มาเอาจริงเอาจังกับการภาวนา .. กันเถอะ


หนึ่งปีที่ผ่านมา ข้าพเจ้าได้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตด้วยการย้ายมาทำงานใน รพ.ขนาดเล็ก และอยู่ในจังหวัดติดชายแดนอันห่างไกลทางเหนือ   ที่นี่ไม่มีรถติด ไม่มีร้านอาหารใหญ่โต ไม่มีห้างสรรพสินค้าให้จับจ่าย และไม่มีโรงหนังโรงละครให้ดู   เมืองนี้อาจจะเล็กมากสำหรับคนที่คุ้นเคยกับวิถีชีวิตแบบเมืองใหญ่ และหลายๆคนอาจจะอยู่ไม่ได้เพราะไม่รู้ว่าจะอยู่อย่างไร  เพราะไม่มีอะไรจะทำ  บางคนถึงกับบอกว่าเหงา  เพราะหลังจากเลิกงานก็กลับมาอยู่บ้านพัก นั่งดูทีวี  นั่งเล่นอินเตอร์เนท จากนั้นก็เข้านอน  ไม่มีที่จะไป ไม่มีอะไรให้ทำ  ทำให้รู้สึกเบื่อมากๆ 

 

แต่ก็มีบางคน  ที่มักจะไปนั่งกินเหล้ากับเพื่อนฝูงหลังเลิกงาน  เมืองนี้ก็พอจะมีร้านแบบนี้อยู่บ้าง แต่นั่นก็ไม่มากพอสำหรับคนที่ชอบใช้ชีวิตยามค่ำคืนในเมืองใหญ่ๆ  แถมเมืองก็เล็กเกินไป  ไปร้านไหนก็เจอคนที่ทำงานเดียวกันจนน่าเบื่อ  หลายคนคิดแบบนั้น

มีคนถามข้าพเจ้าว่า  อยู่บ้านพักคนเดียวไม่เหงาหรือ ข้าพเจ้าก็บอกว่า ไม่เคยรู้สึกเช่นนั้นสักที  ยามว่างข้าพเจ้าอาจจะเล่นอินเตอร์เนท  ทำความสะอาดบ้าน ซักผ้า อ่านหนังสือ ดูทีวีในบางครั้ง และในระยะหลังๆ ข้าพเจ้าสังเกตว่า  ตนเองนั้นดูทีวีเป็นบางวันและในแต่ละครั้งก็ดูไม่ถึงชั่วโมงด้วยซ้ำ ด้วยเพราะไม่รู้จะดูอะไร  และเมื่อใดที่เสร็จจากการงานอื่นๆ แล้ว ข้าพเจ้าก็มักจะไปนั่งอยู่ในห้องพระ ไปนั่งสมาธิ   แถมเมื่อไม่มีอะไรจะทำข้าพเจ้าจะนึกถึงเบาะสมาธิ เป็นอันดับแรก และยิ่งไม่มีงานการอะไรจะทำเลยในวันหยุด ข้าพเจ้าก็เห็นว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะได้นั่งภาวนาและอยู่กับตนเองเสียที

ข้าพเจ้าเอาจริงเอาจังพอควรทีเดียวในเรื่องของการภาวนา  แต่หลังๆ ก็รู้สึกว่ายังเอาจริงเอาจังน้อยเกินไป   เพราะข้าพเจ้ามักไปวุ่นวายกับงานการอย่างอื่น ไปสนใจเรื่องขององค์กร แถมเกิดมีความคิดอะไรต่อมิิอะไรเกี่ยวกับการพัฒนาการงานที่ทำอยู่มากมายในหัว   ข้าพเจ้าไปชักชวนคนนั้นให้ประชุมเรื่องโน้น  ชวนน้องๆให้ทำวิชาการเรื่องนี้ แถมไปยุ่งวุ่นวายกับงานการของคนอื่น ซึ่งคงสร้างความรำคาญใจให้เขาเหล่านั้นไม่น้อยทีเดียว สุดท้ายข้าพเจ้าก็รู้สึกรำคาญตนเองไปด้วย และเตือนตนเองว่าควรจะเลิกไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องบางเรื่องเสียที   

เมื่อทำงานมาจนครบหนึ่งปี  ข้าพเจ้าก็พบว่า  ข้าพเจ้าทุ่มเทเวลาให้การภาวนาน้อยเกินไป  และสังฆะที่มีอยู่ก็เริ่มเหินห่างร้างลากันไป   เราไม่ค่อยได้ภาวนาด้วยกันเลย เพราะเราต่างมีการงานมากมาย มีประชุมหลายเรื่องหลายวาระ  หลายคนไม่ได้มานั่งภาวนาด้วยกันอีกแล้ว  เราไม่มีเวลาที่จะได้สนทนาธรรมกันอย่างแท้จริงนัก  เราพูดคุยกันแต่เรื่องการงานอยู่ตลอดเวลา  และถึงแม้ว่าพวกเราจะพยายามนำการภาวนาไปทำต่อเนื่องกันเองที่บ้านแต่นั่นก็ไม่ได้เข้มข้นมากมายอะไร เพราะเราต้องดูแลครอบครัว  ดูแลลูก  ดังนั้นการภาวนาที่บ้านก็อาจจะไม่ได้ภาวนาอย่างเต็มที่นัก 

ยิ่งนานวันข้าพเจ้าก็สังเกตพบว่า  เราไม่ได้นำการภาวนามาใช้ในวิถีชีวิตเท่าที่ควร   และนอกจากการจัดอบรมภาวนากันมาหลายครั้งแล้ว  ในองค์กรเรายังมีการอบรม Dialogueไปแล้วถึงสองรุ่น   ทว่าในวิถีการทำงานในองค์กรเราก็ไม่ได้นำสิ่งที่ได้รับการอบรม  มาใช้ประโยชน์อะไร  เรายังประชุมกันบนโต๊ะแบบเดิม ไม่มีการเชิญระฆัง  ไม่มีการสงบจิตสงบใจที่จะนั่งตามลมหายใจก่อนประชุมกันด้วยซ้ำ  เรายังแยกส่วนว่า  นี่คือการทำงานในวิถีโลก และนี่คือช่วงเวลาแห่งการภาวนา เมื่อมันมีความแยกส่วนก็ไร้ซึ่งความต่อเนื่อง  สุดท้ายเราต่างก็หลุดออกไปจากวิถีแห่งการภาวนา แถมหลุดออกไปจากการอยู่ในปัจจุบันขณะด้วย   

 

ส่วนในวิถีแห่งการภาวนาที่เราแบ่งเวลาแบบแยกส่วนให้นั้น   นับวันเราก็มุ่งสู่ความยุ่งยากซับซ้อน  พูดคุยกันในเรื่องนอกเหตุเหนือผลเยอะขึ้น และสนใจในปัจจุบันขณะกันน้อยลง  เราขาดความเชื่อมต่อวิถีแห่งการภาวนากับวิถีชีวิต  แถมเราต่างวิ่งไปข้างหน้าตามความเคยชิน  มีแต่โครงการในหัว และเลิกสนใจกันและกันอย่างแท้จริงอีกต่อไป  

ครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ไม่ว่าสายการปฎิบัติใดต่างสอนถึงการอยู่ในปัจจุบันขณะ ให้รู้ลงปัจจุบัน  และการภาวนาคือวิถีที่ต้องทำทุกลมหายใจเข้าออก  เราไม่แยกส่วนว่าเวลานี้เป็นการประชุม เวลานั้นเป็นการนั่งภาวนา  แต่เราจักต้องภาวนาทุกลมหายใจเข้าออก  ไม่ว่าเราจะทำอะไร จะยืน จะเดิน จะคิด จะประชุม  จะดูคนไข้  จะพูดคุยกับใครก็ตาม เราต้องตื่นรู้และดูกายและใจทำการงานอยู่ทุกขณะ  นั่นจึงจะเกิดความต่อเนื่องในการภาวนา

เพราะเราต่างหลุดจากปัจจุบันขณะและแยกส่วนการปฎิบัติออกมาจากวิถีชีวิต  เราจึงยังไม่ไปถึงไหนกัน  เราจึงยังวนเวียนและวุ่นวายกับการงานแบบไร้ทิศไร้ทางกันต่อไป  สุดท้ายมีหลายคนที่เริ่มรู้สึกว่า  ภายหลังการภาวนามาเป็นปีๆ  อะไรๆ ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง

ข้าพเจ้ามองว่า  ความศรัทธาเป็นเรื่องสำคัญ   ศรัทธาในที่นี้หมายถึงความความศรัทธาในตนเอง  เชื่อมั่นในศักยภาพของตนเอง  หลายคนมองว่าตนเองคงไม่มีบุญพอ แถมไม่มีเหตุและปัจจัยพอที่จะเอาจริงเอาจังกับการภาวนา  แถมบางคนก็ยังรู้สึกว่า การภาวนายังไม่ใช่เรื่องที่จำเป็นมากพอด้วย เพราะติดภาระการงานในทางโลกอยู่  และบางคนก็คิดเห็นไปว่า ตอนนี้ก็พออยู่ได้ ไม่มีอะไรทุกข์ใจสักเท่าำไหร่  ภาวนาไปพอให้ได้ไอเดียก่อนก็แล้วกัน

ข้าพเจ้าได้อ่านเรื่องราวประวัติของหลวงพ่อธี วิจิตธัมโม   เรื่องราวความพากเพียรของท่านก่อนที่จะบรรลุธรรมนั้น ได้สร้างแรงบันดาลใจแก่ข้าพเจ้ามากๆ   แถมมันเด่นชัดว่า  เราทั้งหลายล้วนมีศักยภาพในการบรรลุธรรมได้ทั้งนั้น

แต่ขอให้เอาจริงเอาจังกับมันหน่อย และต้องมีความเพียรที่มากพอ คำว่าเอาจริงเอาจังนั้นไม่ได้หมายถึงการทำเกินกำลังหรือทำเกินพอดี แต่ให้ต่อเนื่องไปตลอด   การใช้ชีวิตกับการภาวนาจึงต้องอยู่คู่กันไป 

เมื่อเรานั่งลงและทำอะไรสักอย่างหนึ่ง เราจึงควรจะรู้สึกตัวอยู่เสมอ กายและใจของเราควรอยู่ที่นั่น ไม่ว่าจะอยู่ในการประชุม   ในวงสนทนาบนโต๊ะอาหาร ในวงพูดคุยใดๆ กับใครก็ตาม  และไม่ว่าเราจะหยิบจับหรือทำอะไรต้องรู้สึกตัวอยู่เสมอ  นั่นคือวิถีของการตื่นรู้  พระพุทธองค์ทรงสอนว่า ให้รู้ตัวทั่วพร้อมในทุกอิริยาบท   นั่นคือหลักสำคัญแห่งการภาวนา

การใช้ชีวิตทางโลกในหมู่คนทั้งหลายนั้น  ตราบใดที่เรายังไม่สามารถเชื่อมต่อวิถีแห่งการภาวนาเข้ากับชีวิตประจำวันได้  เราก็จะไม่ต่อเนื่อง  และอาจจะหมายความได้ว่าเราไม่ได้เอาจริงเอาจังกันมากพอ   

การอยู่ในปัจจุบันขณะและรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะทำอะไรยังเป็นหลักสำคัญอยู่  เมื่อเริ่มตระหนักรู้ถึงเรื่องนี้  ช่วงหลังๆข้าพเจ้าก็เริ่มกลับมาช้าลง และกลับมาดูกายดูใจมากขึ้น   การอยู่ที่นี่ตรงนี่อย่างแท้จริงในปัจจุบันขณะ  คือสิ่งเดียวที่จะทำให้เราเห็นแจ้ง อะไรบางอย่าง    แต่การเผลอวิ่งไปข้างหน้า  เผลอเร่งรีบกับชีวิต และวุ่นวายไปกับเรื่องในอดีตและอนาคตยังเป็นปัญหาสำคัญของเราทั้งหลายอยู่ 

และหลายวันก่อนในที่ประชุมสังฆะ ข้าพเจ้าเลยขอเชิญระฆัง แล้วเชื้อเชิญให้ผู้ที่มาประชุมทั้งหลายนั่งลงภาวนาด้วยกันสักครู่   ก่อนที่การประชุมของแกนนำสังฆะจะเริ่มขึ้น   นั่นอาจจะเป็นที่งุนงงสงสัยของเหล่าแกนนำในวันนั้นว่า  ทำไมต้องทำเช่นนั้นด้วย  ทำไมเราไม่นั่งประชุมกันไปเลยเหมือนการประชุมการงานต่างๆ  ที่ประชุมกันอยู่ทุกวันในองค์กร 

  เหตุที่ชวนทำเช่นนั้นก็เพราะต้องการเน้นย้ำว่า   ถ้าเราต้องการเผยแผ่ธรรมะของพระพุทธองค์ และต้องการเชื้อเชิญให้ผู้คนทั้งหลายในองค์กรมานั่งลงกับเรา เราก็ต้องเอาวิถีแห่งการภาวนามาอยู่ในวิถีชีวิต  มาอยู่ในวิถีการงานที่เราทำอยู่  เพราะในความเป็นจริงศาสนาพุทธสามารถนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันได้ ตลอดเวลา และเราจักต้องแสดงให้เขาเห็นว่า เอามาใช้ได้อย่างไร และแบบไหน 

เมื่อเรานำการภาวนามาใช้ในวิถีชีวิต และทำต่อเนื่องไปทุกลมหายใจเข้าออก นั่นก็คือข้อบ่งชี้ว่า   เราเริ่มเอาจริงเอาจังกับการภาวนาอย่างแท้จริงแล้ว .

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #meditation
หมายเลขบันทึก: 340677เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2010 16:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

รออ่านอยู่นะเนี่ย ^^ มีหน้าบ้านด้วยแฮะ ทำกันไปเรื่อยๆเนอะพี่ยา ดีนะ พี่ยามีวินัยสมำเสมอหนูยังไม่ค่อยมีวินัยช่วงนี้ ค่ะ วิริยะถดถอยง่ายเหลือเกินจ้ะ เป็นกำลังใจให้นะจ๊ะ ^^

รออ่านอีกคนนะคะ มาดับร้อนผ่อนคลาย หลาย ๆ ครั้งในที่แห่งนี้ ขอบคุณนะคะ

ขอแสดงความคิดเห็นนิดหน่อยนะครับเกี่ยวกับการเชิญระฆัง

เจ้าหน้าที่เราบางคนเขายังไม่เข้าใจก็อาจจะงง

อาจจะต้องอธิบายเขานิดหน่อย เปิดทางเลือกให้เขาหน่อย

ผมมักจะบอกเจ้าหน้าที่ของเรา (ตามแนวของอ.นพ.เอกชัย) ว่าใจเราจะพักเมื่อคิดน้อยลงหรือหยุดคิด แต่หยุดคิดนั้นยาก

จึงมีวิธีช่วยให้หยุดคิดแบบมากมายวุ่นวาย โดยมาคิดแบบน้อยๆ ที่ใครๆก็ทำได้ เช่นฟังเพลงแล้วจินตนาการไปตามเพลง (ก็จะหยุดคิดวุ่นวายได้) หรือลองคอยดูลมหายใจก้ได้ แล้วแต่จะเลือกเอาสิ่งที่ถนัด

แต่ก็เห็นด้วยมากว่าท่านจะต้องเป็นหัวในการพัฒนาต่างๆ แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นกับดักหน่อยๆคือการที่เราต้องการให้เขาทำอย่างที่เราอยากจะให้เขาทำ เช่นกำหนดวิธีปฏิบัติ ทำแบบฟอร์ม ซึ่งเอาเข้าจริงคงทำให้เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ของเรายิ่งห่างไกลจากคำว่าองค์กรแห่งการเรียนรู้ออกไปทุกที เพราะไม่ต้องเรียนรู้หรือคิดเอง ทำตามสั่งก็พอ ดังนั้นพอไม่ติดตามก็เลิก

ผมกำลังสนใจ model อันหนึ่ง คือ ปราโมทย์-ปีติ-ปัสสาธิ-สุข-สมาธิ ซึ่งเป็นสภาพจิตที่ควรทำให้เกิดขึ้นบ่อยๆ หรือตลอดเวลา เอามาใช้กับเจ้าหน้าที่ของเรา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท