่แตก  เศรษฐกิจที่ถดถอยต่อเนื่องยาวนานกว่าสิบปีมีทีท่าว่าจะฟื้นตัวขึ้นในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21  แต่กลับประสบปัญหาอีกครั้งเมื่อเกิดวิกฤติทางการเงินใน ค.ศ.2007  และในเดือนกันยายน ค.ศ.2009  พรรครัฐบาลของญี่ปุ่นก็ได้มีการเปลี่ยนชุดคณะรัฐบาล  จากพรรคเสรีประชาธิปไตยที่เคยถือครองอำนาจในการบริการปกครองประเทศมาอย่างยาวนานถึง 54 ปี   ได้ผันเปลี่ยนมือมาสู่พรรคประชาธิปไตยญี่ปุ่น   โดยมีนาย ยุกิโอะ ฮะโตะยะมะ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยญี่ปุ่น ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 93 ของประเทศญี่ปุ่น

"สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะและสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ จักรพรรดิองค์ปัจจุบันแห่งราชวงศ์ยามาโตะ"
กลับสู่หน้าหลัก
หมายเลขบันทึก: 341032เขียนเมื่อ 2 มีนาคม 2010 01:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 11:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีรอบมิดไนท์ค่ะ

ขอบคุณบันทึกดีๆของญี่ปุ่นที่แบ่งปันนะคะ

ครูกระเเต

ขอขอบคุณสำหรับคำชมครับ

ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นเป็นอะไรน่าสนใจเอามากๆ ครับ

ในเเง่พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ที่มีเอกลักษณ์และวัฒนธรรมอันมีความโดดเด่นเป็นของตัวเอง หรือที่เรียกว่า โคกูไต (เอกลักษณ์ของญี่ปุ่น) ซึ่งได้เกิดขึ้นในช่วงการปิดประเทศของรัฐบาลโทกุงาว่า (ค.ศ.1640-1854) ในช่วงเกือบ 300 ปีนี้ญี่ปุ่นได้พัฒนาและหลอมรวมวัมนธรรมต่างๆ (ซึ่งโดยมากแล้วเป็นวัฒนธรรมที่ได้รับมาจากจีน อันได้แก่ ลัทธิขงจื้อ ลัทธิเม่งจื้อ หรือบรรดาปรัชญาเเนวคิดทากงารเมืองของนักปราญช์จีน รวมไปถึงพุทธศาสนา นิกายมหายานที่เผยเเพร่เข้ามาสู่จีนในขณะนั้นผ่านทางเกาหลี เป็นต้น) จนการเป็นเเบบแผนอันมีความเป็นเอกลักษณ์ของตนเองได้สำเร็จ และโดยเฉพาะพัฒนาการในช่วงสมัยเมจิ ซึ่งญี่ปุ่นได้นำเอาความรู้ของตะวันตกมาประยุกต์ใช้อันเป็นการปฏิวัติครั้งสำคัญภายในประเทศ ที่ส่งผลก่อให้ความเปลี่ยนเเปลงทั้งทางด้านสังคม เศณษฐกิจ การเมือง อุตสาหกรรม และด้านอื่นๆ อีกมากมาย จนญี่ปุ่นก้าวมาสู่การเป็นมหาอำนาจของโลกในช่วงระยะเวลาไม่ถึง 30 ปี แม้ญี่ปุ่นจะพ่ายเเพ้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองก็ตามที แต่ญี่ปุ่นก็ยังสามารถผลักดันตัวเองให้ก้าวสู่การเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจด้วยระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีเท่านั้น

ซึ่งจากรูปแบบการพัฒนาอันโดดเด่นและความก้าวหน้าที่ปรากฏขึ้นอย่างก้าวกระโดดของญี่ปุ่น ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์และพัฒนาการของชนชาตินี้ อดที่จะทึ่งกับความสามารถอันน่าพิศวงและชวนหลงใหลของพวกเขาไปไม่ได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท