แก่นเรื่องพระอภัยมณี


เมื่อพิจารณาแก่นเรื่องใหญ่ของเรื่องพระอภัยมณี จะพบว่า ไม่มีแก่นเรื่องใดที่สำคัญและและชัดเจนพอที่จะระบุว่าเป็นแก่นเรื่องสำคัญ พฤติกรรมและตัวละครจะทำหน้าที่เป็นแก่นของเรื่องให้เรื่องดำเนินติดต่อกันไปโดยตลอด เป็นเสมือนเส้นด้ายที่ร้อยพฤติกรรมและตัวละครต่าง ๆ ตามท้องเรื่องเข้าด้วยกันโดยไม่จำเป็นต้องมีแก่นเรื่องใหญ่

              แก่นเรื่องใหญ่และแก่นเรื่องย่อย  ( Main  theme  and  Sub-theme )  เป็นศัพท์วรรณคดีที่ใช้กันแพร่หลายในปัจจุบัน  แต่ในวงการวรรณคดีไทยยังไม่มีศัพท์บัญญัติที่แน่นอนสำหรับคำนี้  โดยทั่ว ๆ  ไป  มักใช้ว่า  แก่นเรื่อง  หรือ  แนวเรื่อง  เช่น  หนังสือวรรณคดีและวรรณคดีวิจารณ์  ใช้ว่า  แนวเรื่อง  แต่วิทยานิพนธ์  ใช้ว่า  แก่นเรื่อง  หนังสือวรรณคดีอื่น ๆ  ใช้ปะปนกะนทั้งสองคำ

                แก่นเรื่องนั้น  อาจแบ่งออกได้เป็น  2  ประเภท  คือ

                1.  แก่นเรื่องใหญ่  ( main  theme )  หรือแก่นเรื่องหลัก  ถือเป็นแก่นหรือแกนกลางของเรื่อง  หมายความว่า  เรื่องทั้งหมดจะผูกพันเกี่ยวโยงกับแก่นเรื่องใหญ่นี้โดยตลอด  การดำเนินเรื่องตั้งแต่ต้นจะเริ่มต้นด้วยแก่นนี้เป็นจุดเรื่อง  และในที่สุดก็จะจบลงที่จุดซึ่งแสดงการคลี่คลายของแก่นเดียวกันนี้ 

                2.  แก่นเรื่องย่อย  ( sub-theme )  หมายถึงแก่นหรือแกนกลางของพฤติกรรมหรือเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งดำเนินอยู่ในเรื่อง  แก่นเรื่องย่อยจะมีความผูกพันเกี่ยวโยงกับแก่นเรื่องใหญ่  แก่นเรื่องย่อยนี้จะมีจำนวนเท่าไรก็ได้  แล้วแต่ผู้แต่งต้องการจะสอดแทรกเรื่องอะไรเข้ามาโยงกับแกนเรื่องใหญ่

                เมื่อพิจารณาแก่นเรื่องใหญ่ของเรื่องพระอภัยมณี  จะพบว่า  ไม่มีแก่นเรื่องใดที่สำคัญและและชัดเจนพอที่จะระบุว่าเป็นแก่นเรื่องสำคัญ  พฤติกรรมและตัวละครจะทำหน้าที่เป็นแก่นของเรื่องให้เรื่องดำเนินติดต่อกันไปโดยตลอด  เป็นเสมือนเส้นด้ายที่ร้อยพฤติกรรมและตัวละครต่าง ๆ  ตามท้องเรื่องเข้าด้วยกันโดยไม่จำเป็นต้องมีแก่นเรื่องใหญ่  กล่าวคือ  ตัวพระอภัยมณีเป็นเสมือนด้ายที่ร้อยเอาตัวละครอื่น ๆ  และพฤติกรรมทั้งหลายในเรื่องไว้ด้วยกัน  เพราะตัวละครทุกตัวและเหตุการณ์ส่วนใหญ่จะต้องผูกพันเกี่ยวเนื่องอยู่กับตัวพระอภัยมณีทั้งสิ้น

                เรื่องพระอภัยมณีประกอบด้วยแก่นเรื่องย่อยหลายแก่น  ซึ่งเป็นเครื่องอธิบายพฤติกรรมแต่ละอย่าง  แก่นเรื่องย่อยเหล่านี้เชื่อมโยงเข้าด้วยกันโดยอาศัยบทบาทของพระอภัยมณีเป็นตัวประสานเรื่อง  และทำหน้าที่เป็นแกนกลาง 

                จากการวิเคราะห์เรื่องพระอภัยมณีโดยละเอียด  ได้พบว่ามีแก่นเรื่องย่อยที่น่าสนใจอยู่  4  แก่นด้วยกัน  คือ

                1.  การเดินทางผจญภัยเพื่อหาประสบการณ์ 

                โครงเรื่องเช่นนี้ปรากฏอยู่ในวรรณคดีไทยแทบทุกเรื่อง  การเดินทางผจญภัยนับเป็นแก่นสำคัญของเรื่องทีเดียว  เริ่มตั้งแต่การที่ตัวเอกจะต้องออกเดินทางเพื่อศึกษาหาความรู้อันจำเป็นสำหรับการครองบ้านเมือง  ในเรื่องพระอภัยมณีนี้  มีข้อที่น่าสังเกตว่าการสร้างประสบการณ์ให้แก่ตัวละครนั้น  สุนทรภู่เน้นถึงความเฉลียวฉลาดรอบคอบในการพิจารณาและหยั่งใจคนอื่นมากกว่า  สุนทรภู่ได้เน้นถึงอันตรายที่จะเกิดจากคนธรรมดามากกว่า  เช่น  สุดสาครต้องประสบภัยอันเกิดจากความหลอกลวงของคน  ทำให้สุดสาครเสียทีเพราะขาดความเฉลียวและความยั้งคิด  ดังนั้น  แม้จะมีวิชาดีอย่างไรก็ไม่วายเสียที  เพราะขาดความเข้าใจในธรรมชาติของมนุษย์

 

                การสร้างประสบการณ์ให้แก่ตัวละครในเรื่องพระอภัยมณี  มีเหตุผลและสิ่งแวดล้อมใกล้เคียงกับความเป็นจริงมาก  ตัวละครเหล่านี้ต้องผจญกับปัญหาอันเกิดจากจิตใจและความต้องการของมนุษย์  เรื่องพระอภัยมณีเน้นให้เห็นว่าความสามารถของผู้นำนั้น  อยู่ที่การแก้ปัญหาอันเกิดจากบุคคลหรือสังคมของผู้นำนั่นเอง 

                2.  ความสำคัญของวิชาความรู้ 

                แก่นเรื่องย่อยอีกแก่นหนึ่งที่ปรากฏชัดเจนจนอาจกล่าวได้ว่าเป็นแก่นเรื่องที่เกิดจากความตั้งใจของผู้แต่งอย่างแน่นอน  ก็คือความสำคัญของวิชาความรู้  หรืออีกนัยหนึ่งคือความสำคัญของการศึกษา  โดยการเดินทางไปเสาะแสวงหาครูอาจารย์ผู้มีวิชา  วรรณคดีไทยน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากวรรณคดีอินเดีย  ซึ่งในเรื่องพระอภัยมณีนั้น  ผู้ที่เป็นอาจารย์มีอยู่  3  ประเภท  คือ

                                1.  พราหมณ์

                                2.  โยคี  หรือ  ฤษี

                                3.  บาทหลวง

                นอกจากครูผู้สอนจะมีความสำคัญในฐานะสั่งสอนวิชาการให้แล้ว  ยังมีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของศิษย์  เพราะครูอยู่ในฐานะที่ได้รับความยกย่องเคารพ  เมื่อแนะนำหรือตักเตือนอย่างไร  ผู้อื่นมักเชื่อฟังเสมอแม้จะไม่เต็มใจนัก  เช่น  นางละเวงไม่เต็มใจทำตามสังฆราช  แต่ก็ต้องทำเพราะความเกรงใจ  เป็นต้น

 

บทบาทของครูในเรื่องพระอภัยมณีนี้  สุนทรภู่ยึดเค้าจากวรรณคดีเก่า  ทำให้บทบาทเหล่านั้นมีความเด่นน่าสนใจ  และแปลกไปจากบทบาททำนองเดียวกันในเรื่องอื่น ๆ 

                นอกจากลักษณะที่น่าสนใจเกี่ยวกับบทบาทแล้ว  สิ่งที่น่าศึกษาอีกอย่างหนึ่งคือวิชาที่กล่าวถึงในเรื่อง  จะสังเกตได้ว่าวิชาที่กล่าวถึงมากที่สุดในเรื่องประเภทนี้  คือวิชาไสยศาสตร์และคาถาอาคมต่าง ๆ  ซึ่งในสมัยก่อนเชื่อถือกันว่าเป็นเรื่องจริงและมีความสำคัญมาก  โดยเฉพาะในการศึกษาของผู้ชาย  วิชาเหล่านี้ถือเป็นเครื่องคุ้มครองป้องกันตัวที่จำเป็นต้องเรียนรู้  ในเรื่องพระอภัยมณี  วิชาไสยศาสตร์ก็ได้รับการกล่าวถึงบ่อยครั้ง  เช่น  การทำเสน่ห์  การใช้คาถาอาคม  อำนาจลึกลับต่าง ๆ  แต่สิ่งที่น่าสนใจที่สุดในเรื่องนี้  คือแนวความคิดของสุนทรภู่เกี่ยวกับการศึกษาวิชาความรู้  สุนทรภู่ได้เน้นให้เห็นชัดหลายครั้งว่า  วิชาความรู้ที่ประกอบด้วยการใช้ความคิด  ซึ่งได้รับการฝึกฝนให้เฉียบแหลมนั้นสำคัญกว่าสิ่งอื่นใดทั้งหมด  ดังเช่นที่โยคีสอนสุดสาครว่า

                                “ รู้สิ่งไรไม่สู้รู้วิชา                 รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี ”

( หน้า  391 )

                ในเรื่องนี้  ตัวละครทุกตัวได้รับการศึกษาอบรมมาเป็นอย่างดีทั้งสิ้น  บ้างก็มีความรู้ด้านการรบ  บ้างก็ด้านเวทมนต์คาถา  ดังเช่นนางสุวรรณมาลีก็ได้ร่ำเรียนวิชาการรบ  เพราะอยู่ในฐานะลูกกษัตริย์  แสดงว่าแม้จะเป็นหญิงหรือชาย  ก็มีความจำเป็นต้องศึกษาหาความรู้เท่าเทียมกัน  ตัวละครหญิงแทบทุกตัวในเรื่องพระอภัยมณีล้วนแต่มีวิชาความรู้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าชายเลย

                ความคิดของสุนทรภู่ในการที่แต่งให้พระอภัยมณีเรียนวิชาดนตรีแทนวิชาอย่างอื่น ๆ  นั้น  สันนิษฐานว่าเป็นเพราะสุนทรภู่มีวิชาสำคัญประจำตัวอยู่อย่างเดียวคือ  วิชาการแต่งกลอน  ฉะนั้นสุนทรภู่จึงแต่งให้             พระอภัยมณีมีวิชาปี่อย่างเดียว  เพื่อจะแสดงให้เห็นว่าวิชาศิลปะนั้นมีความสำคัญและมีคุณค่าไม่ด้อยกว่าวิชาอื่น  ไม่ใช่แต่เพียงสอนวิธีเป่าปี่เท่านั้น  พินทพราหมณ์ยังสอนเนื้อความหรือเนื้อหาของเพลงที่จะเป่าว่าจะเลือกเนื้อความและท่วงทำนองอย่างไร  จึงจะได้ผลสมความต้องการ  วิชาประจำตัวของพระอภัยมณีนั้นสามารถช่วยตัวพระอภัยมณีให้รอดพ้นจากที่คับขันได้  ในเรื่องปรากฏว่า  พระอภัยมณีเป่าปี่ถึง  11  ครั้ง  ครั้งสำคัญที่กล่าวได้ว่า  เพลงปี่ช่วยให้รอดพ้นอันตรายนั้น  ได้แก่ครั้งที่เป่าสังหารนางผีเสื้อ  และครั้งที่สะกดทัพนางละเวงวัณฬาซึ่งเป็นการ     คับขันจวนตัวอย่างยิ่ง  แสดงว่าวิชาดนตรีนั้นช่วยตัวเองได้จริง  แต่สิ่งที่ปรากฏแน่ชัดคือ  สุนทรภู่มีเจตนาที่จะแสดงความสำคัญของวิชาความรู้ว่าจำเป็นยิ่งนักสำหรับทุกคน  วิชานั้นจะเป็นอะไรก็ได้  แต่ต้องเรียนรู้จริงและใช้ได้จริง

                3.  ความว้าเหว่และการขาดความอบอุ่นภายในครอบครัว 

 

                ลักษณะที่จะนำมาพิจารณาคือ  ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวของตัวละครเอก  ในเรื่องพระอภัยมณีสังเกตได้ว่า  ลักษณะเด่นอย่างหนึ่ง  คือการขาดความอบอุ่นภายในครอบครัว  ซึ่งเกิดจากการที่ตัวละครมักจะต้องพลัดพรากจากกันเสมอ  โอกาสที่พ่อแม่ลูกจะได้อยู่พร้อมหน้ากันมีน้อย  สิ่งที่ตามมาในกรณีนี้คือ  ลักษณะของตัวละครมีความว้าเหว่แฝงอยู่ 

                เมื่อนำแนวความคิดเรื่องปมด้อยมาพิจารณาลักษณะตัวละครในเรื่องพระอภัยมณี  จะสังเกตได้ว่า  ปมด้อยของสุนทรภู่เกี่ยวกับเรื่องครอบครัวนั้นน่าจะมีความสัมพันธ์กับลักษณะของตัวละครในด้านความอบอุ่นในครอบครัว  ตัวละครเอก ๆ  เกือบทุกตัวจะต้องประสบกับภาวการณ์ พลัดพรากจากพ่อแม่พี่น้อง  ต้องเดินทางติดตามหาวงศ์ญาติของตนด้วยความยากลำบาก  เช่น

                                1.  ตัวเอกฝ่ายชายมักจะต้องพลัดพรากจากบิดามารดาตั้งแต่เด็ก ๆ  หรืออยู่กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงลำพัง  เช่น  สินสมุทรอยู่กับพ่อ  สุดสาครอยู่กับแม่  เป็นต้น

                                2.  การขาดความรักความอบอุ่นจากพ่อแม่ได้รับทดแทนโดยบุคคลอื่น  ซึ่งมาทำหน้าที่พ่อแม่แทน  เช่น  ท้าวทศวงศ์  ท้าวสุริโยไทย  ผู้ที่มาเป็นพ่อแม่บุญธรรมนี้  มีลักษณะเป็นบุคคลในอุดมคติของตัวละครนั้น  เช่น  นางสุวรรณมาลีมีลักษณะเป็นแม่ที่สินสมุทรอยากจะมี  ท้าวทศวงศ์ก็รักศรีสุวรรณมากจนยอมเอาเมืองไปไถ่ชีวิตศรีสุวรรณ  ในขณะที่ท้าวสุทัศน์ขับลูกออกจากเมืองด้วยความโกรธที่เรียนวิชาไม่ตรงกับที่ต้องการเท่านั้น

                                3.  ความรักใคร่ผูกพันในตัวพ่อแม่แท้ ๆ  ของตนก็คงมีอิทธิพลอยู่ในจิตใจของตัวละคร  ดังที่ปรากฏว่า  ตัวละครเหล่านั้นไม่อาจลืมความผูกพันกับพ่อแม่แท้ ๆ ของตนได้ ศรีสุวรรณและพระอภัยมณีต่างยังรักใคร่ใยดีท้าวสุทัศน์อยู่

                                4.  สภาพความไม่พร้อมหน้าพร้อมตาในครอบครัวมีผลให้ตัวละครหลายตัวมีลักษณะของคนที่ว้าเหว่  ขาดความอบอุ่นในจิตใจส่วนลึก  พฤติกรรมที่แสดงออกบางครั้งจึงปรากฏว่าเกิดจากอารมณ์ว้าเหว่  เปล่าเปลี่ยวใจ

                การที่สุนทรภู่สร้างโครงเรื่องให้ชีวิตตัวละครฝ่ายชายมีลักษณะดังนี้  อาจเป็นเพราะปมด้อยที่แฝงอยู่ในจิตใจสุนทรภู่  คือ  สภาพความแตกแยกระหว่างพ่อแม่  และการขาดพ่อมาตั้งแต่เล็ก ๆ  และปมด้อยนี้ถูกเก็บกดไว้ภายในจิตใต้สำนึก  จนปรากฏออกมาในรูปของวรรณคดี  โดยสร้างระบบสัญลักษณ์ต่าง ๆ  ขึ้นมาแทน

                ในเรื่องพระอภัยมณีนั้น  ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกมีมาก  ดังเช่นสินสมุทร  เมื่อได้ยินเสียงปี่ที่ พระอภัยมณีเป่าอยู่ในเรือของอุศเรน  สินสมุทรก็ลงน้ำดำไปหาพ่อทันที  ด้วยความผูกพันที่มีอยู่กับพ่ออย่างลึกซึ้ง  และตลอดทั้งเรื่องไม่ปรากฏว่ามีการต่อว่าระหว่างพ่อลูกเลยแม้แต่ครั้งเดียว  พระอภัยมณีและศรีสุวรรณเองก็ไม่เคยคิดต่อว่าท้าวสุทัศน์

                เมื่อนำเอาบทพรรณนาเกี่ยวกับทะเลมาพิจารณาร่วมกับตัวละคร  จะมองเห็นลักษณะที่แฝงอยู่ในตัวละคร  คือความอ้างว้างว้าเหว่  การระหกระเหินเดินทางไม่สิ้นสุด  พระอภัยมณีเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในกรณีนี้  ชีวิตของพระอภัยมณีต้องระหกระเหินอยู่เป็นเวลานาน  นับตั้งแต่ออกจากเมืองรัตนามา  แล้วท่องเที่ยวร่อนเร่ตามที่ต่าง ๆ  ในท้องทะเลอยู่หลายปีกว่าจะได้ไปครองเมืองผลึก  ครั้นแล้วก็ต้องจากเมืองผลึกไปทำศึกที่ลังกา  แม้ในตอนท้าย  เมื่อบวชเป็นฤษี  พระอภัยมณีจะมีชีวิตสงบสุขก็จริง  แต่ถ้าดูในแง่ถิ่นฐานบ้านเรือน  พระอภัยมณีก็ยังอยู่ในฐานะพลัดบ้านพลัดเมืองเหมือนคนพเนจร  เพียงแต่ว่ามีอาศรมอยู่ตามวิสัยฤษี  ฉะนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า  ชีวิตของ     พระอภัยมณีเป็นชีวิตที่ระเหเร่ร่อนพลัดบ้านเมือง  ญาติพี่น้อง  ดังที่พระอภัยมณีรำพันว่า

              “ โอ้ตัวเราเล่ามาค้างอยู่กลางเกาะ        นี่คือเคราะห์กรรมสร้างแต่ปางหลัง

มิได้คืนนคเรศนิเวศน์วัง                                   โอ้แสนสังเวชใจกระไรเลย

เมื่อครั้งหนีผีเสื้อเหลือลำบาก                             มาซ้ำจากลูกยานิจจาเอ๋ย

ทั้งเก้าปีมิได้มีความเสบย                                  ผู้ใดเลยที่จะเป็นเหมือนเช่นเรา

แต่แสนยากแล้วมิหนำมาซ้ำแยก                         ทั้งเรือแตกต้องมาอยู่บนภูเขา

แสนวิโยคโศกศัลย์ไม่บรรเทา                             กำสรดเศร้าโศกาทุกราตรี ”

( หน้า  268 )

                ประสบการณ์ที่สุนทรภู่แสดงออกในเรื่องพระอภัยมณี  คือการพลัดพรากจากถิ่นฐานนั้นปรากฏให้เห็นได้จากประวัติสุนทรภู่  ทั้งในด้านชีวิตส่วนตัวและด้านการงาน  สุนทรภู่มีชีวิตครอบครัวที่ค่อนข้างอาภัพ  เริ่มด้วยการที่พ่อแม่แยกกันตั้งแต่สุนทรภู่ยังเล็ก  ต่อมาชีวิตครอบครัวของตนเองก็ประสบความยุ่งยากอยู่เสมอ  ในด้านการงาน  ได้รุ่งเรืองอยู่เป็นระยะ ๆ  สุนทรภู่ได้รับพระราชทานบ้านที่อยู่ด้วยพระมหากรุณาของรัชกาลที่  2  แต่สุนทรภู่ก็ไม่ได้พำนักพักพิงอย่างเต็มที่  กลับต้องระเหเร่ร่อนไปตามหัวเมืองต่าง ๆ  ได้รับความลำบากลำบน  และเที่ยวอาศัยพักพิงอยู่ตามที่ต่าง ๆ  การที่สุนทรภู่ดำเนินชีวิตในลักษณะนี้  น่าจะมีอิทธิพลต่อเรื่องพระอภัยมณี  โดยเฉพาะความรู้สึกขมขื่นว้าเหว่ที่เกิดขึ้นจากการเดินทางอยู่เกือบตลอดเวลา

                แก่นเรื่องย่อยที่เกี่ยวกับความอ้างว้างของตัวละครอันเกิดจากการพลัดบ้านเมืองนี้  เป็นแก่นเรื่องที่น่าสนใจแก่นหนึ่งในเรื่องพระอภัยมณี  อันเป็นงานจินตนาการที่เปิดโอกาสให้ผู้แต่งบรรยายสิ่งที่ต้องการได้เต็มที่  หรือผู้แต่งอาจบรรยายโดยไม่รู้ตัวเนื่องจากเป็นสิ่งที่แฝงอยู่ในจิตใต้สำนึก

               

 

4.  ความขัดแย้งและการต่อสู้ระหว่างพ่อแม่กับลูก

                ในเรื่องพระอภัยมณี  มีทั้งเรื่องของความขัดแย้งระหว่างลูกชายกับพ่อ  อันตรงกับทฤษีฎีเรื่องปมอีดิพัสของฟรอยด์  และความขัดแย้งระหว่างลูกชายกับแม่  ซึ่งเป็นลักษณะของความพยายามที่จะเป็นอิสระจากอิทธิพลของผู้ให้กำเนิด  ความขัดแย้งดังกล่าว  ได้แก่การต่อสู้ระหว่าง  มังคลากับพระอภัยมณี  หรือจะกล่าวกว้าง ๆ  ว่าการต่อสู้ระหว่างลูกที่เป็นฝ่ายลังกากับพ่อที่เป็นฝ่ายเมืองผลึก  และการต่อสู้ระหว่างสินสมุทรกับนางผีเสื้อ  การต่อสู้ของมังคลา  วลายุดา  วายุพัฒน์  หัสกันกับแม่ของตน

 

               

                ลักษณะแรกที่จะนำมากล่าวถึงก่อน  คือการต่อสู้ระหว่างสินสมุทรกับนางผีเสื้อ  แม้นางผีเสื้อไม่ได้ตายเพราะฝีมือสินสมุทรก็จริง  แต่ถ้าพิจารณาตามเนื้อเรื่อง  จะเห็นว่าสินสมุทรเป็นผู้ก่อเหตุอันทำให้นางผีเสื้อต้องตายในที่สุด  ถ้าลำพังพระอภัยมณีแล้ว  ย่อมไม่มีทางที่จะหนีนางผีเสื้อไปได้  แต่การหนีนั้นเกิดขึ้นได้เพราะ      สินสมุทร  และสินสมุทรได้อาศัยเรี่ยวแรงของตนซึ่งได้รับมาจากสายเลือดของแม่นั่นเองเป็นสิ่งสนับสนุนการกระทำ สินสมุทรได้รับอำนาจและกำลังที่ถ่ายทอดมาจากนางผีเสื้อ เมื่อนางผีเสื้อตายเพราะเสียงปี่ของพระอภัยมณีนั้น  สินสมุทรไม่ได้เห็นเหตุการณ์  แต่สินสมุทรก็ไม่ได้สนใจนางผีเสื้ออีก  ตั้งแต่ได้นางสุวรรณมาลีเป็นแม่แทน

                พฤติกรรมที่น่าสนใจมากอีกพฤติกรรมหนึ่ง  คือ  การทำศึกระหว่างมังคลา  วลายุดา    วายุพัฒน์  หัสกันกับบรรดาพ่อของตน  พฤติกรรมนี้ตรงกับทฤษฎีเรื่องปมอีดิพัสโดยตรง  มังคลานั้นมีชีวิตตอนต้นคล้ายกับ        สุดสาคร  คือไม่เคยได้เห็นหน้าพ่อจนโต  ไม่ปรากฏข้อความตอนใดระบุว่ามังคลาได้พบพระอภัยมณีเลยจนตลอดเรื่อง  ความสัมพันธ์ระหว่างคนทั้งสองจึงเรียกได้ว่า      ห่างเหินมาก  วายุพัฒน์  หัสกันนั้นเมื่อมาพบสุดสาครกลางสนามรบ  ก็ยังไม่ทราบว่าเป็นอาและเป็นพ่อของตน  ครั้นเมื่อต่างฝ่ายต่างรู้จักกันแล้ว  ยังไม่ยอมผ่อนปรนให้แก่กัน  ในเหตุการณ์ตอนนี้สุดสาครได้เห็นหน้าลูกและหลานในตอนแรกก็ใจอ่อน  แต่แล้วได้นึกว่าลูกทำความผิดมาก  ดังที่สุดสาครกล่าวว่า

               “ แม้ลูกชั่วหัวดื้อทำซื้อรู้                    จนพี่ป้าย่าปู่ไม่รู้จัก

ผลาญพงศ์เผ่าเหล่ากอทรลักษณ์                        ชื่อว่าอกตัญญูชาติงูพิษ

เหมือนพวกมึงซึ่งไม่รู้จักกูนี้                               ดังทรพีวัดรอยจะคอยขวิด

ถึงเหล่ากอหน่อเนื้อที่เชื้อชิด                             เหมือนโลหิตที่ในกายเกิดร้ายแรง ”

( หน้า  1163 )

                เมื่อย้อนกลับไปคิดถึงสาเหตุของศึกครั้งนี้  จะพบว่าเรื่มจากการที่สังฆราชบอกให้นางละเวงวัณฬาขอโคตรเพชรคืนจากเมืองการะเวก  แต่นางละเวงเกรงใจท้าวสุริโยไทยและเสาวคนธ์  จึงไม่ทำตาม  สังฆราชจึงเล่าเรื่องเดิมทั้งหมดให้มังคลาทราบ  เป็นเหตุให้มังคลาเริ่มวางแผนการทำศึก  และต่อมาเมื่อศึกเกิดขึ้นแล้ว  นางละเวงจึงต่อว่าสังฆราชว่าเป็นคนยุให้มังคลาคิดการครั้งนี้  แต่ถ้าพิจารณาแล้ว  จะเห็นว่าสังฆราชไม่ได้เป็นต้นเหตุอย่างแท้จริง  เป็นแต่เพียงจุดชนวนให้ความน้อยใจโกรธเคืองของมังคลาปรากฏออกมาเท่านั้นเอง  ความเจ็บใจที่แท้จริงของมังคลาและพี่น้องคือการที่พ่อไม่เหลียวแล  มังคลาจึงก่อความวุ่นวายขึ้น  ที่จริงมังคลาก็ไม่ได้คิดจะทำการรุนแรงอะไรนัก  เพียงแต่ไปจับเอาท้าวทศวงศ์และมเหสีกับนางสุวรรณมาลีและธิดาแฝดมากักไว้เท่านั้น

                ลักษณะที่ขัดแย้งกันในเรื่องที่เกี่ยวกับพ่อนี้  มีอีกอย่างหนึ่ง  คือ ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูก สุนทรภู่แสดงทั้งความสัมพันธ์ใกล้ชิดสนิทสนม  รักใคร่ห่วงใยกันอย่างลึกซึ้ง  ดังในกรณีของสินสมุทรและสุดสาครกับพระอภัยมณี  แต่ในขณะเดียวกันก็มีความสัมพันธ์ระหว่างพ่อลูกบางคู่ที่ไม่เป็นไปดังนั้น  หากแต่เหินห่าง  ไม่เข้าใจกัน  ดังในกรณีของพระอภัยมณีกับท้าวสุทัศน์และพระอภัยมณีกับมังคลา  เป็นต้น  เมื่อพิจารณาความขัดแย้งเหล่านี้แล้ว  อาจจะเป็นข้อสังเกตว่าสุนทรภู่นั้นมีทั้งความรักและความเกลียดในตัวพ่ออยู่พร้อมกัน  แต่ความเกลียดนั้นไม่ถึงขั้นรุนแรง  เพียงแต่เป็นความน้อยใจหรือความเหินห่างกับพ่อเท่านั้น

               

 

 

หมายเลขบันทึก: 337515เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2010 20:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 18:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท