ข้อบังคับสมาคม


ข้อบังคับ

สมาคมผู้ประกอบวิชาชีพครู (ครูทุน ป.กศ.2525 วค.บร.) จังหวัดร้อยเอ็ด

 

 หมวดที่ 1

ความทั่วไป

 

 ข้อที่ 1  สมาคมนี้ชื่อว่า “สมาคมผู้ประกอบวิชาชีพครู (ครูทุน ป.กศ.2525 วค.บร.) จังหวัดร้อยเอ็ด”  ใช้ชื่อย่อว่า  “สปค.รอ.”  ชื่อภาษาอังกฤษว่า  The Scholarship Teacher Association of  Roiet  ชื่อย่อ  “STAR”

ข้อที่ 2  ข้อบังคับนี้ใช้ชื่อว่า  “ข้อบังคับสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพครู (ครูทุน ป.กศ.2525 วค.บร.) จังหวัดร้อยเอ็ด”

ข้อที่ 3  ให้ใช้ข้อบังคับนี้ตั้งแต่วันที่ได้จดทะเบียน  ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นต้นไป

ข้อที่ 4   ความหมายของคำในข้อบังคับมีความหมายดังนี้

            สมาคม   หมายถึง  สมาคมผู้ประกอบวิชาชีพครู (ครูทุน ป.กศ.2525 วค.บร.) จังหวัดร้อยเอ็ด

            ผู้ประกอบวิชาชีพครู    หมายถึง  ผู้ที่จบการศึกษาวุฒิ ป.กศ. ในปี พ.ศ.2525  จากวิทยาลัยครูบุรีรัมย์ของจังหวัดร้อยเอ็ด

            สมาชิก   หมายถึง  สมาชิกสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพครู (ครูทุน ป.กศ.2525วค.บร.) จังหวัดร้อยเอ็ด

            นายกสมาคม   หมายถึง  นายกสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพครู (ครูทุน ป.กศ.2525วค.บร.) จังหวัดร้อยเอ็ด

            อุปนายก  หมายถึง  อุปนายกสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพครู (ครูทุน ป.กศ.2525   วค.บร.) จังหวัดร้อยเอ็ด

            ปี   หมายถึง  รอบปีตั้งแต่วันที่  1  มกราคม   ถึงวันที่  31  ธันวาคม

ข้อที่ 5   เครื่องหมายของสมาคมมีดังนี้

 

            รูปวงกลมสองชั้นซ้อนกัน  ภายในประกอบด้วยประตูเมืองสาเกตนคร  ใต้ท้องฟ้าโปร่งใส  ในช่องประตูเมืองมีการสัมผัสมือแสดงถึงความร่วมมือร่วมใจกัน  ถัดลงมาเป็นชื่อย่อภาษาอังกฤษ “STAR”  ช่องระหว่างวงกลมสองวงด้านบนเป็นข้อความว่า  “สมาคมผู้ประกอบวิชาชีพครู (ครูทุน ป.กศ.2525 วค.บร.)”    ด้านล่างเป็นข้อความว่า  “จังหวัดร้อยเอ็ด”

ข้อที่ 6   สำนักงานของสมาคม  ตั้งอยู่บ้านเลขที่  29  หมู่ 2  ตำบลนิเวศน์  อำเภอธวัชบุรี  จังหวัดร้อยเอ็ด   การเปลี่ยนแปลงที่ตั้งของสมาคมให้กระทำโดยมติที่ประชุมใหญ่   ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกในที่ประชุม  และเมื่อนายทะเบียนได้รับการแจ้งเปลี่ยนแปลงแล้วให้แจ้งสมาชิกทราบภายใน  15  วัน

ข้อที่ 7  วัตถุประสงค์

            7.1   เพื่อสนับสนุนการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรของสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพครู(ครูทุน ป.กศ.2525 วค.บร.) จังหวัดร้อยเอ็ด

            7.2   เพื่อสนับสนุนการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับ  พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ  พ.ศ.2542

            7.3   เพื่อส่งเสริมมิตรภาพและสวัสดิการของสมาชิก

            7.4   เพื่อเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ของสมาชิกและองค์กรวิชาชีพอื่น

            7.5   เพื่อให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับด้านการศึกษา

 

หมวดที่ 2

สมาชิก

 

ข้อที่ 8  สมาชิกมี  3  ประเภท

            8.1  สมาชิกสามัญ  ได้แก่  ผู้ประกอบวิชาชีพครู ที่จบการศึกษาจากวิทยาลัยครูบุรีรัมย์  พ.ศ.2525 ของจังหวัดร้อยเอ็ด

            8.2  สมาชิกวิสามัญ  ได้แก่  คู่สมรสตามกฎหมายของสมาชิกสามัญ

            8.3  สมาชิกสมทบ  ได้แก่  ผู้ที่ศรัทธาในกิจกรรมและวัตถุประสงค์ของสมาคม  ซึ่งคณะกรรมการบริหารเห็นชอบให้เข้าเป็นสมาชิก

ข้อที่ 9  คุณสมบัติของสมาชิก

9.1     เป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย

9.2    ไม่เป็นโรคที่สังคมรังเกียจ

9.3    มีความศรัทธาในกิจกรรมและวัตถุประสงค์ของสมาคม

9.4     ไม่ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลายหรือไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ หรือต้องโทษจำคุก  ยกเว้น ความผิดฐานประมาทหรือลหุโทษ

ข้อที่ 10  ค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคม

            10.1 สมาชิกสามัญ  จะต้องเสียค่าลงทะเบียนแรกเข้า  100  บาท  และค่าบำรุงรายปี ๆละ  100  บาท

            10.2  สมาชิกวิสามัญไม่ต้องเสียค่าบำรุงให้กับสมาคม

            10.3  สมาชิกสมทบ  จะต้องเสียค่าลงทะเบียนแรกเข้า  100  บาท  และค่าบำรุงรายปี ๆละ  100  บาท

ข้อที่ 11  การสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม

            การเข้าเป็นสมาชิกให้เป็นไปต้องความสมัครใจ  ต้องยื่นใบสมัครตามแบบที่สมาคมกำหนดพร้อมเงินค่าสมัครต่อเลขานุการ   และจะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อคณะกรรมการบริหารสมาคมมีมติรับเข้าเป็นสมาชิก

ข้อที่ 12  ผู้ที่ได้รับอนุมัติให้เป็นสมาชิกต้องชำระค่าบำรุงภายใน 30  วัน  นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งการรับเข้าเป็นสมาชิกจากเลขานุการ  หากเกินระยะเวลาที่กำหนดถือว่าการสมัครเป็นโมฆะ

ข้อที่ 13  สมาชิกภาพของสมาชิกให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการบริหารสมาคมมีมติรับเข้าเป็นสมาชิก

ข้อที่ 14  สมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลงเมื่อ

            14.1     ตาย

            14.2    ลาออก

            14.3    ขาดคุณสมบัติตามข้อ 9

            14.4     ที่ประชุมใหญ่หรือคณะกรรมการมีมติให้ออกเนื่องจากเป็นผู้ที่ทำให้สมาคมเสื่อมเสียหรือไม่ปฏิบัติ  ตามข้อบงคับของสมาคม

ข้อที่ 15  สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก

            15.1    สามารถเข้าใช้สถานที่ของสมาคมโดยเท่าเทียมกัน

            15.2   เสนอความคิดเห็นต่อที่ประชุมใหญ่ของสมาคม

            15.3   มีสิทธิได้รับสวัสดิการต่าง ๆ ที่ทางสมาคมจัดให้มี

            15.4    มีสิทธิเข้าร่วมประชุมใหญ่ของสมาคม

            15.5   สมาชิกสามัญมีสิทธิในการเลือกตั้งหรือได้รับการเลือกตั้งเป็นกรรมการบริหารสมาคม  และมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมได้  1  เสียง

            15.6    มีสิทธิร้องขอต่อคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบเอกสารและทรัพย์สินของสมาคม

            15.7    มีสิทธิเข้าชื่อร่วมกันอย่างน้อย 1 ใน 5  ของสมาชิกสามัญและสมาชิกสมทบทั้งหมดหรือสมาชิกไม่น้อยกว่า  15  คน  ทำหนังสือร้องขอต่อคณะกรรมการให้เปิดประชุมใหญ่วิสามัญได้

            15.8  มีหน้าที่ปฏิบัติตามระเบียบและข้อบังคับของสมาคมโดยเคร่งครัด

            15.9   มีหน้าที่ในความร่วมมือและสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ  ของสมาคม

            15.10 ช่วยเผยแพร่ชื่อเสียงและผลงานของสมาคมให้เป็นที่รู้จักของสังคม

 

หมวดที่ 3

การดำเนินกิจกรรมของสมาคม

 

ข้อที่ 16  ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง  ทำหน้าที่บริหารกิจการสมาคมจำนวนไม่เกิน  50  คน  ซึ่งได้จากการเลือกตั้งของที่ประชุมใหญ่และให้ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งกันเป็นนายกสมาคม  1  คน  อุปนายก  3  คน  และกรรมการอื่น ๆ อีกตามข้อบังคับ  ซึ่งกรรมการต่าง ๆ  มีหน้าที่ดังต่อไปนี้

            16.1  นายกสมาคม   ทำหน้าที่ในการบริหารกิจการของสมาคม  เป็นผู้แทนของสมาคมในการติดต่อกับหน่วยงาน  องค์กรพันธมิตรและบุคคลภายนอก  ตลอดทั้งทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการและการประชุมใหญ่ของสมาคม

            16.2  อุปนายก   ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือนายกสมาคมในการบริหารกิจการของสมาคม  ปฏิบัติตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากนายกสมาคม  และทำหน้าที่แทนนายกสมาคมเมื่อนายกสมาคมไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้แต่การทำหน้าที่แทนนายกสมาคม  โดยให้อุปนายกทำหน้าที่แทนเรียงตามลำดับก่อนหลัง

            16.3  เลขานุการ   ทำหน้าที่เกี่ยวกับงานธุรการของสมาคมทั้งหมด  เป็นเจ้าหน้าที่ของสมาคมในการปฏิบัติกิจกรรมของสมาคมและปฏิบัติตามคำสั่งของนายกสมาคม  ตลอดจนทำหน้าที่เป็นเลขานุการในการประชุมต่าง ๆ ของสมาคม

            16.4  เหรัญญิก   มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินทั้งหมดของสมาคม  เป็นผู้จัดทำบัญชีรายรับ– รายจ่าย  บัญชีงบดุลของสมาคมและเก็บเอกสารหลักฐานต่าง ๆ  ของสมาคมไว้เพื่อเป็นหลักฐานหรือการตรวจสอบ

            16.5  ปฏิคม   มีหน้าที่ในการต้อนรับแขกของสมาคมและคอยบริการรับแขกของสมาคมทุกเรื่องในกรณีสมาคมมีกิจกรรมขึ้น

            16.6  นายทะเบียน   มีหน้าที่เกี่ยวกับข้อมูลสมาชิกทั้งหมดของสมาคม  ประสานงานกับเหรัญญิกในการเก็บเงินค่าสมัคร  ค่าบำรุงรายปีและให้ข้อมูลที่จำเป็นต่อคณะกรรมการบริหารสมาคม

            16.7  ประชาสัมพันธ์   มีหน้าที่เผยแพร่กิจกรรมและชื่อเสียงเกียรติคุณของสมาคมให้สมาชิกและบุคคลทั่วไปให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย

            16.8  วิชาการ   มีหน้าที่ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องวิชาชีพแก่สมาชิก  ตลอดทั้งดำเนินการจัดอบรม  ประชุม  สัมมนาด้านวิชาการในนามของสมาคม

            16.9  สวัสดิการ  มีหน้าที่จัดเตรียมสถานที่เมื่อสมาคมมีกิจกรรมต่าง ๆ  ตลอดทั้งการประสานงานเพื่อให้ได้มาซึ่งเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่จำเป็นการจัดกิจกรรมของสมาคม

            16.10  ผู้ช่วยเลขานุการ  มีหน้าที่ช่วยเหลือกิจการทุกอย่างที่อยู่ในความรับผิดชอบของเลขานุการ

            16.11  ผู้ช่วยเหรัญญิก  มีหน้าที่ช่วยเหลือกิจการทุกอย่างที่อยู่ในความรับผิดชอบของเหรัญญิก

            16.12  ผู้ช่วยปฏิคม  มีหน้าที่ช่วยเหลือกิจการทุกอย่างที่อยู่ในความรับผิดชอบของปฏิคม

            16.13  ผู้ช่วยนายทะเบียน  มีหน้าที่ช่วยเหลือกิจการทุกอย่างที่อยู่ในความรับผิดชอบของนายทะเบียน

            16.14  ผู้ช่วยประชาสัมพันธ์  มีหน้าที่ช่วยเหลือกิจการทุกอย่างที่อยู่ในความรับผิดชอบของประชาสัมพันธ์

            16.15  ผู้ช่วยวิชาการ  มีหน้าที่ช่วยเหลือกิจการทุกอย่างที่อยู่ในความรับผิดชอบของวิชาการ

            16.16  ผู้ช่วยสวัสดิการ  มีหน้าที่ช่วยเหลือกิจการทุกอย่างที่อยู่ในความรับผิดชอบของสวัสดิการคณะกรรมการชุดแรกให้ผู้เริ่มการจัดตั้งสมาคมเป็นผู้เลือกตั้ง  ประกอบด้วย นายกสมาคมและกรรมการอื่น ๆ  ตามจำนวนที่เห็นสมควรตามข้อบังคับของสมาคม

ข้อที่ 17  คณะกรรมการของสมาคมสามารถอยู่ในตำแหน่งได้คราวละ  2  ปี  และเมื่อคณะกรรมชุดก่อตั้งอยู่ในตำแหน่งครบกำหนดตามวาระแล้ว  แต่หากสมาคมยังไม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ ให้คณะกรรมการชุดก่อตั้งที่ครบกำหนดรักษาการไปจนกว่าสมาคมจะได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ  ถ้าสมาคมได้รับอนุญาตให้จดทะเบียน  ให้ประธานสมาคมชุดก่อตั้งเรียนประชุมสมาชิกเพื่อให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการและมอบหมายงานให้คณะกรรมการชุดใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน  30  วันคณะกรรมการจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้  เว้นแต่ที่ประชุมใหญ่จะมีมติด้วยคะแนน ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3  ของสมาชิกที่อยู่ในที่ประชุม  จึงให้ดำรงตำแหน่งติดต่อกันได้เกินกว่าสองวาระ  แต่ไม่เกินสี่วาระ

ข้อที่ 18  ตำแหน่งคณะกรรมการสมาคม  ถ้าต้องว่างลงก่อนครบกำหนดวาระก็ให้ที่ประชุมใหญ่เลือกสมาชิกที่เหมาะสมเข้าดำรงตำแหน่งเท่ากับวาระทีเหลือภายใน  30  วัน  หากเหลือเวลาในการดำรงตำแหน่งไม่เกิน  45  วัน  ไม่ต้องเลือกใหม่

ข้อที่ 19  การพ้นจากตำแหน่งของคณะกรรมการ

            19.1  ตาย

            19.2  ลาออก

            19.3  ขาดจากสมาชิกภาพ

            19.4  มติที่ประชุมใหญ่ให้ออก

ข้อที่ 20  กรรมการที่ประสงค์จะลาออกจากตำแหน่งให้ยื่นหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรแจ้งความประสงค์ต่อคณะกรรมการและให้พ้นจากตำแหน่งเมื่อคณะกรรมการมีมติให้ออก

ข้อที่ 21  อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ

            21.1   มีอำนาจออกระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อให้สมาชิกได้ปฏิบัติโดยระเบียบปฏิบัตินั้นจะต้องไม่ขัดกับข้อบังคับนี้

            21.2   มีอำนาจหน้าที่ถอดถอนเจ้าหน้าที่ของสมาคม

            21.3   มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการที่ปรึกษาหรืออนุกรรมการได้  แต่การอยู่ในวาระต้องไม่เกินวาระของคณะกรรมการสมาคมชุดนั้น ๆ

            21.4    มีอำนาจเรียกประชุมใหญ่สามัญประจำปีและประชุมใหญ่วิสามัญ

            21.5   มีอำนาจบริหารกิจการของสมาคมเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตลอดทั้งอำนาจอื่น ๆ ตามข้อบังคับ

            21.6    มีหน้าที่รับผิดชอบในกิจการทั้งหมด  รวมทั้งการเงินและทรัพย์สินทั้งหมดของสมาคม

            21.7    มีหน้าที่จัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญในกรณีมีสมาชิกเข้าชื่อ  1  ใน  5  ของสมาชิกทั้งหมดหรือสมาชิกไม่น้อยกว่า  15  คน  เข้าชื่อซึ่งจะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญภายใน  30  วัน

            21.8  มีหน้าที่จัดทำเอกสารหลักฐานต่าง ๆ  ทั้งที่เกี่ยวกับการเงิน ทรัพย์สินและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ  ของสมาคมให้ถูกต้องตามหลักวิชาการและสามารถจะให้สมาชิกตรวจสอบเมื่อสมาชิกร้องขอ

            21.9   จัดทำบันทึกและรายงานการประชุมเพื่อเป็นหลักฐานและรายงานให้สมาชิกทราบ

            21.10 มีหน้าที่อื่น ๆ ตามข้อบังคับได้กำหนดไว้ 

ข้อที่ 22  คณะกรรมการจะต้องประชุมอย่างน้อยเดือนละ  1  ครั้ง  เพื่อปรึกษาหรือเกี่ยวกับการบริหารกิจการของสมาคม

ข้อที่ 23  ในการประชุมคณะกรรมการจะต้องมีคณะกรรมการเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของคณะกรรมการทั้งหมด  จึงจะถือว่าครบองค์ประชุม  มติที่ประชุมของคณะกรรมการถ้าข้อบังคับมิได้กำหนดไว้อย่างอื่นก็ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์  ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในการประชุมเป็นผู้ชี้ขาด

ข้อที่ 24  ในการประชุมคณะกรรมการ  ถ้านายกสมาคมและอุปนายกสมาคมไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้  ให้คณะกรรมการเลือกตั้งกันเองเพื่อให้ได้ประธานในการประชุมคราวนั้น

 

หมวดที่ 4

การประชุมใหญ่

 

ข้อที่ 25  การประชุมใหญ่ของสมาคมมี  2  ประเภท

            25.1  ประชุมใหญ่สามัญ

            25.2  ประชุมใหญ่วิสามัญ

ข้อที่ 26  คณะกรรมการจะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญปีละ  1  ครั้ง  ภายในเดือนพฤษภาคม

ข้อที่ 27  การประชุมใหญ่วิสามัญจะมีขึ้นโดยเหตุที่คณะกรรมการเห็นควรจัดขึ้น   หรือสมาชิก  1 ใน  5  ของสมาชิกทั้งหมดหรือสมาชิกเข้าชื่อกันไม่น้อยกว่า  15  คน  ทำหนังสือร้องขอต่อคณะกรรมการจัดให้มีขึ้น

ข้อที่ 28  การแจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่  ให้เลขานุการเป็นผู้แจ้งกำหนดการประชุมใหญ่ให้สมาชิกทราบและการแจ้งต้องเป็นลายลักษณ์อักษรโดยระบุ วัน เวลา และสถานที่ให้ชัดเจน  โดยจะต้องแจ้งให้สมาชิกทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน  และประกาศแจ้งกำหนดการประชุมไว้  ณ  สำนักงานของสมาคมเป็นเวลาไม่น้อยกว่า  7  วันก่อนถึงกำหนดวันประชุมใหญ่

ข้อที่ 29  การประชุมใหญ่สามัญ  จะต้องมีวาระประชุมอย่างน้อยดังต่อไปนี้

            29.1  แถลงกิจการของสมาคมในรอบปีที่ผ่านมา

            29.2  แถลงบัญชี  รายรับ – รายจ่าย  และบัญชีงบดุลของปีที่ผ่านมาให้สมาชิกรับทราบ

            29.3  เลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่เมื่อครบกำหนดวาระ

            29.4   เลือกตั้งผู้ตรวจสอบบัญชี

            29.5  เรื่องอื่น ๆ  (ถ้ามี)

ข้อที่ 30  ในการประชุมสามัญหรือการประชุมวิสามัญจะต้องมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมการประชุมเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกสามัญทั้งหมด  จึงคงจะถือว่าครบองค์ประชุมแต่ถ้าเมื่อถึงกำหนดเวลาประชุมยังมีสมาชิกเข้าร่วมประชุมไม่ครบองค์ประชุมให้คณะกรรมการของสมาคมเรียกประชุมใหญ่อีกครั้งหนึ่ง  โดยจัดให้มีการประชุมภายใน14  วัน  นับตั้งแต่วันที่ประชุมครั้งแรก  สำหรับการประชุมในครั้งหลังนี้ถ้ามีสมาชิกเข้าร่วมประชุมเป็นเท่าใดก็ให้ถือว่าครบองค์ประชุมยกเว้นถ้าเป็นการประชุมใหญ่วิสามัญที่เกิดขึ้นจากการร้องขอของสมาชิก  ก็ไม่ต้องจัดประชุมใหญ่ให้ถือว่าการประชุมเป็นอันยกเลิก

ข้อที่ 31  การลงมติต่าง ๆ  ในที่ประชุมใหญ่  ถ้าข้อบังคับไม่กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น  ก็ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์  แต่ถ้าคะแนนเสียงที่ลงมติมีคะแนนเสียงเท่ากันก็ให้ประธานในการประชุมเป็นผู้ชี้ขาด

ข้อที่ 32  ในการประชุมใหญ่ของสมาคม  ถ้านายกสมาคมและอุปนายกสมาคมไม่มาร่วมประชุมหรือไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่  ก็ให้ที่ประชุมใหญ่ทำการเลือกตั้งกรรมการที่มาประชุมคนใดคนหนึ่งให้ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมคราวนั้น

 

หมวดที่ 5

การเงินและทรัพย์สิน

 

ข้อที่ 33  การเงินและทรัพย์สินทั้งหมด  ให้อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการ  เงินสดของสมาคมถ้ามีให้นำฝากไว้ในธนาคารที่คณะกรรมการเห็นชอบ

ข้อที่ 34  การลงนามในตั๋วและเงินหรือเช็คของสมาคม  จะต้องมีลายมือชื่อของนายกสมาคมหรือผู้ทำการแทนลงนามร่วมกับเหรัญญิกหรือเลขานุการพร้อมกับประทับตราของสมาคมจึงถือว่าใช้ได้

ข้อที่ 35  ให้นายกสมาคมมีอำนาจสั่งจ่ายเงินของสมาคมได้ครั้งละไม่เกิน 50,000  บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน)  ถ้าเกินกว่าจำนวนนั้นจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ  และคณะกรรมการอนุมัติให้จ่ายเงินได้ครั้งละไม่เกิน  100,000  บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน)  ถ้าจำเป็นจะต้องจ่ายเกินกว่านี้ต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่ของสมาคม

ข้อที่ 36  ให้เหรัญญิกมีอำนาจเก็บรักษาเงินสดของสมาคมได้ไม่เกิน  15,000 บาท (หนึ่งหมื่นห้าพันบาทถ้วน)ถ้าเกินกว่าจำนวนนี้จะต้องนำฝากธนาคารในบัญชีของสมาคมทันทีที่โอกาสอำนวยให้

ข้อที่ 37  เหรัญญิกจะต้องทำบัญชีรายรับ –รายจ่าย  และบัญชีงบดุลให้ถูกต้องตามหลักวิชาการรับหรือจ่ายเงินทุกครั้งจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของนายกสมาคมหรือผู้ทำการแทนร่วมกับเหรัญญิกหรือผู้ว่าการแทนพร้อมกับประทับตราของสมาคมทุกครั้ง

ข้อที่ 38  ผู้สอบบัญชีจะต้องมิใช่กรรมการหรือเจ้าหน้าที่ของสมาคม  และจะต้องเป็นผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาต

ข้อที่ 39  ผู้สอบบัญชีมีอำนาจที่จะเรียกเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการเงินและทรัพย์สิน  จากคณะกรรมการและสามารถจะเชิญกรรมการหรือเจ้าหน้าที่ของสมาคมเพื่อสอบถามเกี่ยวกับบัญชีและทรัพย์สินของสมาคมได้

ข้อที่ 40  คณะกรรมการจะต้องให้ความร่วมมือกับผู้สอบบัญชีเมื่อได้รับการร้องขอ

 

หมวดที่ 6

การเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับและการเลิกสมาคม

 

ข้อที่ 41  ข้อบังคับของสมาคมจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้โดยมติที่ประชุมใหญ่ของสมาคม  การเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับจะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด

ข้อที่ 42  การเลิกสมาคมจะเลิกได้ก็โดยมติของที่ประชุมใหญ่ของสมาคม  ยกเว้นเป็นการเลิกเพราะเหตุของกฎหมาย  มติของที่ประชุมใหญ่ที่ให้เลิกสมาคมจะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4  ของสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด

ข้อที่ 42  เมื่อสมาคมต้องเลิกไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ  ก็ตาม  ทรัพย์สินของสมาคมที่เหลือหลังจากที่ได้ชำระบัญชีเป็นที่เรียบร้อยแล้วให้ตกเป็นของนิติบุคคล  ซึ่งมีวัตถุประสงค์ทำนองเดียวกันหรือคล้ายกันหรือองค์กรการกุศลอื่นแล้วแต่ที่ประชุมใหญ่ลงมติเห็นชอบและนิติบุคคลหรือองค์กรนั้นยอมรับ  ถ้าทรัพย์สินดังกล่าวในวรรคแรก  ไม่สามารถตกเป็นของนิติบุคคลหรือองค์กรใดได้ด้วยเหตุใดก็ตามให้ตกเป็นของแผ่นดิน

 

หมวดที่ 7

บทเฉพาะกาล

 

ข้อที่ 43  ในขณะที่ข้อบังคับนี้ยังมีผลบังคับใช้ไม่สมบูรณ์  ให้ใช้ข้อบังคับของ ชมรมเพื่อนครูทุน ป.กศ.2525 วค.บร.จังหวัดร้อยเอ็ด  โดยอนุโลมไปก่อน

 

 

คณะกรรมการบริหารสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพครู (ครูทุน ป.กศ.2525  วค.บร.) จังหวัดร้อยเอ็ด

 

1)  นายกสมาคม                       นายแสงศิลป์            วิไลลักษณ์

2)  อุปนายก                             คนที่ 1   นายวิเชียร              แสงภักดี

                                              คนที่ 2   นายประเสริฐ  บำรุงรส

                                              คนที่ 3   นายประดิษฐ์   ขุมเงิน

3)  เลขานุการ                        นายอัครพงศ์              ไวยเวช

       ผู้ช่วยเลขานุการ            - นายสิทธิชัย            โคตรโยธา

                                           - นายอนันต์            ภูหินกอง

                                           - นายสมปอง            เอนกบุญ

4)  เหรัญญิก                        นายบงการ            กุสุริ

        ผู้ช่วยเหรัญญิก            - นายพิเทพ            สุทธิประภา

                                         - นายสมภาร            ท้าวบุตร

                                         - นายวีระศักดิ์     วรรณพินิจ

5)  นายทะเบียน                  นายบุญเกิด            ตรีกุล

        ผู้ช่วยนายทะเบียน      - นายสงคราม            เทพนวล

                                        - นายสวรรค์            มุมกลาง

                                        - นายประสงค์            ปุริโต

6)  วิชาการ                        นายคำพอง            อุดมโภชน์

     ผู้ช่วยวิชาการ               - นางวัจนา            นามน้าวแสง

                                       - นายวัฒนา            ศรีพลัง

                                       - นางนภาพรรณ     สิทธิคุณ

                                      - นางอุไรรัตน์              ประเสริฐสังข์

7)  ปฏิคม                        นายไพโรจน์            สีกาสี

    ผู้ช่วยปฏิคม                - นางปัญชลีย์              สังสนา

                                    - นางศิริพรรณ            พลเยี่ยม

                                    - นางสุมาลี            ปะการะนา

8)  สวัสดิการ                   นายไพบูลย์            ศรีษะคู

    ผู้ช่วยสวัสดิการ            - นายอุทัย            ศรีขาวรส

                                     - นายสุพรรณ            นิ่มอนงค์

                                     - นายนิคม            พลเยี่ยม

 9)  ประชาสัมพันธ์            นายสมัคร            สงวนรัตน์

     ผู้ช่วยประชาสัมพันธ์    - นางคำพู            ไชยฮะนิจ

                                    - นายวุฒิศักดิ์            ยอดบุดดี

                                    - นายสมใจ            พลเยี่ยม

10)  ฝ่ายกฎหมาย            นายเทิดทูน            สุจารี

   ผู้ช่วยฝ่ายกฎหมาย      - นายสุนทร            ประเสริฐรัตน์

                                   - นายธนพล            เพ็งเหล่างิ้ว

                                   - นายทวี            วงษ์นาค

11)  ที่ปรึกษา               1. นายครรชิต            วรรณชา

                                  2. นายธเนศ            ใบปก

                                  3. นายวิระศักดิ์         โงชาฤทธิ์

                                  4. นายบุญช่วย         พงษ์ศาสตร์

                                  5. นายทวี            ทะนอก

หมายเลขบันทึก: 331321เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2010 22:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

เป็นก้าวย่างที่ดีนะเพื่อน ขอสนับสนุนด้วย

น่าจะส่งเป็นเอกสารนะหายากจัง เราไม่ถนัดคอมพ์

ส่งประชาสัมพันธ์ทางเวปไชต์ของแต่ละเขตด้วยนะเพื่อน เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง

ขอให้สำเร็จเป็นกำลังใจให้คณะทำงานทุกท่าน

คนดูแลเว็บหล่อจังเลย ขอเบอร์ด้วย

พบปะสังสรรค์ครั้งต่อไปออกนอกสถานที่บ้าง (ไปทะเลเป็นไง )

ผอ.เหลืองจะนัดพบปะเพื่อนห้อง 8 บรรณรักษ์เมื่อไหร่ เพื่อนเขารอคำตอบ

คิดถึงเพื่อนทุกๆคนมาก อย่าลืมมาเลี้ยงรุ่นปี 53 ทุกคนนะคะจะได้อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตากัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท