ใบข้าว
นางศิริอร ใบข้าว สุทธิเมธากุล

การพัฒนาหลักสูตร


การพัฒนาหลักสูตร

การพัฒนาหลักสูตรแบบครบวงจร*

            การพัฒนาหลักสูตรแบบครบวงจร (Integrated Curriculum Development) หมายถึงระบบการร่างหลักสูตร ระบบการนำหลักสูตรไปใช้ และระบบการประเมินหลักสูตร ทั้งสามระบบนี้จะสัมพันธ์ต่อเนื่องกัน เพื่อให้เกิดภาพรวมที่เป็นเอกภาพของกระบวนการพัฒนาหลักสูตร โดยการพัฒนาหลักสูตรมีรายละเอียดในแต่ละระบบดังนี้

           ระบบร่างหลักสูตร

            การร่างหลักสูตรมีอยู่ 4 ขั้น ได้แก่ สิ่งกำหนดหลักสูตร รูปแบบหลักสูตร การตรวจสอบคุณภาพหลักสูตร และการปรับแก้หลักสูตรก่อนนำไปใช้
             1. สิ่งกำหนดหลักสูตร คือ การเตรียมการศึกษาข้อมูลพื้นฐานด้านต่าง ๆ ที่จะนำมาใช้สำหรับการพัฒนาหลักสูตร จุดเริ่มการพัฒนาหลักสูตรอาจเริ่มจากคณะกรรมการชุดหนึ่งทำการศึกษาหรือวิจัย เพื่อทราบข้อเท็จจิรงหลายๆ อย่างเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องโดยตรงและโดยอ้อม เช่น ต้องทราบสภาพการศึกษาในปัจจุบัน แนวโน้มของสังคมและความต้องการทางการศึกษาในอนาคต ข้อมูลเหล่านี้ควรจะได้มาด้วยวิธีการวิจัยมากกว่าอาศัยประสบการณ์คณะกรรมการหลักสูตร การศึกษาข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็นในการกำหนดหลักสูตรอาจแบ่งได้เป็น 3 ประการ คือ
            1)  สิ่งกำหนดทางวิชาการ
            2)  สิ่งกำหนดทางสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ
            3)  สิ่งกำหนดทางการเมือง
             2. รูปแบบหลักสูตร เมื่อคณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรได้ศึกษาข้อมูลพื้นฐานจากสิ่งกำหนดแล้ว ประการต่อมาคือ การตัดสินใจเกี่ยวกับรูปแบบหลักสูตร เช่น หลักสูตรแบบรายวิชา หลักสูตรแบบบูรณาการ หลักสูตรแบบแกนวิชา และหลักสูตรระบุเกณฑ์ความสามารถพื้นฐาน เป็นต้น รูปแบบหลักสูตรโดยส่วนรวมจะประกอบด้วยโครงสร้าง และองค์ประกอบหลักสูตรซึ่งจะสะท้อนให้เห็นภาพรวมและมาตรฐานการศึกษาของแต่ละหลักสูตร มาตรฐานการศึกษาอาจจะดูได้จากโครงสร้างหลักสูตร ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ
            1)  โครงสร้างแบบรายปี คือ การวางรูปแบบหลักสูตร โดยการแบ่งเนื้อหาวิชาตามลำดับก่อนหลัง และจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้เพิ่มพูนสัมพันธ์กัน สำหรับรายวิชาที่จัดในโครงสร้างแบบนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นรายวิชาบังคับเนื่องจากวิชาหนึ่งจะเป็นพื้นฐานของวิชาถัดไป ผู้เรียนจะเรียนวิชาถัดไปไม่ได้ ถ้าไม่เรียนวิชาบังคับมาก่อน การประเมินผลจะมีการสอบปลายปีเพื่อเลื่อนชั้น ถ้าผู้ใดสอบตกวิชาใดจะต้องเรียนซ้ำชั้นอีก ผลการเรียนจะแจ้งเป็นเปอร์เซ็นต์ รูปแบบการเรียนรู้แบบนี้มีข้อจำกัด เช่น ถ้าผู้เรียนสอบตกวิชาใดวิชาหนึ่งจะต้องเรียนซ้ำชั้น และเรียนซ้ำวิชาที่สอบผ่านมาแล้วด้วย ซึ่งทำให้ผู้เรียนจบการศึกษาช้าไปเป็นปี ผู้เรียนไม่สามารถเลือกเรียนรายวิชาตามที่ตนเองมีความถนัดได้
                        2) โครงสร้างแบบหน่วยกิต คือ การจัดเนื้อหาวิชา และประสบการณ์การเรียนตามหน่วยกิตที่กำหนด โครงสร้างหลักสูตรแบบนี้เริ่มขึ้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากมูลนิธิคาร์เนกีได้ให้ทุนสถาบันการศึกษาต่างๆ และต้องการความมั่นใจว่า สถาบันการศึกษาที่ได้รับเงินไปแล้วนั้นมีมาตรฐานดีพอสมควร เกณฑ์การพิจารณาคือ รายวิชาที่เปิดสอน คุณสมบัติของอาจารย์และลักษณะปริญญาที่ให้กับนิสิต เกี่ยวกับรายวิชาที่เปิดสอนได้กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของการสอนเรียกว่า Carnegie unit of instruction หมายความว่า หนึ่งหน่วยกิตมีค่าเท่ากับการสอนหนึ่งชั่วโมงในชั้นเรียน โครงสร้างแบบหน่วยกิตจะมีองค์ประกอบ 6 องค์ประกอบ ดังนี้คือ

            1. ภาคการศึกษา

                        2. การแบ่งหมวดวิชา

                        3. การแบ่งลักษณะวิชา

                        4. จำนวนหน่วยกิต

                        5. ประมวลวิชา

                        6. การประเมินผล

* จาก รายงานการวิจัย เรื่อง การสังเคราะห์งานวิจัยทางด้านหลักสูตรโดย อาจารย์ ดร.มาเรียม นิลพันธุ์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. 2543

 

        3. การตรวจสอบคุณภาพหลักสูตร  เมื่อคณะกรรมการร่างหลักสูตรเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก่อนจะนำหลักสูตรไปใช้จะต้องตรวจสอบคุณภาพของหลักสูตรเพื่อศึกษาความเป็นไปได้พร้อมทั้งปรับปรุงแก้ไขบางส่วนก่อนนำไปใช้จริง  การตรวจสอบคุณภาพหลักสูตรทำได้หลายวิธี เช่น ใช้วิธีการประชุมสัมมนา โดยให้ผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์ตรงในเรื่องนั้นตรวจสอบ นอกจากวิธีตรวจสอบคุณภาพหลักสูตรโดยใช้เทคนิค เดลฟาย (Delphi technique)  การทดลองใช้หลักสูตรนำร่อง เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของหลักสูตร รวมทั้งมีคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการทดลองใช้หลักสูตรแต่ละระยะอย่างมีระบบ เพื่อรวบรวมข้อมูลนำมาสังเคราะห์ สำหรับการปรับแก้ก่อนจะนำไปใช้ต่อไป
             4. การปรับแก้หลักสูตรก่อนนำไปใช้ การปรับแก้หลักสูตรจะต้องจัดทำระบบข้อมูลที่ชัดเจนจะทำให้การปรับแก้ไขหลักสูตรเป็นอย่างมีระบบ และมีประสิทธิภาพ การสังเคราะห์ข้อมูล ควรทบทวนพิจารณาให้รอบคอบว่าข้อมูลนี้จะนำไปใช้ปรับแก้ไนส่วนใดของหลักสูตรและเมื่อปรับแก้แล้วไปกระทบหลักการและโครงสร้างของหลักสูตรมากน้อยเพียงใด รวมทั้งการชี้ทางปฏิบัติให้ชัดเจนขึ้นหรือไม่

             ระบบการใช้หลักสูตร

            การใช้หลักสูตรมีอยู่ 3 ขั้น ได้แก่ การขออนุมัติหลักสูตร การวางแผนการใช้หลักสูตรและการดำเนินการใช้หลักสูตร
            1. การขออนุมัติหลักสูตร เมื่อได้ตรวจสอบคุณภาพหลักสูตรและปรับแก้หลักสูตรเรียบร้อยก่อนที่จะนำหลักสูตรไปใช้จะต้องนำหลักสูตรเสนอหน่วยงาน เพื่อให้ความเห็นชอบหลักสูตร ได้แก่ กระทรวง หรือทบวงที่มีสถานศึกษานั้นสังกัด เมื่อได้รับอนุมัติหลักสูตรแล้วหน่วยงานนั้นๆ จะต้องนำหลักสูตรเสนอไปยังสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เพื่อการกำหนดเงินเดือน
            2. การวางแผนการใช้หลักสูตร ขณะรอการการอนุมัติใช้หลักสูตร ผู้รับผิดชอบหลักสูตรจะต้องดำเนินการวางแผนการใช้หลักสูตรควบคู่กันไป และเมื่อหลักสูตรได้รับการอนุมัติเรียบร้อยจะได้ดำเนินการใช้หลักสูตรทันที การวางแผนการใช้หลักสูตรต้องคำนึงถึงสิ่งจำเป็นดังต่อไปนี้คือ

                        1) การประชาสัมพันธ์หลักสูตร

                        2) การเตรียมงบประมาณ

                        3) การเตรียมความพร้อมของบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการใช้หลักสูตร

                        4) วัสดุหลักสูตร

                        5) บริการสนับสนุนและอาคารสถานที่

                        6) ระบบบริหารของสถาบันการศึกษา

                        7) การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ

                        8) การประเมินผลและติดตามการใช้หลักสูตร

            3. ขั้นดำเนินการใช้หลักสูตรหรือการบริหารหลักสูตร  เมื่อวางแผนการใช้หลักสูตรเรียบร้อยแล้ว การนำหลักสูตรมาใช้จริงและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตรนั้น เป็นทั้งศาสตร์และศิลปะ ที่ว่าเป็นศาสตร์นั้น หมายถึง การวางแผนใช้อย่างเป็นระบบ และใช้เทคโนโลยีทางการศึกษามาช่วยเสริมส่วนที่ว่าเป็นศิลปะนั้น หมายถึง ผู้ใช้ในที่นี้รวมทั้งผู้บริหารและอาจารย์ผู้สอน จะมีบทบาทมากในการที่จะทำให้หลักสูตรบรรลุความสำเร็จมากน้อยเพียงใด ดังมีคำกล่าวว่า หลักสูตรแม้จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างใด ถ้าผู้สอนไม่สนใจไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเรียนการสอน หลักสูตรใหม่นั้นก็จะไม่มีความหมาย และได้ผลตามสิ่งที่หลักสูตรคาดหวัง

 

การดำเนินการตามแผน

            การดำเนินการตามแผนการใช้หลักสูตรที่จำเป็นจะต้องกระทำก่อนเป็นอันดับแรก ได้แก่การประชาสัมพันธ์หลักสูตรในคณาจารย์ และผู้เกี่ยวข้องอื่น เช่น ผู้บริหารระดับนโยบาย ผู้ปกครอง และหน่วยงานอื่นๆ จะต้องศึกษากลุ่มเป้าหมายต่างๆ ระยะเวลาที่จะนำเสนอ ซึ่งสมารถทำได้หลายรูปแบบ เช่น การประชุม การสัมมนา การใช้สื่อมวลชน วิทยุ ทีวี หนังสือพิมพ์ การออกแบบเอกสาร แผ่นพิมพ์ เป็นต้น การเลือกวิธีการประชาสัมพันธ์หลักสูตรจะใช้แบบใดจำนวนครั้งที่จะใช้ขั้นอยู่กับลักษณะกลุ่มเป้าหมาย และงบประมาณที่ใช้
            การเตรียมความพร้อมของบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการใช้หลักสูตรเป็นสิ่งสำคัญ และจำเป็นโดยเฉพาะอย่างยิ่งความพร้อมทางการสอนคณาจารย์ต่อหลักสูตรใหม่ จะต้องทำการสำรวจให้ชัดเจนว่าคณาจารย์มีความพร้อม ในการสอนหลักสูตรใหม่มีจำนวนมากน้อยเพียงใด ส่วนที่ไม่พร้อมจะจัดการฝึกอบรมอย่างไร การศึกษาความจำเป็นในการฝึกอบรม (Training Need) การวิเคราะห์งานอย่างเป็นระบบ เพื่อจัดการฝึกอบรมให้ตรงตามความต้องการของอาจารย์ผู้สอน การฝึกอบรมการใช้หลักสูตรให้กับกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ที่ได้ผลนั้น สำหรับผู้สอนแล้วจะต้องใช้วิธีประชุมปฏิบัติการ ส่วนผู้เกี่ยวข้องอาจจะใช้วิธีการประชุม และการสัมมนาชี้แจงเกี่ยวกับการใช้หลักสูตรก็เพียงพอ
            งบประมาณ เป็นตัวบ่งชี้ที่จะทำให้การใช้หลักสูตรประสบผลสำเร็จมากน้อยเพียงใด เพราะงบประมาณจะช่วยสนับสนุนเกี่ยวกับการพัฒนาวัสดุหลักสูตร คู่มือ เอกสารอ่านเสริม อุปกรณ์การสอน วิทยากร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็คือบริการสนับสนุนที่ส่งผลให้การเรียนการอสนมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้แล้ว อาคารสถานที่จะช่วยเสริมสร้างบรรยากาศการเรียนการสอนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
                ขั้นการนำหลักสูตรไปใช้ หรือการบริหารหลักสูตรนั้น จะต้องศึกษาปัจจัยเกี่ยวกับผู้สอนในด้านความรู้เกี่ยวกับหลักสูตร และความสามารถในการสอน ส่วนปัจจัยเกี่ยวกับสถาบันการศึกษา ได้แก่ ส่วนปัจจัยเกี่ยวกับหลักสูตร ได้แก่ ความซับซ้อนของหลักสูตร การช่วยเหลือสนับสนุนจากฝ่ายบริหาร และประสบการณ์การฝึกอบรมปฏิบัติการของผู้สอนอย่างกว้างและลึก เกี่ยวกับการใช้หลักสูตร และการสอน ส่วนปัจจัยสุดท้ายคือ ผู้เรียน ได้แก่ จำนวนของผู้เรียน ความรู้ความสามารถ และรวมทั้งความสนใจต่อวิชาที่เรียน สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่จะส่งผลเกี่ยวกับการใช้หลักสูตรให้ประสบผลสำเร็จมากหรือน้อยด้วย
            การออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนเป็นสิ่งสำคัญ สำหรับการพัฒนาหลักสูตรหลักสูตรที่จัดทำไว้เปรียบเสมือนพิมพ์เขียว หรือเข็มทิศนำทางในการจัดกิจกรรม และประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับผู้เรียน และการวางแผนการสอนของผู้สอนอย่างมีระบบและสามารถปฏิบัติได้
            การจัดตารางสอน คณะกรรมการจัดตารางสอนจะต้องศึกษาองค์ประกอบในการจัดตารางสอน 5 ประการคือ

            1. รายวิชาในหลักสูตร

            2. ห้องเรียน

            3. เวลา

            4. ผู้สอน

            5. ผู้เรียน

            การศึกษาข้อมูลเหล่านี้ จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้จัดตารางสอนได้ง่ายขึ้น และช่วยลดปัญหาเกี่ยวกับการวางแผนการเรียน การลงทะเบียนเรียน และการกำหนดอาจารย์ผู้สอน เช่น หลักสูตรที่มีโครงสร้างแบบหน่วยกิต จะประกาศว่าในภาคเรียนต้นปีการศึกษานี้ จะเปิดสอนรายวิชาอะไร

             ระบบการประเมินหลักสูตร

            ระบบการประเมินหลักสูตร คือ ขั้นสุดท้ายของการพัฒนาหลักสูตร การประเมินหลักสูตร คือ กระบวนการเปรียบเทียบระหว่างผลการใช้หลักสูตรที่วัดได้กับวัตถุประสงค์ของหลักสูตรว่าการปฏิบัติจริงนั้น ผลได้ใกล้เคียงกับวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้หรือไม่ จุดประสงค์ของการประเมินหลักสูตร คือ
            1. เพื่อดูว่าหลักสูตร เมื่อนำไปปฏิบัติจริงได้ผลเพียงใด บรรลุวัตถุประสงค์หรือไม่
            2. เพื่อหาทางปรับปรุงหลักสูตร ถ้าพบสิ่งบกพร่อง
            3. เพื่อหาข้อดีข้อเสียในวิธีการจัดประสบการณ์การเรียน
            4. เพื่อช่วยการจัดสินใจของฝ่ายบริหารว่าควรจะใช้หลักสูตรนี้ต่อไปหรือไม่
             การประเมินหลักสูตรอาจแบ่งเป็นระบบการประเมินย่อยได้ดังนี้ คือ การประเมินเอกสารหลักสูตร การประเมินระบบหลักสูตร การประเมินระบบการบริหารหลักสูตร การประเมินผลสัมฤทธิ์ ผู้เรียน การประเมินการสอนของผู้สอนและการประเมินการติดตามผลผู้สำเร็จการศึกษา
            1. การประเมินเอกสารหลักสูตร คือ การตรวจสอบความสอดคล้องระหว่างหลักการ โครงสร้าง วัตถุประสงค์ เนื้อหาสาระ การจัดประสบการณ์การเรียนและการประเมินผลว่ามีมากน้อยเพียงใด ภาษาที่ใช้สามารถสื่อสารได้ตรงกันหรือไม่ ข้อกำหนดใช้หลักสูตรมีความชัดเจนไม่เกิดปัญหาในการปฏิบัติใช่หรือไม่
            2. การประเมินระบบหลักสูตร คือ การตรวจสอบดูว่า หลักสูตรได้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้หรือไม่ วัตถุประสงค์ของหลักสูตรมีความเที่ยงตรงหรือไม่ หลักสูตรที่วางไว้เหมาะสมกับผู้เรียนหรือไม่ วิธีการสอนเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้หรือไม่ เนื้อหาวิชาที่จัดไว้เหมาะสมหรือไม่ อุปกรณ์การสอนหรือเอกสารประกอบการสอนเหมาะสมหรือไม่
            3. การประเมินระบบการบริหารหลักสูตร คือ การประเมินระบบการบริหารที่จะมีอิทธิพลและส่งผลต่อการใช้หลักสูตร ปัจจัยการบริหารที่ควรพิจารณาประเมิน คือ โครงสร้างและระบบของสถาบัน อาคารสถานที่ บรรยากาศทางสังคม สถาบัน การติดต่อสื่อสาร ลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสถาบัน เวลา คุณสมบัติของผู้สอนและผู้เรียน รวมทั้งงบประมาณที่ใช้
            4. การประเมินผลสัมฤทธิ์ผู้เรียน คือ การประเมินคุณภาพ และปริมาณความรู้ ทักษะและเจตนคติของผู้เรียนตามเกณฑ์ และมาตรฐานขั้นต่ำที่กำหนดไว้ในหลักสูตร
            5. การประเมินการสอนของผู้สอน คือ การศึกษาเกี่ยวกับวิธีการสอนว่าบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในแผนการสอนหรือไม่ องค์ประกอบที่ควรศึกษา ได้แก่ แผนการสอนจุดประสงค์ เนื้อหาวิชา สื่อการเรียน การประเมินผล รวมทั้งบุคลิกภาพ ความรู้ ความสามารถ ความสัมพันธ์กับผู้เรียน และการสร้างบรรยากาศในการเรียน
            6. การประเมินการติดตามผลผู้สำเร็จการศึกษา การศึกษาสถานภาพของผู้สำเร็จการศึกษาในด้านต่าง ๆ เช่น ความรู้ความสามารถ ทักษะและเจตคติต่อวิชาชีพ ความสามารถปฏิบัติงานได้จริงตามสภาพงานที่ปรากฏในปัจจุบัน ความสามารถในการแก้ปัญหา และการปรับตัวสิ่งที่ประสบความสำเร็จ หรือความล้มเหลวในการประกอบอาชีพ มีความสนใจที่จะศึกษาต่อและมีความคาดหวังที่จะแสวงหาความก้าวหน้าในวิชาชีพอย่างไร
            ในการประเมินหลักสูตร ถ้ามีการวางแผนการประเมินไว้ตั่งแต่เริ่มร่างหลักสูตร จะเป็นข้อบ่งชี้ให้ทราบถึงประสิทธิภาพของหลักสูตรที่จัดได้ว่า มีส่วนใดดีที่ควรคงไว้ ส่วนใดไม่เหมาะสมและควรพิจารณาปรับปรุง หรืออาจจะยกเลิกไป ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการพัฒนาปรับปรุง ให้เป็นปัจจุบันสอดคล้องกับสภาพสังคมเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
            การปรับแก้หลักสูตร สามารถกระทำได้ระหว่างการใช้หลักสูตร หรืออาจจะรวบรวมข้อมูลที่สำคัญและปรับแก้ เมื่อการใช้หลักสูตรได้ครบวงจรของการศึกษาแล้วก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการบริหารหลักสูตรจะตัดสินใจกำหนด
            ดังได้กล่าวแล้วว่า การพัฒนาหลักสูตรและการสอนแบบครบวงจรสามารถจำแนกได้ 3 ประการ คือ ระบบการร่างหลักสูตร ระบบการนำหลักสูตรไปใช้ และระบบประเมินหลักสูตร และระบบเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องกัน และมีความสำคัญเท่าเทียมกัน การพัฒนาหลักสูตรจะไปมุ่งเน้นที่ระบบใดระบบหนึ่งไม่ได้ ซึ่งจะเป็นผลทำให้หลักสูตรไม่มีประสิทธิภาพ จะไม่สามารถปรับปรุงแก้ไขได้อย่างถูกต้อง ดังนั้นการวางแผนการพัฒนาหลักสูตรและการสอนควรจะได้กระทำให้ครบวงจรของกระบวนการพัฒนาหลักสูตรและการสอน
           
หมายเลขบันทึก: 330474เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2010 10:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 12:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีครับ คุณอร

มาอ่านแล้วชอบเนื้อหามากเลยครับ

เพราะผมกำลังเรียน วิชาชีพครูอยู่

กำลังหาข้อมูลพอดีเลย

ขอบคุณนะครับ

^_______________________^@!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท