พลังชีวิตของความเป็นครู (๑) : คุณครูกล้วยน้ำว้า


วันนี้ ๔ ก.พ.๕๓ เป็นวันเริ่มต้นประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ท้าทายที่สุดในชีวิตความเป็นครูเลยทีเดียว

 

ภาระหน้าที่ที่ได้รับคือการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้ นักเรียนชั้น ป.๖/๓ มีความรู้และความเข้าใจในความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นที่ อยุธยา มีต่อ รัตนโกสินทร์ตอนต้น

 

เด็ก ป. ๖ เป็นเด็กที่เล็กที่สุดที่เคยสอนมา และเด็กห้องนี้ก็เป็นที่เลื่องลือว่าคุยเก่งกว่าห้องไหนๆ และมีเด็กผู้ชายที่พร้อมชวนกันเล่นตลอดเวลา เมื่อชั่วโมงแรกผ่านไปแล้วก็เห็นว่าจริงตามนั้น เพราะยังไม่เคยเห็นเด็กที่ไหนคุยเก่งเท่านี้มาก่อนเลย

 

ก่อนเข้าสอนก็เตรียมหาข้อมูลจากครูที่เคยสอนก่อนหน้านี้ว่า

 

  • สมาชิกของห้องนี้มีใครบ้าง
  • แต่ละคนมีลีลาการเรียนรู้เช่นไร (learning style) ใครชอบที่จะเรียนรู้ด้วยการเห็น (vision) การฟัง (auditory) หรือการเคลื่อนไหว (kinesthetic)
  • แผนการเรียนรู้และผลสัมฤทธิ์ของการเรียนรู้ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร
  • เมื่อเรียนอยู่ชั้น ป.๔ และ ป.๕ เคยได้เรียนรู้ และเคยไปออกภาคสนามในหน่วยใด

 

โชคดีที่เมื่อเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว คุณครูเหล่น – จันทร์ทิพย์ ได้จัดทำประมวลภาพการพานักเรียนห้องนี้ไปออกภาคสนามที่สวนออนซอน ของคุณลุงเลี่ยม บุตรจันทรา เอาไว้ เพื่อใช้นำเสนอในช่วงของการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้เด็กมีอุปนิสัยพอเพียง เพื่อใช้ในงานประกวดเรื่องเล่าเศรษฐกิจพอเพียงฯ ของมูลนิธิสยามกัมมาจล ที่จัดขึ้นที่โรงเรียนเพลินพัฒนา ทำให้มีสื่ออย่างดีในใช้ทำความรู้จักกับพวกเขาก่อนที่จะได้พบกับตัวจริง

 

 

แรกพบ

 

ชั่วโมงแรกไปพบกันที่ห้องโสตทัศนศึกษา บนชั้น ๓ ของห้องสมุด

 

นั่งรอนักเรียนอยู่ที่เบาะนั่ง เยื้องไปทางด้านหลังของครูมีจอโทรทัศน์ขนาดใหญ่วางอยู่ ให้ทุกคนที่เข้ามานั่งล้อมวงกัน เพื่อให้ทุกคนเห็นหน้าเห็นตากันหมด เห็นได้ชัดว่าเด็กผู้หญิงนั่งอยู่รวมกันฟากหนึ่ง และเด็กผู้ชายนั่งรวมกันอยู่อีกฟากหนึ่ง

 

ประโยคแรกที่ได้ยินก็คือ ครูชื่ออะไรครับ / คะ  ซึ่งก็เป็นไปตามที่ได้คาดการณ์ไว้แต่แรกแล้วว่านักเรียนกลุ่มคงจะไม่รู้ชื่อของครูแน่ แต่ส่วนใหญ่แล้วก็จะคุ้นหน้าคุ้นตากันมาตั้งแต่พวกเขาเด็กๆ จึงตั้งใจว่าจะใช้ตัวเองเป็นบุคคลปริศนาให้เด็กสืบค้น เพราะเรากำลังเรียนรู้ความเป็นมาของประวัติศาสตร์ที่ต้องมีการสืบค้น

 

ตอนต้นชั่วโมงเด็กชายคนหนึ่งที่ช่างคิดมาช่างสงสัยมาตั้งแต่เด็ก สวมแว่นตาตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นอนุบาล คุณครูเลยพากันเรียกเด็กคนนี้ว่า “ท่านตุล” ตุลคงอยากจะสื่อสารกับครู แต่ไม่รู้ชื่อ เขาเลยเรียกออกมาว่า "คุณครูกล้วยน้ำว้า"

 

พอหมดชั่วโมงก็จึงถามเขาว่า ทำไมตุลถึงเรียกครูว่าครูกล้วยน้ำว้าหละ ตุลตอบกลับมาด้วยสายตาที่ใสแจ๋วเป็นประกายแวววาวว่า “ก็ครูตัวขาว” ครูเลยบอกเขาไปว่า “แล้วตุลจะได้รู้ว่าครูก็มีประโยชน์มากเหมือนกล้วยน้ำว้าด้วยนะ”

 

หมายเลขบันทึก: 334179เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2010 20:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 12:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

วันนี้ก็เจอเรื่องที่ท้าทายชีวิตครูเช่นกันค่ะ อาจไม่เหมือนเรื่องของครูกล้วยนำ้ว้านัก แต่ก็คงจดจำเรียนรู้กับมันเช่นกัน. เป็นกำลังใจให้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท