บทเรียนและประสบการณ์จากการเข้าร่วมประชุมต่างประเทศ


จากเวที K- Sharing day ( การแบ่งปันและแลกเปลี่ยนความรู้ ) ครั้งที่ 2 / 2553 วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2553

           สถาบันมะเร็งแห่งชาติได้มีนโยบายให้บุคลากรที่ไปประชุมหรือสัมนาต่างประเทศ เมื่อกลับมาแล้วให้นำความรู้ที่ได้รับมาเล่าสู่กันฟังเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อให้บุคลากรอื่นๆซึ่งไม่มีโอกาสนั้นได้รับรู้ถึงความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นนั้นด้วย

 

                          

 

          ในครั้งนี้ได้มีวิทยากร 3 ท่านคือ ดร.ศุลีพร  แสงกระจ่าง นพ.ชนินทร์  อภิวาณิชย์   และพญ.วันเฉลิม นันท์วิฑิตพงค์ ได้มีโอกาสไปประชุมเกี่ยวกับเรื่อง The 20th Asia Pacific Cancer Conference (APCC) ณ ประเทศญี่ปุ่นและ The 32nd Annual San Antonio Breast Symposium ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีเรื่องราวที่น่าสนใจดังนี้

 

 

         พญ.วันเฉลิม  ได้เล่าถึงประสบการณ์ไปประชุม The 32nd Annual San Antonio Breast Symposium ณ ประเทศสหรัฐอเมริกาว่า เป็นการไปประชุม Breast Cancer ที่มีเนื้อหาเยอะมากมีการประชุมตั้งแต่ 6 โมงเช้าถึง 4 ทุ่ม มีโปสเตอร์แบ่งเป็นกลุ่มๆในแต่ละด้านเช่นด้านPatho , x-ray ,การป้องกัน การรักษา กลุ่มยา การวิจัยเป็นต้น มีการเชิญผู้เชี่ยวชาญ ในแต่ละโปสเตอร์มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ วิทยากรปีนี้ได้มีนักพูดหน้าใหม่ๆเป็นคนมีความสามารถมากซึ่งต่างจากทุกปี(ซึ่งหน้าเดิมๆ) และเก่งในการวิจัยรวมทั้งความสามารถในการนำเสนอ การประชุมใช้เวลา 4 วันมีถึง 1,100 โปสเตอร์งานวิจัย เป็นศูนย์รวมของผู้มีประสบการณ์ด้านมะเร็งเต้านมมาประชุมกันโดยเฉพาะ

         นพ.ชนินทร์  เป็นผู้ที่ได้มีโอกาสไปประชุมทั้งประเทศสหรัฐอเมริกและประเทศญี่ปุ่น ในส่วนของประเทศสหรัฐอเมริกนั้นจะเน้นการนำเสนองานวิจัยเป็นส่วนมาก ในส่วนของการแพทย์นั้นก็มีเกี่ยวกับเรื่องยา การติดตามการรักษา ด้าน genotype และโปสเตอร์ มีการต่อ VDO ถ่ายทอดการประชุมทั้งในห้องและนอกห้องเนื่องจากมีผู้มาร่วมเยอะมาก และได้แนะนำเมืองที่ใช้ในการประชุมให้ได้ชมด้วย เป็นเมืองเล็กๆมีการสร้างเขื่อนรอบตัวเมืองเนื่องจากน้ำท่วม มีการขุดคลองสร้างสะพานข้ามคลองแล้วตัดถนนเลียบคลองปลูกต้นไม้ เมืองเล็กๆแต่ก็สามารถทำเป็นเมืองท่องเที่ยวได้ทั้งๆที่ไม่ค่อยมีอะไรเลย เหมือนสะพานข้ามคลองกรุงเทพฯบ้านเรา

           ในส่วนของประเทศญี่ปุ่นนั้น ได้ให้ความเห็นว่างานวิจัยของสถาบันมะเร็งฯนั้นทำได้ดีกว่าบางประเทศที่มานำเสนอ อยากให้ทุกงานได้มีโอกาสนำงานไปนำเสนอ ซึ่งขอให้มีแค่ไอเดียและความคิดใหม่ๆในการทำ อย่างเช่นบางประเทศมีการวิจัยใช้อย่างนี้ว่าดี แต่พอทำการวิจัยแล้วยังไม่ได้ผลดี แต่ก็เอามานำเสนอมารายงานให้ทราบเผื่อคนอื่นได้ทำต่อยอด และคุณหมอยังได้แนะนำวิธีการเดินทางแบบประหยัดทั้งที่พักและการเดินทางมาเล่าสู่กันฟัง

        ดร.ศุลีพร  การประชุมที่สหรัฐอเมริกานั้นจัดถึง 32 ครั้งซึ่งเป็นมะเร็งเต้านมโดยเฉพาะ ในงานนั้นเป็นผู้มีประสบการณ์ด้านเต้านมทั้งนั้นมาเข้าร่วมประชุม ต่างกันจากญี่ปุ่นที่จะเป็นการประชุมที่มีหลากหลายเกี่ยวกับมะเร็งโดยตรงเฉพาะด้านไม่ค่อยมี เวลาเจ้าภาพซึ่งจัดประชุมAPCC ค่อนข้างลำบาก เนื่องจากมีหลากหลายและคนมีโอกาสได้ไปแค่ปีละครั้ง แต่ครั้งนี้ได้ไปในฐานะสมาชิกและฐานะOral Presentation ซึ่งได้แลกเปลี่ยนเนื้อหาและความร่วมมือ อีกทั้งได้มีโอกาสดูว่ามีอะไรก้าวหน้าทางการวิจัยทางการแพทย์บ้าง น่าเสียดายที่การประชุมหัวข้อกว้างเกินไปแต่การได้พบกัน รู้จักกันทำให้เกิดความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ การทำงานวิชาการและได้ไปประชุมเป็นเรื่องสำคัญในการนำไปพัฒนางาน แต่ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ต้องเก็บสะสมเงินทุนสำรองเพิ่มเอง ส่วนการจัดประชุม APCC นั้นจะจัดในกลุ่มประเทศสมาชิก ซึ่งปีหน้าจะจัดที่ประเทศมาเลเซียด้านการระบาด การป้องกัน การรักษาและอีกหลายด้าน

 

 

        การที่KMจัดให้มาเล่าประสบการณ์ต่างประเทศนั้นก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าได้มีโอกาสได้ไปเองจะดีกว่า ซึ่งเท่าที่เห็นมีแต่แพทย์และนักวิจัยเท่านั้นที่ได้ไปและได้ให้ความคิดเห็นว่าหน่วยงานต้องพยายามสนับสนุนให้คนในฝ่ายตัวเองได้ไปบ้าง คนทำงาน (Lab พยาบาล วิชาการ บริการด้านอื่นๆ) น่าจะทุกหน่วยงานได้ไปในงานของตัวเอง เพราะมีข้อดีคือทำให้ทุกคนมีความกระตือรือร้นอยากไปต่างประเทศบ้างและได้มีโอกาสนำเสนองานที่ทำ โดยจัดหาทุนในการไป

        จากการที่ค่าลงทะเบียนแพง แต่ต้องส่งผลงานให้ได้เข้าร่วมก่อนสัก 6 เดือน แล้วก็มาหาเงินทุนและต้องวางแผนการเดินทาง(ซื้อตั๋วfixล่วงหน้าจะได้ราคาถูก)ในส่วนนี้หน่วยงานน่าจะสนับสนุนบ้าง ทุกหน่วยงานสามารถเขียนได้และนำเสนอ ซึ่งอยากให้ไปเห็นรูปแบบและวัฒนธรรมของประเทศอื่น การเปิดโลกกว้างและมีเพื่อนๆต่างชาติ จะได้เห็นว่าเขาทำงานแตกต่างกันอย่างไร เช่นการทำงานของญี่ปุ่น เกาหลี่ เขาขยันมากเมื่อก่อนคิดว่าตัวเองทำงานหนัก แต่ที่อื่นทำงานหนักกว่า ทำให้เรานำมาปรับปรุงงาน ในด้านแนวทางและวิธีคิด ซึ่งของเราก็มีผลงานที่ดีๆสามารถนำไปเสนอสู้เขาได้ ส่วนการรับงานโปสเตอร์นั้นมีแน่นอนแต่ต้องหาการสนับสนุน ซึ่งบางครั้งเขาเชิญมาก็ไปไม่ได้ เพราะขาดงบประมาณและเงินทุน ในส่วนสถาบันเองคงสนับสนุนเงินทุนไม่หมด แต่ต้องหาเงินทุนเพิ่มเอง

 

 

 

        การแลกเปลี่ยนในประเด็นที่สนใจกับวิทยากร

คุณพิกุล  อยากรู้ว่าถ้าทำงานวิจัยนั้นเป็นอย่างไร? จึงจะได้รับพิจารณา

ดร.ศุลีพร  ต้องมีไอเดียและสร้างสรรค์ ถ้าเป็นการนำเสนอทางวาจานั้นจะมีคนสนใจถามคำถาม-ตอบกลับ ส่วนโปสเตอร์ อย่างไรก็ได้การรับงานนั้นมีแน่นอน แต่การสนับสนุนด้านค่าใช้จ่าย ลงทะเบียน อาหารที่พัก ค่าพาหนะนั้นมีจำกัดยังขาดอีกมาก ซึ่งบางครั้งเขาเชิญไปแต่ไม่มีค่าเดินทาง

นพ.อนันต์  นำเสนอว่าแพทย์หรือนักวิทยาศาสตร์นั้นได้เงินสนับสนุนน้อย แต่ต้องหาส่วนอื่นเองเช่นการประชุมเซลล์ที่บราซิล ค่าเดินทางสองแสนกว่าบาท (ค่าเครื่องบินแสนกว่าบาท ค่าลงทะเบียนห้าหมื่น ค่าที่พักและอื่นๆอีก) ถ้าไม่มีเงินคงไม่สามารถไปได้เนื่องจากงบสนับสนุนน้อย บางที paper ดีก็อยากจะได้ทุนแต่ paper ไม่ค่อยดีได้งบไปก่อนหรือคนที่ผลงานดีแต่ได้ไปบ่อยๆก็ถูกมองว่าเป็นเด็กเส้น

คุณพิกุล   งาน Routine Lab ที่ทำเป็น paper น่าสนใจนั้นต้องสูงส่งขนาดไหน? จะทำอย่างไรให้แฟร์กับทุกอาชีพได้มีโอกาสได้ไปต่างประเทศบ้าง?

ดร.ศุลีพร   ต้องนำงานประจำมาวิเคราะห์ แล้วเขียนผลงานมานำเสนอ ขอให้มีแค่ไอเดียหรือความคิด ในการทำโปสเตอร์อย่างไรก็ได้เขารับอยู่แล้ว แต่ต้องหางบสนับสนุน สมาคมนั้นให้งบไปปีละไม่เกิน 5 คน

นพ.อนันต์  ก็พยายามสนับสนุนให้ได้ไป แต่ค่าใช้จ่ายที่เบิกไม่ได้ก็ไม่มีสนับสนุน ทั้งค่าลงทะเบียน ค่าตั๋วเครื่องบิน เช่นไปประชุมค่าใช้จ่ายสองแสนแต่ได้งบห้าหมื่น ต้องขวนขวายหาเงินมาเพิ่มเองซึ่งเป็นปัญหาที่เจอ ทุกคนก็อยากไปนอกจากปัญหาเงินทุนแล้ว ต้องมาแข่งว่าโปสเตอร์ใครดีกว่ากัน การแข่งขันเกิดขึ้นแล้วมีโอกาสได้ไปคงจะดีและบางคนผลงานดีแต่ก็ไม่มีโอกาสได้รับเลือก

ดร.ศุลีพร   สรุปว่าการไปนำเสนอผลงานนั้นก็เป็นการเผยแพร่ความรู้และชื่อเสียงขององค์กร ดังนั้นองค์กรควรต้องหาเงินมาสนับสนุนจุดนี้ให้บุคลากรได้มีโอกาสได้ไปนำเสนอผลงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับองค์กรต่างประเทศบ้างเท่าที่จะระดมทุนมาสนับสนุนได้      

 

            สิ่งที่ได้จากการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนเรียนรู้

  1. ทำให้เห็นบรรยากาศและรูปแบบการทำงานของประเทศตะวันตก ซึ่งเน้นการประชุมของเรื่องมะเร็งเต้านมโดยเฉพาะและมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ผู้นำเสนอนั้นเป็นผู้ที่ทำการวิจัย ซึ่งมีความรู้ความสามารถมาก ส่วนรูปแบบการประชุมด้านตะวันออกนั้นมีความมุ่งเน้นที่แตกต่างกัน โดยมุ่งเน้นการรวมกันของมะเร็งหลายๆแขนงและอื่นๆอีกมากมาย ทำให้ได้ข้อมูลที่กว้างๆไม่เจาะลึกแต่กลับหลากหลายและมีพันธมิตรมาก

  2. วิทยากรได้กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกว่า สิ่งที่บุคลากรของสถาบันมะเร็งฯที่ศึกษาอยู่ในขณะนี้นั้นมีผลงานที่ดีๆมากมายที่สามารถจะใช้ไปนำเสนอในงานประชุมต่างประเทศ ทั้งแบบโปสเตอร์และการนำเสนอด้วยวาจา(Oral Presentation) สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆได้เป็นอย่างดี

  3. วิทยากรเสนอแนะว่าการได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมในต่างประเทศด้วยตัวเองนั้น จะทำให้ได้ประสบการณ์ในหลายๆด้านอีกทั้งได้เครือข่ายความรู้ในสาขาวิชาเดียวกันกับสมาชิกของประเทศอื่นๆ อีกทั้งทำให้เกิดวิสัยทัศน์กว้างได้เห็นมุมมองของประเทศอื่นๆแล้วนำมาปรับใช้กับงานให้พัฒนายิ่งๆขึ้นได้ ประโยชน์ที่ได้จากประสบการณ์ตรงนั้นดีกว่ามานั่งฟังจากคนอื่นเล่าให้ฟัง ดังนั้นจึงอยากให้งานอื่นๆมีโอกาสได้รับประสบการณ์นั้นๆด้วยตัวเอง

  4. มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแนะนำเงินทุนในการที่จะไปประชุมต่างประเทศ ซึ่งได้ไม่พอกับค่าใช้จ่ายที่ทางราชการออกให้และการหาที่พักและตั๋วเครื่องบินราคาถูก(จากการวางแผนการเดินทางล่วงหน้า) และการส่งผลงานไปร่วมนำเสนอในงานประชุม

  5. จากงบประมาณที่มีอยู่จำกัดในการที่จะส่งบุคลากรให้มีโอกาสได้ไปประชุมสัมนาในต่างประเทศบ้างนั้น จะทำอย่างไรเมื่อบางครั้งผลงานที่ดีๆอยากนำเสนอแต่โควตาที่จะไปหมดหรือมีผลงานดีเด่นมากมายแต่ไม่ได้รับพิจารณา โอกาสได้ไปก็น้อยทุนก็มีจำกัดซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นยังไม่มีทางออก ต้องเสนอผู้บริหารให้ทราบและจัดงบประมาณเพื่อให้โอกาสบุคลากรได้นำผลงานนั้นๆ ได้นำเสนอเผยแพร่งานวิจัยนั้นให้สมาชิกประเทศอื่นๆได้แลกเปลี่ยนความรู้บ้าง ซึ่งก็เป็นการนำชื่อเสียงมาสู่องค์กรเช่นกัน

  6. ประโยชน์ที่ได้รับจากการไปดูงานและเข้าร่วมประชุมต่างประเทศนั้น ทำให้เห็นถึงวิธีการทำงานของประเทศอื่นๆ ทั้งแนวทางวิธีคิดและมุมมองที่กว้างขึ้น อีกทั้งรูปแบบการทำงานวิจัยรวมทั้งกระตุ้นให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงานในอนาคต

 

                 สิ่งที่ได้รับจากการไปประชุมสัมนาหรือดูงานต่างประเทศนั้น ทำให้เห็นถึงแนวคิดและการทำงานที่แตกต่างกันไป การได้รับประสบการณ์ตรงนั้นมีประโยชน์มากมาย แต่โอกาสที่ทุกคนจะได้ไปต่างประเทศนั้นมีน้อย จากงบประมาณที่สนับสนุนมีจำกัด ซึ่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในลักษณะนี้ก็มีประโยชน์ไม่น้อยเป็นการเปิดโอกาสให้ได้รับรู้และเห็นมุมมองในแง่มุมอื่นบ้าง อีกทั้งยังกระตุ้นให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงานที่เกิดขึ้นในอนาคตเผื่อว่าจะมีโอกาสได้ไปนำเสนอในต่างประเทศบ้าง ซึ่งเป็นการเผยแพร่ชื่อเสียงขององค์กรเช่นกัน.

หมายเลขบันทึก: 340912เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2010 14:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท