ต้อนรับ มรภ.หมู่บ้านจอมบึง ดูงาน QA ม.วลัยลักษณ์


การศึกษาดูงานครั้งนี้ ไม่เป็นเพียงแค่การศึกษาดูงานทั่วไป ที่มีฝ่ายหนึ่ง “ให้” และอีกฝ่ายหนึ่ง “รับ” แต่เป็นในลักษณะของแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน “ที่ทั้งสองฝ่ายมีบทบาททั้งการเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับในเวลาเดียวกัน

       วันที่ 20 มกราคม 2553 เวลา 09.00 – 12.00 น. ส่วนส่งเสริมวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในฐานะเจ้าบ้านได้มีโอกาสต้อนรับคณาจารย์และบุคลากร ของมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง จากจังหวัดราชบุรี รวมจำนวน 28 คน ในการศึกษาดูงานการประกันคุณภาพการศึกษา และงานประชาสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ณ ห้องตุมปัง อาคารบริหาร ชั้น 3 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช

       บทบาทของผมในวันนี้ คือ การทำหน้าที่บรรยายแนะนำระบบงานประกันคุณภาพการศึกษา ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ วันนี้เลยมาทำงานตั้งแต่เช้าตรู่ และเช้ากว่าทุกวัน เพื่อมาจัดเตรียมเอกสาร PowerPoint ประกอบการบรรยาย ประเภทอาหารจานร้อนพร้อมเสิร์ฟ ขณะที่รีบเร่งมือพัลวันกับการจัดทำเอกสารอยู่นั้น มองไปไกลๆ เห็นรถของมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงเลี้ยวเข้ามา มาถึงก่อนเวลาที่กำหนด ระหว่างนั้น “พี่ต้อย” คุณกรมาศ สงวนไทร หัวหน้าส่วนส่งเสริมวิชาการ เป็นเจ้าบ้านที่ดีมาก ได้เดินไปให้การต้อนรับ

       เวลา 09.00 น. เอกสารการนำเสนอเสร็จทันเวลา คณาจารย์และบุคลากรของมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ทยอยเดินมาที่ห้องประชุมตุมปัง เพื่อลงทะเบียน รับเอกสาร และเข้าห้องประชุม โดยมีคุณสุภาณี เพชรานันท์ พิธีกรคนเก่งมากความสามารถจากส่วนประชาสัมพันธ์ รอให้การต้อนรับอยู่ในห้องประชุมและเตรียมทำหน้าที่ดำเนินรายการในวันนี้

       กำหนดการศึกษาดูงานในช่วง 10 นาทีแรก เริ่มด้วยการเปิดวีดิทัศน์แนะนำมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จากนั้น ศาสตราจารย์ ดร.ธีระยุทธ กลิ่นสุคนธ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ได้ให้เกียรติมากล่าวต้อนรับ และสรุปงานในภาพรวมของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ตามภารกิจด้านการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ และศิลปวัฒนธรรม พร้อมด้วยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน...และก่อนที่จะพักรับประทานอาหารว่าง ผู้ช่วยศาสตราจารย์อรรถพล อุสายพันธ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ได้มอบของระลึกแก่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และในโอกาสเดียวกันนี้ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ก็ได้มีของที่ระลึกมอบให้แก่มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงเช่นเดียวกัน

       การศึกษาดูงานครั้งนี้ ทีมงานส่วนส่งเสริมวิชาการได้คุยร่วมกันว่า ไม่อยากให้เป็นเพียงแค่การศึกษาดูงานทั่วไป ที่มีฝ่ายหนึ่ง “ให้” และอีกฝ่ายหนึ่ง “รับ” เราจึงปรับกระบวนการให้เป็นไปในลักษณะของแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน “ที่ทั้งสองฝ่ายมีบทบาททั้งการเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับในเวลาเดียวกัน” ดังนั้น รูปแบบการศึกษาดูงานประกันคุณภาพ จึงกำหนดให้มีการนำเสนอระบบงานประกันคุณภาพการศึกษาทั้งในส่วนของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง พร้อมทั้งมีการตั้งประเด็นคำถามเพื่อเรียนรู้ระบบงานไปด้วยกัน

       กระบวนการเรียนรู้เริ่มในเวลา 10.00 น. เป็นการแนะนำโครงสร้างการบริหารงานของส่งเสริมวิชาการ โดย คุณกรมาศ สงวนไทร หัวหน้าส่วนส่งเสริมวิชาการ และจากนั้นผมมีเวลาประมาณ 20 นาทีในการบรรยายแนะนำเกี่ยวกับ “ระบบและกลไกการประกันคุณภาพการศึกษา ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์” พร้อมทั้งบอกเล่า “สภาพปัญหาอุปสรรคเกี่ยวกับการดำเนินงานการประกันคุณภาพการศึกษาภายในมหาวิทยาลัย และทิศทางการพัฒนาระบบงานประกันคุณภาพ” โดยมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกันระหว่างการบรรยายเป็นระยะ จากนั้นในเวลา 11.00 น. ผู้ช่วยศาสตราจารย์กิตติคม คาวีรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานมาตรฐานและประกันคุณภาพการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ได้มาบรรยายสรุปภาพรวมของการจัดโครงสร้างการบริหารงานประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัย พร้อมทั้งบอกเล่าถึงแผนงาน/โครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประกันคุณภาพการศึกษา

       การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการประกันคุณภาพการศึกษา โดยรวมแล้วใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง แต่น่าเสียดาย ที่เป็นไปด้วยความรีบเร่ง โอกาสของการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกันจึงมีค่อนข้างน้อย...

       ในช่วงท้ายก่อนที่จะพักกลางวัน เป็นการบรรยายระบบงานประชาสัมพันธ์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเด็นของการศึกษาดูงานในครั้งนี้ โดยมีคุณจิตตนา หนูณะ หัวหน้าส่วนประชาสัมพันธ์ ให้การบรรยายและแนะนำระบบงาน และก่อนที่คณาจารย์และบุคลากรของมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง จะเดินทางกลับ ก็ได้มีการถ่ายภาพหมู่ร่วมกันเป็นที่ระลึก

       สิ่งที่ได้จากการศึกษาดูงานครั้งนี้ นอกจากจะทำให้ได้เรียนรู้แนวทางการจัดวางระบบประกันคุณภาพการศึกษา และแผนงาน/โครงการที่มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงได้จัดขึ้นแล้ว สิ่งดีๆ ที่ได้เพิ่มเติม คือ ข้อคิดในการดำเนินชีวิตจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์กิตติคม คาวีรัตน์ ที่ให้ไว้ว่า “จิตสงบ ปัญญาดี ปัญหามี แก้ไขได้” แถมอาจารย์ยังได้แนะนำเทคนิคการคิดด้วยว่า “การคิดให้ช้าลง จะทำให้การคิดดีขึ้น” ทำให้คิดเชื่อมโยงไปถึงทฤษฎี “ลดลงแต่กลับได้เพิ่ม” เมื่อฟังแล้ว คิดตาม ก็รู้สึกเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง

.......................

หมูอวย
20 มกราคม 2553/ 20.00 น.

หมายเลขบันทึก: 329682เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2010 09:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณบันทึกดีๆครับ... "ลดลงแต่ได้เพิ่มขึ้น" ผมนึกถึงคำพูดนึงของเจ้าสัวซีพีเมื่อคืนที่ดูข่าวบอกว่า "กำไรน้อยขายเยอะเท่ากับกำไรมาก" แลกเปลี่ยนเรียนรู้ครับเป็นกำลังใจให้คนทำงานครับ

  • ขอบคุณอาจารย์ "เสียงเล็กๆ" มากครับ สำหรับกำลังใจครับ
  • อยากรู้จักอาจารย์เพิ่มขึ้น เลยติดตามเข้าไปดูประวัติ ดีใจครับที่เป็นศิษย์เก่า "รั้วสีบลู ถิ่นรูสะมิแล" เช่นเดียวกัน 
  • ชื่นชมความสามารถอาจารย์นะครับ 

 

คราวต่อไปหมูอวยลองใช้วิธีการ "เพื่อนช่วยเพื่อน" หรือ Peer Assist ดูนะ เมื่อมีคนติดต่อมาขอดูงานควรชวนเขาให้ใช้กระบวนการนี้ โดยต้องมีเวลามากพอและตกลงประเด็นที่ต้องการจะขอเรียนรู้ให้ชัดเจน ทั้งเราทั้งเขาต้องมีการเตรียมการล่วงหน้า ถ้าจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องงาน QA พี่ว่าจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย ๒ วัน ซึ่งจะได้ประโยชน์ทั้ง ๒ ฝ่าย

ไม่ใช่มาดูแว๊บๆ แล้วก็จากไป แต่ก็ต้องชื่นชมที่คุณกรมาศและหมูอวยได้พยายามจัดกิจกรรมให้มีการแลกเปลี่ยนกันด้วย

วัลลา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท