การเขียนสารคดี


งานประพันธ์ร้อยแก้วที่ผู้เขียนมุ่งที่จะเสนอความรู้และความจริงเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ เป็นหลัก เพื่อให้ผู้อ่านได้รับทั้งความรู้และความเพลิดเพลินไปพร้อมๆ กันด้วย

การเขียนสารคดี

  

จุดประสงค์ในการศึกษาวิชาการเขียนสารคดี 

  1. มีความรู้  ความเข้าใจ  เกี่ยวกับความหมายของสารคดี  ประวัติและวิวัฒนาการของสารคดีไทย
  2. ทราบถึงจุดมุ่งหมายของการเขียนสารคดี
  3. มีความรู้  ความเข้าใจ  สำนวนภาษา  โวหาร  ที่ใช้ในการเขียนสารคดีและนำไปใช้ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
  4. มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักและวิธีการเขียนสารคดีประเภทต่างๆ และสามารถนำไปเขียนได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
  5. สามารถนำความรู้ไปเขียนสารคดีชีวประวัติและอัตชีวประวัติได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
  6. สามารถนำความรู้ไปเขียนสารคดีประเภทความเรียงได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
  7. สามารถนำความรู้ไปเขียนสารคดีประเภทบทความบางประเภทได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
  8. สามารถนำความรู้ไปเขียนสารคดีประเภทท่องเที่ยวได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม

 

ความหมายของสารคดี

        1.  สารคดี  หมายถึง  งานเขียน หรือวรรณกรรมที่ผู้แต่งเจตนาให้ความรู้เบื่องต้น  ความเพลิดเพลินเป็นเบื้องหลัง  และไม่นับเอกสารหรือหนังสือที่เขียนเป็นวิทยาการโดยตรง  ที่ผู้แต่งมีความจำนงเรียบเรียงขึ้น  เพื่อประโยชน์แก่คนในวงการวิชาชีพยิ่งกว่าที่จะมีเจตนาอย่างอื่น  (บุญเหลือ  เทพยสุวรรณ, 2514 : 56 )

       2.  สารคดี  ได้แก่  หนังสือที่ให้เนื้อหาสาระและความรู้แก่ผู้อ่านเป็นสำคัญ  แต่บางทีก็ให้ความเพลิดเพลินด้วย ทั้งที่ยังแบ่งออกไปเป็นประเภทย่อยๆ อีกหลายๆประเภท  เช่น บทความ เรื่องเล่าส่วนบุคคล ชีวประวัติ อัตชีวประวัติ และความเรียง  (ทวีศักดิ์  ญาณประทีป, 2535 : 61 )

       3.  สารคดี  หมายถึง  งานเขียนที่ยึดเรื่องราวจากความจริง นำมาเขียนเพื่อมุ่งเน้นความรู้ ความจริง ทรรศนะ ความคิดเห็นเป็นหลัก ด้วยการจัดระเบียบความคิดในการนำเสนอผสมผสานในการถ่ายทอดต่อการสนใจใฝ่รู้ของผู้อ่านเพื่อให้เกิดคุณค่าทางปัญญา  (ถวัลย์  มาศจรัส, 2538 : 20 )

       4.  สารคดี  หมายถึง  เรื่องเขียนขึ้นจากเค้าความจริง ไม่ใช่จินตนาการ (ราชบัณฑิตยสถาน, 2525 : 831 )

       สรุปได้ว่า สารคดี คือ งานประพันธ์ร้อยแก้วที่ผู้เขียนมุ่งที่จะเสนอความรู้และความจริงเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ เป็นหลัก เพื่อให้ผู้อ่านได้รับทั้งความรู้และความเพลิดเพลินไปพร้อมๆ กันด้วย

 

ประวัติและวิวัฒนาการของสารคดีไทย

         การเขียนสารคดีในประเทศไทยมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้ว  แต่ไม่ได้จำแนกงานเขียนออกเป็นประเภทต่างๆ อย่างเช่นในปัจจุบัน  การเขียนสมัยสุโขทัยมิได้เขียนในกระดาษเท่านั้น  หากแต่จะมีการจารึกหรือสลักเรื่องราวลงวัสดุต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผนังถ้ำ แผ่นศิลา บนใบลาน หรือกระดาษข่อยก็จัดได้ว่าเป็นงานเขียนประเภทหนึงได้เช่นกัน

         ศิลาจารึกหลักที่ 1 ด้านที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชที่ทรงจารึกเกี่ยวกับพระราชประวัติและที่มาของพระนาม  รวมทั้งพระบุคลิกภาพและพระราชจริยวัตร งานจารึกครั้งนั้นน่าจะจัดได้ว่าเป็นงานเขียนสารคดีเชิงอัตชีวประวัติ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นการเขียนสารคดีครั้งแรกของไทย

         รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  งานเขียนเริ่มเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม นิยมเขียนร้อยแก้ว มีการพิมพ์หนังสือ การพิมพ์ประกาศของราชการทำให้มีผู้นิยมอ่านร้อยแก้วมากขึ้น

         นอกจากนั้นยังทรงพระราชนิพนธ์เรื่องต่างๆ อันประกอบด้วยความรู้หลายประเภท เช่น กฎหมาย ขนบธรรมเนียมประเพณี ศาสนา และโหราศาสตร์ เป็นต้น

         นอกจากนั้นก็มีหนังสือราชกิจจานุเบกษา หนังสือพิมพ์รายเดือนของหมอบรัดเลย์ ซึ่งเป็นหนังสืออีกฉบับหนึ่งที่เป็นแหล่งกำเนิดสารคดีในยุคแรกของไทย

         ในปี พ.ศ. 2400 หม่อมราโชทัย  ได้เขียนจดหมายเหตุในการไปราชการเพื่อทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นจดหมายเหตุที่เขียนก่อนนิราศลอนดอล เป็นงานเขียนร้อยแก้ว จึงจัดได้ว่าเป็นการเขียนสารคดีเชิงท่องเที่ยวเป็นเรื่องแรกของไทย

         รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีการตั้งโบราณคดีสโมสรขึ้นใน พ.ศ. 2450 เพื่อส่งเสริมการประพันธ์และการศึกษาทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี  มีการจัดตั้งหอสมุดแห่งชาติขึ้นใน พ.ศ. 2448 โดยมีชื่อว่า  “ หอสมุดวชิรญาณ ”  พร้อมกันนั้น ได้มีการออกแบบหนังสือพิมพ์และนิตยาสาร เช่น วชิรญาณ ถลกวิทยา ลักวิทยา ทวีปัญญา เป็นต้น

         ในเวลาต่อมา มีหนังสือพิมพ์ชื่อ “ ดรุโณวาท ”  ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกที่มีบรรณาธิการเป็นคนไทย คือ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์ เป็นองค์บรรณาธิการ  เป็นครั้งแรกที่มีการเผยแพร่เรื่องสารคดี โดยนำเรื่อง “ George Stephenson ”  มาลงไว้เป็นเรื่องยาว ลงติดต่อกันหลายฉบับจนจบ โดยให้ชื่อภาษไทยว่า “ คนที่ทำรถไฟขึ้นแต่แรกเดิม ” 

         แนวทางการเขียนสารคดีในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เริ่มมีรูปแบบและจุดมุ่งหมายที่กว้างขวางกว่าเดิม  นอกจากนี้แล้วแนวเรื่องในการเขียนก็ได้พัตนาขอบเขตของการเขียนขยายออกไปอีกหลายด้าน เช่น ตำราวิชาการสาขาต่างๆ  ขนบธรรมเนียมประเพณี  ชีวประวัติ  อัตชีวประวัติ ฯลฯ

                นอกจากนั้น  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังมีหนังสือสารคดีที่สำคัญมากก็คือ  เรื่อง     “ พระราชพิธีสิบสองเดือน ”  “ พระราชนิพนธ์ไกลบ้าน ”  และ จดหมายเหตุเสด็จประพาสยุโรป

                วรรณคดีสโมสรซึ้งตั้งขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ยกย่องว่าพระราชพิธีสิสองเดือนเป็นยอดของวรรณคดีความเรียงอธิบาย

         บทพระราชนิพนธ์เรื่องไกลบ้านจัดว่าเป็นหนังสือที่มีคุณค่าเล่มหนึ่ง  เป็นทำนองสารคดีท่องเที่ยวประกอบด้วยพระราชดำริและพระราชวิจารณ์อันสุขุมคัมภีรภาพเกี่ยวกับถิ่นฐานบ้านเมืองมีเรื่องสนุกสนานขบขันแทรกไว้ด้วย จัดว่าเป็นพระราชนิพนธ์ที่ให้ประโยชน์แก่ผู้อ่านอันมาก

         นอกจากนั้น  ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังมีพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ได้ทรงนิพนธ์และเขียนสารคดีกันเป็นจำนวนมาก  เช่น  เสด็จปรธพาสต้นในสมัยราชการที่ 5 นิทานโบราณคดี เป็นต้น

         บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่เป็นสารคดีและบทความ  เช่น  ปกินกคดีของอัศวพาหุ บ่อเกิดแห่งรามเกียรติ์ เป็นต้น  นับว่าเป็นตัวอย่างของความเรียงที่ดี มีทั้งเทศนาโวหาร  สาธกโวหาร

         ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว งานเขียนด้านสารคดีเจริญรุ่วเรืองขึ้นเป็นลำดับ สารคดีเป็นบทวิพากษ์วิจารณ์สังคมเริ่มแพร่หลายมากยิ่งขึ้น เช่น นาวาเอก พระยาศราภัยพิพัฒน์ ร.น.(ศรทอง)  ได้เขียนหนังสือชีวิตของประเทศลงในหนังสือพิมพ์ไทยใหม่  ประกอบกับในระยะเลาดังกล่าวมีวารสาร  นิตยสารเกิดขึ้นหลายเล่ม  เช่น เอกชน สวนอักษร สุภาพบุรุษ

         เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งแรงในรัชสมัยนี้คือ  ราชบัณฑิตยสภาได้เข้ามาให้การสนับสนุนการเขียนสารคดีด้วยการจัดหารางวัลให้แก่นักเขียนสารคดีที่ถือว่าแต่งหนังสือด้วย

         หนังสือในสมัยนี้คือที่อ่านแล้วได้รับความเพลิดเพลินไปพร้อมกับความรู้มีหลายเรื่อง  ได้แก่  ประวัติศาสตร์สากล (ชุด 8 เล่ม) ของหลวงวิจิตรวาทการ  นอกจากนั้นในสมัยนี้ยังมีนักเขียนที่มีชื่อ ได้แก่ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงนิพนพ์เรื่องเฟรเดอริคมหาราช คัชรินมหาราชินี เจ้าชีวิต เกิดวังปารุสก์ ฯลฯ  เรื่องสารคดีที่กล่าวมานี้ล้วนเป็นสารคดีเรื่องยาว  ส่วนสารคดีขนาดสั้นที่ลุงพิมพ์ในนิตยสารต่างๆ  ก็มีจำนวนมาก

 

สารคดีในปัจจุบัน

         ปัจจุบันพบงานประพันธ์ประเภทสารคดีของไทยแพร่หลายไปถึงผู้อ่านอย่างรวดเร็ว  จะพบว่ามีสารคดีทุกประเภททั้งที่ตีพิมพ์เป็นเล่มและเป็นสารคดีขนาดสั้น  ลงพิมพ์ในนิตยสาร  วารสาร  และในหนังสือพิมพ์ทุกฉบับที่วางจำหน่ายอยู่ทั่วไป

         นอกจากนี้ปัจจุบันยังมีรายการต่างๆ  ทางโทรทัศน์ที่ให้ความรู้และจัดว่าเป็นสารคดีทางสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ เช่น  สัตว์โลกเร้นลับ   ร้อยเรื่องเมืองสยาม   กระจกหกด้าน   รอยไทย  โลกสีน้ำเงิน  ( จากรายการโทรทัศน์ ปี 2542 ) ซึ่งเป็นสารคดีที่มีลักษณะเฉพาะคือ  อาศัยเสียงของผู้อ่านบทสารคดี บางครั้งอาจจะมีเพลงหรือดนตรีประกอบในขณะที่อ่านออกอากาศด้วย  การปรับความยาวของเนื้อหาให้เหมาะสมแก่เวลาที่กำหนดไว้เป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับสารคดีประเภทนี้

         สรุปได้ว่า  ประวัติและวิวัฒนาการของสารคดีในประเทศไทยนั้นไม่ได้แบ่งไว้อย่างชัดเจน แต่ถ้าจะดูจากลักษณะของการเขียนสารคดีแล้ว ก็กล่าวได้ว่า น่าจะเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นต้นมา  แต่สารคดีเริ่มมีลักษณะเด่นหรือเป็นการเขียนแนวสารคดีในลักษณะค่อนข้างแพร่หลายก็น่าจะตรงกับสมัยรัชการที่ 4 และรัชการที่ 5 ของกรุงรัตนโกสินทร์ และงานสารคดีก็ได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ  จนสมัยปัจจุบัน  ซึ่งนอกจากจะมีการเผยแพร่สารคดีในหนังสือทั้วๆ  ไปแล้ว  ยังมีการเผยแพร่ทางวิทยุ  โทรทัศน์ และอินเตอร์เน็ตอีกด้วย

 

จุดมุ่งหมายในการเขียนสารคดี

                จุดมุ่งหมายที่ผูเขียนควรพิจารณามีอยู่ 4 ประการคือ

                1.ให้ความรู้  ข้อเท็จจริง  และเนื้อหาสาระแก่ผู้อ่าน  ผู้เขียนจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่จะเขียนอย่างละเอียดและลึกซึ้ง

                2.ให้คำแนะนำแก่ผู้อ่านในการนำไปปฏิบัติได้จริง  ผู้เขียนสารคดีจะต้องมีความรู้อย่างละเอียด  และมีความชำนาญในการปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องที่เขียนด้วย  เพื่อจะได้คำแนะนำแก่ผู้อ่านโดยถูกวิธี  และถูกขั้นตอน

                3.ให้ความเพลิดเพลินแก่ผู้อ่าน  ผู้เขียนจะต้องทำให้ผู้อ่านได้รับความเพลิดเพลินด้วย  วิธีจะให้ความเพลิดเพลินแก่ผู้อ่านนั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก  ผู้เขียนสารคดีจะต้องมีความสามารถเฉพาะตัวด้วยประการต่างๆ  เช่น  การใช้สำนวนภาษาที่ชวนให้ผู้อ่านมีความสนุกสนาน  หรือใช้สำนวนภาษาที่มำให้ผู้อ่านมีความคิดเห็นคล้อยตามอยู่ตลอดเวลา  และได้รับความรู้โดยไม่รู้ตัว

                4.ให้ความจรรโลงใจแก่ผู้อ่าน  ผู้เขียนสารคดีจะต้องพิจารราถึงเรื่องที่จะเขียนว่าเป็นเรื่องที่ดีสร้างสรรค์เพียงใด  หรือจะส่งผลกระทบต่อสังคมในแง่ใดบ้าง

                สรุปได้ว่า  จุดมุ่งหมายที่สำคัญของการเขียนสารคดี คือ ให้ความรู้ข้อเท็จจริง และเนื้อหาสาระแก่ผู้อ่าน  นอกจากนี้ยังให้คำแนะนำในการปฏิบัติที่เป็นประโยชน์  ให้ความเพลิดเพลิน  และให้ความจรรโลงใจ

 

สำนวนภาษาและโวหาร  ในการเขียนสารคดี

ความหมายของสำนวนการเขียน

                สำนวนการเขียน  หมายถึง  การรู้จักนำความคิดของผู้เขียนเขียนออกมาเป็น  ถ้อยคำ  ประโยค  ย่อหน้า  ตามความรู้  ความคิด  เหตุผล  และจุดประสงค์ของผู้เขียน

               

 

ลักษณะของสำนวนการเขียนที่ดีสำหรับการเขียนสารคดี

                1.  ความหมายชัดเจน  เป็นลักษณะสำคัญที่สุด  เพราะถ้าเขียนไม่ชัดเจน  ผู้อ่านจะตีความหมายผิดไปจากจุดประสงค์ได้

                ก่อนที่จะลงมือเขียนต้องคิดแล้วคิดอีกจนกว่าความคิดนั้นแจ่มแจ้งอยู่ในสมอง แล้วจึงเขียนด้วย
ถ้อยคำสั้นๆ  ใช้ประโยครัดกุม  แต่ละย่อหน้าไม่ควรเขียนยาวนัก  ไม่ควรเขียนทุกๆ  อย่างลงไปในย่อ
หน้าเดียว

                สิ่งสำคัญที่จะทำให้งานเขียนสารคดีเกิดความชัดเจนคือ  ควรรู้จักแบ่งย่อหน้า  ไม่ควรเขียนเนื้อหามากเกินไป  และไม่ควรเขียนยาวเกินไป  เพื่อให้ผู้อ่านได้มีเวลาหยุดพักสายตา  และที่สำคัญ  ย่อหน้าหนึ่งๆ  ควรมีใจความสำคัญเพียงอย่างเดียว

                วิธีทดสอบความชัดเจนคือ  ผู้เขียนควรจะสมมุติตนเองเป็นผู้อ่านไปด้วยว่าสามารถเข้าใจมากน้อยเพียงไร  หรือลองนำไปอ่านให้ผู้อื่นฟัง

                2.  ความกะทัดรัด  การเขียนสารคดีจะต้องตัดข้อความที่ฟุ้มเฟือยออกไป  ควรเขียนให้สั้นกะทัดรัดและได้ใจความสมบูรณ์

                3.  ความสุภาพ  การเขียนสารคดีนั้น จะต้องระมัดระวังให้มากในเรื่องความสุภาพในการใช้ถ้อยคำ  ผู้ที่เริ่มเขียนหนังสือไม่ควรจะเอาอย่างนักเขียนที่มีชื่อเสียงแล้วในแง่ที่ตามใจ ตนเองโดยไม่คำนึงถึงผู้อ่าน เพราะการเขียนสารคดี  จะใช้ภาษาเป็นระดับแบบแผนเป็นส่วนใหญ่

 

ภาษาที่ใช้ในการเขียนสารคดีควรมีลักษณะดังต่อไปนี้

1.ใช้ภาษาสุภาพ

2.  ใช้ภาษาที่มีศักดิ์ของคำในระดับเดียวกัน ไม่นำภาษาสแลง (Slang) เข้ามาใช้ปะปนในงานเขียน
3.  น้ำเสียงของคำจะมีลักษณะเคร่งขรึม  เป็นกลาง  ไม่ตลกขบขัน  ไม่เยาะเย้ยถากถางบุคคลอื่น
4.  ภาษาต้องไม่แสดงออกถึงความรุ่นแรงของเนื้อหานั้น

 

องค์ประกอบของสารคดี

       1.เอกภาพ (Unity)

       งานเขียนสารคดีต้องมีเอกภาพคือ  เค้าจะเขียนถึงเรื่องหนึ่งเรื่องใดก็แล้วแต่ จะต้องเขียนเรื่องนั้นเพียงเรื่องเดียว  พุ่งเป้าหมายชัดเจนแน่นอนไปที่เรื่องนั้นๆ  ไม่นำสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องด้วยมาเสนอ ข้อความที่ปรากฎอยู่ในแต่ละใจความจะต้องสอดคล้องเกี่ยวเนื่องกันอย่างกลมกลืน

       2.สัมพันธภาพ (Coherence)

       สัมพันธภาพในงานเขียนสารคดี  หมายถึง  การเขียนหนังสือให้แต่ละประโยคเกี่ยวโยงและสอดคล้องประสานกันด้วยความสละสลวย  ข้อความแต่ละตอนมีความต่อเนื่องเป็นลำดับ ไม่สับสนในช่วงใดช่วงหนึ่งจนทำให้ความคิดสะดุดหรือขาดช่วงไป  ผู้เขียนจะเขียนหนังสือให้ความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันอย่างสละสลวยนั้น  จะต้องรู้จักใช้คำสันธานเข้ามาเชื่อมให้ประโยคแต่ละประโยคมีความสัมพันธ์กัน

       3.สารัตถภาพ (Emphasis)

       สารัตถภาพในงานเขียนสารคดี  หมายถึง  การเน้นใจความสำคัญของความในแต่ละช่วงแต่ละตอน  ทั้งนี้เพราะงานเขียนหนังสือในแต่ละเรื่องย่อมจะประกอบไปด้วย  ใจความ  และพลความ  ควบคู่กันไปเสมอ จึงจะทำให้งานเขียนสารคดีนั้นเป็นเรื่องราวได้  การเน้นใจความสำคัญในงานเขียนสารคดี  หมายความว่า  เรื่องที่จะเขียนนั้น  เราต้องการบอกอะไรแก่ผู้อ่าน  ซึ่งสิ่งที่เราต้องการบอกผู้อ่านให้ทราบนั้นก็คือ  ใจความสำคัญของเรื่อง  จะต้องเขียนเน้นถึงสิ่งนั้นให้มากเป็นพิเศษ  ส่วนพลความนั้นถือเป็นเรื่องเสริมเพื่อให้ใจความสำคัญของเรื่องโดดเด่นขึ้น

 

ระดับภาษา

                1.ภาษามาตรฐาน  หรือภาษาระดับพิธีกร  เป็นภาษาที่ดีที่สุดและถูกต้องตามหลักไวยากรณ์มากที่สุด  มีการใช้ถ้อยคำที่เลือเฟ้นแล้วว่า  ไพเราะและก่อให้เกิดความจรรโลงใจ  ภาษาระดับนี้ใช้ในการเขียนเรื่องสำคัญ  หรือเอกสารที่มุ้งเน้นให้เป็นหลักฐานทางราชการ ผู้ใช้ภาษาระดับนี้มักเป็นบุคคลสำคัญ  ผู้กล่าวมักเตรียมวาทนิพนธ์ไว้ล่วงหน้า  

ภาษามาตรฐาน  ภาษาพิธีกร  หรือภาษาแบบแผน  มีลักษณะสำคัญดังนี้
       1) ใช้ภาษาระดับเดียวกัน  ไม่นำภาษาอื่นมาปะปน
       2)  ใช้คำศัพท์สุภาพที่เป็นศัพท์ทางวิชาการและศัพท์บัญญัติ
       3)  ไม่ใช้คำย่อ  เช่น  ตำแหน่งบุคคลหรือยศ
       4)  ต้องไม่ตัดทอนรูปประโยค
       5)  สำนวนภาษามีลักษณะเป็นกลาง  ไม่ตลกขบขัน  หรือเสียดสียั่วล้อ
       6)  หลีกเลี่ยงการใช้ภาษาที่มีลักษณะโต้เถียง  และการใช้ภาษาที่เป็นโวหาร

                2.ภาษากึ่งมาตรฐาน  หรือกึ่งพิธีกร   ภาษาระดับนี้คล้ายกับภาษามาตรฐานแต่ลดความเป็นการเป็นงานลงบ้าง  เพื่อให้เกิดสัมพนธภาพระหว่างผู้รับสารและผู้ส่งสาร

ภาษากึ่งมาตรฐาน  ภาษากึ่งพิธีกร  หรือภาษากึ่งแบบแผน  มีลักษณะสำคัญดังนี้
      1)   บางครั้งอาจใช้คำย่อได้  แต่เป็นคำย่อที่ยอมรับโดยทั่วไปเป็นสากล
      2)  เป็นภาษาสุภาพที่พูดกันอยู่ในชีวิตประจำวันทั่วๆ ไป
      3)  อาจตัดทอนรูปประโยคได้  แต่ต้องสามารถสื่อความหมายได้ชัดเจนสมบูรณ์
      4)  มีสำนวนเฉพาะตัวให้เห็นความเชื่อมั่นในตนเอง  อาจแสดงทรรศนะหรืออารมณ์ได้ แต่ต้องไม่หยาบคาย
       5)  น้ำเสียงของข้อเขียนไม่เข้มขรึมเอาการเอางาน  อาจมัยั่วล้อและแทรกอารมณ์ขันไว้

                3.ภาษาไม่เป็นระดับพิธีการ  หรือระดับกันเอง   ภาษาระดับนี้มักใช้ในวงจำกัด  เช่น  ภายในครอบครัว  ระหว่างสามีภรรยา  หรือระหว่างเพื่อนสนิท  สถานที่มักจะเป็นส่วนตัว ภาษาระดับนี้มรหลายชนิด เช่น ภาษาสแลง  ภาษาอื่น  ภาษาตลาดเป็นต้น

                ภาษาที่ใช้ในการเขียนสารคดีนั้น  ควรเป็นภาษาระดับที่ 1  และระดับที่ 2  ส่วนภาษาระดับที่ 3 หากไม่จำเป็นจริงๆ  ไม่ควรนำมาในในการเขียนสารคดี

 

ภาษาสารคดี

                คำว่า  ภาสารคดี หมายถึง  ภาษาที่มีการใช้อย่างสละสลวย  ให้มีความสอดคล้องกับรุปแบบใดรูปแบบหนึ่งของสารคดีที่มุ่งเน้าเสนอสาระ  ข้อเท็จจริง  และให้ความเพลิดเพลินแก่ผู้อ่านด้วย

                1.การบรรยาย  หมายถึงการเล่าเรื่อง ชี้แจง  หรืออธิบายเรื่องให้ทราบ  ภาษาที่ใช้มีหลายระดับให้สอดคล้องกับเนื้อหา

                2.ความถูกต้องชัดเจน  ข้อเท็จจริงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเขียนสารคดี  เพราะจุดมุ่งหมายของการเขียนสารคดีคือ  มุ่งให้ความรู้และข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับผู้อ่าน  วิธีการที่จะให้ข้อมูลอาจจะทำได้โดยการยกตัวอย่าง  การให้คำจำกัดความ  การใช้แผนภูมิ  และการอ้างอิงแหล่งที่มา  นอกจากนั้นแล้ว ควรมีลักษณะดังนี้

                2.1)  การยกตัวอย่าง  จะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจสาระได้ง่ายขึ้น  ดั้งนั้นการเลือกตัวอย่างจึงเป็นสิ่งสำคัญ  ตัวอย่างจะต้องช่วยให้เกิดความเข้าใจได้ดีขึ้น  ตัวอย่างไม่ต้องมากเกินไป  ไม่ยาวเกินไป  และไม่เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ง่ายและเข้าใจง่าย                                                                                                                                                                               

                2.2)  การให้คำจำกัดความ  หรืออธิบายข้อความที่กล่าวถึง  จะเป็นการสร้างความเข้าใจตรงกันในการเสนอสาระนั้น

                2.3)  การใช้แผนภูมิประกอบ  เป็นวิธีที่จะช่วยให้ข้อมูลน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น  จะช่วยให้ผู้อ่านเกิดความมั่นใจว่า  สิ่งที่เขียนนั้นมิได้เขียนขึ้นลอยๆ  แต่มีการศึกษาค้นคว้ามาแล้วอย่างมีระบบ

                2.4)  การอ้างแหล่งข้อมูล  มี 2 วิธีคือ  การเขียนเชิงอรรถและการเขียนบรรณานุกรม เชิงอรรถเป็นรายกายอ้างอิงเอกสารทุกตอนทุกหน้า  แต่บรรณานุกรมหมายถึงชื่อเอกสารและหลักฐานทุกชนิดที่ผู้เขียนนำมาใช้ศึกษาค้นค้วาข้อมูลในการเขียน

                2.5)  การใช้สำนวนและโวหาร  ควรเลือกคำที่สื่อความหมายชัดเจน  เข้าใจง่าย  ผู้เขียนและผู้อ่านจะได้สาระที่ตรงกัน  รู้จักนำคำเหล่านั้นมาเรียบเรียงเป็นประโยคเพื่อสื่อความหมาย  มีรูปประโยคที่เหมาะสม  ควรเรียบเรียงง่ายๆ  ไม่ซับซ้อนเพื่อผู้อ่านจะได้ไม่หลงประเด็นไป  ถ้าประโยคมีความยาวมาก  มีการขยายคำ  ขยายข้อความมาก  อาจทำให้อู้อ่านเกิดความสับสน

 

โวหารที่ใช้ในการเขียนสารคดี

                1.บรรยายโวหาร  เป็นสำนวนที่อธิบายเรื่องราวโดยถี่ถ้วน  หมายถึง  สำนวนที่กล่าวเรื่องยืดยาวตามความรู้ของผู้แต่ง  สำนวนที่แต่บรรยายโวหารนั้นมีหลายประเภท

                2.อธิบายโวหาร  คือการทำให้อ่านหรือฟังเข้าใจ  จะเป้นวิชาความรู้  ทฤษฎี  หรือหลักเกณฑ์อันใดอันหนึ่งก็แล้วแต่ ผู้ที่อธิบายก็คือผู้ที่ทำให้ผู้ฟังเกิดความเข้าใจแจ้งชัด  ไม่มีข้อเคลือบคลุมสงสัย

                3.พรรณนาโวหาร  คือสำนวนที่พูดรำพันถึงสิ่งต่างๆ  ตามที่ตนพบเห็นว่าเป็นอย่างไร  หรือรำพันถึงความรู้สึกของตนหรือของผู้อื่นว่าเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้  ตามความคิดของผู้แต่ง  ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้ความรู้ค้นคว้าเหตุผลค้นเดิมเท่าใดนัก

                4.เทศนาโวหาร  คือสำนวนที่ใช้แสดงหรืออธิบายข้อความให้กว้าขวางออกไป  โดยเอาเหตุผลหรือหลักฐานมาประกอยความรู้ความเห็นของผุ้แต่ง  ด้วยความมุ่งหมายที่จะให้ผู้อ่านผู้ฟังเข้าใจความหมายชัดเจน  และเพื่อให้เห็นจริงและเชื่อถือตามเป็นข้อใหญ่

                5.สาธกโวหาร  ได้แก่  โวหารที่ผุ้เขียนต้องการให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจเรื่องที่อ่านได้แจ่มแจ้ง  จึงยกเหตุการณ์  สถานการณ์  หรือเรื่องนิทานมาเป็นตัวอย่างประกอบ

                6.อุปมาโวหาร หรือโวหารเปรียบเทียบ  เป็นโวหารที่ผู้เขียนมุ่งที่จะให้ผู้อ่านเข้าใจ  หรือมองเห็นสารที่อ่านได้ชัดเจน  จึงยกเอาสถานการณ์  บุคคล  หรือสิ่งของอย่างใดอย่างหนึ่งมาเปรียบเทียบกับสิ่งที่เขียนถึงนั้น

                6.1  อุปมา (Simile)  คือ  การนำเอาสิ่งของสิ่งหนึ่งมาเปรียบเทียบกัน และสองสิ่งนั้น ต้องเป็นสิ่งต่างชนิดกัน  การอุปมามักใช้คำในการเปรียบเทียบ  เช่น  ดั่ง ง เหมือน ดุจ ราว กับ ประดุจ เพียง เพี้ยง ฯลฯ

                6.2  อุปลักษณ์ (Metaphor)  คือ  การเปรียบเทียบสิ่งหนึ่งเป็นสิ่งหนึ่ง  คำที่แสดงว่าเหมือนนั้นไม่มีปรากฎอยู่ เป็นการกล่าวเปรียบเทียบโดยตรงว่า  สิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง  หรือถ้าจะมีก็ใช้คำว่า คือ เป็น

         สรุปได้ว่า  ผู้เขียนควรจะเลือกสำนวนภาษาและโวหารในการเขียนเพื่อจะได้รู้จักสื่อความคิดของตนเองออกมาเป็นถ้อยคำ  ประโยค  ย่อหน้า  ตามความรู้  ความคิด  หรือเหตุผล  ตามจุดประสงค์ของผู้เขียน  ลักษณะของสำนวนการเขียนสารคดีต้องมีความชัดเจน ความกระทัดรัด และความสุภาพ

         องค์ประกอบของสารคดีต้องมี  เอกถาพ  สัมพันธภาพ  และสารัตถภาพ  สำหรับภาษาที่ใช้ในการเขียนสารคดีมีภาษามาตรฐาน  ภาษากึ่งมาตรฐาน  และภาษาระดับกันเอง  ลักษณะของภาษาสารคดีจะใข้วิธีเขียนแบบบรรยาย  เน้นความถูกต้อง  สำหรับโวหารที่ใช้ก็ใช้บรรยายโวหาร  พรรณโวหาร  เทศนาโวหหารสาธกโวหาร  และอุปมาโวหาร

 

 

เอกสารอ้างอิง

ชลอ รอดลอย. (2544). การเขียบนสารคดี. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.



ความเห็น (1)

ขอคุณมากๆ สำหรับข้อมูลดีๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท