ทำงานเพื่องาน หรือจะทำงานเพื่อดัชนี


สวัสดีครับทุกท่าน

         เราเคยคิดเรียนรู้ว่า ปลูกต้นอะไรก็ได้ต้นนั้น ทำดีได้ดี ทำชั่วก็ย่อมได้ชั่ว คราวนี้ทุกวันนี้ หากถามว่าเราทำงานเพื่ออะไร หรือว่าเรียนกันเพื่ออะไร

บางคนบอกว่า ทำงานเพื่องาน  และเรียนเพื่อรู้

แต่เมื่อมีตัวชี้วัดอะไรออกมามากมาย การศึกษาก็จะถูกนำไปสู่การทำธุรกิจมากขึ้น มีอะไรออกมาเพื่อบังคับคนให้ทำอะไรอยู่ในกรอบมาตรฐานหลากหลาย คำถามก็เกิดว่าจะตามมาตรฐานไหนดีครับ การศึกษาที่ควรจะฟรีก็ต่อไปเป็นการค้ามากขึ้น ผู้เรียนจะถูกนำไปผูกกับธุรกิจการศึกษาเต็มรูปแบบมากขึ้น เพราะมีแผนของการกลยุทธ์การเรียกลูกค้า มองผู้เรียนเป็นลูกค้า ส่วนได้ส่วนเสีย นับว่าการศึกษาจะเป็นธุรกิจเต็มรูปแบบ

อย่างเมื่อก่อนนักศึกษาทำกิจกรรมก็ทำกันด้วยใจ มีจิตสาธารณะในการช่วยเหลือผู้อื่น ทุกวันนี้นักศึกษามีจำนวนชั่วโมงกิจกรรมที่ต้องทำ ไม่ทำไม่ได้รับปริญญา บังคับให้ต้องทำ กิจกรรมไหนไม่มีคะแนนก็ไม่ทำ เรียนเพื่อเกรด เพื่อคะแนน หากมีคะแนนทำ เพื่อให้ได้เกรดตามที่หวัง จบไปเกรดจะสวยงาม พร้อมใบบังคับทำกิจกรรมครบตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตร

ส่วนตัวชี้วัดทุกตัวที่ออกมาก็มีคะแนนเต็ม อย่างเช่น PMQA ก็จะมี 1000 คะแนน แบ่งเป็นส่วนต่างๆ อย่าง TOR ก็จะมี 100 คะแนน ใครจะทำเกินร้อยไม่ได้ มีคะแนนคุณธรรมจริยธรรม หากคะแนนได้เต็มก็รู้ว่าตัวเองมีอะไรด้อยอยู่ในตัวเยอะ แต่หากได้คะแนนไม่ถึงร้อยเช่น 98 คะแนน ก็จะถามตัวเองว่าเราชั่วหรือแย่อะไรใน 2 คะแนนนั้น นี่คือผลของการวัดข้อมูลคุณภาพเป็นคะแนน (เห็นหรือยังครับ)

การทำงานก็จะเป็นการทำงานเพื่อดัชนีมากขึ้น เพราะหวังว่าดัชนีมีอะไรบ้าง งานส่วนไหนตรงกับดัชนีก็ทำเพื่อได้คะแนน ส่วนไหนไม่มีคะแนนไม่เกี่ยวกับตัวชี้วัดก็ไม่ต้องทำ นี่ละผลของการออกนโยบายตัวชี้วัดเหล่านี้ เพราะคนคิดไม่ได้ทำ คนทำไม่ได้คิด ทำแล้วได้คะแนนแค่นี้ก็เพียงพอแล้ว เพราะอยู่ได้แล้ว แทนที่จะเป็นว่าทำให้เต็มที่แบบเก่าก่อน เพราะระบบสร้างให้คนเป็นแบบนี้ กดดันคน ข่มขืนใจคนทำงาน มองไม่เห็นหัวใจของคนทำงาน ผมว่าต่อไปอาจจะมีอะไรสนุกๆ ทำกว่านี้ครับเช่น ติดระบบ RFID ฝังไว้ในตัวคนแล้วเวลา แปดโมงครึ่ง ถึง บ่ายสี่ครึ่ง หากไม่อยู่ในที่ทำงานก็มีระบบเตือน หรือฝังระบบ GPS ไว้ในตัวคน แล้วคนจะไปไหนก็จับตรวจวัดได้หมดเลย ว่าเวลาไหนอยู่ไหน คนก็จะได้ทำงานเหมือนหุ่นยนต์มากขึ้น หัวใจมีแต่ไม่ต้องสนใจ หัวใจมีแต่เลือดแต่ไม่มีน้ำ(ใจ) แต่ยังไงก็ไม่ได้มาตรฐานอยู่ดีครับ เพราะคนเหนื่อยเมื่อยล้าได้ หากใครสอนนอกเวลา นักศึกษาก็จ่ายเพิ่ม เพราะนอกเวลาถือว่าไม่ต้องทำงานกันหรือ? เหมือนกับการมีเครื่องตอกเวลาในสถาบันการศึกษา (รับมาใช้จากระบบเอกชน) เข้างานตอนไหน ออกจากงานตอนไหน ถามว่าในกลางคืนไม่ต้องทำงาน เตรียมสอน เตรียมแนวทางกันแล้ว มาเริ่มกันแต่ในเวลาราชการเท่านั้นหรือ.... อาจจะมีคำถามถามถึงหัวหน้าสถาบันว่า จะเอาเครื่องตอกเวลาหรือเอาโปรเฟสเซอร์ไว้กันละครับ.....

ทางออกเพื่อจะให้มาตรฐานการศึกษาไทย มีมาตรฐานเดียวกันก็คือ ให้ผู้สอนอัดวีดีโอสอนลงซีดีแต่ละสาขา ใครสอนเก่งสาขาไหนก็อัดลงซีดี ดีวีดี หลากหลายเลือกซื้อหากันได้ แล้วมหาลัยก็เปิดบริการแต่ห้องระบบมัลติมิเดีย โดยที่ไม่ต้องมีครูสอน มีแต่เจ้าหน้าที่ค่อยช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้สื่อต่างๆ ก็พอ คราวนี้ทั้งประเทศก็มีมาตรฐานเดียวกันหมด ไม่ว่าใครเรียนที่ไหน ก็จะมีซีดีติวสอนในวิชาต่างๆ ทั่วถึงกัน รัฐบาลอาจจะส่งซีดีแจกไปเรื่อยๆ ตามบ้านทุกๆ ครัวเรือน คราวนี้ซีดีก็แจกฟรี ใครจะคัดลอกไปใช้ก็ได้เพราะถือว่ารัฐบาลให้ฟรี จ่ายให้กับคนสอนก็เพียงพอ ส่วนครูอาจารย์ในสถาบันศึกษาก็ลาออกหรือพร้อมยุบภาควิชาต่างๆ ตั้งภาควิชาหรือคณะให้เป็นบริษัท เพราะเป็นการออกจากระบบที่แท้จริง แล้วก็ทำงานหาเงินกันเลย ส่วนนักเรียนก็เรียนที่บ้านได้เลย อยากได้ปริญญาอะไรก็ไปสอบเอาจากคอมพิวเตอร์ เมื่อสอบผ่านก็พริ้นใบปริญญา ใบเกรดได้จากเครื่องคอมพ์เลย จะทดสอบด้านไหนก็สอบๆ กันมีเครื่องมือให้พร้อมครบทุกอย่าง การลงทะเบียนสอบก็สอดบัตรเข้าไปหักยอดบัญชีอัตโนมัติ ไม่ต้องมีฝ่ายการเงินในมหาวิทยาลัย ฝ่ายการเงินในมหาวิทยาลัยก็ให้ไปแฝงอยู่ตามบริษัทคณะต่างๆ แทน  สำหรับใครอยากจะออกไปค้นหาตัวเองก็ออกไปค้นหาตัวเอง ทำงานวิจัยภายนอกได้ตามสบาย หรือออกไปทำนา เมื่อได้ความรู้มาแล้วก็ค่อยเข้ามาในบริษัทคณะต่างๆ ที่เคยสังกัดแล้วมาอัดเป็นซีดี ดีวีดีต่อไป เป็นผลจากการทดลองและประสบการณ์ชีวิต เมื่ออัดเสร็จก็รับเงินจากบริษัทแล้วค่อยกลับไปค้นหาชีวิตกันต่อ ค้นหาตัวตน จิตใจ หรืออื่นๆ วนเวียนอยู่แบบนี้ ส่วนผู้เรียนก็ศึกษาจนครบกระบวนการ พร้อมเมื่อไหร่ก็ไปสอดบัตรสมัคร สอบ พริ้นใบเกรดจนครบ แล้วเมื่อครบแล้วก็พริ้นใบปริญญาได้ทันที เกรดและโพรไฟล์ต่างๆ ก็จะส่งไปยังบริษัทคณะหรือหน่วยงานภายนอกอัตโนมัติ เรียกตัวไปทำงานกันต่อไป หากทำงานแล้วประสบผลสำเร็จ ก็ค่อยกลับมาขายความรู้ให้กับบริษัทคณะต่างๆ ต่อไป

ผมคิดว่าแบบนี้ น่าจะเท่าเทียมกันระดับหนึ่ง แล้วเรียนได้ถึงระดับปริญญาเอกเลย เรียนเอาแบบนี้ แล้วขยายเครือข่ายไปถึงต่างประเทศ เพื่อซื้อซีดี ดีวีดีจากต่างประเทศ คราวนี้ รัฐบาลหรือกระทรวงที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการศึกษาก็สั่งซื้อ จ่ายซีดีเอาตามที่อยากให้คนไทยเป็นแบบไหน อยากจะผลิตแพทย์ก็อาจจะทำแบบนี้ได้ ทุ่มลงไป ประกาศทิศทางให้ชัดว่าปีไหนต้องการรับอาชีพอะไรบ้าง

คราวนี้ละครับ อาจจะไปถึงฝันของคำว่า มาตรฐานการศึกษาเท่าเทียมกัน แผ่นซีดีแจกฟรีจากรัฐบาล แจกคอมพิวเตอร์ฟรีทุกบ้าน ทุกอย่างทำงานผ่านออนไลน์กันหมด.......

ถามว่าเราต้องการให้ไปถึงเป้าหมายนี้ หรือเราควรจะกลับมาทบทวนกับสิ่งที่ได้ออกนโยบาย ทบทวนว่าทุกวันนี้ กรอบในการทำงานเราเห็นหัวใจของคนทำงาน ประชากรในประเทศเราแค่ไหน? ทุกๆ ฝ่ายควรจะมีทั้งคิด ทำ และประเมินผล ให้ครบในองค์กรเอง ไม่ใช่ฝ่ายคิดนโยบาย ฝ่ายปฏิบัติการ ฝ่ายประเมินผลคนละฝ่ายกัน ดังรายละเอียดนี้คือ

คนคิดไม่ได้ทำ(คนคิดนั่งบนหอคอย)
คนทำไม่ได้คิด(คนทำทำตามใบสั่งที่ผูกติดกับเงินเดือน)
คนทำไม่ได้ประเมิน(คนนอกมาประเมิน คนทำแสดงโม้ว่าทำอะไรให้เข้าตาคนประเมิน)
คนคิดไม่ได้ประเมิน(เพราะต้องคิดต่อ ไม่งั้นไม่มีงานทำ จึงต้องคิด คิด คิด)
คนประเมินไม่ได้คิด(รับรู้ว่าจะต้องประเมินอย่างไร ตามแบบที่คนคิดสั่งไว้ในกระดาษ ขาดการลงดูพื้นที่จริง)
คนประเมินไม่ได้ทำ(แค่ลงไปประเมินก็เวลาไม่พอแล้ว ต้องเดินสายประเมิน)

ถึงเวลาหรือยังที่จะหยุด คิด ทบทวน ประเมิน ก่อนจะก้าวต่อไป....

เราไม่ควรเอาชีวิตคนมาทำให้เป็นหนูทดลองตามความคิดของตัวเอง

เห็นหัวใจของคนมากขึ้น

สุดท้ายนี้ต้องขออภัยหากทุกประเด็นอาจจะทำให้ขัดกาย ขัดใจ ขัดปัญญาของทุกท่านครับ

ก่อนจะจากกันในบันทึกนี้มี การเล่นคำตัวย่อที่ไม่อยากให้เป็นดังต่อไปนี้คือ

TOR - Terms Of Reference (Time Overload Redundancy)
KPI - Key Performance Indicators ( Knowledge Poorly Indicators)
TQA - Teaching Quality Assurance (Total Quality Awkwardness)
TQF - Thailand Qualification Framework (Temporary Quality Framework, Thailand Qualification Failure)
PMQA - Public sector Management Quality Award (Pay Money Quality After)
SAR - Self Assessment Report (Self Awkfulness Report)

ด้วยมิตรภาพ

สมพร ช่วยอารีย์

ปลูกต้นไม้ อย่าหวังกินแต่ใบ แต่ลองรอชิมผลไม้ดูบ้าง ว่าจะหวานกว่ากินใบหรือไม่?
ปลูกต้นการศึกษา อย่าหวังแค่กินดัชนีชี้วัด แต่ลองชิมคุณภาพบัณฑิตที่หน่วยงานที่ใช้บัณฑิตคุณสะท้อนบ้าง จะได้ทราบว่าหวานแค่ไหน?

หมายเลขบันทึก: 340230เขียนเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2010 23:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 12:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีค่ะ น้องรัก

นานแล้วที่ ครูอ้อย ไม่ได้เข้ามาทักทาย พอเข้ามา ก็ได้รับความรู้ มหาศาลกำลัง ทำงานด้านนี้พอดีเลยค่ะ

TOK   KPI

ขอบคุณมากค่ะ

โดนมากค่ะ

อาทิตย์ที่แล้ว แอบได้ยินเค้าคุยกันว่า

"เรียนเข้าใจ แต่ไม่ได้ A ก็ไม่มีประโยชน์ ขอให้ได้ A ไม่เข้าใจก็ช่างมัน"

"ทำไม ไม่ลงวิชานี้ละ safe A นะ"

ได้ยินแล้วปวดใจจริงๆค่ะ

(หลายๆคนให้ความสำคัญกับดัชนีมากกกกกกกก ซะจนทำทุกอย่างเพื่อมันค่ะ"

ยินดีครับ....................

โค้งคำนับนั่งอ่านช่วยสานฝัน

สาระดีมีจุดเด่นเป็นสำคัญ

ชอบสร้างสรรค์เสพหาวิชาการ

ขยันเขียนเวียนหามาไม่ถ้วน

ไว้ประมวลขัดเกลาเหลาแก่นสาร

เกิดความคิดติดปัญญาพาเชี่ยวชาญ

ประสบการณ์พบเห็นเป็นบทเรียน

ธนา นนทพุทธ

จักสานอักษร

ขอบคุณมากๆ เลยนะครับ

ได้อ่านกลอนดีๆ แต่เช้าเลยครับ

ดัชนีชี้วัด ดัชนีชี้มัสยิต ดัชนีชี้โบสถ์ (เป็นมุกหลังจากไปบวชมานะครับ)

ดัชนี้ชี้วัดตน ไม่ใช่วัดคนอื่น

ดัชนี้ชี้ให้เป็นจุดอ่อนเพื่อพัฒนาปรับปรุง ไม่ใช่เพื่อเอาไปเป็นเกณฑ์ขึ้นเงินเดือนเลื่อนขั้น ให้รางวัลองค์กร

ประเมินตน ให้กำลังใจตน เพื่อผลงานกับสังคม

อย่าวัดใจครูจากการดูค่าเคพีไอ.....ใจวัดใจ.....ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท