+ปัญหา "หยิบมือ" ที่ถูกมองข้าม


สำนึกพลเมือง (project citizen)

ช่วงวันหยุด อ่านเจอเกร็ดต่างแดน (มติชน  31 ม.ค. 2553) เรื่อง การห้ามใส่ ชุดนอนเข้าซุปเปอร์มาร์เก็ต ของห้างเทสโก้ ในกรุงคาร์ดิฟฟ์ แคว้นเวลส์ ของอังกฤษ เหตุที่ต้องออกกฎนี้เพราะ มีคนร้องเข้ามาว่า ลูกค้าบางคนใส่ชุดนอนหรือไม่ก็เดินเท้าเปล่าเข้าห้าง ซึ่งพวกเขารู้สึกว่า เป็นการแต่งกายไม่เหมาะสม  “เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างความอึดอัดใจแก่ผู้อื่น เราจึงขอความร่วมมือจากลูกค้าทุกท่าน กรุณาแต่งกายเหมาะสมเมื่อมาที่ห้างของเรา ด้วยการสวมรองเท้าและห้ามสวมชุดนอน” สิ่งที่ผู้เขียนสะดุดก็คือว่า  ประชาสัมพันธ์ของห้างบอกว่า ที่จริงเรื่องนี้มีคนร้องเรียนเพียง “หยิบมือ”  เท่านั้น แต่ทางห้างก็น้อมรับฟังและทำตาม

 

 Photobucket

  

แล้วมันเกี่ยวอะไรกับเรื่องที่จะบอกเล่าต่อไปนี้หล่ะ เผอิญก็ด้วยเหตุที่ เป็นผู้เกี่ยวข้องกับโครงการสำนึกพลเมือง เหมือนเช่นกับคณะครูหลายคนที่ได้ผ่านการอบรมจะรับรู้ว่า ในกระบวนการสอนหรือทำกิจกรรมโครงการดังกล่าว จะเกี่ยวข้องกับคำว่า  ประชามติ ฉันทามติและนโยบายสาธารณะ  ก็ทดลองนำกระบวนการนี้ไปใช้ในห้องเรียน อีกทั้งได้เก็บตัวอย่างจากการติดตามนิเทศโครงการสำนึกพลเมืองของสถานศึกษาต่าง ๆ  จากกลุ่มผู้เรียน เฉพาะแค่ขั้นตอนการรวบรวมปัญหา (จากทั้งหมด 6 ขั้นตอน*) ก็ได้รับฟังเรื่องที่เกิดขึ้นในสถานศึกษา เป็นเรื่องเดิม ๆ ซ้ำกับปีก่อนหรืออาจจะนานกว่านี้ ซึ่งผู้เขียนไม่กล้าจะถามต่อ  ปัญหาเหล่านี้ยังไม่ได้พยายามหาแนวทางปรับปรุงแก้ไขอย่างไรทั้งสิ้นในสถานศึกษา รวมถึงบางปัญหาที่เกี่ยวข้องกับผู้สอนโดยตรง มองเป็นลำดับเป็นข้อ ๆ ที่ใช้ประเมินการเตรียมการเรียนการสอนได้เป็นอย่างดี  แยกเป็น 4 เรื่องดังนี้

 

ห้องน้ำ เกี่ยวข้องโดยตรงกับ สอศ. เพราะมีโครงการประกวดส้วม เป็นปัญหาที่ผู้เรียนบอกซ้ำจากปีก่อน แยกเป็นหัวข้อเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ สภาพแวดล้อมได้แก่ ส้วมอยู่ใกล้ห้องเรียนเกินไป หากสะอาด ก็คงไม่ต่อด้วยปัญหาสิ่งกลิ่นเหม็น การถ่ายเทอากาศในห้องส้วมไม่ดีและมองดูสกปรก   ความคับแคบของห้องเมื่อจำนวนผู้เรียนหยุดพักระหว่างคาบเรียนพร้อมกัน วัสดุอุปกรณ์ในห้อง ไม่เพียงพอ เช่นไม่มีขันน้ำ แสดงว่า เป็นส้วมตักน้ำราด ขณะที่น้ำก็ไม่เพียงพอที่จะใช้ราดหรือล้างมือ ผู้เรียนสงสัยว่า ทำไมไม่มีส้วมแบบชักโครกเหมือนตามห้าง รวมถึงไมมีถังขยะ  การดูแลรักษา คราวนี้บอกว่า เป็นเรื่องของผู้เรียนเองที่ว่า  บางส่วนมักง่าย และไม่ช่วยกันดูแล และพนักงานที่รับผิดชอบดูแลมีจำนวนจำกัด ทั้งที่จ้างบริษัทจากภายนอก

 

ที่จอดรถ  เริ่มจากจำนวน เป็นปัญหามากขึ้นกว่าปีก่อน ๆ เนื่องจากจำนวนผู้เรียนเพิ่มเพราะมีจำนวนแผนกมากขึ้น และ ผู้เรียนส่วนใหญ่มีจักรยานยนต์ ผู้สอนมีรถยนต์ เป็นพาหนะ 1 คนต่อ 1 คัน  พื้นที่ ในอนาคตหากผู้เรียนมีรถยนต์เป็นพาหนะ ขนาดและจำนวนเมื่อวัดปริมาณเป็นพื้นที่แล้ว เท่าไหร่ถึงจะพอ  การสร้างตึกเพิ่ม ทับพื้นที่จอดรถเดิมโดยสถานศึกษาไม่ได้คำนึงถึงการจัดสรรพื้นที่ที่หายไป ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ใส่ใจที่จะปรับพื้นที่ให้เรียบสำหรับการจอดรถจักรยานยนต์ การอำนวยความสะดวก เจ้าหน้าที่รับผิดชอบหรือดูแลไม่ใส่ใจ รวมถึงสถานที่จอดรถแสงสว่างไม่เพียงพอในตอนกลางคืน อาจเกิดอันตรายได้ง่าย กฎระเบียบ  เป็นหน้าที่ของผู้เรียนที่ว่า เป็นคนมักง่าย จอดรถไม่เป็นระเบียบ ไม่แบ่งทางเข้าออกและขับรถย้อนศร

 

Photobucket

 

การประชาสัมพันธ์   เน้นเรื่องการประกาศเสียงตามสาย  ข้อมูล  ข่าวสารหรือการประชาสัมพันธ์ล่าช้า แต่มอบภาระให้ผู้เรียนปฏิบัติตามทันทีแบบไม่ได้ตั้งตัว ซึ่งบางครั้งหากผู้เรียนมาเรียนช่วงไม่ตรงกับประกาศก็จะไม่ทราบข้อมูล (กรณีจัดตารางเรียนแบ่งเป็นภาคเช้า-บ่าย-หรืออื่น ๆ) ไม่มีการประกาศซ้ำข้อมูลเดิม   ผู้ประกาศพูดเร็ว เครื่องกระจายเสียงบางจุดมีเสียงดังไม่ชัด  ภาษาที่ใช้ค่อนข้างเป็นทางการ บางครั้งฟังแล้วไม่เข้าใจ  บอร์ดที่ใช้ประกาศมีน้อยและติดข่าวสารปะปนกัน จนไม่สามารถแยกแยะหรือลำดับเรื่องที่สำคัญก่อน หลังหรือด่วนได้

 

สื่อการสอน คราวนี้ใกล้ตัวผู้สอนมากยิ่งขึ้น เรื่องแรกเป็น อุปกรณ์ อยู่ในสภาพไม่พร้อมใช้งาน  ล้าสมัย ขาดการดูแลรักษา เทคโนโลยีช้า (โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ต)  เก้าอี้นั่งในห้องเรียนไม่สะดวกสบาย ไวท์บอร์ดบางห้องไม่เหมาะสมกับการใช้งานเนื่องจากมีแสงสะท้อนเข้าตาผู้เรียนมาก ทั้งนี้ ได้รวมเรื่อง สถานที่เรียน อยู่หัวข้อนี้คือ  ห้องเรียนสกปรก  จัดโต๊ะไม่เป็นระเบียบ  เก้าอี้มีมากเกินไป พื้นห้องบางห้องมีสายไฟวางเกะกะอาจทำให้เกิดอันตรายได้ ผู้สอนและบุคลากร เป็นหัวข้อท้าย ๆ ที่สำคัญ สามารถนำไปประเมินตัวผู้สอนได้ดังนี้  ไม่ให้ความร่วมมือในการยืมอุปกรณ์ กรณีที่ต้องใช้อุปกรณ์จากของแผนกหรือคณะรวมกัน  บรรยายไม่รู้เรื่องและพูดคุยเรื่องส่วนตัวมากเกินไป  ใช้สื่อการสอนได้ไม่เหมาะสม เช่น ใช้แผ่นใสแต่เขียนแผ่นใสแล้วผู้เรียนอ่านไม่รู้เรื่อง  เขียนตัวอักษรเล็กผู้เรียนมองไม่เห็น จดบันทึกข้อมูลไม่ได้  ไม่มีความรู้ในการใช้สื่อการสอนและไม่พยายามนำเอาเทคโนโลยีมาปรับใช้ให้เหมาะสม   เอกสาร  ไม่จัดเตรียมเอกสารให้ผู้เรียนหรือจัดเตรียมมาตอนต้นชั่วโมงแล้วให้ไปถ่ายเอกสาร ซึ่งต้องเสียเวลารอเอกสาร  สื่อที่ใช้กับเอกสารประกอบการสอนไม่ตรงกับเนื้อหาที่สอน

 

จากตัวอย่างปัญหาทั้งหมด ไม่ทราบว่า ผู้อ่านจะรู้สึกเช่นเดียวกับผู้เขียนหรือไม่ว่า  มันเป็น ปัญหา “หยิบมือ” ที่ถูกมองข้าม  หากจะเอาใจผู้เรียนทั้งหมดคงไม่ได้เพราะเราต้องมีภารกิจอะไรอื่นอีกมากมาย แต่ถ้าจะสังเกตให้ดี ปัญหาเหล่านี้ เป็นเรื่องเดิม ซ้ำซาก เป็นปัญหาคลาสสิก เห็นตัวอย่างในตำราทั้งหลายที่ยกมาประกอบในเนื้อหาบ่อยครั้ง  ผู้เขียนไม่ได้คาดหวังจะให้สถานศึกษาหรือผู้สอนแก้ไขให้หมดภายในวันเดียว  ซึ่งปัญหาสะสมเหล่านี้มันสะท้อนถึงภาพลักษณ์ของสถาบันแห่งนั้นออกมา  การบอกต่อ ปากต่อปาก ถึงผู้ปกครอง ญาติ พี่น้อง คนใกล้เคียง  เป็นเสียงที่จะทรงพลังในยุคดิจิตอล ถึงแม้ทุกวันนี้ ยังหลบเลี่ยงและพยายามพูดเสมอว่า ผู้เรียน ไม่ใช่ ลูกค้า  ที่สุดแล้วพวกเรา...มองเรื่องเหล่านี้คล้ายกับประเด็นห้างชื่อต่างประเทศข้างต้น ที่ว่า มันเป็นเพียง คนแค่ “หยิบมือ” ที่พวกเขาไม่เคยมองข้าม  หรือเปล่า....ช่วยกันตอบด้วย

 

*6 ขั้นตอนคือ การระบุปัญหานโยบายสาธารณะในชุมชนของท่าน การเลือกปัญหาเพื่อศึกษาในชั้นเรียน  การรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาที่จะศึกษาในชั้นเรียน  การพัฒนาแฟ้มผลงานของชั้นเรียน  การนำเสนอแฟ้มผลงาน และผลสะท้อนจากประสบการณ์การเรียนรู้

 

เขียนวันที่ 31 มกราคม  2553
จากการกำหนดหัวข้อสอนในเรื่อง  กิจกรรมคิวซี  เทคนิคก้างปลา ในวันที่ 29 มกราคม  2553 และอ่านเรื่อง “เกร็ดต่างแดน” จากหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันอาทิตย์ที่  31 มกราคม 2553
ผู้ที่จะนำบทความ รูปภาพไปตีพิมพ์ต้องได้รับอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้เขียนเท่านั้น
ผลงานและสิ่งพิมพ์ของผู้เขียน ปรับปรุงข้อมูล วันจันทร์, 08 กุมภาพันธ์ 2553

ติดต่อผู้เขียนที่  
[email protected] 

หมายเลขบันทึก: 339130เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2010 16:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 12:46 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท