Reward Management เรื่องธรรมดาที่ไม่ธรรมดา


พูดถึงคำว่า Reward หลายคนได้ยินได้ฟังแล้วก็อาจจะคิดว่ามันก็เป็นเรื่องปกติที่มนุษย์เงินเดือน ที่เข้ามาทำงานกับองค์กรก็ต้องได้ผลประโยชน์ตอบแทนจากองค์กร แต่สิ่งที่ไม่สามารถมองข้ามได้ก็คือ การบริหารจัดการเรื่องของ Reward ในองค์กรของเรานั้นมันเหมาะสมหรือไม่อย่างไร และตอบวัตถุประสงค์ของการมี Reward ได้จริงๆ หรือไม่

วัตถุประสงค์ของการจัดให้มี Reward หรือรางวัลตอบแทนพนักงานนั้น ก็คือ เพื่อดึงดูด และรักษาพนักงาน รวมทั้งทำให้พนักงานสร้างผลงานให้กับองค์กรอย่างเต็มที่และต่อเนื่อง การบริหารจัดการเรื่องนี้จึงมีความสำคัญมากทีเดียว ไม่ใช่คิดแค่เพียงว่าอยากให้เท่าไร ก็ให้ตามใจเจ้าของบริษัท

พอพูดถึงเรื่องของ Reward ก็คือมากำหนดนิยาม เพื่อให้มองไปในทางเดียวกันก่อนนะครับ ผมได้เคยเขียนเรื่อง Reward Management ไว้บ้างในบทความเก่าๆ ลองค้นดูก็ได้นะครับ จริงๆ คำว่า Reward มันก็รวมทุกอย่างเลยที่บริษัทให้เป็นผลตอบแทน หรือรางวัลในการทำงานแก่พนักงาน โดยจะแยกออกเป็น รางวัลที่เป็นตัวเงิน และรางวัลที่ไม่เป็นตัวเงิน แถมยังมีเรื่องของรางวัลที่จับต้องได้ และที่จับต้องไม่ได้อีกด้วยครับ เรียกว่าทุกอย่างที่บริษัทจัดให้กับพนักงานที่เข้ามาทำงานให้กับบริษัทนั้น ถือเป็น Reward เกือบหมดทุกอย่าง แล้วผมจะเขียนรายละเอียดให้อ่านกันอีกทีนะครับว่าแต่ละตัวมีอะไรบ้าง และมีความสำคัญอย่างไร แต่วันนี้เรามาคุยกันในภาพรวมกันก่อนครับ

Reward นั้น โดยทั่วไปถ้ามองในเรื่องของระยะเวลาในการให้ ก็จะแบ่งออกเป็นดังนี้ครับ

  • Basic Salary ตัวนี้ก็คือเงินเดือนที่เราได้กันทุกเดือนนี่แหละครับ แค่เงินเดือนตัวเดียวก็แทบจะบริหารกันยากแล้วครับ วัตถุประสงค์ของการมีเงินเดือนก็คือ การตอบแทนการทำงานของพนักงานในภาวะปกติ และให้พนักงานมีรายได้เพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน โดยที่จะต้องจ่ายให้แข่งขันได้กับตลาดที่เราแข่งขันด้วย แล้วก็แปลกนะครับ เงินเดือนที่ได้รับอยู่ทุกเดือนนั้น จะไม่ค่อยจูงใจพนักงานให้สร้างผลงานได้มากนัก สาเหตุก็เพราะเขาได้อยู่แล้วทุกเดือน จะขยันหรือขี้เกียจ ก็ยังคงได้เท่ากันทุกเดือนอยู่ดี
  • Short term incentive ค่าตอบแทนตัวนี้จะเริ่มเข้ามามีบทบาทในการจูงใจพนักงานมากขึ้น โดยเฉพาะการสร้างผลงานในระยะปีต่อปี ใครที่ทำงานได้ผลงานดี ก็จะมีสิทธิได้รับเงินก้อนนี้เยอะกว่าคนที่ทำงานได้ไม่ดีเท่า บรรดา Short term incentive ก็จะมีเช่น เงินโบนัสประจำปีตามผลงาน เงินรางวัลตอบแทนผลงานที่ได้ตามเป้าหมาย เงินค่าคอมมิชชั่นของพนักงานขาย หรือถ้าจะเอาภาษาวิชาการหน่อยก็มีดังนี้ครับ Profit Sharing, Gain Sharing เป็นต้น วัตถุประสงค์ในการจัดให้มีเงินก้อนนี้ก็คือ เพื่อกระตุ้นผลงานให้พนักงานสร้างผลงานในแต่ละปีอย่างต่อเนื่อง เพราะเงินเดือนเพียงอย่างเดียวไม่สามารถกระตุ้นได้มากพอครับ
  • Long Term Incentive เป็นค่าตอบแทนที่เราจัดให้เพื่อจูงใจพนักงานในระยะยาวๆ หน่อยครับ ก็คือ จูงใจให้เขาสร้างผลงานกับบริษัทเราไปนานๆ และถ้ายิ่งอยู่สร้างผลงานให้บริษัทนานมากเท่าไร เขาก็จะได้ผลตอบแทนมากขึ้นเท่านั้น แต่ค่าตอบแทนในส่วนนี้ไม่ค่อยจะมีบริษัทไหนจัดให้กับพนักงานมากนักเพราะอาจ จะมีข้อจำกัดเยอะครับ ตัวอย่างของ Long Term Incentive ก็เช่น การให้หุ้นบริษัทกับพนักงาน หรือการให้สิทธิในการซื้อหุ้นบริษัทในราคาถูกกว่าตลาด เพราะผลตอบแทนก็คือ ถ้าเขายิ่งทำให้บริษัทได้กำไรมากขึ้นเท่าไร มูลค่าหุ้น และผลกำไรต่อหุ้น ก็จะมากขึ้น สิ่งที่พนักงานจะได้ก็คือ เงินปันผลที่มากขึ้นทุกปี ถ้าผลประกอบการของบริษัทสูงขึ้นทุกปีครับ

ลองพิจารณาดูในส่วนของบริษัทของท่านก็ได้นะครับว่า ในการบริหาร Reward ของบริษัทนั้นเรามีครบถ้วนในแต่ละตัวหรือไม่ อย่างไร จากผลการสำรวจค่าตอบแทนที่ผมได้ทำต่อเนื่องมากว่า 15 ปีนั้น บอกได้เลยว่า ถ้าเราเป็นบริษัทขนาดเล็กถึงกลาง ส่วนใหญ่จะมีแค่สองตัวแรก ก็คือ เงินเดือน และเงินรางวัลตอบแทนในระยะสั้น ส่วนเรื่องของเงินรางวัลตอบแทนในระยะยาวนั้น โดยมากจะเป็นบริษัทใหญ่ หรือบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่เขาจะจัดให้กับพนักงานที่มีผลงานโดดเด่น แต่จริงๆ แล้วบริษัทเล็กก็ทำได้นะครับ สำหรับการให้พนักงานถือหุ้น เพื่อให้เขารู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ และทำงานเพื่อสร้างผลงานในระยะยาวให้กับบริษัท

โดยสรุปก็คือ ปัจจุบันเราไม่สามารถที่จะให้แค่เงินเดือนกับพนักงานแล้วก็จบ เราจะต้องบริหารจัดการเรื่องของเงินรางวัลตอบแทนให้เหมาะสม และสามารถแข่งขันได้กับตลาดด้วย มิฉะนั้น เราจะไม่สามารถว่าจ้างคนเก่งเข้ามาได้ และไม่สามารถรักษาพนักงานที่มีผลงานดีไว้กับบริษัทได้ ยิ่งไปกว่านั้น เราอาจจะต้องเสียพนักงานที่เราอยากจะให้เขามาร่วมกันสร้างผลงานกับบริษัทไป ในระยะยาวด้วยซ้ำ

คำสำคัญ (Tags): #reward
หมายเลขบันทึก: 335465เขียนเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2010 06:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 12:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท