ผู้บริหารที่มีฉลาดทางอารมณ์( Emotional Quotient )


ขุนพลเฒ่าที่มีประสบการณ์มักรบชนะขุนพลหนุ่มที่เลือดร้อนมุทะลุ

 

ผู้บริหารที่มีฉลาดทางอารมณ์( Emotional Quotient )   ย่อมประสบผลสำเร็จ 

                  โบราณกล่าวว่า ขุนพลเฒ่าที่มีประสบการณ์มักรบชนะขุนพลหนุ่มที่เลือดร้อนมุทะลุ คำกล่าวนี้ได้พิสูจน์มาแล้วว่า มีความเป็นจริงเป็นส่วนใหญ่ ความพ่ายแพ้ชนะของการรบขึ้นอยู่กับ การควบคุมอารมณ์และการตัดสินใจรอบด้าน ผู้ที่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์มักจะได้รับชัยชนะเหนือคนเก่งที่ขาดวุฒิภาวะทางอารมณ์เสมอ

                  ผู้บริหารที่ยึดจิตใจผู้ใต้บังคับบัญชาไว้ได้จึงมักประสบผลสำเร็จมากกว่าผู้ที่ฉายเดี๋ยวหรือเก่งคนเดียวเสมอ  ยกตัวอย่างเช่น  โจโฉหลังได้รับชัยชนะเหนืออ้วนเสี้ยว ได้ค้นเอกสารพบว่า มีนายทหารฝ่ายตน แอบส่งจดหมายไปขอสวามิภักดิ์อ้วนเสี้ยวจำนวนมาก ที่ปรึกษาโจโฉได้แนะนำให้ประหารนายทหารเหล่านั้นทั้งหมด แต่โจโฉสั่งให้เผาจดหมายทิ้งและไม่กล่าวถึงเรื่องนี้อีกเลยทำให้ทหารที่คิดทรยศหันมาจงรักภักดีโจโฉทุกคน ต่างจากเตียวหุยขุนพลของเล่าปี่ที่กินเหล้าแล้วมักดุร้ายทุบตีทหารของตนจึงถูกฝ่ายเดียวกันสังหารในที่สุด  สงครามสามก๊ก ในตอนจบชัยชนะจึงตกกับโจโฉ ซึ่งมีทหารเก่งเข้าสวามิภักดิ์เป็นจำนวนมาก โจโฉได้ชื่อว่าเป็นแม่ทัพที่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์สูง ให้อภัยแม้แต่คนที่ฆ่าลูกตนเองจึงได้ใจทหารเป็นอย่างมาก ความฉลาดทางอารมณ์ ( Emotional Quotient )  หรือวุฒิภาวะทางอารมณ์ (Emotional Intelligence ) จึงเป็นสิ่งจำเป็นสูงสุดสำหรับผู้บริหาร

วุฒิภาวะทางอารมณ์(Emotional Intelligence หรือ EI) ของผู้บริหาร

            Higgs และ Dulewicz (1999) นักวิจัยด้านวุฒิภาวะทางอารมณ์ ได้ช่วยทำให้คำนิยามที่แจ่มชัดขึ้นของคำว่าวุฒิภาวะทางอารมณ์หรือ Emotional intelligence และช่วยให้เราเข้าใจถึงผลกระทบต่อภาวะแวดล้อมของการทำงาน โดยเห็นว่าควรให้คำนิยามใหม่ไว้ดังนี้

                        “วุฒิภาวะทางอารมณ์” หมายถึง การบรรลุเป้าหมายของบุคคล โดยใช้ความสามารถบริหารจัดการกับความรู้สึกและอารมณ์ตนเอง มีความสามารถรับรู้ได้ไว และมีอิทธิพลต่อบุคคลสำคัญอื่น ๆ และสามารถในการสร้างสมดุลของภาวะจูงใจและแรงขับของตนด้วยพฤติกรรมอย่างผู้มีสติสัมปชัญญะและมีจริยธรรม”

                        จึงกล่าวได้ว่า ผู้นำที่มีประสิทธิผล คือ ผู้นำที่สามารถในการควบคุมและกำกับพลังอำนาจทางอารมณ์ของตน ไปเพื่อการเสริมสร้างความพึงพอใจรวมทั้งขวัญกำลังใจและแรงจูงใจของพนักงาน ตลอดจนส่งเสริมความมีประสิทธิผลให้กับองค์การ โดยเฉพาะในภาวะแวดล้อมที่ให้ความสำคัญต่อความสัมพันธ์กับพนักงานและลูกค้ามากกว่าเรื่องเทคโนโลยีและวัสดุอุปกรณ์ด้วยแล้ว หน่วยงานทั้งหลายจึงเพิ่มความสำคัญต่อการพัฒนาด้านความฉลาดทางอารมณ์ให้กับผู้นำของตนมากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน

                        อย่างไรก็ตามผู้อ่านควรทำความใจในคำ 2 คำ ซึ่งพบว่ามักใช้แทนกันได้ คือ EQ  (Emotional Quotient) และ EI (Emotional Intelligent) โดยเมื่อพูดถึง EI จะเกี่ยวข้องกับโครงสร้างด้านต่าง ๆ ของความฉลาดทางอารมณ์ (ซึ่งจะกล่าวต่อไปถึงสมรรถนะด้านต่าง ๆ ของความวุฒิภาวะทางอารมณ์ของผู้นำตามแนวคิดของ Daniel Goleman) ส่วน EQ มีความหมายเกี่ยวข้องกับผลที่ได้จากการวัดหรือประเมิน EI ซึ่งจะบอกให้ทราบระดับของความวุฒิทางอารมณ์ เช่นเดียวกับที่ IQ ชี้บ่งระดับความสามารถทางสติปัญญาที่ได้จากแบบทดสอบเชาวน์ปัญญา ระดับ EQ จากแบบประเมินต่าง ๆ จะชี้บ่งว่า บุคคลที่ได้รับการประเมิน มีความวุฒิทางอารมณ์ด้านใดบ้างที่อยู่ในระดับควรแก้ไข ระดับทำงานได้เป็นผลสำเร็จ และระดับที่ดีมาก โดยแบบประเมินแต่ละชนิดก็จะประกอบด้วยความวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่ต้องการประเมินมากน้อยต่างกัน  

วุฒิภาวะทางอารมณ์ของผู้นำตามแนวคิดของ Daniel Goleman

                        Goleman (2002) และคณะได้เขียนหนังสือชื่อ The New Leaders : transforming the art of leadership into the science of results.ได้กล่าวถึงความสำคัญของวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่มีต่อความมีประสิทธิผลของผู้นำ ซึ่งในอดีตเคยเสนอไว้ 5 ด้านมีจำนวนทั้งสิ้น 25 สมรรถนะ แต่จากผลการวิเคราะห์ข้อมูลล่าสุด Goleman ได้ปรับปรุงวุฒิภาวะทางอารมณ์เหลือเพียง 4 ด้าน ลดจำนวนสมรรถนะที่ผู้นำพึงมีเหลือเพียง 18 สมรรถนะดังรายละเอียดดังนี้ 

สมรรถนะที่เกี่ยวกับตนเอง ( Personal competence )

                        เป็นสมรรถนะที่ผู้นำใช้เพื่อบริหารจัดการกับตนเอง ซึ่งประกอบด้วย 2 ด้าน รวมทั้งสิ้น  9 สมรรถนะ ดังนี้

                        1. ด้านความสามารถตระหนักรู้อารมณ์ตนเอง ( Self - awareness ) มีสมรรถนะที่สำคัญอยู่ 3 ประการได้แก่

 

1.1    สมรรถนะในการตระหนักรู้ตนเอง ( Emotional self - awareness )

                                เป็นความสามารถของผู้นำที่อ่านอารมณ์ของตนออก จึงพยายามควบคุมและปรับกลไกภายใน เพราะเข้าใจดีว่าถ้าตนแสดงความรู้สึกเช่นนั้นออกไปทันทีทันใด จะส่งผลกระทบต่อคนรอบข้างและงานที่ทำอย่างไรผู้นำที่มีสมรรถนะนี้สูงจะสามารถมองเห็นภาพรวมของปัญหาที่สลับซับซ้อนได้ดี จึงพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการแสดงออกที่เหมาะสมกว่าได้โดยฉับพลัน ผู้นำที่สามารถตระหนักรู้ตนเองได้ดีมักเป็นคนที่ตรงไปตรงมาและจริงใจ กล้าพูดอย่างเปิดเผยถึงสภาพอารมณ์ของตนและยอมรับผิดถ้าตนแสดงออกไปไม่เหมาะสม   

1.2 สมรรถนะในการประเมินตนเองได้ถูกต้อง (Accurate self - assessment)

                 ผู้นำที่มีความสามารถตระหนักรู้ตนเองสูงจะเข้าใจถึงจุดแข็ง ( strength ) และจุดอ่อน ( limitation ) ของตนได้ดีจึงมักมีอารมณ์ขันกับการกระทำของตนอยู่บ่อยครั้ง คนรอบข้างให้ความชื่นชมต่อผู้นำที่หมั่นเรียนรู้ใหม่ ๆ เพื่อปรับปรุงตนเองและความมีใจกว้างในการรับฟัง ข้อมูลย้อนกลับตลอดจนคำวิพากวิจารณ์เชิงสร้างสรรค์จากผู้อื่น สมรรถนะในการประเมินตนเองได้อย่างถูกต้อง ช่วยให้ผู้นำรู้ว่าเมื่อไรที่ตนควรร้องขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น และที่ใดบ้างที่ตนสามารถเสริมสร้างทักษะและความแข็งแกร่งใหม่ ๆ ต่อการเป็นผู้นำของตน

1.3   สมรรถนะด้านความมั่นใจ ( Self - confidence)

                 การที่ผู้นำรู้ถึงขีดความสามารถของตนได้อย่างถูกต้อง ช่วยให้ผู้นำรู้จักเลือกใช้จุดเด่นของตนเองในการปฏิบัติงานได้อย่างเต็มที่ ผู้นำที่มีความมั่นใจพร้อมที่จะเผชิญกับงานหรือสถานการณ์ที่ยากลำบากได้ดี ทั้งนี้เพราะชอบยืนหยัดต่อสู้เอาชนะอุปสรรคด้วยความแน่วแน่ ด้วยคุณลักษณะเช่นนี้จึงทำให้ผู้นำโดดเด่นอยู่แถวหน้าของบุคคลอื่น สมรรถนะด้านความมั่นใจจึงเป็นคุณสมบัติที่สำคัญต่อการเป็นผู้นำ

  2. ด้านความสามารถบริหารจัดการตนเอง ( Self - management )

            ประกอบด้วยสมรรถนะที่สำคัญอยู่ 6 ประการ

 

2.1 สมรรถนะในการควบคุมอารมณ์ตนเอง (Emotional self - control)

                                ผู้นำที่มีความสามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้สูง จะมีวิธีการในการจัดการกับภาวะสับสนทางอารมณ์ตลอดจนภาวะกดดันภายในตนได้ดีหรืออย่างน้อยก็สามารถหาทางออกใหม่ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ จุดเด่นของการควบคุมตนเองของผู้นำก็คือ มีความสงบนิ่ง ไม่หวั่นไหว และมีสติตลอดเวลาที่เผชิญกับภาวะวิกฤตที่มีความเครียดสูง ไม่แสดงอารมณ์เสียง่าย ๆ เมื่อต้องประสบเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่รบกวนจิตใจในชีวิตประจำวัน                        

 2.2 สมรรถนะด้านความโปร่งใส่ (  Transparency   )

                                ผู้นำที่มีความโปร่งใสยึดมั่นต่อค่านิยมในการดำรงชีวิต ความโปร่งใส  หมายความรวมถึง การเปิดเผยถึงความรู้สึก ความเชื่อและการกระทำที่แท้จริงของตนเองให้ผู้อื่นเห็น มีความคงเส้นคงวาในการคิด การพูดและการกระทำที่สอดคล้องกัน นำไปสู่ความเป็นผู้มีความสัตย์ซื่อถือ   คุณธรรมยึดมั่นหลักการ ( Integrity ) กล้ายอมรับความผิดพลาดเมื่อทำผิด กล้ายืนหยัดต่อสู้กับการกระทำที่ไร้จริยธรรมของผู้อื่นโดยไม่นิ่งเฉย กล่าวโดยสรุปสมรรถนะด้านความโปร่งใสของผู้นำก่อให้เกิดความสง่างามและความน่าเชื่อถือ ( Trustworthiness ) ในสายตาผู้อื่น , ซึ่งเป็นคุณสมบัติ     พื้นฐานที่ผู้นำขาดมิได้

2.3 สมรรถนะด้านความสามารถปรับตัว (  Adaptability  ) 

                                ผู้นำที่สามารถปรับตัวได้ดี จะมีความคล่องแคล่วในการตอบสนองความต้องการที่หลากหลายโดยที่ตนเองไม่สูญเสียจุดยืนหรือพลังแต่อย่างใดเปรียบเสมือนกับน้ำที่เปลี่ยนรูปร่างตามภาชนะบรรจุโดยไม่สูญเสียคุณสมบัติแต่อย่างใด เป็นผู้ที่สามารถดำรงชีวิตอย่างมีความสุขได้ท่ามกลางปัญหารุมเร้าและสถานการณ์ที่ไม่ชัดเจนขององค์การ โดยผู้นำสามารถที่จะยืดหยุ่นในการปรับตัวเข้ากับภาวะท้าทายใหม่ ๆ ปรับตัวเข้ากับกระแสการเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็ว สามารถปรับเปลี่ยนความคิดใหม่ ได้ถ้ามีข้อมูลใหม่ที่ดีกว่าและสอดคล้องกับความเป็นจริงมากกว่า

2.4 สมรรถนะด้านมุ่งผลสัมฤทธิ์ (   Achievement  ) 

                                ผู้นำที่มีสมรรถนะมุ่งผลสัมฤทธิ์สูง จะมีมาตรฐานส่วนตัวสูงที่จะปรับปรุงผลงานให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งผลงานของผู้นำเองและของผู้ร่วมงาน เป็นผู้นำที่เป็นนักปฏิบัติ        (pragmatic) โดยกำหนดเป้าหมายที่มีความท้าทายแต่สามารถที่จะบรรลุได้ เป็นผู้ที่สามารถคำนวณด้านความเสี่ยงได้ดีว่า ผลงานที่บรรลุนั้นมีความคุ้มค่าหรือไม่ จุดเด่นการมุ่งผลสัมฤทธิ์ของผู้นำก็คือ การเป็นผู้ใฝ่เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และหมั่นสอนผู้ร่วมงานตลอดเวลา เพื่อให้คุณภาพงานสูงขึ้น 

 2.5 สมรรถนะด้านริเริ่ม (   Initiative   )

                                ผู้นำที่มีจิตสำนึกเรื่องความมีประสิทธิภาพ ( sense of efficacy ) จะพยายามควบคุมกระบวนการต่าง ๆ ของการทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้ดี เป็นคนเก่งในการริเริ่มสิ่งใหม่  เมื่อโอกาสมาถึงก็รู้จักหยิบฉวยโอกาสนั้น แต่ถ้าโอกาสยังไม่มีก็รู้จักสร้างเงื่อนไขให้เกิดโอกาสนั้นขึ้น กล่าวคือมีอุปนิสัยเชิงรุก ( proactive ) ที่ไม่ยอมนิ่งเฉยคอยรอให้โอกาสมาถึงก่อนแล้วจึงเริ่มลงมือทำ ผู้นำที่มีสมรรถนะด้านนี้จะไม่ลังเลต่อการขจัดขั้นตอนความล่าช้าของการทำงาน ( red tape )  ให้หมดไป พร้อมปรับเปลี่ยนกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรค และถ้าจำเป็นก็จะกำหนดแนวทางและเป้าหมายที่ดีกว่าในอนาคต

 

2.6 สมรรถนะการมองโลกในแง่ดี ( Optimism  )

             ผู้นำที่มองโลกในแง่ดีมักมองโลกอย่างมีความหวัง มีแรงจูงใจและกำลังใจสูง

        (Self - motivating)  มองเห็นช่องทางที่เป็นโอกาส  (opportunity) มากกว่าจะมองว่าเป็นภัยคุกคาม     (threat) เป็นผู้นำที่มองเห็นส่วนดีหรือจุดเด่นของผู้อื่นและเชื่อว่าส่วนดีหรือจุดเด่นดังกล่าวสามารถนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ เป็นผู้นำที่เชื่อ - ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างยังไม่มีอะไรที่สมบูรณ์ ( glass half - full ) ดังนั้นจึงคาดว่าการเปลี่ยนแปลงในอนาคตย่อมนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ( พรุ่งนี้ต้องดีกว่าวันนี้ )

สมรรถนะที่เกี่ยวกับสังคม (  Social competence )

                        เป็นสมรรถนะที่ผู้นำใช้เพื่อบริหารความสัมพันธ์กับผู้อื่นให้เกิดผลดี ซึ่งประกอบด้วย 2 ด้าน รวมทั้งสิ้น 9 สมรรถนะ ดังนี้

  1. ด้านความตระหนักรู้ทางสังคม ( Social awareness ) มี 3 สมรรถนะ ดังนี้

      1.1 สมรรถนะในการเข้าใจผู้อื่น (  Empathy )

                     การเข้าใจผู้อื่น ( Empathy ) หมายรวมถึง ความสามารถรับรู้อารมณ์ผู้อื่น เข้าใจถึงมุมมองของคนเหล่านั้น เป็นความรู้สึกแบบ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” และให้ความสนใจต่อความกังวลใจของคนดังกล่าว ผู้นำที่มีความสามารถเข้าใจคนอื่นได้ดีจะเปิดใจตนเองรับรู้กรอบสัญญานทางอารมณ์ได้อย่างกว้างขวาง จึงไวในการรับรู้ถึงความรู้สึกทางอารมณ์ของผู้อื่นโดยไม่ต้องพูด เป็นผู้นำที่รับฟังอย่างตั้งใจและสามารถจับประเด็นที่เป็นมุมมองของผู้อื่นได้ดี ด้วยทักษะในการเข้าใจความรู้สึกผู้อื่นได้ดี ทำให้ผู้นำสามารถเข้ากับบุคคลต่าง ๆ ที่มาจากความหลากหลายทางภูมิหลัง และวัฒนธรรมได้ดี

 1.2 สมรรถนะความตระหนักรู้ด้านองค์การ (  Organizational  awareness )

                   หมายรวมถึง ความเข้าใจสภาพปัจจุบันปัญหาของหน่วยงานรู้เครือข่ายการตัดสินใจและภาวะการเมืองในระดับองค์การได้ดีผู้นำที่มีความเข้าใจทางสังคมสูง จะมีความเข้าใจรู้เท่าทันเกมทางการเมือง รู้วิธีปฏิสัมพันธ์กับเครือข่ายทางสังคมที่สำคัญและสามารถอ่านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่มีอำนาจต่าง ๆ ทางสังคมได้ถูกต้องผู้นำเช่นนี้จึงสามารถเข้าใจถึงพลังการเมืองของกลุ่มต่าง ๆ ภายในองค์การได้ดี ตลอดจนสามารถเข้าใจถึงค่านิยมหลักและกฎเกณฑ์ที่มิได้ระบุเป็นลายลักษณ์อักษร แต่คนภายในองค์การยึดถือและปฏิบัติ

  1.3 สมรรถนะด้านการบริการ ( Service )

                 หมายถึงความสามารถในการรับรู้ และตอบสนองต่อความต้องการของฝ่ายผู้ร่วมงาน ลูกค้าและผู้มีส่วนได้เสียทั้งหลายผู้นำที่มีความสามารถด้านบริการสูงย่อมเข้าใจสร้างบรรยากาศด้านอารมณ์ได้อย่างเหมาะสมเพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานที่ต้องสัมผัสโดยตรงกับลูกค้าสามารถสร้างสัมพันธภาพและความรู้สึกที่ดีต่อกัน ผู้นำจะให้ความสำคัญในการติดตามดูแลตรวจสอบถึงความต้องการมากที่สุดจะอยู่คอยใส่ใจดูแลและเปิดประตูกว้างให้พบปะได้เสมอเมื่อต้องการ

 

2. ด้านความสามารถบริหารจัดการความสัมพันธ์ ( Relationship management )

                        ประกอบด้วยสมรรถนะที่สำคัญอยู่ 5 ประการได้แก่

  2.1 สมรรถนะในการสร้างแรงดลใจ ( Inspiration )

               ผู้นำที่มีความสามารถในการดลใจ ( inspirational leadership ) ย่อมสามารถเป็นผู้ชี้นำและจูงใจผู้ตามให้เกิดความผูกพันยึดมั่นต่อวิสัยทัศน์และพันธกิจร่วมขององค์การด้วยความเต็มใจ เป็นทักษะที่ทำให้ผู้นำมองการณ์ไกลและเป็นความสามารถที่ช่วยสร้างความน่าตื่นเต้นในการทำงานให้กับผู้เกี่ยวข้องทุกคน

 2.2 สมรรถนะด้านอำนาจอิทธิพล ( Influence )

               ตัวบ่งชี้ของผู้นำที่มีอิทธิพล อาจมองเห็นตั้งแต่ระดับง่าย ๆ เช่น ผู้นำใช้การพูดหว่านล้อมจนผู้ฟังคล้อยตามและยินยอมปฏิบัติตาม ไปถึงการใช้อิทธิพลระดับที่มีความซับซ้อน เช่น การที่ผู้นำรู้วิธีการที่จะดึงบุคคลสำคัญเข้ามาเป็นพวกและเข้ามาเป็นเครือข่ายของตน เพื่อให้ช่วยสนับสนุนความคิดใหม่หรือโครงการใหม่ที่ตนจะริเริ่มขึ้น เป็นต้น ผู้นำที่เชี่ยวชาญในการใช้       อิทธิพลจึงมักเป็นนักเจรจาหว่านล้อมได้ดีมีศิลปะการพูดจูงใจต่อหน้าชุมชนสูง

 2.3 สมรรถนะในการพัฒนาผู้อื่น ( Developing others )

              ผู้นำที่มีความสามารถด้านนี้  จะใส่ใจให้ผู้ร่วมงานได้พัฒนาตนเองระหว่างทำงานด้วยการให้คำแนะนำและให้ข้อมูลป้อนกลับตลอดเวลา เป็นผู้นำที่เข้าใจถึงเป้าหมายของผู้ร่วมงานตลอดจนจุดเด่นจุดด้อย ของแต่ละคนจากนั้นก็จะเข้าช่วยเหลือในฐานะเป็นพี่เลี้ยง ( mentors )  หรือผู้ฝึกสอน ( coaches ) ของคนเหล่านั้น

  2.4 สมรรถนะการเป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลง ( Change catalyst )

             ผู้นำที่เป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงได้นั้นคือผู้ที่กล้าท้าทายต่อสถานภาพเดิมเพื่อให้ได้ความเป็นเลิศขึ้นมาใหม่ ผู้นำจะยืนหยัดต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างเข้มแข็งแม้จะอยู่ท่ามกลางผู้คัดค้านก็ตาม สามารถทำให้ข้อขัดแย้งดังกล่าวกลายเป็นเรื่องที่ทุกคนเห็นด้วยว่าจำเป็นต้องทำ นอกจากนี้ผู้นำยังรู้จักหาวิธีการที่เป็นไปได้เชิงปฏิบัติในการเอาชนะอุปสรรคขัดขวางการเปลี่ยนแปลง

  2.5 สมรรถนะในการบริหารความขัดแย้ง ( Conflict management )

            สมรรถนะด้านนี้จะช่วยให้ผู้นำสามารถดึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยอมถอยออกมาจากความขัดแย้ง เพื่อมาร่วมหามุมมองที่แตกต่างกันของแต่ละฝ่ายที่มีต่อปัญหานั้นจากนั้นจึงหาข้อยุติที่ควรเป็นร่วมกันซึ่งทุกฝ่ายให้การยอมรับได้ โดยผู้นำจะแสดงความเป็นกลางอยู่เหนือความขัดแย้ง โดยให้การยอมรับต่อความรู้สึกและทัศนะของทุกฝ่าย แล้วจึงพยายามระดมพลังเพื่อปรับทิศทางใหม่ของทุกฝ่ายให้ไปสู่ข้อยุติร่วมที่ทุกฝ่ายสามารถยอมรับได้นั้น

  2.6 สมรรถนะในการสร้างทีมงานและความร่วมมือ (Teamwork and collaboration )

          เป็นความสามารถในการทำงานแบบทีมของผู้นำ กล่าวคือผู้นำที่ทำตนเป็นสมาชิกที่ดีของทีมย่อมช่วยสร้างเสริมบรรยากาศของความเป็นกัลยาณมิตรที่พร้อมให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลต่อกัน โดยพฤติกรรมที่ผู้นำแสดงออกในการทำงานกลุ่มจะกลายเป็นต้นแบบให้ผู้อื่นเห็นถึงการให้ความยอมรับนับถือ การให้ความช่วยเหลือและการให้ความร่วมมือที่ดีที่สมาชิกพึงมีต่อกันส่งผลให้สมาชิกเกิดความกระตือรือร้น เต็มใจที่จะร่วมผูกพันและใช้ความพยายามร่วมกันเป็นกลุ่มก้อน เสริมสร้างน้ำใจและอัตลักษณ์ของทีม ( team spirit and identity ) ให้เกิดขึ้น ผู้นำจะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเป็นผู้หล่อหลอมและเป็นกาวเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลมากขึ้นกว่า แค่ความรับผิดชอบต่อผลสำเร็จของงานเพียงอย่างเดียว

 

หมายเลขบันทึก: 334915เขียนเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2010 00:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีค่ะ

ครูอ้อย  ไม่เป็นผู้นำที่ดีเลย  เพราะ ชอบทำเอง  ไม่ได้มอบหมายให้ใครทำ  เกรงใจ


สวัสดีครับอาจารย์

   ผมสมาชิกใหม่ขอแนะนำตัวครับ  และขอบคุณข้อมูลที่อาจารย์โพสครับ กำลังต้องการข้อมูลทำรายงานพอดีครับ

ขอบคุณมากค่ะ สำหรับข้อมูลดีๆค่ะ อ่านแร้วทำให้นิ่มรู้เลยว่า..เราต้องปรับปรุงตัวเองตรงจุดไหนบ้างค่ะ เพื่อให้สมกับคำว่า “ ผู้นำ “ ค่ะ ขอบคุณนะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท