SWIT
สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ .

๖ >> หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของคนไร้รัฐไร้สัญชาติ -- ก้าวที่ใกล้ ?


สรุปสถานการณ์ด้านสถานะบุคคลและสิทธิของคนไร้รัฐ/ไร้สัญชาติประจำปี ๒๕๕๒

ด้านสิทธิขั้นพื้นฐาน

๖ >> หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของคนไร้รัฐไร้สัญชาติ -- ก้าวที่ใกล้ ?

ปี ๒๕๔๔ คือปีที่ประเทศไทยประกาศใช้นโยบาย “๓๐ บาทรักษาทุกโรค” ซึ่งเป็นรูปธรรมของ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นที่น่าดีใจว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้นครอบคลุมถึงคนทุกกลุ่มโดยไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งความแตกต่างด้านใดๆ แต่เกือบ ๔ ปีต่อมา บัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง ๓๐ บาท ก็ถูกดึงกลับจากกระเป๋าคนที่ไม่มีสัญชาติไทย ด้วยเหตุผลที่ว่า “บุคคล” ที่ปรากฏในมาตรา ๕ แห่งพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น ได้แก่ “ผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้น”

สำหรับความพยายามอ้างอิงถึงการอธิบายถึง “ผู้ทรงสิทธิ” ในชั้นยกร่างพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๕ โดยอ้างถึงการอธิบายว่า ผู้ทรงสิทธิแห่งพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ นั้น ได้แก่ “บุคคลสัญชาติไทยเท่านั้น” ทาง SWIT เห็นว่า เป็นการกล่าวอ้างเพียงครึ่งเดียว เพราะความคิดเห็นหรือการอธิบายนั้นมีความแตกต่างกันถึง ๓ ความคิดเห็นด้วยกัน กล่าวคือแนวความคิดแรก เห็นว่าควรรับรองสิทธิให้กับ “บุคคลทุกคน[1] ไม่เฉพาะแต่บุคคลสัญชาติไทยเท่านั้น, แนวคิดที่สอง เห็นว่าควรรับรองสิทธิให้กับ บุคคลสัญชาติไทยเท่านั้น[2]และแนวคิดที่สาม-เห็นว่าควรรับรองสิทธิให้กับ บุคคลสัญชาติไทยซึ่งมีภูมิลำเนาในประเทศไทย[3] เท่านั้น ไม่ควรรวมถึงคนสัญชาติไทยที่มีภูมิลำเนาต่างประเทศด้วย

ทาง SWIT ขอตั้งข้อสังเกตว่า ถึงปัจจุบันยังไม่เคยมีการหารือเพื่อนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมาย หรือขอให้มีการตีความในประเด็นผู้ทรงสิทธิแห่งกฎหมายหลักประกันสุขภาพแต่อย่างใด นอกจากนี้ ทางSWIT มีความเห็นว่า การปรับใช้กฎหมาย การตีความ “บุคคล” ในมาตรา ๕ แห่งพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ หากสปสช. หรือหน่วยงานใดจะตีความว่า หมายถึง เฉพาะบุคคลที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น ย่อมเป็นการตีความที่ขาดความเข้าใจต่อสถานะบุคคลตามกฎหมาย (Legal Personality Status) ของบุคคลกลุ่มต่างๆ ที่ปรากฏตัวอยู่ในสังคมไทย

อันได้แก่ หนึ่ง-กลุ่มคนที่เป็นคนไทยตามข้อเท็จจริง หากแต่ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนคนไทย เพราะตกหล่นการสำรวจ หรืออยู่ระหว่างกระบวนการพิสูจน์ตนเพื่อรับเอกสารแสดงตนว่าเป็นคนไทย และ สอง-กลุ่มบุคคลที่แม้จะมิได้มีสัญชาติไทย แต่มีสถานะบุคคลเป็น “ราษฎร” ในทะเบียนราษฎรของประเทศไทย โดยบุคคลดังกล่าวจะได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติ ทะเบียนราษฎร ประเภท ๑๓ และบัตรประจำตัวประชาชน พร้อมทั้งได้รับการกำหนดเลขประจำตัว ๑๓ หลัก หรือได้รับเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคล (Identification Paper) ที่ประเทศไทยออกให้แก่กลุ่มบุคคลดังกล่าว ตามมาตรา ๔ และมาตรา ๒๙ แห่งพ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ และมาตรา ๓๘ แห่งพ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร ฉบับที่ ๒ พ.ศ.๒๕๕๑ ประกอบข้อ ๑๕๒ แห่งระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๕  รวมถึงมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง[4], และข้อ ๓ แห่งระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนประวัติของคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ พ.ศ.๒๕๔๗ และข้อ ๓ แห่งระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนประวัติสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน พ.ศ.๒๕๔๘ อันเป็นการแสดงถึงการรับรองว่าประเทศไทยคือรัฐเจ้าของตัวบุคคล (Personal State) บุคคลดังกล่าว และบุคคลดังกล่าวคือ “ราษฎร” ของประเทศไทย

นอกจากนี้ ยังเป็นการตีความที่ขัดแย้งและละเมิดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐  กล่าวคือ ขัดและละเมิดต่อหลักความเสมอภาคตามมาตรา ๓๐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขัดและละเมิดต่อหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามมาตรา ๔, ทั้งยังละเมิดต่อหลักการและเจตนารมณ์ของมาตรา ๕๒ ซึ่งหลักสิทธิเสรีภาพของบุคคลเหล่านี้ ผูกพันการใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กร ที่จะต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์สิทธิและเสรีภาพ (มาตรา ๒๖) ทั้งในแง่ของการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมาย และที่สำคัญอย่างยิ่งคือการตีความกฎหมายทั้งปวง (มาตรา ๒๗)

และยังขัดต่อพันธกรณีที่ประเทศไทยผูกพันในฐานะรัฐภาคี รวมทั้งสิ้น ๕ ฉบับ ได้แก่ ข้อ ๒๕(๑) แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน, ข้อ ๒๕  กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางแพ่งและสิทธิทางการเมือง, ข้อ ๑๒ แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม, ข้อ ๕(ฉ) ๔) แห่งอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ, ข้อ ๑๒(๑) แห่งอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ และข้อ ๒๔ แห่งนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เนื่องเพราะคนทุกคน, พลเมืองทุกคน, ผู้หญิงและเด็ก คือผู้ทรงสิทธิ

เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ที่ผ่านมา ทาง SWIT ได้ทำข้อเสนอแนะถึงสปสช. ผ่านสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ โดยมีรายละเอียดข้อเสนอแนะดังนี้[5]

๑)        ขณะที่สังคมไทยตระหนักว่า ระบบบริการสุขภาพซึ่งเป็นระบบบริการที่จำเป็นนั้น โดยหลักการแล้วควรต้องครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม กล่าวคือต้องให้บริการทั้งชุมชนโดยไม่แบ่งแยกหรือข้ามเว้นกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จึงจะมีผลในเชิงประสิทธิภาพของงานบริการสาธารณสุข โดยเฉพาะงานบริการด้านสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

ภาพรวมของการจัดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำหรับคนไร้รัฐไร้สัญชาติ จึงควรต้องถูกพัฒนาขึ้น โดยจะเห็นได้ว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำหรับคนไร้รัฐ/ไร้สัญชาติ ย่อมขึ้นอยู่กับจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงตามข้อเท็จจริงของแต่ละคน ที่มีอยู่จริงกับสังคมไทย อาทิ กลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิม คนไทยตามข้อเท็จจริงที่อยู่ระหว่างการแสดงตนและพิสูจน์ตน, กลุ่มคนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยถาวร, กลุ่มคนที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานานแล้ว ผสมกลมกลืนกับสังคมไทยแล้ว และประเทศไทยมีนโยบายให้คนกลุ่มนี้สามารถพัฒนาสถานะบุคคลต่อไปได้ ฯลฯ นอกจากนี้คนกลุ่มนี้ยังมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจต่อสังคมไทย ผ่านการจ่ายภาษีทางอ้อม และแน่นอนว่า ย่อมไม่ได้หมายความว่า จะต้องร่วมจ่ายในอัตราสามสิบ (๓๐ บาท) หรือศูนย์ (0) บาท ณ จุดรับบริการ (Co-Payment) เสมอไป

๒)       สนับสนุนให้สปสช. เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อขอมติคณะรัฐมนตรีในการกำหนดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อคุ้มครองสิทธิในสุขภาพให้กับคนไร้รัฐ/ไร้สัญชาติ เฉกเช่นเดียวกับที่รัฐไทยเคยดำเนินการเพื่อคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิในทางการศึกษาของเด็กไร้รัฐ/ไร้สัญชาติ โดยมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๘ เพื่อรับรองสิทธิทางการศึกษาของเด็กไร้รัฐ/ไร้สัญชาติ จนต่อมาได้นำไปสู่การออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหลักฐานในการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าเรียนในสถานศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๘

๓)       ส่วนประเด็นผู้ทรงสิทธิตามมาตรา ๕ แห่งพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ หากสปสช. ต้องการให้เกิดความชัดเจนในหลักการ อาจส่งเรื่องหารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยส่งไปยังคณะกรรมการ คณะที่เกี่ยวข้อง

๔)       ขอเสนอแนะให้ สปสช. เข้าร่วมมือกับภาคประชาสังคมที่ก่อตั้ง “กองทุนหลักประกันสุขภาพทางเลือก” สำหรับคนต่างด้าวที่ยังไม่มีจุดเกาะเกี่ยวอย่างแท้จริงกับประเทศไทยเพื่อสร้างประสิทธิภาพในการเข้าถึงสิทธิในหลักประกันสุขภาพแก่บุคคลดังกล่าว

๕)       เพื่อการกำหนดทิศทางกฎหมายไทยในอนาคต เสนอให้ทุกฝ่ายร่วมแสวงหาองค์ความรู้ ตรวจสอบสถานการณ์ปัญหาด้านสุขภาพเพื่อความชัดเจนว่ายังมีกลุ่มบุคคลใดที่ยังไม่สามารถเข้าถึงหลักประกันสุขภาพ โดยอาจเริ่มต้นจากการตรวจสอบสิทธิในสุขภาพในสถานการณ์ต่างๆ อาทิ ภายใต้กฎหมายประกันสังคม กฎหมายประกันชีวิตฯลฯ

 


[1] ร่าง พ.ร.บ.ฯ ที่เสนอโดย นายสุวัฒน์ วรรณศิริกุล และคณะ.

[2] ร่าง พ.ร.บ.ฯ ที่เสนอโดย นายภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ และคณะ,ร่าง พ.ร.บ.ฯ ที่เสนอโดยนายอำนวย คลังผา และคณะ, ร่าง พ.ร.บ.ฯที่เสนอโดยนายสิทธิชัย กิตติธเนศวร และคณะ.

[3] ร่าง พ.ร.บ.ฯที่เสนอโดยนายปรีชา มุสิกุล และคณะ.

[4] ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบการให้สถานะเป็นบุคคลต่างด่าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย และการแปลงสัญชาติไทย โดยบุตรที่เกิดในประเทศไทยจากบุคคลเหล่านี้จะได้รับสัญชาติตามพ.ร.บ.สัญชาติและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย (๑) เวียดนามอพยพ (มติครม. ๑๗ มีนาคม ๒๕๓๕, ๒๖ สิงหาคม ๒๕๔๐) (๒) อดีตทหารจีนคณะชาติและจีนฮ่อพลเรือน (มติครม.๑๒ มิถุนายน ๒๕๒๗, ๓๐ มกราคม ๒๕๓๒) (๓) อดีตโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา (มติครม. ๓๐ ตุลาคม ๒๕๓๓, ๒๔ ธันวาคม ๒๕๔๕) (๔) ไทยลื้อ (มติครม.๑๗ มีนาคม ๒๕๓๕) (๕) ผู้อพยพเชื้อสายไทยจากจังหวัดเกาะกง กัมพูชา (มติครม. ๔ กันยายน ๒๕๒๗, ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔, ๒ สิงหาคม ๒๕๔๗) (๖) ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าเชื้อสายไทย (มติครม. ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๔๐), (๗) จีนฮ่ออิสระ มติครม. ๒๙ สิงหาคม ๒๕๔๓, ๒๘ สิงหาคม ๒๕๔๔), (๘) เนปาลอพยพ (มติครม.๒๙ สิงหาคม ๒๕๔๓, ๒๘ สิงหาคม ๒๕๔๔), (๙) ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า (มติครม.๒๙ สิงหาคม ๒๕๔๓, ๒๘ สิงหาคม ๒๕๔๔), (๑๐) ชาวเขาที่อพยพเข้ามาก่อนวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๒๘ (มติครม. ๓ ตุลาคม ๒๕๓๘), (๑๑) ผู้หลบหนีเข้าเมืองชาวลาวภูเขาที่เคยอาศัยอยู่ในประเทศไทย (มติครม.๒๔ ธันวาคม ๒๕๓๔),  (๑๒) บุคคลบนพื้นที่สูงและชุมชนบนพื้นที่สูง (มติครม. ๒๙ สิงหาคม ๒๕๔๓, ๒๘ สิงหาคม ๒๕๔๔, ๔ มกราคม ๒๕๔๘, พฤศจิกายน ๒๕๔๘), (๑๓) ม้งในที่พักสงฆ์ถ้ำกระบอก (มติครม. ๔ มีนาคม ๒๕๔๖), (๑๔) ชาวมอแกน (มติครม. ๑๘ กันยายน ๒๕๕๐)

รวมถึงล่าสุดตามประกาศตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับและกำหนดเขตพื้นที่ควบคุม ที่กำหนดสถานะการอยู่ให้กับกลุ่มผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าเชื้อสายไทย ที่เข้ามาหลังวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๑๙, กลุ่มผู้อพยพเชื้อสายไทยจากจังหวัดเกาะกง กัมพูชา ที่เข้ามาหลังวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๒๐, กลุ่มผู้หลบหนีเข้าเมืองจากกัมพูชา, กลุ่มลาวอพยพ และกลุ่มผู้หลบหนีเข้าเมืองจากพม่า

[5] อ่านข้อเสนอแนะฉบับเต็มได้ที่ http://gotoknow.org/blog/h4s/325270

 

หมายเลขบันทึก: 334846เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2010 19:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท