GotoKnow

ปรัชญาและปรัชญาการศึกษา

Teacheryuree
เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2553 16:50 น. ()
แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2555 10:14 น. ()
ปรัชญาการศึกษา

ปรัชญาและปรัชญาการศึกษา (1)

           การศึกษาเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาประเทศ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เครื่องมือในการเตรียมประชากรให้มีคุณภาพ คือ การศึกษา การจักดการศึกษาของชาตินั้นจะต้องสอดคล้องกับนโยบายทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงระบบ   ทั้งสาม การจัดการศึกษาของชาติก็จะต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย แต่ละสังคมจะมีแนวทาง  ในการจัดการศึกษาต่างกัน เพราะระบบทั้งสามไม่เหมือนกัน แนวความคิดหรือความเชื่อในการจัดการศึกษาก็คือ ปรัชญาการศึกษา ซึ่งผู้ที่มีหน้าที่ในการจัดการศึกษาจะยึดแนวทางในการจัดการศึกษาหรือปรัชญาของการศึกษาต่างกันไปตามวัตถุแระสงค์ของสังคมและสถานการณ์ทางสังคมในแต่ละยุคแต่ละสมัย การจัดการศึกษาของประเทศใดถ้าไม่ยึดการศึกษาที่ถูกต้องก็ไม่มีทางที่จะทำให้ประเทศเจริญไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ ปรัชญาการศึกษา จึงเป็นสิ่งสำคัญในการกำหนด   แนวทางในการพัฒนาประเทศ

 ความหมายของปรัชญา

            ปรัชญามีความหมายกว้างขวาง เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความคิดของบุคคลและมีลักษณะเป็นนามธรรม การที่จะให้ความหมายของคำว่าปรัชญาที่แน่นอนจึงเป็นเรื่องยาก แต่นักปราชญ์และ    นักคิดได้พยายามให้ความหมายของปรัชญาไว้มากมาย ซึ่งความหมายหนึ่งอาจเป็นที่ยอมรับของคนกลุ่มหนึ่ง แต่อาจไม่เป็นที่ยอมรับของคนอีกกลุ่มหนึ่ง สุดแล้วแต่ว่าบุคคลใดจะมีมุมมองอย่างไร

            การพิจารณาความหมายขชองคำว่า ปรัชญา แยกพิจารณาอกกเป็น 2 นับ คือความหมายตามรูปศัพท์ และความหมายโดยอรรถ (อรสา สุขเปรม 2541 : 55-74 ; วิไล ตั้งจิตสมคิด 2540)

  1.    ความหมายตามรูปศัพท์

                  คำว่า Philosophy ตามรูปศัพท์ภาษาอังกฤษ ผู้ที่นำมาใช้ คือ ไพทากอรัส (Pythagoras) เป็นผู้เริ่มใช้คำนี้เป็นครั้งแรก มาจากภาษากรีกว่า Philosophy เป็นคำสนธิระหว่างคำว่า Philos แปลว่า ความรัก ความสนใจ ความเลื่อมใส กับคำว่า Sophia ซึ่งแปลว่า ความรู้ ความสามารถ ความฉลาด ปัญญา เมื่อรวม 2 คำเข้าด้วยกัน ก็จะได้คำแปลว่าความรักในความรู้ ความรักในความฉลาด หรือความรักในความปราดเปรื่อง (Love of Wisdom) ความหมายตาม       รูปศัพท์ภาษาอังกฤษเน้นที่ทัศนคติ นิสัยและความตั้งใจ และกระบวนการแสวงหาความรู้

                  คำว่าปรัชญา ในภาษาไทยเป็นคำที่พระวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ทรงบัญญัติขึ้นใช้แทนคำว่า Philosophy ในภาษาอังกฤษ เป็นการบัญญัติเพื่อให้มีคำภาษาไทยว่า ปรัชญา ใช้คำว่าปรัชญา เป็นคำในภาษาสันสกฤต ประกอบด้วยรูปศัพท์  2 คำ คือ ปร ซึ่งแปลว่า ไกล สูงสุด ประเสริฐ และคำว่า ชญา หมายถึงความรู้ ความเข้าใจ เมื่อรวมกันเป็นคำว่าปรัชญา     จึงหมายถึงความรู้อันประเสริฐ เป็นความรอบรู้ รู้กว้างขวาง ความหมายตามรูปศัพท์ในภาษาไทยเน้นที่ตัวความรู้หรือผู้รู้ ซึ่งเป็นความรู้ที่กว้างขวาง ลึกซึ้ง ประเสริฐ (ไพฑูรย์  สินลารัตน์ 2524 : 2)

                  จะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างกันในความแตกต่างกันในความหมายของคำว่า Philosophy และปรัชญา Philosophy เป็นความรักในความรู้ อยากที่จะแสวงหาความรู้ หรืออยากค้นหาความจริงอันนิรันดร์ (Ultimate reality) เพื่อให้พ้นไปจากความสงสัยที่มีอยู่ ส่วนคำว่า ปรัชญา เป็นความรู้อันประเสริฐเป็นสิ่งที่เกิดจากการแสวงหาความรู้จนพ้นข้อสงสัยแล้วก็นำไปปฏิบัติเพื่อให้มนุษย์หลุดพ้นจากปัญหาทั้งปวง นำไปสู่ความสุขที่พึงประสงค์               

            2.  ความหมายโดยอรรถ

                  นักปรัชญา และนักคิดได้อธิบายถึงความหมายของ ปรัชญาถือว่าเป็นศาสตร์ของศาสตร์ทั้งหลาย ซึ่งหมายถึงว่าปรัชญาเป็นวิชาแม่บทของวิชาการแขนงอื่นๆ และมีความสัมพันธ์กับวิชาทุกๆสาขาด้วย (บรรจง จันทร์สา 2522 : 3) ปรัชญาจะทำหน้าที่สืบค้นเรื่องราวต่างๆที่มนุษย์ยังไม่รู้และสงสัย จนกระทั่งรู้ความจริงและมีคำตอบของตนเองอย่างชัดเจนในเรื่องราวนั้น ก็จะแยกตัวเป็นวิชาหรือศาสตร์ต่างหากออกไป วิชาที่แยกตัวออกไปเป็นวิชาแรกคือ ศาสนา  จากนั้นก็มีการพัฒนาวิชาอื่นๆกลายเป็นศาสตร์ต่างๆมากมาย เมื่อมีศาสตร์พัฒนาออกไปมาก  เนื้อหาของปรัชญาก็ไม่ค่อยมี แต่ปรัชญาจะทำหน้าที่ในการนำเนื้อหาของศาสตร์ต่างๆมาวิเคราะห์   หาความสัมพันธ์ และหาทางพัฒนาศาสตร์นั้น เพื่อให้ไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ

                  ถ้ามอง ปรัชญาในอีกลักษณะหนึ่ง อาจกล่าวได้ว่า ได้มีการนำเอาแนวคิดพื้นฐานของปรัชญามาประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสมกับวิชาต่างๆ เพื่อะวิเคราะห์ศาสตร์ต่างเหล่านั้นให้เกิดความเข้าใจได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น  ปรัชญาสังคม  ปรัชญาการเมือง  ปรัชญาศาสนา ฯลฯ

                  จากลักษณะของปรัชญาดังกล่าว ได้มีนักคิด  นักปรัชญา นักวิชาการได้พยายาม        ให้ความหมายของปรัชญาไว้แตกต่างกัน ดังนี้

                  2.1 ปรัชญา คือ ศาสตร์หนึ่งที่มีวัตถุประสงค์ที่จะจัดหมวดหมู่ หรือระบบความรู้สาขาต่างๆ เพื่อนำมาใช้เป็นเครื่องมือทำความเข้าใจและแปลความหมายข้อเท็จจริงต่างๆ อย่างสมบูรณ์แบบ ปรัชญาจะประกอบด้วยวิชา ตรรกวิทยา จริยศาสตร์ สุนทรีศาสตร์ อภิปรัชญาและศาสตร์    ที่ว่าด้วยความรู้ทั้งปวงของมนุษย์ (Good 1959 : 395)

                  2.2 ปรัชญาคือ ความคิดเห็นใดที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ หรือยังสรุปผลแน่นอนไม่ได้ แต่ถ้าพิสูจน์ได้จนลงตัวแล้วก็จัดว่าเป็นศาสตร์ (จำนง ทองประเสริฐ 2524 : 2)

                  2.3 ปรัชญาคือ ศาสตร์ชนิดหนึ่ง ที่มีวัตถุประสงค์ที่จะจัดหมวดหมู่หรือแบบความรู้

สาขาต่างๆ เพื่อนำมาใช้เป็นเครื่องมือทำความเข้าใจและแปลความหมายข้อเท็จจริงต่างๆอย่าง

สมบูรณ์แบบ (ภิญโญ สาธร 2514: 21)

                        ความหมายของคำว่าปรัชญามีผู้ให้ทัศนะไว้อีกมากมายและจะมีความแตกต่างกันตามลักษณะของปรัชญาแต่ละยุคแต่ละสมัยและตามทัศนะของบุคคล นักปราชญ์บางท่าน   อาจจะกล่าวว่า ปรัชญานั้นหาคำตอบไม่ได้ สรุปว่าปรัชญาจะมีลักษณะดังนี้

                        1)   ทำหน้าที่รวบรวมรายละเอียดต่างๆ ของโลกและชีวิตไว้ทั้งหมด

                        2)   พยายามหาคำตอบที่เป็นความจริงที่เป็นนิรันดร์ สามารถอธิบายสิ่งต่างๆ         ที่เกิดขึ้นได้

                        3)   ใช้วิธีการทางตรรกวิทยาในการค้นหาความจริง ซึ่งเป็นวิธีการคิดอย่างมีเหตุและผล

                        4)   เนื้อหาของปรัชญาจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุค ตามสมัย แล้วแต่ว่าจะสนใจที่จะศึกษาในเรื่องใดหรือปัญหาใด อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ

อ้างอิง  อาจารย์มณี  เหมทานนท์

คำสำคัญ (Tags): #ปรัชญาการศึกษา 
สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกัน


ความเห็น

ยังไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท
ภาษาปิยะธอน (Piyathon)
เขียนโค้ดไพทอนได้ด้วยภาษาไทย