นักวิชาการที่ไม่ดี (Bad Technician)...


ขอปลูกต้นไม้จากเมล็ด ถึงแม้นจะช้า กว่าจะให้ดอก ออกผลใช้เวลานาน แต่ผมก็ขอมี “รากแก้วทางปัญญา” ที่ผมสร้างและทะนุถนอมด้วยตัวของตัวเอง

หลังจากที่ได้อ่าน ได้ศึกษาทั้งบทความ ผลงานทางวิชาการของนักวิชาการท่านต่าง ๆ มามากพอสมควรแล้วก็รู้สึกว่าเราเป็น “นักวิชาการที่ไม่ดี...”

นักวิชาการที่ดีในปัจจุบันเขาเป็นอย่างไร...?
นักวิชาการที่ดีมักจะเขียนอะไรต่ออะไรออกมาเป็นข้อ ๆ หรือไม่ก็ทำ Power Point แสดงไดอะแกรมออกมาอย่างซับซ้อนและวิจิตร พิศดาร จากนั้นนักวิชาการก็มีหน้าที่มานั่งบรรยาย ยืนบรรยายไดอะแกรมต่าง ๆ เหล่านั้น เพราะถ้าไม่บรรยายก็ไม่มีใครสามารถที่จะดูแล้วรู้เรื่องได้

ส่วนตัวผมเองจัดอยู่ในพวกนักวิชาการที่ไม่ดี ไม่ค่อยได้เรื่อง หรือก็อาจจะไม่สามารถจัดอยู่ในกลุ่ม “นักวิชาการ” ได้
ก็คือทำอะไรแตกเหล่าแตกกอเขาเรื่อย ซึ่งนั่นก็อาจจะเป็นความมีปัญญาน้อยของผมเองซึ่งไม่สามารถเขียนไดอะแกรมต่าง ๆ ให้เลิศหรู อลังการณ์ และที่สำคัญไม่มีโอกาสที่จะเดินทางไปบรรยายไดอะแกรมที่เขียนให้ใครต่อใครอ่านแล้วไม่เข้าใจให้ฟังโดยทั่วไปได้

ดังนั้นจึงจะต้องพยายามเขียนอะไรต่ออะไรออกมาให้ละเอียดที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ก่อน จากนั้นถ้ามีเวลาหรือมีโอกาสก็จึงจะค่อยสรุปออกมาเป็นไดอะแกรมทีหลัง

นักวิชาการส่วนใหญ่ เขียนไดอะแกรมก่อนแล้วจึงค่อยบรรยายออกมาตามไดอะแกรมนั้น
ส่วนนักวิชาการที่ไม่ได้เรื่องอย่างผม บรรยายก่อน บรรยายให้เต็มที่เลย เมื่อคิด เมื่อเขียนบรรยายจนพอใจ จนมาถึงจุด ๆ หนึ่งแล้วจึงค่อย ๆ สรุปสิ่งที่บรรยายออกมาเป็นไดอะแกรม

อุปนิสัยของผมที่ไม่ค่อยเป็นนักวิชาการที่ดีอีกหนึ่งอย่างคือ ไม่ค่อยชอบศึกษาทฤษฎีอะไรต่ออะไรที่นักวิชาการเขียนสรุปมาเป็นข้อ ๆ ตอน ๆ หรือไม่ค่อย “ปิ๊ง” สักเท่าไหร่กับทฤษฎีที่ใครต่อใครในโลกเขายอมรับกัน

ดังนั้นเวลาจะคิดอะไร ก็เลยไม่มีทฤษฎี หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า ตีกรอบไว้ก่อน ว่าตอนนี้เราอยู่ขั้นที่หนึ่ง เราทำขั้นที่หนึ่งหรือยัง ตอนนี้น่าจะถึงขั้นที่สองของทฤษฎีแล้วนะ เราจะทำอย่างนั้นเลยไหม
ในส่วนตัวของผม ตอนแรกจะอ่านแค่หัวข้อ คือ อ่านแค่ชื่อทฤษฎี แล้วพยายามมาตีความตามทฤษฎีนั้น แล้วจากนั้นถ้าเห็นว่าชื่อทฤษฎีนั้น “เจ๋ง” หรืออ่านหลักการของทฤษฎีแล้ว “สุดยอด” ก็จะทำเลย ส่วนขั้นตอนนั้นจะมาอ่านอีกทีก็ตอนที่ทดลองหรือทำอะไรไปได้สักพักหนึ่งแล้ว

หรือแม้แต่หลักของธรรมะ พละ 5 อินทรีย์ 5 อริยสัจ 4 อะไรต่ออะไร ผมก็ไม่รู้หรอกว่าเป็นอะไรบ้าง ในแต่ละหลักการมีอะไร อะไรเรียงกันหนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า แต่พอผมรับหน้าที่ทำอะไร ผมก็ทำไป ทำไปอย่างนั้นให้ดีที่สุด
พอทำเสร็จแล้วก็มีคนมาสะกิดบอกว่า ผมเป็นคนที่ทำงานแบบมี ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา
ผมก็ครับ ครับ ครับ แต่ผมก็ไม่รู้หรอกว่าแต่ละตัวนั้นแปลว่าอะไร หรือใครต่อใครเขานิยามกันมาว่าอย่างไร...? และที่สำคัญผมก็ไม่สนใจในความหมายของคำแต่ละคำอีกต่างหาก

สิ่งนี้ทำให้ผมเป็นนักวิชาการที่ไม่ค่อยดีนัก หรืออาจจะเรียกว่า “นอกคอก” ก็ได้ คือ มักจะพูด คุยอะไรตามภาษานักวิชาการกับเขาไม่ค่อยรู้เรื่อง มิหนำซ้ำยิ่งเจอทับศัพท์ทางทฤษฎีที่เป็นภาษาอังกฤษแล้วก็เรียกว่า “เซ่อ” ไปเลย อันนี้เขาแปลว่าอะไรหว่า...?

แต่นั่นเป็นปัญหาในชีวิตไหม...?
ไม่นะ ชีวิตก็สนุกดี ได้ทดลองทำอะไรไปเรื่อย ไม่ต้องติดกรอบ ไม่ต้องมี “ความกลัว” ว่า เอ่...สิ่งที่เราทำนี้มันตรงตามทฤษฎีหรือหลักการเขาไหม
บางครั้ง บางคนก็อาจจะดูว่า “บ้า” คือไม่ค่อยทำอะไรเหมือนชาวบ้านเขา เช่น เขาบอกให้ปลูกต้นไม้แบบนี้ คือ เขาทดลองมาแล้วว่าดี แต่ผมทำบ้าง ไม่ทำบ้าง ก็คือ ทำอย่างที่เขาบอกด้วย แล้วก็ไปทดลองทำอย่างอื่นด้วยทั้ง ๆ ที่รู้ว่าผิดหรือไม่ใช่วิธีการที่ดีที่สุด ผมก็ทำ ซึ่งนักวิชาการเขาจะเรียกการกระทำแบบนี้ว่า “โง่” เพราะคนอื่นเขาลองมาแล้ว ทำไมยังจะต้องโง่ไปลองอีก

อันนี้ผมก็ตอบไม่ถูก คงจะเป็นอุปนิสัยส่วนตัว หรือ “สันดาน” ของผมเอง
อย่างเช่น อาจารย์ผมบอกว่าต้นมะปรางที่ดีที่สุดคือ “สุวรรณบาต” ถ้าเป็นคนอื่นก็จะปลูกสุวรรณบาตเลย ส่วนข้อเสียจากต้นอื่น ๆ ก็ค่อยไปอ่านหนังสือหรืองานเขียนจากงานวิจัยของอาจารย์เอา
แต่ผมคงจะไม่ทำอย่างนั้น ผมก็คงจะต้องเริ่มต้นที่ “ศูนย์” แบบอาจารย์ ก็คือ เอาพันธุ์มะปรางที่มีอยู่มาปลูกให้หมด แล้วค่อย ๆ ปลูกทีละต้น ทีละอย่าง จากนั้นก็ค่อย ๆ ศึกษาเอาเองทีละต้น ทีละต้น

ถ้ามัวแต่ทำแบบนี้เขาจะว่าไม่รู้จัก “ต่อยอด” ก็คือ ไม่รู้จักนำความรู้ที่คนอื่นทดลองแล้วไปต่อยอดเลย มัวแต่ทำงานซ้ำไป ซ้ำมา
ถูกต้องครับ ถูกต้องที่สุด...
ผมยอมรับอย่างเต็มภาคภูมิเลย เพราะผมไม่รู้จะไปต่อยอดตรงไหน ก็ด้วยผมยังไม่มี “ต้นแม่” เลย แล้วผมจะไปเอาต้นแม่มาจากใคร
อ่านหนังสือเอาเหรอ  หรือว่าไปถามคนต่าง ๆ เอา ผมก็คงจะไม่เชื่อครับ เพราะผมเป็นคนเชื่อคนยาก ไม่ค่อยเชื่อความรู้ของใคร ถ้าไม่ได้ทำเอง ผมก็ไม่เชื่อ ถ้าจะให้ไป “ลักไก่” ต่อยอดความรู้ของคนอื่น ผมก็ไม่เอา

ดังนั้นผมจึงพยายามวนอยู่จุดเดิม จุดหลัก จุดพื้น จุดฐานให้แน่นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ผมต้องการมีต้นแม่ของผมเอง ต้นแม่ที่สามารถต่อยอดความรู้ตามสไตล์ของผม
ถึงแม้ว่าต้นแม่นี้จะไม่สวยงามเท่านักวิชาการท่านอื่นที่ต่างเห็นว่าสวยแล้วไปรุมกันต่อยอด ผมก็ภูมิใจในตนแม่ของผมที่ได้สร้างมากับผม ค่อย ๆ เพาะ ค่อย ๆ ปลูก ถึงแม้นจะช้าแต่ก็ “มั่นคง”
ผมจึงขอยึดมั่นในการเป็นนักวิชาการที่ไม่ดีเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ ขอเป็นเต่า แทนที่จะเป็นกระต่าย
ขอปลูกต้นไม้จากเมล็ด ถึงแม้นจะช้า กว่าจะให้ดอก ออกผลใช้เวลานาน แต่ผมก็ขอมี “รากแก้วทางปัญญา” ที่ผมสร้างและทะนุถนอมด้วยตัวของตัวเอง

จุดมุ่งหมายสำคัญในการชีวิตของผมซึ่งเปรียบเสมือนต้นไม้ต้นหนึ่ง ก็คงไม่ใช่อยู่ที่ต้นใครจะสูงกว่ากัน ดอกจะสวย หรือผลจะใหญ่กว่าใคร แต่ผมขอมีจุดยืนอยู่ที่ความมั่นคง สามารถยืนทะนงต่อพายุและเมฆฝนที่เข้ามาโถมกระหน่ำ
ผมขอมีชีวิตอยู่ด้วย “รากแก้ว” ของต้นไม้เตี้ย ๆ ที่มั่นคง ดีกว่าที่จะยืนต้นสูงแล้วถูกล้มลงได้โดยง่าย…

ถึงแม้จะไม่สวย ไม่รวย ไม่เร็ว ไม่หรู แต่ก็ขอให้ยืนอยู่ได้อย่าง "มั่นคง..."

 

คำสำคัญ (Tags): #sample bias#นักวิชาการ
หมายเลขบันทึก: 339136เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2010 16:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

เป็นนักวิชาการนี่ยุ่งยากนะคะ ดังนั้นขอเป็นแค่นักเดินทางก็คงพอแล้ว

จะว่ายุ่งยากก็ว่ายุ่งยาก จะว่าง่ายก็ง่ายครับ

ที่ว่ายุ่งยากคือ ถ้าใครมีนิสัย (สันดาน) แบบผมก็จะยุ่งยากหน่อย คือทำอะไรต่ออะไรก็จะไม่ค่อยถูกจัดเข้าพรรค เข้าพวก เพราะไม่ค่อยเดินตามวัฒนธรรม ตามถนน ตามสายของเขา

แต่ถ้าหากจะใช้ชีวิตนักวิชาการที่ง่าย ก็สบายมากครับ ก็แค่เดินตามเส้นที่เขาขีดไว้ ทำอย่างที่เขาทำ ๆ กัน เขาทำอะไรก็ทำไปอย่างนั้น ทำตัวเองให้สบาย อย่าไปสร้างปัญหาให้กับตัวเอง แล้วเขาก็จะเขาพรรค เขาพวกกับเขาได้

เขียนหนังสือ ทำผลงานให้หรูหน่อย พูดอะไรต่ออะไรให้ดูยาก ๆ ขึ้นอีกนิด วางแผนผัง สร้างไดอะแกรม ใช้ศัพท์แสลงที่ต้องแปลไทยเป็นไทย ทำอะไรให้ออกมาเป็นข้อ ๆ ตามหลัก ตามวิชาการของผู้เชี่ยวชาญที่มีตาสีน้ำข้าวหรือไม่ก็มียศ มีฐานะ มีตำแหน่งอย่างน้อยก็มี ดร. นำหน้า

ถ้าเขียนเป็นข้อ ๆ แล้วบรรยายตามเขาได้ก็ได้ชื่อว่าเป็น "นักวิชาการ"

แต่คนหัวดำ มีตาดำออกสีน้ำตาล แล้วมีคำหน้าชื่อว่านาย นาง หรือนางสาว จะคิดจะทำอะไรก็ลำบากหน่อยถึงลำบากมาก เพราะคำพูดไม่มีน้ำหนัก ความคิดเบาเหมือนปุยนุ่น พูดอะไรออกมาก็ผิด มีความคิดขัดแย้งก็กลายเป็นคนหัวดื้อ หัวรั้น ดังนั้นถ้าอยากเป็นนักวิชาการก็ต้อง "ตามน้ำ" ถ้าไม่รู้จักตามน้ำก็คงจะต้องไปเป็นนักเดินทางทางน้ำอย่างท่านว่า เพราะดูว่าจักสบายกว่ากันเยอะ

แต่ต้องระวังสักเล็กน้อย เพราะถ้าเราไม่จัดอยู่ในกลุ่มนักวิชาการแล้วนักวิชาการจะจัดเราว่าเป็นพวก "ชาวบ้าน" ที่นักวิชาการนิยามว่าเป็นกลุ่มคนที่ด้อยการศึกษา และเป็นกลุ่มคนที่มี "ปัญหา" ที่กำลังรอความรู้จากนักวิชาการเข้าไป "จัดการ"

แต่ตอนนี้ผมกลับเชื่ออย่างหนึ่งว่า คนที่นักวิชาการเรียกว่า "ชาวบ้าน" ที่อยู่ในชุมชนนั้น ท่าทางจะรู้หลักการและทฤษฎีอะไรต่าง ๆ มากกว่านักวิชาการแล้ว

เพราะนักวิชาการจำนวนมาก ต่างก็นำทฤษฎี หลักการ เทคนิคที่ตัวเองคิดว่า "เจ๋ง" ลงไปจัดกิจกรรมต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก หลายองค์กร หลากมหาวิทยาลัย

ในเวลาที่นักวิชาการก็ยังติดอยู่กับทฤษฎีหรือหลักการของตัวเอง ชาวบ้านที่ถูกนักวิชาการมองว่าต่ำต้อย กลับเปิดใจเรียนรู้ทฤษฎีต่าง ๆ มากมายจากหลากหลายนักวิชาการ

เป็นชาวบ้านทั่วไปก็น่าสนุกดีครับ เพราะมีนักวิชาการมาทดลองทฤษฎี หลักการ ความรู้อะไรต่าง ๆ อยู่บ่อย ๆ ไม่ต้องไปเดินทางไปเรียน หรือไปเสียค่าเล่าเรียนให้มากมายอย่างนักวิชาการ อยู่บ้านดี ๆ ก็มีคนมาสอนทฤษฎีให้ฟรี ๆ

อ้อ... ไม่ฟรีสิ เพราะเขาได้งบประมาณจากวิจัยหรืองบประมาณการพัฒนาคนที่มีปัญหาอย่างเรามาจากรัฐบาลและมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว

จบท้ายความคิดเห็นนี้จึงขอสรุปสั้น ๆ ต่อเติมจากคุณ naree suwan เพิ่มเติมว่า

เป็นนักวิชาการนี่ยุ่งยาก ดังนั้นขอเป็นแค่ "ชาวบ้าน" ก็คงพอแล้ว

อยากเห็นนักวิชาการที่ติดดินอย่างนี้มากๆครับ

หลังจากที่นั่งทบทวนไปทบทวนมา ผมก็เริ่มมีความคิดเห็นด้วยแล้วว่านักวิชาการเขามีหน้าที่แบบนั้นจริง ๆ แต่ผมเองกลับไปทำเกินหน้าที่ มากเกินขอบข่ายของนักวิชาการ

นักวิชาการน่าจะมีขอบข่ายเพียงเพื่อคิดค้นทฤษฎี สร้างไดอะแกรม เขียนหลักการอะไรต่าง ๆ เพื่อให้ผู้อื่นลงไปปฏิบัติ ซึ่งผมไม่ได้อยู่ในตำแหน่งนั้น ผมเองเป็นผู้ปฏิบัติ ดังนั้นจึงควรเข้าใจในสถานะของตนเอง

ผู้ปฏิบัตินั้นไม่สามารถสร้างหลักการหือทฤษฎีอะไรได้ มีหน้าที่เพียงแค่บอกเล่าเรื่องราวที่ตนเองไปทำมาแล้วให้นักวิชาการที่มีความสามารถสกัดออกมาเขียนเป็นไดอะแกรม แล้วผมต้องเดินไปที่จุดนั้น ต้องไปเป็นนักวิชาการแบบนั้นหรือไม่...?

ถ้าให้ตอบตอนนี้ ผมยังสนุกและมีความสุขอยู่กับการเป็นผู้ปฏิบัติ ได้ทำงาน ได้อยู่กับความจริง ได้เรียนรู้ ได้ทดลอง มากกว่าการที่จะไปปฏิบัติตามทฤษฎีหรือหลักการของนักวิชาการท่านต่าง ๆ

คนเรานั้นต่างมีความเชี่ยวชาญคนละด้าน ผมเองอาจจะไม่ถนัดในการเขียนตำราแล้วมีหลักการหนา ๆ เป็นเล่ม ๆ ก็เพียงได้แต่เขียนเป็นเรื่องเล่า (Story telling) ถ่ายทอดเรื่องราว ความคิด ทัศนะต่าง ๆ ออกไปโดยละเอียด

จากนั้นก็ย้อนกลับมาที่คำถามเดิมว่า แล้วผมต้องไปฝึกเป็นนักวิชาการไหม

ผมเชื่อว่าคนเรามีทั้งพรสวรรค์และพรแสวง คนเล่าเรื่องนั้นต่างกับนักวิชาการคนละขั้ว ถ้าจะหากให้ผู้ปฏิบัติไปเป็นนักวิชาการ โดยไปแสวงหาความรู้ทางวิชาการ เขาก็จะเสียพรสวรรค์ในการเป็นผู้เล่าเรื่องที่ดีไป

แต่ถ้าหากเราทุ่มพรแสวงลงไปที่การเขียนเรื่องเล่าต่าง ๆ ให้เฉียบคมมากยิ่งขึ้น ทุ่มเท อุทิศชีวิตจากพื้นฐานหรือพรสวรรค์ที่ตนมีจะเป็นการก้าวเดินที่มั่นคง

เดี๋ยวนี้คนเราจะทำอะไรตาม "ความอยาก" กันเยอะ หรือไม่ก็ทำตาม Trend ของสังคม

คนในสังคมเขานับถือ เขายอมรับอะไรก็หันเหความสนใจ และพัฒนาตนเองให้เป็นไปตามความอยากทั้งของตนเองและของสังคมนั้น หลาย ๆ คนจึงกลายเป็นคนเหยียบเรือสองแคม จะไปทางไหนก็ไม่ไปให้ไกลที่สุด

คนบางคนเกิดมาเป็นนักวิชาการแล้วค่อย ๆ พัฒนาการพูดของตนเองเพื่อเล่าเรื่องตามที่ตนเองเขียนไว้ในไดอะแกรม

ส่วนผมเองถนัดเล่าเรื่องให้ละเอียดที่สุดก่อนแล้วถ้ามันจะเป็นไดอะแกรมได้ก็ไม่ ถ้าเป็นไม่ได้ก็ปล่อยมันไว้เป็นตัวอักษรและรูปภาพที่ถ่ายทอดเรื่องราว

การเดินหาพรแสวงตามพรสวรรค์นั้นสำหรับผมเป็นสิ่งที่มีคุณค่า

ผมจึงไม่ขอปล่อยให้ความอยากทั้งของตนเองและสังคมชักนำพาให้ตนแสวงหาความรู้ไปเรื่อยเปื่อยโดยลืม "กำพืด" ของตนเอง...

 

  • แวะมาเยี่ยมเยียนครับท่าน
  • ระลึกถึงเสมอครับ

สวัสดีครับอาจารย์

แค่แนวความคิด และความอ่อนน้อมถ่อมตัวของอาจารย์ ผมว่ามีนักวิชาการมากมายที่ด้อยกว่าอาจารย์ ผมขอสมัครเป็นแฟนคอลัมน์ด้วยคนครับ

สวัสดีครับพี่วีรยุทธ

ระลึกถึงเช่นกันครับ และระลึกถึงบ้าน ระลึกถึงกำแพงเพชรอย่างยิ่ง

ช่วงนี้ผมมาทำภาระกิจอีกที่หนึ่ง ไม่ได้กลับบ้านมาก็สองปีกว่าแล้วครับ แต่ก็อุ่นใจเพราะมีวีรยุทธเป็นเรี่ยวเป็นแรงพัฒนาจังหวัดให้มั่นคงครับ

ยินดีเป็นอย่างยิ่งครับท่าน นาวาเอก วสันต์ จันทวงค์

แนวคิดแบบผมนี้นักวิชาการบางคนเขาก็จะบอกประมาณว่าเป็นพวก NGOs หรือว่าเป็นพวกหัวรุนแรงอะไรประมาณนั้น

แต่ก็จริงของเขานะครับ เพราะผมไม่ค่อยชอบวัฒนธรรมขององค์กรที่เวลาจะทำอะไรต่ออะไรสักอย่างก็ต้องมีกรอบ มีแนวทางที่เย่อเย้อ ล่าช้า แบบว่าเข้าเมืองตาหลิ่วก็ต้องหลิ่วตาตาม ผมเป็นพวกทำใจรับไม่ได้กับอะไรที่คนส่วนใหญ่มักสอนต่อ ๆ กันว่า "รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี"

คือ เขาทำอะไรก็ทำไปตามเขา อย่าไปขัด "ทำตามที่เขียน แล้วก็เขียนตามที่ทำไว้" อะไรประมาณนั้น

การเป็นนักวิชาการแล้วมีบุคลิกแบบนี้ จะขึ้นเป็นฝ่ายบริหารยากครับ ส่วนมากจะเป็นได้อยู่ฝ่ายค้าน

ฝ่ายค้านผลประโยชน์น้อยครับ หรือแทบไม่มีเลย ถ้าใครมีภูมิต้านทานต่อกิเลสน้อย คือ ถูกรายได้และผลประโยชน์โจมตีแล้วพ่ายแพ้ ก็ต้องแปรพรรคไปอยู่กับฝ่ายรัฐบาล คือ ต้องไปนั่งเขียนแผน ทำไดอะแกรม ร่างโครงการฯ ที่มีทฤษฎีเยอะ ๆ แปลก ๆ ใหม่ ๆ ยาก ๆ งง ๆ แล้วก็ค่อย ๆ ลงไปทำกับชุมชนดั่งเหมือนกับ "หนูทดลอง"

ทำไปก็กินเปอร์เซ็นไป ได้รับผลประโยชน์ไป ไม่มีศัตรู เพราะใคร ๆ ส่วนใหญ่เขาก็ทำกัน ชีวิตจะสบาย ๆ ราบเรียบ ไปประชุมที่ไหนก็ไป กิน ๆ นอน ๆ เที่ยว ๆ ไปสามวันได้พูดสัก 15 นาทีก็พอ...

ชีวิตแบบนั้นน่าเบื่อน่าดูครับ ตื่นเต้นสู้แบบ "กบฏทางวิชาการ" ไม่ได้ครับ ชีวิตมีรสมีชาด มีอะไรตื่นเต้น ๆ มาให้แก้ไขปัญหาอยู่ทุกวัน หัวสมองวิ่งดีครับ ถ้าอยู่สบาย ๆ มากเดี๋ยวจะเฉื่อยและ "เฉิ่ม" สมองและความคิดไม่ได้รับการพัฒนา

ปัญหาคือบรมครูที่ยิ่งใหญ่ ถ้าใครตามน้ำไปปัญหาก็ไม่มี

ผมขอเลือกใช้ชีวิตที่ทวนกระแสน้ำ ทวนคลื่นลมของสังคม เพื่อที่จะใช้แรงลมและกระแสน้ำนั้นมาพัฒนาชีวิตให้แข็งแรงและมั่นคง...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท