ถึงเวลาพาไปทะเลอีกหน: จริยธรรมสัญจร ปี 9


ถึงเวลาพาไปทะเลอีกหน: จริยธรรมสัญจร ปี 9

            จัดไปจัดมาก็ล่วงเข้าสู่ปีที่ 9 แล้วเหรอเนี่ย

            นี่เป็นคำอุทานส่วนตัว ที่แอบรู้สึกภูมิใจลึกๆ ว่าภาควิชาสูติฯของเราสามารถดำเนินกิจกรรมดีๆอย่างนี้มาได้อย่างยาวนาน มีบางปีบ้างที่อาจจะต้องหยุดไปด้วยเหตุผลบางอย่าง แต่หลังๆมานี้ เราสามารถจัดกิจกรรม “จริยธรรมสัญจร” ได้ทุกปี เริ่มตั้งแต่การจัดที่หาดเจ้าไหมตั้งแต่เมื่อครั้งที่ผมเป็นแพทย์ใช้ทุนปีที่ 3 เมื่อปี พ.ศ. 2541 ซึ่งแม่งานหลักก็คืออาจารย์กระแต รองหัวหน้าภาควิชาฝ่ายการศึกษาหลังปริญญาในขณะนั้น อาจารย์กระแตและอาจารย์สายบัวได้วางรากฐานแนวคิดเรื่องการเรียนการสอนจริยธรรมทางการแพทย์ไว้ตั้งแต่เมื่อราว 10 ปีก่อน จนเรากล้าพูดได้อย่างเต็มภาคภูมิเลย ว่าภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยาของสงขลานครินทร์ เป็นผู้นำด้านการเรียนการสอนเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นการจัดกิจกรรมในสถานที่ ซึ่งเน้นเรื่องการวางแนวคิดด้านหลักการทางเวชจริยศาสตร์ การคิด วิเคราะห์และวิจารณ์ ในกรณีศึกษาที่ผู้จัดได้วางแผนไว้ ผมตั้งชื่อกิจกรรมแบบนี้ว่า “จริยธรรมสาธก” โดยภาควิชาได้กำหนดให้มีการเรียนการสอนเรื่องจริยธรรมไว้ปีละ 4 ครั้ง แต่ปัญหาหลักๆของการจัดกิจกรรมจริยธรรมสาธกก็คือ ผู้เข้าเรียน

            แพทย์ใช้ทุนและแพทย์ประจำบ้านคือผู้เข้าเรียน แต่เนื่องจากเขาทั้งหลายต่างก็เป็นผู้ทำงานหลัก ดังนั้น เมื่อคราวที่เราจัดกิจกรรมขึ้นมา ท่านทั้งหลายเหล่านี้ก็จะติดกิจกรรมต่างๆ เป็นต้นว่า ติดผ่าตัด ติดผู้ป่วยที่ OPD (หมายถึงติดภาระกิจการตรวจรักษานะครับ ไม่ใช่ติดอย่างอื่น) ติดทำคลอด หรือบางคนก็อาจจะติดอย่างอื่นจริงๆ (อันนี้คิดเอาเอง) ทำให้ในการจัดกิจกรรมในบางครั้งมีครูมากกว่านักเรียน แต่นั่นก็เป็นภาวะปกติของการจัดกิจกรรมอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับแพทย์ เพราะเขาเป็นแพทย์ และงานที่เขาทำก็เกี่ยวเนื่องกับคนไม่สบาย และคนไม่สบายก็เลือกที่จะไม่สบายได้โดยไม่ขึ้นกับความว่างของหมอ เราจึงเข้าใจครับ จึงกำหนดให้จัดปีละ 4 ครั้งร่ำไป แบบว่า ไม่เข้าครั้งนี้ก็เข้าครั้งหน้า ไม่เข้าปีนี้ก็เข้าปีหน้า จัดไปจัดมาท่านก็ต้องเข้าจนได้ แถมเรายังมีเจ้าแม่จริยธรรมที่คอยออกข้อสอบเป็นประจำอีกด้วย

            การจัดสัญจรจึงน่าจะเป็นคำตอบของปัญหาข้างต้นครับ เพราะเราพาเขาไปข้างนอก ไปจัดกันไกลๆ ไกลชนิดที่ว่าไม่สามารถกลับม.อ.ได้เมื่อถูกตาม อันนี้คงหมายถึงอาจารย์ เพราะหากอยู่ใกล้ๆ เดี๋ยวก็ถูกตามไปทำคลอดบ้าง กลับไปนอนที่บ้านบ้าง ไปเปิดคลินิกบ้าง พอสังเขป ดังนั้นต้องออกไปไกลๆครับ

            หลายคนว่าเราไปเที่ยว ผมก็ไม่รู้จะปฏิเสธไปได้อย่างไร เพราะได้เที่ยวจริงๆ แต่เที่ยวไปเรียนไปก็น่าจะเป็นรูปแบบที่ดีมิใช่หรือ ทำงานเหนื่อยล้ามาแทบตลอดปีได้พักผ่อนสัก 2 วัน ก็ไม่น่าจะเสียหาย แต่จะว่าไปนี่เป็นการพักผ่อนที่ออกจะเหนื่อยไปสักหน่อย เพราะเอาเข้าจริงๆ เราจัดสัมนากันเต็มๆ มีเวลาให้หยุดพักผ่อนในสระน้ำหรือในทะเลเพียงครู่เดียวเท่านั้นเอง แต่เอาน่ะ พักก็พัก

            ย้อนกลับไปเมื่อปีที่แล้ว เราไปจัดกิจกรรมกันที่ โรงแรม Pavilion Queens Bay อ.เมือง จังหวัดกระบี่ โดยหัวข้อหลักของการพูดคุยกันก็คือ “กระบวนการสื่อสารโดยใช้ SBAR model” อ่ะฮ้า....ฟังดูน่าสนใจใช่ไหมครับ SBAR (situation-background-assessment-recommendation) เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสารระหว่างสมาชิกของทีมผู้ให้บริการเกี่ยวกับสภาวะของผู้ป่วย ง่ายต่อการจดจำ มีการกำหนดกรอบของการสนทนา และมีประโยชน์อย่างยิ่งในภาวะวิกฤติ ซึ่งหากมีการปฏิบัติจนเกิดความคุ้นเคย ประสิทธิภาพของการรักษาพยาบาลจะเกิดสูงสุด ส่งผลดีและมีความปลอดภัยต่อผู้ป่วย และหลังจากที่เรากลับมาจากกระบี่ครั้งนั้นก็ได้ทดสอบรูปแบบการสื่อสารดังกล่าวในสถานการณ์จริง ก็ได้พบว่า พัฒนาการด้านการรายงานกรณีผู้ป่วยดีขึ้น แต่ก็ยังมีปัญหาเล็กๆน้อยๆที่ต้องค่อยๆปรับเปลี่ยนกันบ้าง

            การพัฒนาเมื่อครั้งนั้น เราเน้นทักษะการพูด การบอกเล่าเหตุการณ์ การรายงานกรณีผู้ป่วย โดยอาจารย์แพทย์เป็นผู้รับฟัง รับรายงาน มาครั้งนี้ เราอยากจะพัฒนาไปในอีกส่วนหนึ่ง นั่นก็คือพัฒนาการฟัง มันจะได้ครบเครื่องทั้งสองส่วน คือมีผู้พูดแล้วก็มีผู้ฟัง ฟังอย่างเข้าใจ เข้าใจทั้งในส่วนของสิ่งที่ผู้ส่งสารต้องการให้ได้รับ อีกทั้งฟังอย่างตั้งใจ ฟังให้ได้ยิน

            “ฟังให้ได้ยิน” เรื่องนี้น่าสนใจอยู่ไม่น้อยนะครับ เพราะว่าปัญหาส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ก็คือ การไม่ฟังกัน หรือสักแต่ว่าฟังแต่ไม่ได้ยิน ผมได้กำหนดให้กิจกรรม world café เป็นเครื่องมือในการพัฒนาการฟังของสมาชิกในภาควิชา โดยท่านอาจารย์สกลนกไฟจะเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้ได้กรุณามาช่วยจัดให้

            อ่านมาตั้งนานแล้วยังไม่รู้เลยใช่ไหมครับ ว่าผมจะพามวลหมู่สมาชิกไปจัดกิจกรรมกันที่ไหน คำตอบก็คือ “ตาลคู่บีชรีสอร์ท” อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราชครับ เมื่อปีใหม่ที่ผ่านมา ผมพาครอบครัวไปพักผ่อนที่นั่น 2 คืน ซึ่งพบว่าไม่ผิดหวัง รีสอร์ทนี้มีคนให้ระดับไว้ 3 ดาว ตั้งอยู่ที่หาดหน้าด่าน ไม่ใช่หาดในเพลาอันเป็นที่นิยม จึงทำให้บรรยากาศโดยรอบดูสงบ ผู้คนไม่พลุกพล่าน ชายหาดยาวขาวสะอาด สระว่ายน้ำก็สวยงาม ไม่ลึกจนเกินไป ผมสามารถดูแลลูกสาวทั้ง 2 คนได้โดยไม่ต้องเป็นกังวลมากนัก (แบบว่า หากหมดแรงเสียก่อน ยังไงเสียก็ยังยืนโผล่พ้นน้ำ)

            เอาเป็นว่า 27-28 เดือนกุมภาพันธ์ ศกนี้ เราจะไปด้วยกันครับ

หมายเลขบันทึก: 333013เขียนเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2010 13:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 12:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อยากไปด้วยจัง..แต่ไม่ว่าง

ถ่ายรูปโลมา มาฝากบ้างนะคะ..ถ้าเจอน่ะ

จะจัดทริปเพื่อความฉลาดและการเรียนรู้ให้น้องจิเหมือนกันค่ะ

ว่าจะเที่ยวหลากหลายเลยค่ะ แต่คงไม่ใช่ทะเลค่ะ อิอิ อาจเป็นซาฟารีเวิลด์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท