จะทำอย่างไรดี กับแผงโซล่าเซลล์ที่เสียหาย 20-30% .ในโครงการรัฐบาลที่แล้ว


เงิน 2000 ล้าน เลยนะ ป้ายหมู่บ้านโซล่าเซลล์นี่

'หลักธรรมาภิบาล'กับ 'พลังงานหมุนเวียน' ปัจจัยเกื้อหนุนยั่งยืน

เมื่อโลกเข้าสู่วิกฤติน้ำมันแพง ประเด็นเรื่องการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนเพื่อเป็นทางรอดของประเทศไทย ถูกหยิบยกขึ้นเป็นกระแสพลังงานทางเลือกในอนาคต

ก่อนจะถูกเบียดความสนใจด้วยประเด็นการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นข่าวฮือฮา สร้างความตื่นเต้นตกใจให้กับคนทั้งประเทศในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

ณ เวลานี้ จะยังไม่ก้าวล่วงไปถึงเรื่องของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ เพราะในความเป็นจริงแล้วปัญหาเรื่องพลังงานของประเทศไทยมีความซับซ้อนมากกว่าที่มองเห็น ทั้งนี้ อาจจะเนื่องมาจากแหล่งพลังงานผลิตไฟฟ้าที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน อาศัยน้ำมันปิโตรเลียมเป็นหลัก ซึ่งมีผลบดบังความน่าสนใจจากแหล่งพลังงานอื่นๆ ไปแทบทั้งหมด แต่พอโลกเจอกับวิกฤตน้ำมัน พลังงานทางเลือกอื่นๆซึ่งเคยแอบอยู่แถวหลังๆ "ปิโตรเลียม" ก็ถูกปัดฝุ่นหยิบยกขึ้นมาพูดกันยกใหญ่ ในทำนองว่านี่แหละคือพลังงานทางเลือกที่จะเป็นความหวังในอนาคตหลังจากน้ำมันหมดโลกไปแล้ว

ทั้งที่ ในความเป็นจริงในประเทศไทยมีการเคลื่อนไหว ผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือก โดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียนมานานพอสมควร แต่เป็นการพึ่งพาแหล่งพลังงานรูปแบบนี้เพียงจุดเล็กๆ เฉพาะในหมู่บ้านหรือชุมชนเท่านั้น เป็นพลังเล็กๆ ที่ยังไม่แพร่หลาย ทั้งที่โครงการพลังงานหมุนเวียนที่มาจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังน้ำ หรือพลังงานลม ล้วนมีรัฐเป็นผู้ริเริ่มสนับสนุนแทบทั้งนั้น แต่การสนับสนุนดังกล่าวก็ยังเป็นไปในลักษณะครึ่งๆ กลางๆ บางโครงการอาจกล่าวได้ว่าทิ้งๆขว้างๆ ขาดการเอาใจใส่ดูแล ทั้งหมดทั้งปวง ทำให้จุดจบของพลังงานทางเลือกในปัจจุบันจึงยังไม่เกิดสัมฤทธิผลสมดังนโยบายที่วาดไว้สวยหรูในตอนแรก

ในวันนี้ องค์กรภาคเอกชนด้านพลังงานเรียกร้องรัฐบาลให้การสนับสนุนโครงการพลังงานหมุนเวียนอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นพลังแสงอาทิตย์ พลังน้ำและพลังชีวมวล โดยเปิดกว้างให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการวางแผนและจัดการโครงการพลังงานหมุนเวียนเพื่อหลีกเลี่ยง

ความขัดแย้งและป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นหลักธรรมาภิบาลที่จะทำให้การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนเป็นไปอย่างรวดเร็วและยั่งยืน

พลังงานหมุนเวียน ที่รัฐให้การสนับสนุนอยู่เวลานี้ ไม่ว่าจะเป็นโครงการไฟฟ้าเอื้ออาทร หรือโครงการเร่งรัดขยายบริการไฟฟ้าโดยระบบผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ โดยหวังติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ให้กับหมู่บ้านในพื้นที่ห่างไกล 300,000 หลังคาเรือนใช้งบประมาณรวม 3,500 ล้านบาท โดยมีการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.)เป็นผู้ติดตั้ง

โครงการไฟฟ้าเอื้ออาทรนี้ แม้ว่าจะเป็นแนวทางการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน แต่อย่างไรก็ตามยังมีอุปสรรคที่ทำให้โครงการนี้ไปไม่ถึงฝั่งฝันนั่นคือ การดำเนินการทั้งหมดทำโดยภาครัฐ โดยที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ระบบโซล่าเซลล์ในหมู่บ้านชนบทจึงถูกละเลยและขาดการดูแลรักษาหลังจากใช้งานไปได้ไม่นานนัก ดังนั้น จึงมีองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมเข้าไปยังหมู่บ้านเพื่อถ่ายทอดความรู้ทั้งวิธีการบำรุงรักษาและซ่อมแซมวัสดุอุปกรณ์อย่างถูกต้อง พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่า เจ้าหน้าที่รัฐมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับนายทุนพวกพ้อง

คริส กรีเซน จากกลุ่มพลังไท ผู้ฝึกอบรมเรื่องไฟฟ้าให้แก่หมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงในจังหวัดตาก กล่าวถึงโครงการไฟฟ้าเอื้ออาทรว่า เป็นนโยบายประชานิยมที่จัดหาไฟฟ้าแบบกฐิน ซึ่งก็คือการให้เปล่าโดยที่ประชาชนไม่รู้สึกว่ามีภาระผูกพัน ทำให้ประชาชนไม่หวงแหนในสิ่งที่ตนเองมีอยู่ วัสดุอุปกรณ์ต่างๆเช่น แผงโซล่าเซลล์ และประจุแบตเตอรี่ จึงไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกวิธีและไม่สามารถใช้งานได้เป็นจำนวนมาก ตนคิดว่ารัฐสร้างระบบนี้ขึ้นมาอาจจะเอื้อผลประโยชน์แก่บริษัทผลิตติดตั้งวัสดุอุปกรณ์

หากมีส่วนร่วม คงไม่เอาแผงโซล่าเซลล์  25000 บาท มาทำป้ายหมู่บ้านแบบนี้

ตัวแทนจากกลุ่มพลังไทผู้นี้ กล่าวอีกว่าสาเหตุหลักของการที่ระบบโซล่าเซลล์เกือบครึ่งหนึ่งไม่สามารถใช้งานได้ ทั้งที่ระยะเวลาการใช้งานยังไม่ถึงอายุไขของระบบ เนื่องจากภาครัฐและกฟผ.ไม่ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการใช้งาน การติดตั้งระบบทำโดยผู้เชี่ยวชาญหรือเจ้าหน้าที่ส่วนกลาง โดยเมื่อระบบหรืออุปกรณ์มีปัญหา ก็ต้องรอให้ส่วนกลางเป็นผู้ทำการซ่อมแซม ซึ่งในบางกรณีต้องรอเจ้าหน้าที่มาแก้ไขนานมาก จนชาวบ้านต้องลองซ่อมกันเองจนเป็นเหตุให้ระบบชำรุดเสียหายมากขึ้น และการบริหารจัดการยังไม่มีประสิทธิภาพไม่ก่อให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชน

นอกจากนี้ยังมีโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือที่มีภูมิประเทศเป็นป่าเขามีลำธารน้ำตกและการไฟฟ้าเข้าไปไม่ถึง หมู่บ้านแม่กำปอง กิ่งอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอีกชุมชนหนึ่งที่จัดตั้งโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า โดยมีการบริหารจัดการในรูปของสหกรณ์ การมีส่วนร่วมในชุมชนจึงเกิดขึ้น

พรมมินทร์ พวงมาลา ผู้ใหญ่บ้านกำปอง เล่าว่าหมู่บ้านแม่กำปองเริ่มนำระบบพลังงานน้ำมาผลิตไฟฟ้าตั้งแต่ปีพ.ศ.2525 และจดทะเบียนก่อตั้งสหกรณ์ไฟฟ้าโครงการหลวงแม่กำปอง จำกัด ในปีพ.ศ.2529 เพื่อขายไฟฟ้าให้แก่สมาชิกในชุมชน โดยคิดอัตราค่าไฟเท่ากับกฟภ. โดยสมาชิกจะได้รับสิทธิในการกู้ยืมเงินของสหกรณ์ฯ ดังนั้นเงินรายได้ของสหกรณ์ฯจึงมาจากค่าไฟที่ทุกคนใช้ไฟฟ้าของสหกรณ์ฯ

ผู้ใหญ่พรมมินทร์ เล่าว่าหากปีไหนที่สหกรณ์ฯมีรายได้ดี ทั้งกำไรจากค่าไฟและการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ที่หมู่บ้านเปิดให้บริการ ก็จะมีการปันผลให้กับสมาชิกทุกคน แต่เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา สหกรณ์ฯต้องนำเงินไปซ่อมแซมเครื่องปั่นไฟจึงไม่มีการปันผลให้แก่สมาชิก เครื่องปั่นไฟของหมู่บ้านมี 2 เครื่อง โดยจะปั่นไฟส่งแยกกันไปเป็นสองสาย เมื่อกฟภ.เดินสายไฟเข้ามาถึงหมู่บ้าน บ้านแต่ละหลังจึงติดตั้งไฟฟ้าสองระบบ คือไฟฟ้าของกฟภ.และไฟฟ้าพลังน้ำของสหกรณ์ฯ

"แต่ปัญหาที่พบคือความแรงกระแสไฟฟ้าของการไฟฟ้าแรงกว่า ประกอบกับเครื่องปั่นไฟพลังน้ำชำรุดเสียหายบ่อย จึงทำให้คนหันมาใช้ไฟฟ้าของกฟภ.มากขึ้นทำให้สหกรณ์ฯมีรายได้ลดลง ดังนั้นถ้าหากภาครัฐให้ความสำคัญกับพลังงานหมุนเวียน โดยตั้งกฎระเบียบที่เอื้อประโยชน์และไม่เอาเปรียบชุมชน ก็จะทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง สามารถเลี้ยงปากท้องได้ด้วยตัวเอง"ผู้ใหญ่บ้านแม่กำปอง ฝากไปถึงภาครัฐให้เข้ามาช่วยสนับสนุน

ส่วนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการพัฒนาพลังงานทางเลือก วัชรี เผ่าเหลืองทอง กลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคต

"ถ้าเป็นโครงการพลังงานไบโอแมสขนาดใหญ่ ก็จำเป็นต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านสังคมด้วย เพราะการนำแกลบหรือวัสดุอื่นๆมาเผาจะทำให้มีฝุ่นละอองฟุ้งกระจาย ชาวบ้านเดือดร้อนจึงต่อต้าน แม้จุดเริ่มต้นของพลังงานหมุนเวียนเป็นแนวคิดที่ดี แต่โครงการถูกตีกรอบจากส่วนกลางจึงทำให้ชุมชนขาดการมีส่วนร่วมในการพัฒนาทั้งๆชุมชนที่มีข้อมูล

เกี่ยวข้องกับพื้นที่ดีกว่าคนนอก อีกทั้งภาครัฐไม่สนับสนุนด้านงบประมาณ ชุมชนจึงต้องขวนขวายหาเงินเอง เช่นชุมชนที่ทับสะแก ลงขันตั้งโรงงานหีบน้ำมันมะพร้าว 5 ล้านบาท แต่ไม่มีการบริหารจัดการที่ดีพอ โรงงานจึงถูกตั้งไว้เฉยๆไม่ได้ใช้งาน"

วัชรี กล่าว

ไพโรจน์ พลเพชร กล่าวถึงประเด็นการมีส่วนร่วมของชุมชนต่อการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนว่า ถ้าชาวบ้านไม่ตื่นตัวลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตัวเอง หลักธรรมาภิบาลก็จะไม่เกิด ดังนั้นการเริ่มต้นลงทุนโครงการพลังงานหมุนเวียน อันดับแรกต้องมีข้อมูลพื้นฐานอย่างเพียงพอว่า ทรัพยากรในท้องถิ่นมีศักยภาพเพียงพอหรือไม่ และวางกลไกในการจัดการปัญหาเช่น การชดเชยความเสียหายอย่างยุติธรรม เพื่อให้ชาวบ้านมีหลักประกันบางอย่างเป็นการแลกเปลี่ยนกับการสูญเสีย หรือผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสังคม นอกจากนี้ส่วนกลางต้องให้อำนาจในการตัดสินใจแก่ชุมชนด้วย

ปรากฏการณ์ความขัดแย้งอย่างรุนแรงในสังคมไทยระหว่างชุมชนและภาครัฐ จะเห็นได้ว่าล้วนเกี่ยวข้องกับโครงการด้านพลังงานกระแสหลักเกือบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเขื่อน โรงไฟฟ้าถ่านหิน เหมืองแร่ ซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างกว้างขวาง หากแต่ในส่วนของการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนเพื่อเป็นหนทางรอดของสังคมไทยในยุคน้ำมันแพงนั้น แม้ว่าผลลัพธ์ที่ตามมาจะน้อยกว่ากันมาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าชุมชนไม่มีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นหรือมีส่วนร่วมตัดสินใจเลย ทั้งนี้ก็เพื่อถามหาความโปร่งใสและรู้เท่าทันผลประโยชน์ทับซ้อนที่จะเกิดขึ้นในยุคบูรณาโกงนั่นเอง

หมายเลขบันทึก: 337824เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2010 19:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 12:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผมขอแจ้งหน่อยว่า การอบรมเรื่องการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ ที่เรา เปิดอบรมฟรี 2 วัน มีอาหารพร้อม โดยจิตสำนึกของเรา ท่านมาฟรีได้เลย รอบละ 15 คน ไม่เกิน 20 คน และท่านจะเห็นว่าของฟรี มี ในโลก เดือนละ 1 รอบเท่านั้นครับ เพราะเป็นโครงการที่แผนกพลังงานทดแทนของโรงเรียน มีงบให้ท่าน อย่าให้โอกาศดีๆแบบนี้หลุดมือไป มาอบรมแล้ว ไม่ทำแต่ไปบอกต่อ ผมก็ดีใจแล้วครับ ที่ช่วยให้โลกลดร้อนไปได้ อีก 15 คน/เดือน และคงมีหลายๆท่านในแต่ละรอบที่มาด้วยใจรัก กลับไปทำไฟ จากแสงอาทิตย์ ใช้ หรือจะพัฒนา สูบน้ำในสวนเกษตรก็ได้สบายมากครับ โทรมาถามที่ 081-8241332 ครับ หรือที่โรงเรียนศูนย์ฝึก 02-8943134 0819040617 ก็ได้ครับ (จะรู้ว่าของฟรี มีจริงในโลกนี้)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท