โลกาภิวัตน์ นโยบายสาธารณะของโลกในอุดมคติ และนโยบายสาธารณะของไทยในโลกแห่งความเป็นจริง


คนมีพวกที่ทำผิดกฎหมาย มักไม่ต้องได้รับโทษตามกฎหมาย ในขณะที่ คนทำผิดแต่ไร้พวก ย่อมได้รับผลกรรมไปตามปกติ นั่นเป็นการทำลายหลักนิติธรรม (Rule of Law) อย่างชัดแจ้ง ประชาชนจะหมดศรัทธาต่อกฎหมายและอำนาจรัฐ การไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายจะได้พบเห็นเป็นปกติ “เสื้อเหลือง” บุกยึดทำเนียบรัฐบาลและสนามบินนานาชาติ ไม่ต้องรับโทษตามกฎหมาย “เสื้อแดง” เผารถเมล์---บุกยึดโรงแรมที่จัดการประชุมผู้นำนานาชาติ ไม่ต้องรับผิดตามกฎหมาย ประเทศไทยในฐานะรัฐ จักล่ม!

 

  

เนื่องจากคนส่วนมากคิดว่าตนเข้าใจความหมายของคำเหล่านี้เป็นอย่างดี และปฏิเสธที่จะศึกษาอย่างลึกซึ้ง เพราะเห็นว่าถ้อยคำเหล่านี้มักนิยมใช้กันบ่อย ๆ เห็นบ่อย ๆ คิดว่าเป็นคำพื้น ๆ ไม่เห็นยากในการทำความเข้าใจ  แต่พอร้องขอให้อธิบายความหมายของคำที่จะกล่าวต่อไปนี้ แทบไม่พบเลยสักคนที่สามารถอธิบายมันออกมาได้อย่างพรั่งพรู และมิได้หยุดนึ่งอึ้งไปเสียหนึ่งอึดใจ ก่อนบรรยายมันออกมาอย่างทุลักทุเล  ก่อนที่จะตอบคำถามให้ตรงตามประเด็นของคำถาม จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับความหมายของคำต่าง ๆ เหล่านี้

  1. ชาติ (Nations)
  2. รัฐ (State)
  3. รัฐชาติ (Nation-State)

 

“ชาติ” ตามพจนานุกรม มีรากมาจากคำว่า “ชา-ตะ” แปลว่า แหล่งกำเนิด หมายถึง พงศ์พันธุ์ที่เป็นแหล่งกำเนิดของคน  องค์ประกอบของความเป็นชาติ (Nation) มีอยู่ 5 องค์ประกอบ ได้แก่

1)      ชนชาติ (People)

2)      ประวัติศาสตร์ร่วมของชนชาติ (Nation’s History)

3)      ผู้นำ (Leader)

4)      ภาษา (Language)

5)      วัฒนธรรม (Culture)  

หากคนหมู่ใด เหล่าใด เรียกตนเองว่าเป็นชนชาติ โดยปราศจากองค์ประกอบครบถ้วน 5 ประการ ดังกล่าวข้างต้น อาทิ ไม่มีภาษาเป็นของตนเอง ไม่มีวัฒนธรรม หรือไม่มีประวัติศาสตร์ร่วมกัน คนหมู่เหล่านั้น “หลงตัวเอง” สำคัญตนเป็นชนชาติ

 

“รัฐ” หมายถึง สถานที่ที่มีองค์ประกอบของความเป็นรัฐ (State) ครบ 5 องค์ประกอบ ดังนี้

1)      ดินแดน (Land)

2)      ประชาชน (Citizen)

3)      ชนชั้นนำ (Elite)

4)      อำนาจอธิปไตย (Sovereignty)

5)      กฎหมาย หรือ หลักนิติธรรม (Rule of Law) 

ทั้งนี้ บางกลุ่มชนเป็น “ชาติ” แต่หาได้เป็น “รัฐ” อาทิ มอญ กระเหรี่ยง ฯลฯ โดยพิจารณาจากองค์ประกอบตามที่ได้กล่าวมาแล้ว  ในขณะที่สหรัฐอเมริกาดำรงอยู่บนความเป็น “รัฐ” ที่อเมริกันเรียกตนเองอย่างเป็นทางการว่า “สมาพันธรัฐ (Federal States)”  ดังนั้นสหรัฐอเมริกาจึงเป็น “รัฐ” มิใช่ “ชาติ”

 

  

“รัฐชาติ” หมายถึง  กลุ่มชนที่ดำรงอยู่บนพื้นฐาน ทั้งความเป็น “รัฐ” และ “ชาติ”  ซึ่งเมื่อได้พิจารณาตามองค์ประกอบของทั้ง “ชาติ” และ “รัฐ” ข้างต้นแล้ว ย่อมพบว่า ประเทศไทยเป็น “รัฐชาติ (Nation-State)” ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจ  แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นที่น่าสลดใจที่ในปัจจุบันนี้ คนในชาติของเราเอง กำลังทำลาย! ชาติของตนอยู่  โดยการลดบทบาทของภาษาไทย และทำลายภาษาไทยทั้งโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์และจงใจ  หน่วยงานราชการจำนวนไม่น้อย ต่างกำหนดให้วิชาภาษาไทยเป็นวิชาที่มีสัดส่วนคะแนนน้อยกว่าวิชาอื่น ๆ เช่น คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ระเบียบงานสารบรรณ ฯลฯ  แม้กระทั่งโรงเรียนเตรียมทหารเอง ซึ่งเป็นหน่วยราชการภายในกองทัพไทย ซึ่งประกาศจุดยืนอย่างแจ้งชัดมาโดยตลอด ในการอนุรักษ์ภาษาไทยและตัวเลขไทย  เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนถึง “ความขัดแย้งระหว่างการกระทำกับคำพูด” โรงเรียนเตรียมทหารกำหนดให้ในการสอบเข้าเป็นนักเรียนเตรียมทหาร คะแนนวิชาภาษาไทยต้องไปแบ่งครึ่ง 50-50 กับวิชาสังคม  ในขณะที่วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และวิชาคณิตศาสตร์ ต่างก็เป็นวิชาที่มีคะแนนเต็มอยู่ที่ 100 และ 300 คะแนน ตามลำดับ  

อีกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจน นั่นก็คือการใช้ภาษาไทยอย่างไม่ถูกต้องของคนในชุมชนอินเตอร์เน็ตก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งในการทำลายภาษาไทย  ตัวอย่างเช่น วานนี้ยังมะด้ายกีน อารายเรย  ซึ่งที่ถูกควรเขียนว่า วันนี้ยังไม่ได้กินอะไรเลย  การเขียนภาษาไทยอย่างไม่ถูกต้องในลักษณะนี้ เป็นไปอย่างแพร่หลายในชุมชนอินเตอร์เน็ต และได้ลุกลามมาอยู่บนกระดาษคำตอบแบบอัตนัย ดังปรากฏในมหาวิทยาลัยต่างๆ ไม่เว้นแม้กระทั่งบนกระดาษคำตอบข้อสอบแบบอัตนัยของคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงเก่าแก่ของประเทศไทย ที่การเขียนภาษาไทยในลักษณะดังกล่าวได้เกิดมีขึ้น  ทั้งนี้คณะครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์เป็นสถาบันการศึกษาที่ทำหน้าที่ผลิตบุคลากรครูออกไปแม่พิมพ์ของสังคมไทย แต่กลับปรากฏพฤติกรรมเสื่อมภาษาไทยของนิสิตและนักศึกษา โดยขาดการกำกับดูแลและให้ความสนใจเท่าที่ควร  อาจเป็นไปได้ว่า อีกสามสิบหรือหกสิบปีข้างหน้า จะไม่มีคนไทยคนใดเลยที่ให้ความสำคัญในการเขียนคำในภาษาไทยต่างๆ ให้ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์  และในท้ายที่สุด สิ่งที่ผิดจะถูกกำหนดให้เป็น สิ่งที่ถูกต้องดุจเดียวกันกับการใช้คำพูดที่ว่า ใช้ชีวิต  คำนี้เริ่มใช้ผิดกันมาตั้งแต่ประมาณเมื่อ ๓๐ ปีก่อน โดยปรากฏคำว่า ใช้ชีวิตอยู่ในภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องที่ได้ถ่ายทำและออกฉายในยุคนั้น รวมถึงยุคต่อๆ มา  แต่เมื่อทำการสืบค้นเอกสารต่างๆ ในยุคนั้น และก่อนหน้านั้น ปรากฏว่า ตำรา หนังสือ และเอกสารที่ได้ตีพิมพ์มาก่อน ๓๐ ปี ไม่ปรากฏคำว่า ใช้ชีวิตเลย โดยเฉพาะในโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน และร้อยแก้ว ที่ได้รับการประพันธ์ขึ้นก่อนหน้าห้วงเวลาดังกล่าว ก็ไม่ปรากฏคำว่า ใช้ชีวิตเช่นกัน  แต่คำที่ปรากฏใช้อย่างแพร่หลายในโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน และร้อยแก้ว คือคำว่า อยู่ อาศัยอยู่ ดำเนินชีวิตและ/หรือ ดำรงชีวิต  โดยในข้อเท็จจริงนั้น คำว่า ใช้ชีวิตมาจากสำนวนภาษาอังกฤษที่ว่า “spend the life”  ซึ่งคำว่า “spend” เป็นคำกริยา แปลว่า ใช้  โดยสามารถใช้ร่วมกับคำในภาษาอังกฤษ ๓ คำ คือ ชีวิต เวลา และ เงิน  ยกตัวอย่างเช่น “spend the life แปลว่า ใช้ชีวิต” “spend the time แปลว่า ใช้เวลาและ “spend the money แปลว่า ใช้เงินเป็นต้น  ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์นี้ ดำเนินไปอย่างสม่ำเสมอในทุกระดับของสังคม ไม่เว้นแม้แต่อดีตนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นอดีตนักเรียนสหรัฐอเมริกา ที่ได้กำหนดให้บันทึกทางประวัติศาสตร์ของไทย ยอมรับคำว่า ใช้ชีวิต นี้ ให้กลายเป็นคำที่ใช้ได้อย่างถูกต้อง จากคำขวัญวันเด็กแห่งชาติ ปี ๒๕๕๐ ที่ว่า มีคุณธรรมนำใจ ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง หลีกเลี่ยงอบายมุขที่กล่าวมาเหล่านี้ เป็นเพียงแค่เหตุส่วนน้อยแห่งพัฒนาการของภาษาไทยแบบไร้ทิศทาง หรืออาจเรียกได้หรือไม่ว่า เสื่อมภาษาไทย  ประเทศไทยในฐานะชาติ จักล่ม!  อนึ่ง เหมือนกันกับปัจจุบันที่เราแลเห็นกันอย่างเป็นปกติใน “สังคมหลากชนชั้น-หลายมาตรฐาน”  กล่าวคือ คนมีพวกที่ทำผิดกฎหมาย มักไม่ต้องได้รับโทษตามกฎหมาย  ในขณะที่ คนทำผิดแต่ไร้พวก ย่อมได้รับผลกรรมไปตามปกติ  นั่นเป็นการทำลายหลักนิติธรรม (Rule of Law) อย่างชัดแจ้ง  ประชาชนจะหมดศรัทธาต่อกฎหมายและอำนาจรัฐ การไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายจะได้พบเห็นเป็นปกติ  “เสื้อเหลือง” บุกยึดทำเนียบรัฐบาลและสนามบินนานาชาติ ไม่ต้องรับโทษตามกฎหมาย  “เสื้อแดง” เผารถเมล์---บุกยึดโรงแรมที่จัดการประชุมผู้นำนานาชาติ ไม่ต้องรับผิดตามกฎหมาย  ประเทศไทยในฐานะรัฐ จักล่ม! 

 นอกจากความประมาททำลายภาษาไทยของคนในชาติแล้ว วัฒนธรรมที่บรรพบุรุษได้สร้างสม สั่งสมมานานนับร้อยนับพันปีนั้น คนที่เรียกตัวเองว่า คนไทย ก็กำลังทำลายวัฒนธรรมของตนเองอยู่อย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ คนไทยจำนวนไม่น้อยมองข้ามความสำคัญของวัฒนธรรมไทย ดูราวกับว่าเป็นสิ่งไร้ค่า ล้าหลัง ไม่เป็นไปตามสมัยนิยม อับอายที่จะแต่งกาย ประพฤติตัว และดำเนินชีวิตไปตามขนบธรรมเนียม ประเพณี และจารีตแห่งวัฒนธรรมไทย  แต่ในทางกลับกัน วัฒนธรรมต่างชาติที่ไหลบ่า ข้ามน้ำข้ามทะเลมา ไม่ว่าจะเป็น K-Pop (เกาหลี) ก็ดี  J-Pop (ญี่ปุ่น) ก็ดี และ/หรือ วัฒนธรรมตะวันตกก็ดี ผ่านกระบวนการทำให้เป็นแบบตะวันตก (Westernization) สำหรับวัฒนธรรมตะวันตกในประเทศไทย นุ่งบลูยีนส์ (Blue Jeans, การเกงยีนส์สีน้ำเงิน)  กินฟาสฟู๊ดส์ (Fast Food, อาหารจานด่วน)  เสื้อผ้า กระเป๋าถือ รองเท้า แว่นตา นาฬิกา ไม่เว้นแม้แต่กางเกงชั้นใน ต้องเป็นเป็นแบรนด์เนม (Brandname, ตราสินค้าที่มีชื่อเสียงและราคาแพง) จากยุโรป  วัยรุ่นและวัยทำงานผู้ใดไม่มีหรือไม่เป็นไปตามแนวทางที่ มีระดับ เช่นนี้ จะถูกตราหน้าว่า จนและ เชย  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัฒนธรรมเกาหลี  (K-pop) และวัฒนธรรมญี่ปุ่น (J-pop) (ที่ได้ผ่านการผสมผสานกับวัฒนธรรมตะวันตกแล้ว)  ประชาชนชาวไทยที่อยู่ในวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาวนิยมชมชอบเป็นอย่างยิ่ง ดังจะเห็นได้จาก ค่านิยมด้านการแต่งกายและอากัปกิริยาของวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาวที่ได้รับอิทธิพลมาจากละครชุด (Series) เกาหลีและญี่ปุ่น หรือแม้กระทั้งกระบวนการทำให้ทันสมัย (Modernization)  ที่เริ่มเข้ามายังประเทศไทยหลังยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป ซึ่งได้แสดงอิทธิพลต่อสยามประเทศ จนเกิดมีการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) และ การปฏิรูประบบราชการ (Bureaucratic Reform)  รวมไปถึงการผสมผสานทางวัฒนธรรมระหว่างวัฒนธรรมไทยกับวัฒนธรรมตะวันตก  อาทิเช่น นโยบายรัฐนิยม ในอดีตสมัยที่ จอมพล ป. พิบูลย์สงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี โดยประชาชนทุกคนต้องสวมหมวกเมื่อออกจากบ้านตามแบบคนในประเทศทางตะวันตก หรือเรียกว่ายุค มาลานำไทย เป็นต้น  และล่าสุดคือ การบุกของโลกาภิวัตน์ (Globalization) ที่ไม่เพียงแค่มีผลกระทบโดยตรงต่อภาษาไทยและวัฒนธรรมไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงอัตลักษณ์ (Self-identity) ของชาติ ทั้งยังมีผลกระทบโดยตรงต่อวิถีการดำเนินชีวิตของประชาชนชาวไทย  อาทิ จากที่แต่เดิมการสื่อระหว่างบุคคลเป็นลักษณะปฏิสัมพันธ์ทางตรง กลับกลายเป็นการสื่อสารผ่านจอภาพ (LCD และ/หรือ LED) และเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารต่างๆ (Information and Communication Technology, ICT)   เป็นต้น 

 ไม่เพียงแต่กระแสโลกาภิวัตน์มีผลกระทบโดยตรงต่อวัฒนธรรมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาษาไทย ซึ่งเป็นเครื่องแสดงอัตลักษณ์ (Self-identity) ของชาติ (Nation)  ทั้งยังมีผลกระทบโดยตรงต่อวิถีการดำเนินชีวิตของคนไทย จากการเป็นสังคมครอบครัวขยาย กลายเป็นสังคมครอบครัวเดี่ยว ตามแบบตะวันตก  ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แนวเสรีนิยม (Laissez Faire) ยืนยันให้รัฐเข้าไปยุ่งกับระบบเศรษฐกิจให้น้อยที่สุด โดยปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ “มือที่มองไม่เห็น (Invisible Hand)” นั่นคือการปล่อยให้เศรษฐกิจเป็นไปตามกลไกตลาด (Market Mechanism) และกลไกราคา (Price Mechanism)  ซึ่งแน่นอนที่สุด ผู้มีทุนมากย่อมได้เปรียบในการแข่งขันในระบบตลาดเสรี (Free Trade Market)   ลัทธิทุนนิยม (Capitalism) มีผลต่อวิถีการผลิต (Mode of Production) ของสังคมไทย กล่าวคือ จากการผลิตเพื่อบริโภคในครัวเรือน แบ่งปันแลกเปลี่ยนภายในชุมชน ที่เหลืออาจจำหน่ายให้แก่ชุมชนอื่น  กลายเป็นการผลิตจำนวนมากเพื่อจำหน่าย ตามแนวคิดการแบ่งงานกันทำ (Division of Labour) และความชำนาญเฉพาะอย่าง (Specialization) ของ Frederick W. Taylor, Adam Smith, และ Henri Fayol  ที่ได้ชี้ให้เห็นคุณอนันต์เทียมเท็จของการผลิตจำนวนมากเพื่อจำหน่ายตามวิถีการผลิตแบบอุตสาหกรรม  ซึ่งไม่มีความสอดคล้องกับวิถีการผลิตแบบเกษตรกรรมของสังคมไทย  คำว่า “เกษตร-อุตสาหกรรม” ถูกใช้อย่างแพร่หลายในประเทศไทย  และส่งผลแห่งความย่อยยับมาจนถึงทุกวันนี้  กล่าวคือ แต่เดิมชาวนาปลูกและเลี้ยงทุกอย่างที่จำเป็นต่อการบริโภคในครัวเรือนตน  มาในปัจจุบันนี้ ชาวนาจำนวนมากปลูกข้าวเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เมื่อขายข้าวได้เงิน ก็นำเงินนั้นไปซื้อปลา หมู ไข่ ผัก กะปิ น้ำปลา กระเทียม หอม พริกไทย น้ำมันพืช ฯลฯ เพื่อการบริโภค  ซึ่งเมื่อได้เงินไม่พอใช้  กลุ่มชาวนาพยายามเรียกร้องให้รัฐทำให้ตนขายข้าวได้ราคาสูงขึ้น  โดยคิดไปไม่ถึงว่า ยิ่งราคาข้าวแพงมากขึ้นเท่าใด มันทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าอื่น ๆ ในประเทศเพิ่มสูงขึ้นด้วย  ในที่สุดสินค้าอื่น ๆ ก็จะขึ้นราคาตามไป จนชาวนามีอำนาจการซื้อไม่เพียงพอ และรัฐไม่มีทางสร้างอำนาจการซื้ออย่างเพียงพอให้แก่ชาวนาในระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมที่ขาดความพอประมาณเช่นนี้ได้  คำตอบเดียวของปัญหานี้คือแนวพระราชดำริปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง”  นั่นคือ การทำให้ชาวนามีความพอประมาณ มีเหตุ-มีผล และมีภูมิคุ้มกันที่ดี กล่าวคือ  ความพอประมาณ คือ ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป พึ่งตนเองได้ มีความพึงพอใจตามฐานานุรูป มิใช่มีความโลภไร้ขีดจำกัดตามแบบเศรษฐกิจทุนนิยม  การมีเหตุ-มีผล คือ การตริตรองพินิจพิเคราะห์ถึงเหตุผลที่ควรเป็น มิใช่ทำสิ่งใดไปตามอารมณ์ สมัยนิยม หรือการยั่วยุของระบบทุนนิยม ซึ่งอาจเรียกได้ว่า เป็นการฝึกฝนใช้วิจารณญาณ  การมีภูมิคุ้มกันที่ดี คือ การระมัดระวังในการดำเนินชีวิตและการใช้จ่ายเงิน ดำเนินชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท  อันจะนำไปสู่การพัฒนาระบอบประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน เนื่องจากเกษตรกร ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของชาติ สามารถพึ่งตนเองได้ มีวิจารณญาณ ไม่ตกเป็นเครื่องมือของนักการเมืองอย่างง่ายดาย ด้วยอำนาจเงินและการหลงลมปาก

ระบบเศรษฐกิจเสรีนิยม (Laissez Faire) หรืออาจเรียกว่า ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม (Capitalism) ดังกล่าว เป็นนโยบายสาธารณโลก (World Public Policy)  อันเป็นส่วนหนึ่งของการวางระเบียบโลก (World Order)  ที่พยายามทำให้ทุกประเทศในโลกปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย (Democracy) และอยู่ในระบบเศรษฐกิจเสรี-ทุนนิยม  แน่นอนที่สุด ระบอบประชาธิปไตยเกิดจากระบบความคิดที่เป็นเหตุเป็นผลและการวิภาควิจารณ์ (Reasons and Critics)  ซึ่งองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งของระบบความคิดเป็นเหตุเป็นผลและการวิภาควิจารณ์นั้นคือ วิจารณญาณ (Judgment)  คนไทยส่วนมากนอกจากขาดการศึกษาและความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในระบอบประชาธิปไตยแล้ว ยังขาดวิจารณญาณอีกด้วย  นั่นเป็นสาเหตุวังวนแห่งปัญหาทางการเมืองของไทยมาตลอดระยะเวลา 77 ปี  ซึ่งผู้คนจำนวนมากมักสับสน-หลงประเด็น-เข้าใจผิด คิดว่าปัญญาทางการเมืองของเราเป็นเพราะ “นักการเมืองน้ำเน่า”  จริง ๆ แล้ว นั่นก็เป็นสาเหตุหนึ่ง  แต่มิใช่สาเหตุของสาเหตุ  เพราะฉะนั้นระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยและระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมสมบูรณ์แบบ ตามระเบียบโลก (World Order) และนโยบายสาธารณะโลก (World Public Policy)  จึงไม่มีความเหมาะสมกับประเทศไทยในบริบทนี้  อย่างไรก็ตาม ต้องอาศัยการศึกษาเพื่อการพัฒนาคน พัฒนาความคิด ความรับผิดชอบ การคำนึงถึงสิทธิควบคู่ไปกับหน้าที่ และวิจารณญาณ ตลอดถึงเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ  อันจะนำไปสู่การพัฒนาประชาธิปไตยในที่สุด

ปัญหาทางการเมืองทั้งหลายที่ประเทศไทยประสบอยู่ในปัจจุบัน ไม่เป็นสาเหตุทางตรงก็เป็นสาเหตุทางอ้อมของปัญหาในด้านอื่น ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ (ต่างชาติเบนเข็มการลงทุนและการท่องเที่ยวไปจากไทย)  ด้านสังคมวัฒนธรรม (ความแตกแยก-ทะเลาะเบาะแว้งของคนในชาติ)  ด้านการทหาร (แบ่งฝ่าย-แบ่งสี ถือหางนักการเมือง)  และด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี (ขาดนวัตกรรม ความคิดริเริ่ม รวมถึงขาดการวิจัยและพัฒนา)

ปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศไทย เป็นปัญหาที่กำลังกระทบกำลังอำนาจของชาติในด้านอื่น ๆ ทั้งนี้ ที่สำคัญที่สุดที่มิอาจละเลย นั่นคือกำลังอำนาจของชาติด้านการทหาร  กล่าวคือ  เมื่อเศรษฐกิจของประเทศมีปัญหา รัฐย่อมเก็บภาษีได้ไม่ตรงตามเป้าหมาย การจำกัดงบประมาณและการตัดงบประมาณกลาโหมเกิดขึ้นเป็นที่แน่นอน ซึ่งกองทัพไทยไม่อาจเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะที่อาวุธยุทโธปกรณ์ทันสมัย การบำรุงรักษายุทโธปกรณ์ประจำการ และธำรงขีดความสามารถในการป้องกันประเทศ มีความจำเป็นต้องใช้เงินงบประมาณ  เหตุดังกล่าวนั้นย่อมส่งผลสะเทือนให้เกิดความอ่อนแอสำหรับกำลังอำนาจของชาติในด้านนี้  อนึ่ง แหล่งรายได้เดียวที่กองทัพไทยมี นั่นคือ งบประมาณแผ่นดิน ซึ่งได้รับมาจากการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลและการอนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎร  สิ่งที่กองทัพไทยทำได้เท่านั้นคือ “รอ” หรือแสวงหาโอกาสในทางอื่น หรือไม่ อย่างไร?  อีกทั้งมีความจำเป็นหรือไม่? ที่ต้องปรับปรุงระบบการจัดการภายใน (Internal Perspective ใน Balanced Scorecards) ให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น เพื่อรองรับกับปัญหาความขาดแคลนงบประมาณ

นอกจากส่งผลกระทบถึงกำลังอำนาจของชาติด้านการทหารแล้ว ปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ยังส่งผลกระทบถึงกำลังอำนาจของชาติด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีอีกด้วย  กล่าวคือ เมื่อประเทศไทยประสบกับปัญหาเศรษฐกิจ ย่อมกระทบงบประมาณด้านการศึกษา และการวิจัยและพัฒนา  อันนับเป็นการลดโอกาสการสร้างสรรค์นวัตกรรม และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ  รวมถึงลดโอกาสกองทัพไทยในการพึ่งพาตนเองตามแนวพระราชดำริ อันเกิดจากการวิจัยและพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์และขีดความสามารถทางการทหารอีกด้วย     

  

ดร.จักษวัชร  ศิริวรรณ

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #ชาติ#รัฐ#รัฐชาติ
หมายเลขบันทึก: 336666เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2010 11:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 09:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท