จากผู้ป่วยระยะสุดท้าย…สู่การดูแลด้วยหัวใจ ตอนที่ 2


“การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย มีความสำคัญมาก เราต้องช่วยให้ผู้ป่วยตายอย่างสงบ ตายดี ตายอย่างสมศักดิ์ศรี(Good Dead) และต้องช่วยลดความวิตกกังวลของญาติ หลักที่สำคัญที่สุด คือ ความเป็นกัลยาณมิตร เพราะความเป็นกัลยาณมิตรจะช่วยให้ผู้ป่วยและญาติรู้สึกอบอุ่น ไว้วางใจ เชื่อใจเรา แล้วหลังจากนั้นเราจะให้เขาทำอะไร คิดอย่างไรเขาก็จะคล้อยตามได้ง่าย”
    หญิงวัยกลางคน ร่างท้วม ท่าทางใจดี ในชุดพยาบาลสีขาว กำลังให้การดูแลผู้ป่วยใกล้เสียชีวิตรายหนึ่ง เธอได้รับการร้องขอจากพยาบาลประจำหอผู้ป่วยแห่งนั้น ซึ่งแม้จะมีพยาบาลที่เคยผ่านการอบรมการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย (End of Life Care) มาบ้างแล้ว แต่ยังมีจิตใจไม่เข้มแข็งรวมทั้งมีประสบการณ์ไม่มากพอ จึงทำให้ไม่มีความมั่นใจว่าจะสามารถให้การดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยใกล้เสียชีวิตได้
 
      เธอกุมมือผู้ป่วยอยู่อย่างอ่อนโยน พร้อมโน้มตัวก้มหน้าลงไปจนเกือบจะชิดใบหน้าผู้ป่วยที่ใกล้จะเสียชีวิตนั้นอย่างไม่มีความรังเกียจเดียดฉันท์ใดๆ ข้างตัวเธอมีบรรดาญาติใกล้ชิด คอยเฝ้ามองด้วยสีหน้าเศร้าหมองห่วงใย
      
       “พี่จิน” ธนภรณ์  กุลทัพ คือพยาบาลผู้นั้น

              

      “พี่จิน” เล่าว่าเมื่อปลายปี 2549 ในที่ประชุมกลุ่มการพยาบาลมีการปรึกษาหารือกันว่าโรงพยาบาลเจ้าพระยายมราชแห่งนี้ จะต้องเริ่มการดำเนินงานการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย
   
     งานนี้เป็นงานสำคัญและต้องการผู้รับผิดชอบที่มีความรู้ความสามารถทั้งทางโลกและทางธรรม ที่สำคัญที่สุด คือ ต้องมีความสามารถในการมองเห็นความทุกข์ยากของผู้คนและรู้คุณค่าของความเป็นมนุษย์ รวมทั้งสามารถให้การดูแลแบบองค์รวมได้
 
    และอาจเนื่องจากที่ทุกคนได้เห็นการปฏิบัติในการดูแลมารดาที่เจ็บป่วยเรื้อรังจนถึงวาระสุดท้ายของเธอ รวมกับผลงานในการดูแลผู้ป่วยที่ผ่านมา
   
     ทำให้“พี่จิน”ได้รับความไว้วางใจจากคณะผู้บริหารในที่ประชุมแห่งนั้นว่าเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติครบถ้วน เพียงพอที่จะให้เป็นผู้รับผิดชอบนำโครงการนี้ให้สำเร็จได้
 
     ด้วยรู้ดีว่าการทำงานเพียงคนเดียวไม่อาจทำให้โครงการนี้สำเร็จลงได้
 
    “พี่จิน” จึงขอจัดตั้งคณะกรรมการดำเนินงาน และจัดอบรมวิชาการเพื่อฟื้นฟูความรู้ เรื่อง “การดูแลผู้ป่วยที่เผชิญกับความตายและใกล้ตาย” กำหนดรูปแบบในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย แล้วร่วมกับบรรดาพยาบาลอาสาสมัครทดลองปฏิบัติในหน่วยงานนำร่องของโรงพยาบาล จำนวน 9 หน่วยงาน เพื่อหาวิธีปฏิบัติที่เหมาะสม
           
     แนวทางปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ของโรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช ยึดหลักการช่วยเหลือผู้ป่วยระยะสุดท้าย โดยวิธีแบบพุทธของพระไพศาล  วิสาโล
   
     ที่เลือกวิธีนี้เนื่องจากผู้ป่วยของโรงพยาบาลส่วนใหญ่เป็นพุทธศาสนิกชน และในทางพุทธศาสนา เชื่อว่า ช่วงเวลาที่จะเปลี่ยนไปสู่สภาพภูมิใหม่ ต้องมีสติ จิตสงบ ไม่เศร้าหมอง จะส่งผลให้ไปสู่สุขคติ
 
     ส่วนผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่นับถือศาสนาอื่น ก็มิได้ถูกทอดทิ้ง ทางโรงพยาบาลจะอำนวยความสะดวกให้ได้ปฏิบัติตามความเชื่อของแต่ละศาสนาเช่นกัน
 
     “การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย มีความสำคัญมาก เราต้องช่วยให้ผู้ป่วยตายอย่างสงบ ตายดี  ตายอย่างสมศักดิ์ศรี(Good Dead) และต้องช่วยลดความวิตกกังวลของญาติ หลักที่สำคัญที่สุด คือ ความเป็นกัลยาณมิตร เพราะความเป็นกัลยาณมิตรจะช่วยให้ผู้ป่วยและญาติรู้สึกอบอุ่น ไว้วางใจ เชื่อใจเรา แล้วหลังจากนั้นเราจะให้เขาทำอะไร คิดอย่างไรเขาก็จะคล้อยตามได้ง่าย”  พี่จิน กล่าว
 
     “พี่จิน” ยังคงปฏิบัติงานเข้าเวร เช้า บ่าย ดึก เหมือนพยาบาลทั่วไป แม้จะต้องรับผิดชอบงานการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นมา
    
      บ่อยครั้งที่ “พี่ศรี” ศรีวิมล โชคสุข พยาบาลหัวหน้าตึกและเพื่อนร่วมงานต้องช่วยกันรับภาระงานแทน เมื่อมีผู้ร้องขอให้“พี่จิน” ไปช่วยดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในหอผู้ป่วยอื่น
 
    บ่อยครั้งอีกเช่นกันที่ต้องใช้เวลาส่วนตัวเพื่อไปช่วยดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ให้คำปรึกษาแนะนำน้องๆ ที่เป็นอาสาสมัคร หรือแม้กระทั่งเผื่อแผ่ไปดูแลให้ถึงโรงพยาบาลเอกชนโดยไม่มีทีท่าว่าจะเบื่อหน่าย
 
     “พี่ถือว่าเป็นโอกาสดีที่พี่จะได้สั่งสมบุญกุศลไว้ เรื่องแบบนี้ทำแทนกันไม่ได้ ยิ่งเราให้เราก็ยิ่งได้รับสิ่งดีๆ กลับคืนมาในชีวิต เราก็สุขใจ” และ “หากมีโอกาสก็รีบสร้างบุญ สร้างกุศลกันไว้เถอะ เพราะเราทุกคนไม่มีใครรู้ว่าพรุ่งนี้หรือชาติหน้าอะไรจะมาถึงก่อนกัน”
    
     นี่คือเหตุผลและคำเตือนสติที่เรามักได้ยินกันอยู่เสมอ
 
     “3 วันสุดท้ายแห่งบุญ” เป็นบันทึกเรื่องเล่าที่เกิดจากประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของ “พี่จิน” เอง
    
     ที่พบว่าการให้การดูแลอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้ผู้ป่วยที่กำลังจะเสียชีวิตสามารถมีชีวิตอยู่ต่อเพื่อสะสมบุญได้อีกถึง 3 วัน นอกจากนี้บันทึกเรื่องนี้ยังช่วยให้ผู้ที่ได้อ่านเกิดการเรียนรู้ถึงวิธีการ ขั้นตอนการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้เป็นอย่างดี
   
     และนี้เป็นข้อความส่วนหนึ่งจากบันทึกนั้นของ  “พี่จิน” ที่ทำให้เห็นภาพการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้เป็นอย่างดี
      
      ...สิ่งแรกที่ฉันทำ คือ เข้าไปจับมือผู้ป่วยพร้อมกับโน้มตัวไปพูดที่ข้างหูเพื่อแนะนำตัวเองและบอกเธอว่าฉันนิมนต์พระได้แล้ว  ท่านกำลังเดินทางมานึกถึงบุญกุศลและความดีต่าง ๆ ที่ได้ทำมาทั้งหมด ทอดกฐิน  ทอดผ้าป่า  คุณสำลีไม่มีลูกชายก็มีโอกาสได้บวชพระหลานชาย  นึกถึงพระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์ไว้นะ  นึกถึงหลวงพ่อโตไว้  ไม่ต้องห่วง ไม่ต้องกังวลลูกๆ ก็มีงานทำเป็นหลักเป็นฐานแล้ว ขออโหสิกรรมให้กับทุกคนด้วยนะ  ฉันจับมือสามีมาไว้ที่อกผู้ป่วย และจับมือลูกทั้ง 2 คนมาไว้ที่มือแม่   
    
      “คุณสำลีเป็นแม่ที่ประเสริฐที่สุด และเป็นภรรยาที่ดีทุกคนเป็นกำลังใจให้นะ ไม่ต้องห่วงไม่ต้องกังวลนะ (เสียงลูก 2 คนดังตามมาแม่ไม่ต้องห่วงนะ)  ลูกๆ เตรียมของให้คุณสำลีถวายสังฆทาน พระพุทธรูป และปัจจัย บุญกุศลจะได้ช่วยให้คุณสำลีพบเจอแต่สิ่งที่ดี ผ้าสบงและเครื่องสังฆทานอยู่ในมือแล้วนะตั้งจิตให้เป็นกุศล สาธุๆๆ นะ ในมือคุณตอนนี้จับพระพุทธรูปอยู่นะ ตั้งจิตอธิษฐานและสาธุๆๆๆ” 
      
      ฉันตั้งใจจะให้ผู้ป่วยมีอาการระลึกนึกถึงบุญหลายๆ ครั้ง เพราะไม่รู้ว่าเขาจะรับรู้ได้มากน้อยแค่ไหน และที่สำคัญพระท่านจะมาทันรึเปล่า ภาพที่หลายคนเห็นรวมทั้งฉัน คือคุณสำลีพยายามใช้มือจับพระพุทธรูปไว้ ฉันติดต่อหลวงพี่อีกครั้ง ท่านบอกว่าอยู่หน้าลิฟท์แล้ว ฉันจึงขอแรงญาติอีกเตียงหนึ่งที่รู้จักพระไปรับพระที่หน้าลิฟท์และหันมาบอกคุณสำลีว่าพระกำลังมาถึงแล้วนะ ทำใจให้สบายนะ  หายใจช้าๆ ปล่อยวางทุกอย่าง  กำหนดลมหายใจช้าๆ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ…
         
     ...ฉันจับมือลูกและสามีให้พร้อมใจกันจับสิ่งของต่างๆ ไว้ในมือทีละอย่างพร้อมกับเสียงสาธุ  หลังถวายของเสร็จ  เสียงหลวงพี่ดังขึ้นมา 
   
     “พร้อมใจกันกรวดน้ำ อุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวร และรับพรพระนะ”
 
      ฉันมองไปยังผู้ป่วยและคนรอบเตียง  ผู้ป่วยมีอาการหายใจลำบากมากขึ้น  หายใจช้าลง  แต่ทุกครั้งที่กราบ ดูเหมือนผู้ป่วยจะพยายามขยับมือทั้งสองข้างในการโมทนาบุญ ทุกคนตั้งใจกรวดน้ำ และรับพระเสร็จ หลวงพี่  “โยมจับชายผ้าเหลืองไว้นะโยม ถ้าจะอยู่ก็ขอให้มีสุขภาพแข็งแรง ถ้าจะไปก็ขอให้ไปดี”
 
        ...วันที่ 22 สิงหาคม 2552  เวลา  19.00น. ผู้ป่วยจากไปด้วยอาการสงบมาก รู้สึกตัวตลอด ชีวิตที่เหลือในการตั้งใจสร้างกุศลครั้งสุดท้ายมีเวลาถึง  3  วันกับ 9 ชั่วโมง  มันช่างเป็นเวลาวิเศษสุดสำหรับญาติที่บอกว่าหนูได้ใช้เวลาทั้งหมดสะสมบุญกุศลให้แม่ก่อนจากไปอย่างสงบได้ทำทุกสิ่งที่หนูอยากทำหมดแล้วฉันได้ไปเยี่ยมผู้ป่วยรายอื่นอีกก็ได้รู้ว่า

 

     “ลูกสาวและสามีคุณสำลีเขาซาบซึ้งพี่มาก เขาขอบคุณพี่มากที่ช่วยให้แม่มีชีวิตต่อได้อีก 3 วัน”
         
          บทเรียนชีวิตของคุณสำลีในช่วงระยะ 3 วันสุดท้าย  มันช่างเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่หลายคนได้สัมผัสอย่างรู้สึกว่าบุญกุศลนี้มันช่างอัศจรรย์จริง ๆ สำหรับฉันรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่ายิ่ง  ช่วยกระตุ้นให้อีกหลายชีวิตเห็นความสำคัญกับการสร้างและสะสมบุญกุศลไว้มาก ๆ ไม่ต้องรอโอกาส ไม่ต้องรอเวลาที่เหมาะสม  ให้รีบทำทันทีก่อนจะไม่มีเวลาเหลือให้ทำ…
 
      นี่เป็นข้อความส่วนหนึ่งในจดหมายที่ส่งมาขอบคุณ“พี่จิน”
         
      “ความรู้สึกในเวลานั้นลูกและสามีมีความประทับใจในการสร้างบุญกุศลในครั้งนี้อย่างมาก ในความโชคร้ายของแม่ แต่ก็มีความโชคดีด้วยที่แม่ได้ทำบุญถวายสังฆทาน สร้างพระพุทธรูป ต้องขอขอบคุณพยาบาลชื่อ น.ส.ธนภรณ์  กุลทัพ  ที่แนะนำสิ่งที่ดีที่สุดก่อนแม่จะจากพวกเราไป  พวกเรารู้สึกอิ่มบุญ และอิ่มใจ ถึงแม่จะจากพวกเราไปแต่เราก็ยังมีแม่อยู่ในใจ และรู้ด้วยว่าแม่ไปสบาย แม่จากไปด้วยอาการสงบสุข”   
 
          “พี่จิน” ได้สรุปบทเรียนที่ได้รับจากการเป็นผู้ให้โดยไม่หวังผลตอบแทนของเธอไว้อย่างน่าคิด
 
       ...สำหรับฉันรับรู้มาตลอดกับคำว่ายิ่งให้ยิ่งได้คืออะไร แต่ครั้งนี้มันกลายเป็นปิติที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ที่เกิดขึ้นในใจฉัน มันเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่จะช่วยให้ฉันก้าวไปช่วยชีวิตอื่นๆ อีกต่อไปอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยฉันรู้สึกตั้งมั่นที่จะทำความดีต่อไป  ด้วยใจที่อยากจะให้จริง  ๆ 
 
        ขอขอบคุณทุกชีวิตที่ช่วยเป็นครูให้กับฉัน  และช่วยให้ฉันเกิดพลังที่จะช่วยเหลือคนอีก  ขอให้ดวงวิญญาณของคุณสำลีจงไปสู่สุขคติเทอญ...
หมายเลขบันทึก: 334196เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2010 21:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

ให้กำลังใจคุณโยม

เขียนดีมากเลย

เห็นด้วยกับพระอาจารย์มหาแลครับ

พี่เจี๊ยบเขียนได้ดีมาก ๆ เลยครับ

มาเรียนรู้ด้วยนะคะ สุดยอดจริงๆค่ะ

อนุโมทนาบุญครับ

จิตใจประเสริฐมาก ๆ ขอจงมีพลังจิตสูงยิ่งๆขึ้นไป

ขอทราบเวลาที่อยู่อีก 3 วันนั้น มีกิจกรรมอะไรต่อครับ

น่าสนใจมาก

ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะ ทุกท่าน ท่านใดสนใจ "3 วันสุดท้ายแห่งบุญ" ตามไปอ่านได้ ตาม Link นี้ค่ะ

http://gotoknow.org/blog/sha-yomraj/414560

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท