Use of Mass Media in Health Development


สื่อสาธารณะ (Use of Mass Media in Health Development)

สื่อสาธารณะ

แนวคิดในเรื่องสื่อสาธารณะมีหลักการสำคัญคือ  สื่อสาธารณะจะต้องยึดถือประโยชน์ของสาธารณะเป็นหลัก โดยมุ่งนำเสนอเนื้อหาที่มีประโยชน์แก่ประชาชนทุกกลุ่ม โดยมีความเป็นอิสระและสร้างเสริมความเข้มแข็งให้แก่สังคม ซึ่งเป็นปรัชญาที่แตกต่างจากสื่อเชิงพาณิชย์ นอกจากนี้ยังต้องมีหลักการสำคัญ คือ ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงสื่อดังกล่าวและมีส่วนร่วมได้ โดยประการสำคัญคือไม่มองประชาชนเป็นเพียงผู้บริโภคเท่านั้น

                ในส่วนของกลไกสำคัญที่ทำให้การดำเนินงานของสื่อสาธารณะนั้นสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้ คือ การจัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการที่มีความสามารถและเป็นอิสระจากรัฐและกลุ่มทุน ประกอบกับการวางระบบโครงสร้างในด้านต่างๆ ที่เข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดภารกิจและเนื้อหาที่ชัดเจน การมีกลไกตรวจสอบการทำงานที่รับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และการมีแหล่งเงินทุนสนับสนุนที่เพียงพอในการดำเนินงาน

สำหรับประเทศไทยเราพบว่า วิทยุและโทรทัศน์อยู่ภายใต้การกำกับและอิทธิพลของรัฐรวมทั้งกลุ่มทุนมาโดยตลอด ซึ่งเป็นปัญหาสืบเนื่องมาจากโครงสร้างการควบคุมในระบบสัมปทาน เมื่อเปรียบเทียบกับแนวคิดของสื่อสาธารณะ จึงมีความเห็นว่า สื่อเกือบทุกช่องของรายการโทรทัศน์หรือรายการวิทยุไม่สามารถทำหน้าที่เป็น “สื่อสาธารณะ” ที่ดีได้ตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง เนื่องจากมีข้อจำกัดเชิงสถาบันหลายประการทั้งในลักษณะที่เป็นทางการ อาทิเช่น กฎระเบียบหรือข้อบังคับทางกฎหมาย รวมถึงสถาบันที่ไม่เป็นทางการ เช่น วัฒนธรรมและธรรมเนียมปฏิบัติของบุคลากรทั้งในองค์กร รวมถึงการขาดองค์ความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องของคนในสังคมต่อการทำหน้าที่ของสื่อสาธารณะ เพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นสื่อสาธารณะได้อย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้นและสามารถสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมได้ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญของไทย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับโครงสร้างทางสถาบันด้านต่างๆ ของตัวสื่อสาธารณะดังกล่าวให้สอดคล้องกับหลักการของสื่อสาธารณะ ทั้งในด้านของภารกิจ การกำกับดูแล การผลิตรายการ เนื้อหาของรายการสื่อ กลไกการตรวจสอบและแหล่งเงินทุนสนับสนุน
                อย่างไรก็ตามตัวสื่อดังที่ได้กล่าวข้างต้นนั้น รวมทั้งสถานีวิทยุของกรมประชาสัมพันธ์ยังคงมีจุดอ่อนสำคัญอยู่ที่โครงสร้างองค์กรและวัฒนธรรมของบุคลากรที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐมายาวนาน ประกอบกับปัจจัยภายนอกที่มีผลสำคัญต่อการดำเนินงานคือ กระบวนการคัดเลือกคณะกรรมการและการแปลงสัมปทานให้เป็นค่าธรรมเนียมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดเป็นกระบวนการที่ใหม่สำหรับประเทศไทยเรา ซึ่งอาจถูกคุกคามจากกลุ่มการเมืองและกลุ่มทุนต่างๆ ได้ ดังนั้น หัวใจสำคัญที่จะช่วยให้การปฏิรูปสื่อประสบความสำเร็จจึงอยู่ที่การสร้างองค์ความรู้ด้านสื่อสาธารณะให้แก่ประชาชน เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจและเกิดแรงผลักดันในการสร้างระบบสื่อสารมวลชนที่เป็นประโยชน์กับสาธารณะโดยแท้จริง

หมายเลขบันทึก: 337510เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2010 20:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2012 23:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท