ปริญญาในพระพุทธศาสนา


ผมไปเจอเทศนาของท่านเจ้าคุณพระธรรมโกศาจารย์(ศ.ดร.ประยูร ธมฺมจิตฺโต) ดีมากๆ
อยากอ่านเต็มๆ ตามลิงค์ได้ข้างล่าง
http://www.watprayoon.org/index.php?topgroupid=1&subgroupid=512&groupid=89
เเละถ้าจะฟังตามลิงค์ข้างล่าง
http://www.watprayoon.org/index.php?topgroupid=1&subgroupid=455&groupid=61

ผมลอกมาให้ดูด้วย.........

ในช่วงฤดูกาลประสาทปริญญา หรือพระราชทานปริญญาบัตร ที่นั่น ที่นี่ เราก็จะได้ข่าวว่า มหาวิทยาลัยแห่งนั้นแห่งนี้ มีพิธีพระราชทานและประทานปริญญาบัตร ปริญญานั้นเป็นเรื่องของชาวโลก เรียกว่าปริญญาบัตร จบปริญญาตรี ก็เป็นปริญญาชั้นปริญญาตรี สูงขึ้นไปก็เป็นปริญญาโทสูงขึ้นไปอีกก็เป็นปริญญาเอก แต่ไม่ใช่ปริญญาในพระพุทธศาสนา ปริญญาในพระพุทธศาสนาใครก็มีสิทธิ์ได้รับปริญญานี้ ไม่จำเป็นจะต้องไปเข้าห้องเรียนในมหาวิทยาลัยมาฟังเทศน์วัดประยุรวงศาวาสอย่างสม่ำเสมอ ก็ได้ปริญญา ๓ ขั้นเหมือนกัน
เพราะฉะนั้น ท่านที่มาฟังอาตมภาพและพระสงฆ์ในวัดประยุรวงศาวาสแสดงพระธรรมเทศนามาหลายครั้ง ลองประเมินตนเองว่าวันนี้จบปริญญาอะไรบ้าง มี ๓ ขั้นเหมือนกัน ๓ ขั้นนี้พระพุทธเจ้าเป็นผู้ประทานไว้ ดังพระบาลีที่ว่า ตีหิ ปริญฺญฺาหิ ปริชาเนยฺย เป็นต้น แปลความว่า คนเราควรรู้ หรือรอบรู้ด้วยปริญญา ๓ ขั้น คือ
๑. ญาตปริญญา
๒. ตีรณปริญญา
๓. ปหานปริญญา
ถ้าได้ปริญญาครบ ๓ ขั้น ชื่อว่าได้ปริญญาเอกในทางพระพุทธศาสนา บางคนจบปริญญาเอกทางโลก แต่สอบตกปริญญาทางพระพุทธศาสนา มีปัญหาชีวิต มีปัญหาครอบครัว ฆ่ากันตายบ้าง ทำร้ายกันบ้าง ฆ่าตัวเองบ้าง ติดคุกบ้าง สอบตกหมด ยกบ้านยกครอบครัว แสดงว่าไม่มีความรู้ในทางพระพุทธศาสนาสมกับที่เป็นปริญญาคือเข้าวัดเข้าวาฟังเทศน์ ฟังธรรม ปริญญาในทางพระพุทธศาสนาชื่อว่ามี ๓ ขั้น คือ
ขั้นที่ ๑ ญาตปริญญา แปลว่าขั้นรู้จัก
ขั้นที่ ๒ ตีรณปริญญา แปลว่าขั้นพิจารณา
ขั้นที่ ๓ เรียกว่าปหานปริญญา แปลว่าขั้นละ
ถ้าจะจำให้ง่ายก็คือ รู้จักเป็นขั้นที่ ๑ รู้รอบเป็นขั้นที่ ๒ รู้ละเป็นขั้นที่ ๓ เรียกว่าเป็นปริญญาสูงสุด
ในสามขั้นนี้ ขั้นว่ารู้จักคืออะไร ท่านมาฟังพระเทศน์ ฟังแล้วเข้าใจ ว่าวันนี้พระเทศน์เรื่องอะไร ดีอย่างไร เรียกว่าขั้นรู้จัก มารับศีล รู้ว่าฆ่าสัตว์ไม่ดี ลักทรัพย์ ไม่ดี ประพฤติผิดในกามไม่ดี นี้เรียกว่าขั้นรู้จัก เรียกธรรมขั้นนี้เป็นญาตปริญญา หมายถึงรู้ว่าอะไรเป็นอะไร
รู้ขั้นว่าอะไรเป็นอะไรนี้เป็นเบื้องต้น เป็นปริญญาแรก คือเป็นปริญญาตรี รู้แค่นี้ ยังไม่ได้ผลเท่าไร เพราะอะไร เรารู้ว่าอะไรคืออะไรนี้ก็ไม่ช่วยให้ตนเองดับทุกข์ เป้าหมายก็คือแก้ปัญหา รู้ว่าอะไรเป็นอะไรนี้ไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาได้ ต้องรู้เชื่อมโยงว่ามันมาจากไหน มีเหตุเป็นอย่างไร จะดับเหตุได้อย่างไร เรียกว่า ตีรณปริญญา เป็นรู้ขั้นที่ ๒ เหมือนหมอรู้มากกว่าเรา เราเจ็บ เราป่วย ไม่สบาย บอกว่าเป็นมะเร็ง นี้เป็นญาตปริญญา แต่รักษาได้ไหม เรารักษาไม่ได้ หมอเขารู้ในขั้นที่ ๒ เรียกว่า ตีรณะ รู้รอบพิจารณาว่ามะเร็งมาจากไหน ทานยาอะไร ฉีดยาอะไรแล้วมันจะหาย นี้เรียกว่ารู้สูงขึ้นไป
ต่อไปรู้ขั้นที่ ๓ ตอนรักษานี้ หมอรักษาก็ดี เราร่วมกันรักษาก็ดี ในฐานะคนไข้ ใช้ยาขนานนี้ดีขึ้นหรือว่าแย่ลง สมุนไพรช่วยได้ไหม เคโมเทเลพีค ฉีดเคมีเข้าไป ดีขึ้นหรือเราแพ้ยา แล้วควรที่จะรักษาต่อ หรือควรจะหยุด อันนี้เป็นขั้นที่ ๓ เพียงแต่รู้ว่าเราป่วยเป็นอะไรอย่างเดียว เป็นขั้นที่ ๑ การเจ็บป่วยมาจากสมุฏฐานอะไร รักษาอย่างไร เป็นขั้นที่ ๒ การรักษาติดตามเป็นขั้นที่ ๓ คนเรานั้นต้องรู้ให้ครบ ๓ ขั้น จึงเรียกว่าได้ปริญญาในชีวิตครบจริงๆ

พระพุทธเจ้าได้ทรงเล่าชาดก อธิบายเปรียบเทียบไว้ว่า กวางตัวหนึ่งออกหาอาหารกิน ไปแต่เช้าทีเดียว ปกติมันก็ไปกินผลไม้ที่ตกมาจากต้น วันนั้นไปแต่เช้า ไปที่ต้นมะรื่น มะรื่นต้นนี้มีผลดกตกลงมาแล้วสัตว์ก็พากันกิน กินแล้วก็เวียนมากินอีกในวันรุ่งขึ้น พรานคนหนึ่งอยากจะจับสัตว์ ไม่ไปไหนสังเกตดูที่สัตว์พากันมากินผลไม้ จากนั้นแกก็ปีนขึ้นไปทำห้างร้าน เรียกว่านั่งห้างบนต้นมะรื่น เอาใบไม้ปิดไว้ แล้วก็มีหอกอยู่ในมือ ต้นก็คงไม่สูงนัก พอสัตว์มากินผลมะรื่นที่ตกลงมา ก็เอาหอกพุ่งลงมาในระยะกระชั้นชิด ได้สัตว์ไปแร่เนื้อขายหลายต่อหลายตัวแล้ว วันนั้น กวางตัวนี้ก็เดินมาที่ต้นมะรื่น แล้วสังเกตว่า ทำไมผลมะรื่นหรือลูกมะรื่นวันนี้มันตกเยอะเหลือเกิน วันอื่นๆ มันไม่ได้ตกเยอะขนาดนี้ แต่วันนี้มันตกเยอะ ก็หยุดรีรอคอยดูอยู่ ส่วนนายพรานกลัวว่ากวางตัวนี้จะรู้ตัวไม่เข้ามากิน เพราะว่าผลมะรื่นอยู่ใกล้โคนต้นมากไปหน่อย กวางมันก็มองแล้วมองอีก ไม่เข้ามา นายพรานเด็ดผลมะรื่นหนึ่งผลโยนเฉียงๆ ไปหากวาง กวางสงสัยรำพึงกับตนเอง
“แน่ะ มะรื่น วันอื่นตกลงมาตรงๆ วันนี้มะรื่นแปลกนะ ตกเฉียงๆ เข้ามาหากวาง ไม่ชอบเลยนิสัยแบบนี้ ไม่ดีเลย” กวางพูดดังๆ นายพรานก็นึกสงสัย เมื่อครู่โยนโค้งไปหน่อย ตอนนี้ตกตรงๆ ก็แล้วกัน โยนไปตรงๆ กวางก็พูดว่า “มะรื่นวันนี้ดูชอบกล ไม่อร่อยแน่ ไม่อยากกิน ไปดีกว่า” เมื่อชำเลืองดูแล้ว เห็นมือแวบๆ ตอนที่มันตกลงมารอบที่สอง กวางก็เดินหนี พอเดินหนี นายพรานก็พุ่งหอกลงมา เฉียดไป ไม่ถูก กวางก็เลยวิ่งหนีเอาตัวรอดไปได้
เรื่องนี้ สอนให้รู้ว่าการเห็นผลมะรื่นตกลงมาน่ากินเป็นอาหารโอชะ เป็นญาตปริญญา แปลว่ารู้จักว่า เกิดอะไรขึ้น ก็คือผลมะรื่นนี้ ผลมะรื่นตกลงมาเกลื่อนต้นเลย แต่พอผลมะรื่นนั้นถูกนายพรานโยนลงมาเฉียงๆ กวางรู้แล้วเป็นตีรณปริญญา มะรื่นที่ไหนมันตกเป็นวงโค้ง แสดงว่าต้องมีคนทำ พิจารณาสาเหตุแล้ว ก็เลยพูดดังๆ ไม่กินแล้ว ไปดีกว่า พอตัดสินใจว่าไปดีกว่า เป็นความรู้ขั้นละ หรือขั้นตัดสินใจว่าควรหรือไม่ควร เป็นปหานปริญญา ในที่สุดก็เดินหนีไป จากไปด้วยความปลอดภัย ...................

อนุโมทนาบุญกับศิษย์พี่ทุกท่านครับ ว่าเเต่ผลมะรื่มมันเป็นอย่างไร พี่ๆเคยเห็นไหม

หมอโรจน์

คำสำคัญ (Tags): #ปริญญา
หมายเลขบันทึก: 329622เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2010 22:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 12:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท