AnthroCat-Thailand
นาย ปรัชญาณินทร์ วงศ์อทิติกุล

เมื่อลูกศิษย์ถามว่า "จะมีความมั่นคงไหมคะ"


"การพัฒนาใด ๆ ควรพัฒนาประชาชนให้มีความรู้เป็นทุนเสียก่อน จึงค่อยให้ทุนในรูปแบบทรัพย์สิน เงินทุน แก่พวกเขา ดังนีัแล้ว การพัฒนาจึงจะประสบความสำเร็จ".......ความมั่นคงในชีวิต อยู่ที่ความรู้ที่เราสะสมเป็นุทน รวมทั้ง คิดเป็น วิเคราะห์เป็น และเลือกที่จะดำเนินชีวิตตามที่เราอยากจะเป็นต่างหาก

เมื่อประมาณช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมกราคม 2553 (จำวันที่ไม่ได้) ขณะที่ผมกำลังนั่งตรวจงานอยู่ที่โต๊ะทำงานในห้องพัก ก็มีนักศึกษาหญิงคนหนึ่งมาขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการเลือกสาขาวิชาเรียน เธอเป็นนักศึกษาโปรแกรมวิชา International English Studies (IES) ซึ่งผมสอนไปเมื่อตอนเทอม 1/2552 ด้วยเธอกำลังจะตัดสินใจเลือกเรียนในสาขาวิชาใหม่ โดยจะหยุดและเลิกเรียน IES โดยเด็ดขาด เพราะเหตุผลที่ว่า เรียนไม่ไหว ระดับภาษายังไม่อยู่ในระดับที่จะเรียนด้วยภาษาอังกฤษล้วน ๆ เธอจึงเข้าไปที่เว็ปไซต์ของมหาวิทยาลัย เพื่อเยี่ยมชมเว็ปไซต์ของคณะต่าง ๆ หาข้อมูลสาขาวิชา และเธอก็ได้แวะมาที่เว็ปไซต์ของวิทยาลัยที่ผมสังกัดอยู่ซึ่งประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับหลักสูตรชาติพันธุ์ศึกษาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง แล้วเธอเกิดความสนใจที่จะเรียน จึงมาพบผมด้วยประการฉะนี้

หลังจากที่พูดคุย ซักถาม และผมได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับเนื้อวิชาต่าง ๆ ที่ผู้เลือกเรียนจะได้รับ ก็มาถึงคำถามสุดฮิตที่ทุกคนต้องถามตามกระแสตลาดแรงงานภายใต้ระบบทุนนิยมและค่านิยมส่วนใหญ่ นั่นก็คือ “ถ้าจบหลักสูตรนี้ไปแล้วจะทำงานอะไร? มีความมั่นคงในอาชีพมากแค่ไหน?” ใช่แล้วครับ เป็นคำถามที่น่าคิดและต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนละเอียดละออถึงระดับอนุภาคโมเลกุลกันเลยทีเดียว เพราะปัจจุบันประเทศไทยก็ตกอยู่ในกระแสเศรษฐกิจทุนนิยมที่เน้นเรื่องแรงงาน การจ้างงาน และการมีรายได้จากการเป็นลูกจ้างในบริษัท ห้างร้าน อีกอย่าง การทำงานมีรายได้ก็เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ และมองว่า นั่นคือ “ความมั่นคง”

ตอนแรก ผมก็ฉุกคิด นิดหนึ่งเหมือนกันว่า “เอ้อ...จริงสินะ มั่นคงไหม” นั่นแสดงว่าผมก็หลงไปกับกระแสนิยมและค่านิยมเหมือนกัน (แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การที่ผมทำงานเป็นอาจารย์รับเงินเดือนจากมหาวิทยาลัยนี่ก็เป็น แรงงานในกระแส เช่นเดียวกับเขา) แต่ สิ่งที่หนึ่งที่ทำให้ผมเกิด “ปัญญา” ดังคำที่ว่า “การถูกถาม การให้คำตอบแก่คำถามผู้อื่น นั่นคือรูปแบบการสอนตนเองในทางหนึ่ง” (ใครไม่รู้กล่าวไว้ หรือไม่ได้กล่าวเอาไว้ ผมคิดเอาเอง ณ ตอนนี้) จึงได้คำตอบแก่ตนเองขึ้นใน “หัว” แล้วจึงเอ่ยออกไปเป็นคำตอบสำหรับคำถามที่ถูกถามโดยนักศึกษาหญิงคนนั้น ว่าดังนี้

“ก่อนอื่นครูของถามหนูก่อนว่า อะไรคือความมั่นคง และความมั่นคงจะเกิดขึ้นได้อย่างไร” นักศึกษาเงียบ (อาจเพราะ รอคำอธิบายต่อ ตามวิถีปกติของนักศึกษาที่ชอบฟังเลคเชอร์)

ผมก็พูดต่อไปว่า “เคยสังเกตไหมว่า ทุกวันนี้ ทุกคนหวังที่จะมีรายได้ที่อยู่ในรูปเงินเดือน ที่ถือกันว่าเป็น “รายประจำที่มั่นคง” เพราะได้รับทุกเดือน และแน่นอนว่า การจะมีรายได้แบบนี้ ก็ต้องทำงานในหน่วยงานธุรกิจเป็นหลัก ไปเป็น พนักงาน ลูกจ้าง ก็ว่ากัน แต่ยังมีหน่วยงานที่รองรับคนเข้าไปทำงานที่เรียกว่า Social Organization (องค์กรทางสังคม) จำพวก NGO อีกมากมาย ถึงแม้บางองค์กรไม่ได้ว่าจ้างในรูปแบบตลอดไป แต่จ้างในรูปแบบการทำงานประจำโครงการมีกำหนดเวลา แล้วก็จ่ายค่าตอบแทนเป็นเดือน ๆ ไป บางคนก็ทำงานกันมานานไม่เห็นจะอดอยาก ถามว่าเขา มั่นคงไหม?” นักศึกษาหญิงผู้น่ารักคนนี้ ก็พยักหน้า (เห็นด้วยหรือเปล่า ผมก็ไม่แน่ใจ)

ผมดำเนินเรื่องต่อ (เพื่อสอนย้ำเตือนตัวเองไปในเวลาเดียวกัน) “ฉะนั้น สิ่งที่จะถูกนับว่ามั่นคงไม่มั่นคง ต้องอยู่ที่ เราเป็นคนเลือกและมอง สมมติว่า หลังจากที่หนูจบไป ไปเป็นข้าราชการ ทำงานในบริษัทใหญ่โต แต่วันหนึ่ง หนูทนต่อหัวหน้างาน ทนต่อระบบไม่ไหว เกิดความอัดอั้น จนในที่สุดหนูก็ลาออก หรือเกิดว่าถูกกลั่นแกล้ง บริษัทล้ม หนูก็ต้องออกจากงาน เมื่อถูกเลิกจ้าง ก็หมดรายได้เหมือนกัน แล้วการที่เราคิดว่าเงินเดือนประจำคือความมั่นคง มันยังจะมั่นคงอยู่อีกไหม” นักศึกษาหญิงผู้น่ารักที่นั่งฟังอย่างใจเย็นจดจ่อ ก็พยักหน้าอีก (ไม่รู้จะคล้อยตามหรือว่ากระไร)

ผมก็ดำเนินเรื่องต่อไป “ลองกลับไปมองรุ่นปู่ย่า ตายาย พ่อแม่เรา ถามว่า ท่านเหล่านั้น มีรายได้เป็นเงินเดือนไหม ทำงานบริษัทไหม แต่ทำไมท่านถึงอยู่ได้ มีชีวิต มีรายได้ มีทรัพยากรในการเลี้ยงดูเราจนเติบใหญ่ขึ้นมาได้ แล้วในรูปแบบนี้ ท่านมีชีวิตที่มั่นคงหรือเปล่า?” (พยักหน้าอีก)

ผมก็สรุปทันทีว่า “ครูเห็นและเชื่อว่า ท่านมีความมั่นคงในชีวิตสูงกว่าพวกเราที่กินเงินเดือนมาก เพราะท่านมีความรู้ในการทำนา ท่านมีผืนนาเป็นทุนในชีวิต ท่านจึงอยู่ได้ เลี้ยงเราได้ ฉะนั้น ครูก็อยากให้หนูลองคิดดูอีกทีว่า หากย้ายมาเรียนสาขาวิชานี้แล้ว หนูคิดว่าหนูจะมีความมั่นคงในชีวิตในอนาคตหรือไม่ แล้วถ้าตัดสินใจได้แล้วก็มาพบครู จะเรียนไม่เรียน ก็ได้ แต่ครูก็อยากจะรู้ว่า หนูมีความคิดอย่างไร”

และแล้ว นักศึกษาหญิง ก็นั่งถามอะไรต่ออีกนิดหน่อย จึงลากลับ

หลังจากที่เธอกลับไปแล้ว ผมก็นั่งคิดต่ออีกนิดว่า “เออ...นะ บางทีเราก็ว้าวุ่นกับระบบประกันคุณภาพ งานด้านเอกสาร การทำผลงาน เพื่อสะสมเป็น Portfolio เพื่อให้ผ่านการประเมินรับการจ้างงานในสัญญาปีต่อไปนั้น ก็ไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว” เพราะในเมื่อวันนี้ ผมได้คำตอบมาแล้ว และด้วยความรู้ความสามารถที่พอมี ก็คงไม่ทำให้อดตาย ไปได้หรอกน่า

ความมั่นคงในชีวิต อยู่ที่ความรู้ที่เราสะสมเป็นุทน รวมทั้ง คิดเป็น วิเคราะห์เป็น และเลือกที่จะดำเนินชีวิตตามที่เราอยากจะเป็นต่างหาก

ก่อนจบ ผมระลึกถึงกระแสพระราชดำรัสเกี่ยวกับการพัฒนาประชาชนในประเทศชาติของเราซึ่งผมขออนุญาตสรุปใจความโดยไม่ยกกระแสพระราชดำรัสทั้งองค์มาไว้ ณ ที่นี้ ว่า

"การพัฒนาใด ๆ ควรพัฒนาประชาชนให้มีความรู้เป็นทุนเสียก่อน จึงค่อยให้ทุนในรูปแบบทรัพย์สิน เงินทุน แก่พวกเขา ดังนีัแล้ว การพัฒนาจึงจะประสบความสำเร็จ"

อุโมทนาบุญ และขอบคุณนักศึกษาหญิงคนนั้น ที่กลายเป็นครูของผมในขณะเดียวกัน

 

 

หมายเลขบันทึก: 332937เขียนเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2010 02:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2012 21:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (19)

บอกนักศึกษาของอาจารย์เลยครับ ว่าในฐานะอาจารย์ MBA ผมต้องเจอเหตุการณ์ที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งคือ ในทุกเทอมผมจะสอนนักศึกษษ MBA แล้วให้งานทำเป็น Project ก็จะเจอสักกลุ่ม กลุ่มสองกลุ่มครับ ที่ผลงานออกมาโดดเด่นอย่างน่าประหลาด ประมาณว่าสร้างสรรค์ และเป็นไปได้ด้วย

ถามว่าเรียนจบอะไรมา มักได้เรื่องครับ ไม่จบวิศวะ มาก็มนุษย์ศาสตร์ภาษาอังกฤษ อีกกลุ่มคือดนตรีครับ

พวกนี้จะโดดเด่นที่สุดครับ ผมตามไปตอนถึงเขาทำงานแล้ว ก็ไปได้ดีมากๆครับ มากกว่าคนจบ BA โดยตรงอีกครับ

ครับแทบอยากบอกเลยครับ ว่า ก่อนเรียน MBA ควรไปเรียนคณะมนุษย์ ศิลปะ หรือวิศวะมาก่อนครับ

รับรองเลยครับ มีความั่นคง น้องๆจะได้เปรียบ ยิ่งเรียนโทร เรียนเอกแล้วจะสบายมาก ไม่ต้องกลัวคำนวณ ผมก็จบวิศวมา ตอนเรียน เรียนถึงจักรวาล พอมาทำงาน ก็ใช้กึ๋น ทั้งนั้นครับ

ได้ยินว่าบริษัทที่ญี่ปุ่นเวลาเขาจ้างคนทำงานด้านการตลาด เขาจะจ้างคนจบอักษรศาสตร์ครับ พราะเข้าใจวัฒนธรรมและเชื่อมโยงได้ดีกว่าคนเรียนจบ BA ครับ

ให้กำลังใจท่านอาจารย์และนักศึกษานะครับ

นับถือ

อ.โย

ขอบคุณครับ อาจารย์ ดร.ภิญโญ

ด้วย เหตุผลและสถานการณ์แบบนี้ครับ

เด็กที่อยู่ ต่างจังหวัด ผมเห็นว่า ยังมีมุมมองที่ไม่กว้างขวางนักสำหรับ การเลือกอาชีพ การเลือกเรียน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเป็น สาขาวิขาที่ผมเอ่ยถึงในบันทึกนี้ มันเป็นอะไรที่สุดโต่ง ไกลโลก ไกลการรับรู้ ของนักเรียนที่จบ ม.6 และนักศึกษาที่คิดจะโอนย้าย

แต่ผมก็คิดกลับกับไปอีกว่า หากสาขาวิชานี้ ไปปรากฎอยู่ใน มหาวิทยาลัยรัฐ คงมีคนเรียนกันมากกว่า

บางครั้ง การอยู่ในแหล่งทรัพยากรทางการศึกษาที่ดีและพร้อมก็ไม่ได้เป็นการบ่งบอกว่า สาขานั้นวิชานั้น จะได้รับความสนใจ น่ะครับ

แต่ส่วนตัวผม ผมรักในสาขาวิชาที่ให้การศึกษาเกี่ยวกับ กลุ่มคน การพัฒนาสังคม เพราะผม เป็นนักมานุษยวิทยา

ทุกวันนี้ก็คิด ว่าจะทำอย่างไรให้ สินค้าทางการศึกษา ได้เข้าสู่การรับรู้ และ นำพาคนมาเรียน กันให้มากขึ้น อยากได้ นักศึกษาต่างถิ่น ควบคู่ไปกับนักศึกษาในท้องถิ่น ครับ

human capital สำคัญมากจริงๆครับ

ถ้า human ดี ที่เหลือก็จะตามเองครับ

ผมเชื่ออย่างนั้นครับ...

สำหรับสาขา Anthopo หรือวิจัยทางชาติพันธ์ครับ ผมอยากบอกว่าเป็นวิจัย แนวทางที่ผมกำลังเอามาใช้ใน MBA ครับ เป็นทางสังคมศาสตร์ครับ ตอนนี้บริษัทระดับโลกอย่าง IDEO ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของบริษัทอย่าง Sumsung และ Apple ก็ใช้แนวทางวิจัยแบบสังคมศาสตร์ครับ

ผมเองก็ใช้การสังเกต (field research) เยอะมากครับ และเท่าที่ผมทำงานมา (ผมเคยอยู่เอกชน) บริษัทดังๆเวลาคิดอะไร ทำอะไร จะใช้การสังเกต และ Unstrunctured Interview เอยะมากครับ

หนังสือด้านธุรกิจที่ดังระดับโลก เช่น The Tipping Point และ The Outliner ก็ใช้แนวทางวิจัยแบบนี้ครับ

ผมเชื่อว่าแนวทางวิจัยแบบนี้ต่อไปจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ครับ

บอกนักศึกษาเลยครับ ว่าผม อาจารย์ภิญโญ เชียร์คุณให้เรียนกับอาจารย์ AnthroCat ครับ รับรองเอาไปใช้ได้หลาย Field ครับ

ผมเคยทำงานคู่กับพี่ที่จบประวัติศาสตร์ และทำงาน NGO มาก่อน ตอนหลังก็ออกไปทำบริษัทข้ามชาติ เก่งมากครับ เพราะอย่าลืมครับ คนในโรงงานดังๆ ก็มาจาก "คนอิสานหลายชาติพันธ์" นั่นเองครับ

ฑูตสหรัฐที่มาเมืองไทย Background เคยมาทำงานพัฒนาแถวอิสานนี่เยอะครับ พูดภาษาไทยได้ครับ

เรียน อ.AnthroCat ค่ะ

  • แวะมาขอบพระคุณอาจารย์ที่กรุณาแสดงความคิดเห็นในบันทึก  “ภาษา(คุณภาพ)”บางคำ... คน(ธรรมดา)ไม่เข้าใจ (4)   ทำให้เกิดความกระจ่างมากขึ้นถึงที่มาที่ไปค่ะ...และขออนุญาตอาจารย์นำข้อคิดเห็นลงในบันทึกด้วยเลย...
  • ขอบพระคุณอาจารย์มากๆนะคะและยินดียิ่งที่ได้รู้จักอาจารย์ค่ะ

พี่โอ๋ หนูว่าหลังจากได้ฟังพี่พูด เด็กเขาคงลาออกกลับไปช่วยปู่ย่าทำนาทำสวนแล้วหละ เพราะมันฟังดูดีว่าเยอะเลยในเรื่องของความมั่นคงในชีวิต

กลับมาแจ้งผลให้ทราบว่า

นศ. คนนั้น ตัดสินใจเรียนในสาขาชาติพันธุ์ฯ ในปีการศึกษา 2553 นี้เป็นที่เรียบร้อยแล้วครับ

เริ่มแรก เรามี จำนวนนักศึกษา ที่ยืนยัน และ ยืนกราน ทั้งหมด 5 คน (น้อยมาก)

แต่ก็คิดว่า เป็นก้าวแรกที่ดีทีเดียว

มาอัพเดท อีกหน่อยครับ เกี่ยวกับจำนวนนักศึกษา สาขาชาติพันธุ์ศึกษาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

จากการเข้าไปขอโอกาสในการรับสมัครนักศึกษาเพิ่มเติม

ปรากฎว่า ปัจจุบันมีจำนวนนักศึกษาทั้งสิ้น 51 คน ครับ

กำลังใจจึงมากขึ้นไปอีก

นางสาวพัชวรรณ วงศ์สอาด

thank  you  for your comments  !!

     อาจารย์ค่ะนี้เป็นการสำรวจในห้องเรียน  ICMR  รึเปล่า

( กำลังหัดเล่นตามที่อาจารย์สอนค่ะ )  อิอิ..อุอุ..รุรุ..ระระ

ดิฉันสนใจในสาขานี้มากค่ะ เพิ่งเคยเห็นที่นี้แหละค่ะเปิดสอนหลักสูตรนี้ เคยสงสัยมาหลายปีว่าอยากเรียนเกี่ยวกับสังคมในลุ่มแม่น้ำโขง แต่อยากทราบว่า จะมีเปิดเสาร์อาทิตย์ใมค่ะ?

ขณะนี้ ยังไม่มีการเปิดสอน สาขาวิชาชาติพันธุ์ศึกษาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ภาคพิเศษ ครับ (เพราะ เนื้อหาสาขาวิชา เน้นให้ลงพื้นที่ ดังนั้น การเรียน เสาร์-อาทิตย์ อาจจะไม่ยังสามารถจัดให้ได้

ส่วนอีกสาขาวิชาหนึ่ง ที่ผมกำลังพัฒนาเพิ่มอีก ๑ สาขาวิชา ที่เกี่ยวกับ อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ก็ใกล้จะสำเร็จแล้ว

คาดว่าน่าจะเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกได้ในปี ๒๕๕๕ ครับ

สาขาสหวิทยาการการบริหารท้องถิ่น สามารถเปิดการเรียนการสอนในวันเสาร์-อาทิตย์ได้ หากมีผู้สนใจเรียนตั้งแต่ ๒๐ คน ขึ้นไป

สนใจอยากจะรียนสาขานี้นะคะ แต่สงสัยอยู่อย่างหนึ่งค่ะว่ากลุ่มวิชาบังคับพื้นฐาน

ที่มีสองกลุ่ม ภาษาจีนกับภาษาไทย ต้องเรียนทั้งสองหรือสามารถเลือกกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้คะ 

ถ้าเป็นไปได้รบกวนช่วยตอบด่วนและตอบทางอีเมล์จะเป็นพระคุณมากค่ะ

ขอบคุณค่ะ

ขอประทานโทษค่ะ อีเมล์แอดเดรสคือ  [email protected]

คุณผู้สนใจ

กลุ่มภาษาในงานชาติพันธุ์ศึกษา ไทย- จีน นั้น

กำหนดให้

นศ. ไทย บังคับเรียนภาษาจีนในงานชาติพันธุ์ศึกษา

นศ. ต่างชาติ บังคับเรียนภาษาไทยในงานชาติพันธุ์ศึกษา

ครับ

 

ฝากถามอาจารย์ผู้ฝึกสอน สาขาวิชาชาติพันธุ์ศึกษาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ครับ ถ้าเด็กเลือกเรียนสาขานี้ จบมาทำงานอะไรได้บ้างครับ ขอที่เห็นได้ชัดเจนในปัจจุบันนี้เลยครับ พอดีน้องสาวพึ่งจบ ม.6 ชอบเรียนภาษาจีนและได้สมัครเรียน ศศ.บ สาขาวิชาภาษาจีน ไปแล้วแต่บังเอิญไปรายงานตัวในวันชำระค่าเทอมไม่ทันวันที่ 5 พ.ค 56 ที่ผ่านมา จึงถือว่่าเสียสิทธิ์ไปแล้วช่ายมั้ยครับ ตอนนี้ผมเห็นทางมหาลัยราชภัฏเชียงรายเปิดให้สมัครเพิ่มเติมจึงกำลังหาคณะที่มีภาษาจีนด้วย แต่ก็เห็นสาขาวิชาชาติพันธุ์ศึกษาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มีภาษาจีนให้เรียนแค่สาขาเดียว จึงอยากฝากอาจารย์ทุกท่านช่วยชี้แนะและให้คำปรึกษาด้วยคับ

    ขอบพระคุณล่วงหน้าอย่างสูง

(ปล.เด็กจะสมัครเข้าเรียน ปี 2556 นี้ครับ รบกวนท่านอาจารย์ตอบให้ด่วนจะดีมากครับ)

มีรายละเอียดเส้นทางอาชีพ ที่เมื่อนักศึกษาสำเร็จปริญญาตรีในสาขาวิชาชาติพันธุ์ศึกษาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ตามที่ เขียนไว้ใน "แผ่นพับ" ตามลิงค์ ที่มาวางให้นี้เลยครับ ... และสามารถดูภาพกิจกรรมในการเรียนการสอนได้อีกด้วยนะครับ ... 
https://www.facebook.com/media/set/?set=a.525048470885004.1073741828.100001395667276&type=1

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท