ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น "สมัยเริ่มอารยธรรมญี่ปุ่น"


สมัยเริ่มอารยธรรมญี่ปุ่น

ยุคโคะฟุง ราวปี ค.ศ.250 เรื่อยมาจนถึงการเข้ามาของศาสนาพุทธ กระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 7 เรียกว่า ยุคโคะฟุง หรือ โคะฟุงจิได (Kohufun-jidai) ตั้งชื่อตามสุสานที่นิยมสร้างขึ้นกันในยุคดังกล่าวทั่วประเทศ รัฐเล็กๆ เหล่านั้นค่อยๆ รวมตัวกัน และต่อมาไม่นาน ก็มีชาวจีนจำนวนหนึ่งย้ายมาตั้งถิ่นฐานในญี่ปุ่น และนำอารยธรรมแบบจีนมาเผยแผ่ญี่ปุ่น ซึ่งขณะนั้นอารยธรรมญี่ปุ่นยังไม่เจริญนัก ทำให้อารยธรรมญี่ปุ่นส่วนมากมีอิทธิพลมาจากจีน และจนถึงปัจจุบันอารยธรรมญี่ปุ่นก็ยังคล้ายคลึงกับจีนอยู่ไม่มากก็น้อย

ในศตวรรษที่ 4 กลุ่มผู้มีความเข้มแข็งทางการเมือง ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ที่ราบยะมะโตะ (Yamato) ใกล้จังหวัดนารา (Nara-ken) ในปัจจุบัน ได้มีอำนาจปกครองประเทศตั้งแต่ศตวรรษที่ 4 จนถึงศตวรรษที่ 6 มีการพัฒนาทางด้านเกษตรกรรมขนานใหญ่ และวัฒนธรรมจีนรวมทั้งลัทธิขงจื๊อและศาสนาพุทธได้เผยแพร่เข้ามาในประเทศญี่ปุ่นผ่านทางเกาหลี ถึงปลายศตวรรษที่ 4 ได้มีการติดต่อระหว่างญี่ปุ่นกับอาณาจักรบนคาบสมุทรเกาหลี ศิลปะ อุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การทอผ้า งานโลหะ การฟอกหนัง และการต่อเรือ

ญี่ปุ่นได้รับเอาตัวอักษรแบบจีนซึ่งมีรากฐานมาจากอักษรภาพมาใช้ และโดยผ่านทางสื่อตัวอักษรนี้เอง ชาวญี่ปุ่นได้เรียนความรู้เบื้องต้นทางการแพทย์ การใช้ปฏิทินและดาราศาสตร์ ตลอดจนปรัชญาของลัทธิขงจื๊อ

 

"สุสานจักรพรรดินินโตะกุในสมัยยุคโคะฮุง"  

ยุคอะซึกะ

ยุคอะซึกะ หรือ อะซึกะจิได (Asuka-jidai) คือยุคที่ศูนย์กลางของระบอบกษัตริย์ในราชวงศ์ยะมะโตะ ตั้งอยู่ในอะซึกะ จังหวัดนะระ ดำรงอยู่ตั้งแต่ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 6 ถึง 8 ในปี ค.ศ.538 เมื่อศาสนาพุทธได้เข้ามาในญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกจากประเทศอินเดียโดยผ่านทางจีนและเกาหลี ผู้ปกครองประเทศญี่ปุ่นได้ถือระบบการปกครองของจีนเป็นแนวทางในการสร้างระบบการปกครองของตน

ราวปลายคริสต์ศตวรรษที่ 6 ราชวงศ์สุยของจีนได้ทำการรวมประเทศใหม่อีกครั้งในรอบ 400 ปี เจ้าชายโชโตะกุ ผู้สำเร็จราชกาลแทนจักรพรรดินีซุยโกะจึงทรงส่งคณะราชทูต "เคนซุยชิ" ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับจีน แล้วด้วยเหตุนี้ ญี่ปุ่นจึงได้รับนวัตกรรมใหม่ๆ จากแผ่นดินใหญ่มาเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นยังทรงตรากฎหมาย 17 มาตรา ที่มีใจความสำคัญเกี่ยวกับการจัดระบบของการเมืองการปกครอง และความสงบสุขในบ้านเมืองอีกด้วย และเพื่อให้พุทธศาสนาเฟื่องฟูในญี่ปุ่น พระองค์ยังทรงมีพระดำริให้สร้าง วัดโฮริว วัดไม้ที่เก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน

   

"จิตรกรรมฝาผนังบนสุสานทะกะมะสึซึกะ จังหวัดนะระ ซึ่งเขียนในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 8 ยุคอะซึกะ"

ยุคนะระ

ญี่ปุ่นก้าวเข้าสู่ยุคนะระในปี ค.ศ.710 เมื่อเมืองหลวงถาวรแห่งแรกของญี่ปุ่น เฮโจเกียวได้รับการสถาปนาขึ้นโดยสร้างตามแบบเมืองฉางอาน (เมืองซีอานในปัจจุบัน) เมืองหลวงของจีนในขณะนั้น มีราชวงศ์ของญี่ปุ่นเป็นผู้ปกครอง ราชวงศ์ญี่ปุ่นประทับอยู่ที่เมืองนะระโดยตลอดและขยายอำนาจไปทั่วประเทศทีละน้อยจนรวมประเทศเป็นปึกแผ่นได้ (ยกเว้นโอะกินะวะ และฮอกไกโด) หากแต่ว่าระบอบการปกครองในยุคนี้ใช้ตามแนวคิดแบบจีน ซึ่งเมื่อมาใช้กับญี่ปุ่นแล้ว ไม่เหมาะสมนัก และเกิดผลกระทบจากความไม่เหมาะสมนั้น และเกิดเป็นผลกระทบแบบลูกโซ่ ผลสุดท้ายคือ ต้องขึ้นภาษีประชาชนอย่างหนัก ทำให้เฮโจเกียวเป็นเมืองหลวงได้ไม่นานนัก และเพื่อหนีอิทธิพลของพระในศาสนาพุทธที่มีอำนาจมาก เมืองหลวงเฮโจวเกียวจึงถูกย้ายไปยังนะงะโอะกะเกียวในปี ค.ศ.784 และต่อมาที่เฮอังเกียวในปี ค.ศ.794

ทางด้านวัฒนธรรม การแต่งตัว สถาปัตยกรรม ฯลฯ ยังปรากฏให้เห็นวัฒนธรรมที่ยังคงแบบจีนอยู่ อาจจะมีความแตกต่างกันนิดหน่อยในรายระเอียดย่อยๆ เช่นบันทึกที่เขียนเป็นตัวอักษรจีนแต่อ่านเป็นภาษาญี่ปุ่น โคะจิกิ (บันทึกทางประวัติศาสตร์) นิฮงโชะกิ (บันทึกทางประวัติศาสตร์) มังโยชู (บันทึกเกี่ยวกับวรรณกรรม) ฟูโดะกิ (บันทึกเกี่ยวกับภูมิอากาศ) อิทธิพลดังกล่าวน่าจะมากจากการที่ราชสำนักญี่ปุ่นได้ส่งคณะราชทูตสู่ราชวงศ์ถังของจีน "เคนโตชิ" ไปสู่แผ่นดินใหญ่เป็นจำนวนมากเพื่อรับวัฒนธรรม และสิ่งของต่างๆ จากเส้นทางสายไหม เช่นถ้วยแก้วจากยุโรปตะวันออกกลับมาสู่ญี่ปุ่นอีกด้วย ตามบันทึกของวรรณคดีประวัติศาสตร์ทั้ง 2 ฉบับนั้น ได้กล่าวถึงการสถาปนาประเทศญี่ปุ่นไว้ว่า ประเทศญี่ปุ่นได้ถูกสถาปนาขึ้นในปี 660 ปีก่อนคริสตกาล โดยจักรพรรดิจิมมุ หรือ จิมมุ เทนโน ผู้เป็นเชื้อสายโดยตรงของเทพเจ้าอะมาเตระสุ เรื่องนี้จะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ไม่มีใครทราบแน่นอน แต่นักประวัติศาสตร์หลายคนเชื่อว่าบางส่วนของบันทึกดังกล่าวเป็นเรื่องจริง แต่จักรพรรดิที่มีพระองค์จริงพระองค์แรกคือจักรพรรดิโอจิง จักรพรรดิลำดับที่ 15 และพระราชสันตติวงศ์ยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน และหลังจากยุคนะระเป็นต้นมา อำนาจในการบริหารประเทศโดยตรงได้เริ่มออกห่างออกจากราชสำนักญี่ปุ่น มาสู่ขุนนางในราชสำนัก โชกุน ทหาร และนายกรัฐมนตรีในปัจจุบันในที่สุด

  

   "หลวงพ่อโตวัดโทได สร้างขึ้นตามพระราชประสงค์ของจักรพรรดิโชมุ ในยุคนะระ"

ยุคเฮอัง

ญี่ปุ่นได้สร้างอารยธรรมใหม่ขึ้นพร้อมๆ กับการล่มสลายของนะระ โดยยุคถัดมาคือ ยุคเฮอัง (เฮอังจิได) เมื่อเมืองหลวงใหม่ซึ่งเลียนแบบเมืองหลวงของประเทศจีน "เฮอังเกียว" ได้รับการสถาปนาเมื่อปี ค.ศ. 794 การย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่เมืองเฮอังเกียว นับเป็นจุดเริ่มต้นของสมัยเฮอันซึ่งดำรงอยู่ยาวนาน รุ่งเรือง และยิ่งใหญ่ที่สุดสมัยหนึ่งของการพัฒนาการในประเทศญี่ปุ่น การติดต่อกับประเทศจีนหยุดชะงักลงในช่วงปลายศตวรรษที่ 9 และอารยธรรมญี่ปุ่นเริ่มที่จะมีลักษณะและรูปแบบเป็นของตนเอง

สิ่งเหล่านี้นับเป็นกระบวนการของการผสมกลมกลืนและการปรับเปลี่ยน โดยที่สิ่งต่างๆ ซึ่งญี่ปุ่นรับมาจากภายนอกค่อยๆ กลายเป็นรูปแบบของญี่ปุ่นไปโดยปริยาย ตัวอย่างที่เห็นได้โดยทั่วไปของกระบวนการนี้ คือการพัฒนาของตัวอักษรญี่ปุ่นในสมัยเฮอัน ความซับซ้อนของการเขียนของจีนทำให้นักเขียนและพระคิดค้นรูปพยางค์ขึ้นสองระบบโดยยึดรูปแบบอย่างของจีน ภายในกลางสมัยเฮอัน ได้มีการปรับปรุงพยัญชนะที่เรียกกันว่า ฮิระงะนะ และคะตะคะนะ และนำมาใช้กันอย่างกว้างขวาง เช่นการนำมาเขียนในวรรณคดีเรื่องนิทานเกนจิ นับเป็นการเปิดทางให้แก่งานเขียนที่มีรูปแบบเป็นของญี่ปุ่นอย่างแท้จริง และมีการใช้กันอย่างแพร่หลายแทนถ้อยคำสำนวนที่ยืมมาจากภาษาจีน

ชีวิตในเมืองหลวงเป็นชีวิตที่หรูหราและสะดวกสบาย ขณะที่ราชสำนักใช้เวลาทั้งหมดไปกับศิลปะและความสุขทางสังคม อำนาจที่เคยมีเหนือกลุ่มที่มีอิทธิพลทางการทหารในหัวเมืองต่างๆจึงเริ่มจะคลอนแคลน อำนาจในการควบคุมอาณาจักรอย่างมีประสิทธิภาพได้หลุดมือไป ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 11 อำนาจการปกครองบ้านเมืองได้หลุดไปอยู่ในมือของตระกูลฟุจิวะระ และได้กลายเป็นสิ่งล่อใจสำหรับตระกูลนักรบที่เป็นปรปักษ์ต่อกันในช่วงปลายยุค ได้แก่ ตระกูลมินะโมะโตะ และไทระ ซึ่งเป็นตระกูลที่สืบทอดเชื้อสายมาจากจักรพรรดิองค์ก่อนๆ ทั้งสองตระกูล ตระกูลมินะโมะโตะและไทระได้ต่อสู้ในการรบที่โด่งดังที่สุด และมีความรุนแรงมากในยุคกลางอันวุ่นวายสับสนของญี่ปุ่น ในที่สุดตระกูลมินะโมะโตะเป็นฝ่ายชนะสงคราม โดยได้ทำลายล้างตระกูลไทระจนพินาศในศึกดันโนะอุระ (Battle of Dannoura) อันเกริกก้องและเลื่องลือในปี ค.ศ.1185 อันเป็นจุดจบของยุคเฮอัง เมืองหลวงเฮอังเกียว หรือเกียวโตะยังคงมีฐานะเป็นเมืองหลวงของญี่ปุ่นมาอีกกว่า 600 ปี กระทั่งสิ้นสุดยุคเอะโดะในปี ค.ศ.1867 และย้ายเมืองหลวงมาที่โตเกียวในอีก 2 ปีต่อมา  

  

 "วัดเบียวโดอิง สมัยเฮอัง"

 

"ต้นฉบับภาษาญี่ปุ่น ของม้วนภาพนิทานเก็นจิ ซึ่งเป็นวรรณคดีที่แสดงถึงสภาพสังคมและวัฒนธรรมต่างๆ ในยุคเฮอังได้อย่างชัดเจน"  

 

ยุคคะมะกุระ

ชัยชนะของตระกูลมินะโมะโตะแสดงถึงความเสื่อมของบัลลังก์อำนาจทางการเมืองของจักรพรรดิอย่างแท้จริง และเป็นจุดเริ่มต้นของการปกครองโดยระบอบศักดินา ยุคกลางของญี่ปุ่น ภายใต้การปกครองของโชกุน หรือผู้ปกครองทางการทหารที่สืบต่อกันมาอีก 700 ปี

ถัดจากยุคเฮอัง คือ ยุคคะมะกุระ (คะมะกุระจิได) เริ่มต้นในปี ค.ศ.1185 ต่อมาในปี ค.ศ.1192 โยะริโตะโมะ หัวหน้าตระกูลมินะโมะโตะที่เป็นผู้ชนะสงครามได้สถาปนาระบบโชกุน หรือรัฐบาลทหารขึ้น ที่เมืองคะมะกุระใกล้กับนครหลวงโตเกียวในปัจจุบัน และยึดอำนาจบริหารบางประการที่เคยเป็นอำนาจของจักรพรรดิในกรุงเกียวโตะ เพื่อต้านสิ่งที่ถือว่าเป็นความเสื่อมของเกียวโตะที่ได้ฝักใฝ่ในสันติภาพ โชกุนที่เมืองคะมะกุระได้สนับสนุนความมัธยัสถ์อดออมและศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว ตลอดจนความมีระเบียบวินัยซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่จะฟื้นฟูอำนาจการควบคุมทั่วทั้งแผ่นดินอย่างมีประสิทธิภาพกลับคืนมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการควบคุมกลุ่มที่มีอิทธิพลทางการทหารในจังหวัดที่อยู่ไกลออกไป สมัยคะมะกุระ ซึ่งเป็นชื่อเรียกยุคของระบบโชกุนของโยริโตะโมะเป็นยุคที่มีแนวคิดในเรื่องของความกล้าหาญและรักเกียรติยศ (bushido) ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของซามูไร

ในปี ค.ศ.1213 อำนาจที่แท้จริงได้เปลี่ยนมือจากตระกูลมินาโมะโตะไปยังตระกูลโฮโจ ซึ่งเป็นตระกูลทางภรรยาของโยะริโมะโตะโดยเป็นผู้สำเร็จราชการให้โชกุน ตระกูลโฮโจค้ำจุนรัฐบาลที่เมืองคะมะกุระไว้ได้จนถึง ค.ศ. 1333 ในระหว่างนั้นกองทัพมองโกลได้บุกตอนเหนือของเกาะคิวชูถึง 2 ครั้ง ในปี ค.ศ. 1274 และ ค.ศ. 1281 ถึงแม้ว่าจะมีอาวุธที่ด้อยกว่าแต่นักรบญี่ปุ่นก็สามารถรักษาพื้นที่ไว้ได้และป้องกันไม่ให้ผู้รุกรานบุกลึกเข้าไปตอนในของประเทศ หลังจากที่กองทัพเรือส่วนใหญ่ของชนเผ่ามองโกลประสบความเสียหายอย่างหนักจากพายุไต้ฝุ่นที่ญี่ปุ่นเรียกว่า "คะมิคะเซ่" ในการบุกญี่ปุ่นทั้งสองครั้ง กองทัพมองโกลจึงได้ถอยทัพไปจากญี่ปุ่น และอำนาจของค่ายทหารคะมะกุระก็หมดลงในปีเดียวกันนั้นเอง

ยุคมุโระมะจิ

ถัดจากยุคคะมะกุระ ก็เข้าสู่ยุคการฟื้นฟูอำนาจการปกครองโดยจักรพรรดิในช่วงสั้นๆ ตั้งแต่ ค.ศ. 1333 จนถึง ค.ศ.1337 แล้วต่อมาก็เข้าสู่ ยุคมุโระมะจิ (มุโระมะจิจิได) ตระกูลอะชิคะงะได้ขึ้นเป็นตระกูลโชกุน โดยมีโชกุนคนแรกคืออะชิคะงะ ทะกะอุจิ มี บะกุฮุ หรือค่ายทหารอยู่ที่มุโระมะจิในกรุงเกียวโต ยุคนี้มีการพัฒนาระบบชลประทาน การเพาะปลูก และเกิดการเติบโตของกิจการค้าขายและบริการ ในยุคนี้ระเบียบวินัยที่เคร่งครัดของลัทธิบุชิโดแสดงให้ปรากฏทั้งในด้านความงามทางศิลปะและศาสนา และมีอิทธิพลลึกล้ำต่อศิลปะของประเทศ ลักษณะเด่นซึ่งคงอยู่แม้ในปัจจุบันนี้คือลักษณะของความอดกลั้น และความเรียบง่าย ยุคนี้ยังเป็นยุคแรกที่ชาวตะวันตกกลุ่มแรก ชาวโปรตุเกสได้เข้ามาสู่ญี่ปุ่นในปี

แต่ในปี ค.ศ. 1441 เกิดการลอบสังหารโชกุนขึ้น ทำให้การปกครองระบอบโชกุนเสื่อมถอยลง และเกิดเป็นสงครามกลางเมืองขึ้นในปี ค.ศ. 1476 สงครามดำเนินมาอย่างยาวนานกว่า 100 ปี จนญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคย่อยๆ เรียกว่ายุคเซงโงะกุที่มีความหมายว่ายุคสงครามกลางเมือง ในปี ค.ศ. 1568 โนะบุนะงะ โอะดะ ซึ่งอยู่ในสถานะเจ้าเมืองได้เป็นใหญ่ในบริเวณตอนกลางของเกาะฮอนชูและต้องการรวบรวมประเทศให้เป็นปึกแผ่น ในปีเดียวกันนั้นเขาจึงเริ่มกำจัดอิทธิพลอำนาจของมุโระมะจิ และสร้างอารยธรรมอะซุจิโมโมะยะมะขึ้นมาแทน ในขณะเดียวกันก็สร้างความมั่นคงแก่ตนด้วย ในปี ค.ศ. 1573 อารยธรรม มุโระมะจิหายไป อารยธรรมอะซุจิโมโมะยะมะขึ้นมาแทนที่ ดังนั้นช่วง ค.ศ. 1568 - 1573 จึงเป็นช่วงเปลี่ยนแปลงอารยธรรมในปฏิทินเหตุการณ์ญี่ปุ่น ค.ศ. 1543

 

 "วัดคิงกะกุ ในเมืองเกียวโต สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พำนักของโชกุนอะชิกะงะ โยชิมิสึในยุคมุโรมะจิ"
กลับสู่หน้าหลัก

หมายเลขบันทึก: 340917เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2010 14:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 20:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท