หงส์แดง
นายพูลศักดิ์ โด้ เขียวคล้าย

การวางแผนกลยุทธ์


การวางแผนกลยุทธ์

 

การวางแผนกลยุทธ์ 

 

การวางแผนกลยุทธ์เป็นแนวคิดเกี่ยวกับการวางแผนทางธุรกิจ โดยใช้กลยุทธ์ต่างๆ(แนวทางในการดำเนินงานหรือวิธีการแก้ไขปัญหา)ในการแก้ไขปัญหา เนื่องจากสภาพของสังคมไทยในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การจะกำหนดวิธีการดำเนินงานอย่างชัดเจนลงในแผนเป็นเรื่องที่ยากลำบาก จึงใช้การกำหนดยุทธวิธีในการทำงานแทน เพราะมีความยืดหยุ่นมากกว่า

                การวางแผนกลยุทธ์จะเริ่มจากการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายนอกและสภาวะ แวดล้อมภายในองค์การเพื่อสร้างวิสัยทัศน์(Vision)ขององค์การ เกี่ยวกับทิศทาง(Direction) จุดยืนที่เหมาะสม(Optimal Position) ภารกิจ(Mission) และวัตถุประสงค์ขององค์การ(Objective)

การวางแผนกลยุทธ์จะต้องประกอบด้วยคุณลักษณะสำคัญ 3 ประการคือ การมีวิสัยทัศน์ขององค์การ(Future Oriented) การเน้นความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลง(Change Oriented) และการมองภาพรวม(Holistic)ขององค์การ

 

ที่มาของการวางแผนกลยุทธ์ 

                การวางแผนกลยุทธ์ หรือ Strategic Planning  นั้นเป็นสิ่งที่ใช้กันแพร่หลายมากในกิจการทหาร ในด้านการศึกการสงคราม ในด้านการเมืองระหว่างประเทศ และโดยเฉพาะในการบริหาร  ในวงการธุรกิจเอกชนนั้น ประสบความสำเร็จสูงมาก ก้าวหน้าและเป็นที่กล่าวขวัญถึงกันมาก  ปัจจุบันนี้การวางแผนแบบกลยุทธ์ได้แพร่หลายเข้ามาในวงการต่างๆ และวงการราชการมากขึ้น  แต่คำที่นิยมใช้และที่ได้รับการยอมรับกันในวงการราชการ ส่วนใหญ่นิยมเรียกว่า  แผนยุทธศาสตร์

                การวางแผนกลยุทธ์นั้นเป็นการวางแผนที่มีการกำหนดวิสัยทัศน์ มีการกำหนดเป้าหมายระยะยาวที่แน่ชัด  มีการวิเคราะห์อนาคตและคิดเชิงการแข่งขัน ที่ต้องการกระบวนการทำงานที่มีความสามารถในการปรับตัวสูง สำหรับการทำงานในสิ่งแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ต้องการระบบการทำงานที่คล่องตัว ต้องการดำเนินงานมีประสิทธิภาพสูงในการนำสู่เป้าหมายในอนาคต สามารถเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เพื่อความอยู่รอด(Survive)และความก้าวหน้า(Growth)ขององค์การ ของหน่วยงาน หรือของธุรกิจของตนในอนาคต การวางแผนกลยุทธ์หรือการวางแผนเชิงกลยุทธ์นี้ มีส่วนเป็นอย่างมากต่อการสร้างความเป็นผู้นำ(Leadership)หรือในการสร้างภาพลักษณ์(Image)ที่แสดงถึงจุดเด่นของหน่วยงาน ขององค์การ ในการวางแผนกลยุทธ์นั้นจะต้องมีการ

กำหนดเป้าหมายรวมขององค์การ สำหรับการดำเนินงานในอนาคต ที่เรียกว่าวิสัยทัศน์  มีการคิดในเชิงรุก มุ่งเอาดี เอาเด่น เอาก้าวหน้า ก้าวไกล มุ่งเอาชนะ เอาความยิ่งใหญ่ เน้นคุณภาพ เอาความเป็นเลิศ

                ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 เป็นต้นมา รัฐบาลให้ความสำคัญในการเปลี่ยนแปลงระบบบริหารภาครัฐไปสู่ รูปแบบการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ ที่เน้นการทำงานโดยการบริหารผลสัมฤทธิ์ ยึดผลลัพธ์ในการทำงาน และมีการวัดผลที่เป็นรูปธรรม กระทรวงหรือกรมต่างๆ ได้นำระบบการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์(Result  Based Management System : RBMS)มาใช้โดยมีการตั้งคณะทำงานศึกษาและจัดทำแผนกลยุทธ์และประเมินผลสัมฤทธิ์ของงาน  ดังนั้นหน่วยงานภาครัฐจึงจำเป็นต้องกำหนดทิศทางของหน่วยงานตนเองด้วยการจัดทำแผนกลยุทธ์หรือแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว

 

ความหมายของการวางแผนกลยุทธ์

การวางแผนกลยุทธ์มีผู้ให้ความหมายของไว้ดังนี้

                แอนโธนี (Robert N. Anthony) กล่าวว่า การวางแผนกลยุทธ์ หมายถึง ผลอันเกิดจาก

กระบวนการตัดสินใจเลือกวัตถุประสงค์ขององค์การ การตัดสินใจเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ หรือการตัดสินใจใช้ทรัพยากรให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์นั้นๆ

                กลูกค์ (William F. Glueck) แผนกลยุทธ์เป็นแผนรวมผสมผสานและบูรณาการณ์ เพื่อใช้

เป็นแนวทางปฏิบัติงานให้บรรลุผลตามวัตถุประสงค์ของหน่วยงาน

                แมกฟาร์แลนด์ (Dalton E. McFarland) กล่าวว่า การวางแผนกลยุทธ์ หมายถึง พฤติกรรมของบุคคลที่ต้องการปฏิบัติงานให้เป็นผลสำเร็จตามเป้าหมายของหน่วยงานและของตนเองในสภาพแวดล้อมที่ท้าทาย และความจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์การดำเนินงานให้สอดคล้องกับผู้อื่น

                จากความหมายดังกล่าวจึงสรุปไดว่าการวางแผนกลยุทธ์หรือการวางแผนเชิงกลยุทธ์(Strategic Planning) คือ กระบวนการตัดสินใจเพื่อดำเนินงานขององค์การ หรือหน่วยงาน ให้บรรลุวัตถุประสงค์ แม้จะต้องเสี่ยงกับสภาวะที่ไม่แน่นอน การวางแผนกลยุทธ์ประกอบด้วย ขั้นตอนการศึกษาข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับสถานภาพขององค์กร การนำข้อมูลที่รวบรวมได้มาวิเคราะห์หรือสังเคราะห์เพื่อนำไปใช้ในการจัดวางทิศทางขององค์กร จากนั้นจึงกำหนดกลยุทธ์ว่าควรจะทำอย่างไร เพื่อให้ได้ตามทิศทางที่กำหนดไว้

 

 

 

จุดมุ่งหมายของการวางแผนกลยุทธ์

                การวางแผนกลยุทธ์ เป็นกระบวนการที่ผู้บริหารทุกระดับสามารถนำไปใช้จัดทำ เพื่อใช้เป็นเครื่องมืออันสำคัญในการบริหารงาน โดยมีความสำคัญต่อองค์การ ดังนี้

                1.แผนกลยุทธ์จะเป็นสื่อแสดงให้เห็นภาพ ชนิด และประเภทขององค์การ จากวัตถุประสงค์และนโยบายที่กำหนดไว้

                2.แผนกลยุทธ์จะเป็นสิ่งแสดงทิศทางร่วมกัน และเป็นแนวทางการใช้ทรัพยากรร่วมกันขององค์การ

                3.แผนกลยุทธ์ จะเป็นแนวทางการปฏิบัติงานระยะยาวขององค์การ

                4.แผนกลยุทธ์จะเป็นกรอบความคิดในการปฏิบัติงานขององค์การ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ได้กำหนดไว้

 

ความสำคัญของการวางแผนกลยุทธ์

1 การวางแผนกลยุทธ์ เป็นรูปแบบการวางแผนที่ช่วยให้องค์การ หรือหน่วยงานพัฒนาตนเองได้ทันกับสภาพการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเหมาะสม เพราะการวางแผนกลยุทธ์ให้ความสำคัญกับการศึกษาวิเคราะห์บริบทและสภาพแวดล้อมภายนอกหน่วยงานเป็นประเด็นสำคัญ

                2. การวางแผนกลยุทธ์ เป็นรูปแบบการวางแผนที่ช่วยให้หน่วยงานภาครัฐในทุกระดับ มีความเป็นตัวเองมากขึ้น รับผิดชอบต่อความสำเร็จและความล้มเหลวของตนเองมากขึ้น ทั้งนี้เพราะการวางแผนกลยุทธ์เป็นการวางแผนขององค์การ โดยองค์การและเพื่อองค์การ ไม่ใช่เป็นการวางแผนที่ต้องกระทำตามที่หน่วยเหนือสั่งการ

3. การวางแผนกลยุทธ์ เป็นรูปแบบการวางแผนที่สอดรับกับการกระจายอำนาจ ซึ่งเป็นกระแสหลักในการบริหารภาครัฐในปัจจุบัน กลยุทธ์ใช้เป็นเครื่องมือ ในการพัฒนางานสู่มิติใหม่ของการปฏิรูประบบบริหารงาน

4. การวางแผนกลยุทธ์ เป็นการวางแผนที่ให้ความสำคัญต่อการกำหนด กลยุทธ์ ที่ได้มาจากการวิเคราะห์แบบใหม่ๆ ที่ไม่ผูกติดกับปัญหาเก่าในอดีต ไม่เอาข้อจำกัดทางด้านทรัพยากร และงบประมาณมาเป็นข้ออ้าง ดังนั้น การวางแผนกลยุทธ์จึงเป็นการวางแผนแบบท้าทายความสามารถ เป็นรูปแบบการวางแผนที่ช่วยให้เกิดการริเริ่มสร้างสรรค์ทางเลือกใหม่ ได้ด้วยตนเอง จึงเป็นการวางแผนพัฒนาที่ยั่งยืน

 

การวางแผนกลยุทธ์ต้องตอบคำถาม 3 ประการ

1. ทำ อย่างไรองค์กรจึงจะสามารถตอบสนองวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์

2. ทำอย่างไรทุกคนในองค์กรจึงจะทำงานไปในทิศทางเดียวกันตามกลยุทธ์ที่วางไว้

3. จะวัดหรือติดตามความคืบหน้าของการดำเนินการตามกลยุทธ์ได้อย่างไร

 

การวางแผนกลยุทธ์มักจะนำไปใช้เพื่อ

1. เปลี่ยนทิศทางและผลการดำเนินงานทางธุรกิจ

2.สร้างกรอบการทำงานที่ต้องการอาศัยการตัดสินใจในองค์กร

3. กำหนดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในเรื่องการตัดสินใจเกี่ยวกับงบประมาณและการประเมินผลการดำเนินงาน

4. ฝึกอบรมผู้บริหารเพื่อพัฒนาการใช้ข้อมูลในการตัดสินใจให้ดียิ่งขึ้น

5.เพิ่มความมั่นใจในทิศทางการดำเนินธุรกิจ

 

ข้อแตกต่างระหว่างกลยุทธ์ กับการวางแผนทั่วไป

                การวางแผนกลยุทธ์ เป็นการวางแผนเพื่อนำองค์การไปสู่ภาพลักษณ์ใหม่ ก้าวสู่วิสัยทัศน์ที่ต้องการในอนาคต การวางแผนกลยุทธ์จึงเป็นการวางแผนในภาพรวมขององค์การ ทุกกลยุทธ์ที่กำหนดขึ้นเป็นปัจจัยที่ชี้อนาคตขององค์การนั้น

การวางแผนทั่วไปเป็นการวางแผนเพื่อแก้ปัญหา การป้องกันปัญหา หรือพัฒนาผลผลิตขององค์การ ดังนั้น การวางแผนทั่วไปจึงมีจุดมุ่งหมายเพียงเพื่อการให้ได้แนวทางในการดำเนินงานที่ทำให้โครงการขององค์การบรรลุผลสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้น

 

 

 

 

 

 

 

หลัก 5 ประการที่ควรคำนึงถึงในการวางแผนเชิงกลยุทธ์

หลัก 5 ประการที่ควรคำนึงถึง

ในการวางแผนเชิงกลยุทธ์

 

สภาพแวดล้อม

(Environment)

 

ลักษณะธุรกิจในอนาคต

(Where do you want to go?)

 

การจัดสรรทรัพยากร

(Resources allocation)

การปฏิบัติงานให้บรรลุผลตามวัตถุประสงค์(Achievement)

 

ลักษณะธุรกิจที่ดำเนินการอยู่

(What business you are in?)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

รูปที่ 1   หลัก 5 ประการที่ควรคำนึงถึงในการวางแผนเชิงกลยุทธ์

 

เกณฑ์สำคัญในการพิจารณากลยุทธ์

1. เป็นกลยุทธ์ที่ตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมภายนอก

2. เป็นกลยุทธ์ที่สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

3. เป็นกลยุทธ์ที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ พันธกิจและวัตถุประสงค์ในระยะยาว

4. เป็นกลยุทธ์ที่มีความยืดหยุ่น ที่เหมาะสม

5. เป็นกลยุทธ์ที่เป็นไปได้

 

กฎทองของการวางแผนเชิงกลยุทธ์

1. ปรับองค์กรให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ เพราะแต่ละหน่วยย่อยมีบทบาทหน้าที่ มีองค์ความรู้และมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน การจะทำให้กลยุทธ์ได้รับการปฏิบัติและดำเนินไปอย่างราบรื่นนั้น จำเป็นต้องปรับองค์กรให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ เพื่อสร้างให้องค์กรมีเอกภาพและเข้มแข็ง

2. แปลงกลยุทธ์ไปสู่ทีมปฏิบัติการต่าง ๆ โดยสร้างให้เกิดความเข้าใจพื้นฐานร่วมกันซึ่งแต่ละคนจะรู้เป้าหมายของตนเองอย่างชันเจนว่าต้องทำอะไรบ้าง

3. ทำให้กลยุทธ์เป็นเสมือนงานประจำวันของทุกคน ต้องทำให้ทุก ๆ คนเข้าใจกลยุทธ์ และสามารถทำงานประจำวันของตนไปในทิศทางที่สอดคล้องสนับสนุนความสำเร็จของกลยุทธ์ ซึ่งไม่ใช่การสั่งการ

จากบนลงล่าง แต่เป็นการสื่อสารระหว่างกันสองระดับ

4. ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงด้วยภาวะผู้นำที่เข้มแข็ง

 

6  ขั้นตอนสำคัญในการวางแผนเชิงกลยุทธ์

  1. 1.              วิเคราะห์สภาพแวดล้อมหรือวิเคราะห์องค์กร( SWOT หรือ Situation Analysis )

1.1       วิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายในองค์กร

                                ก่อนที่องค์กรจะกำหนดกลยุทธ์ จะต้องวิเคราะห์สภาพภายในองค์กรซึ่งเป็นการตรวจสอบสมรรถนะขององค์กรที่จะช่วยบ่งบอกถึงจุดแข็งที่จะใช้ให้เป็นประโยชน์ กับจุดอ่อนที่จะต้องแก้ไข ถึงแม้ปัจจัยสภาพแวดล้อมภายนอกอาจเป็นเชิงบวก แต่ถ้าหากภายในองค์กรขาดความพร้อมการดำเนินงานก็ยากที่จะประสบความสำเร็จได้

                                โดยทั่วไปขอบเขตของการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายในองค์กร จะพิจารณาจากตัวแบบ 7 ปัจจัย (7S Model) ของ R. Waterman คือ ระบบ (System) โครงสร้าง (Structure) กลยุทธ์ (Strategy) บุคลากร (Staff) ทักษะ (Skill) สไตล์ (Style) และค่านิยมร่วม (Shared values) โดยทั้ง 7 ปัจจัยมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ดังรูปที่ 2 ประกอบ

 

                รูปที่ 2  McKinsey’s 7 S Model ของ R. Waterman

                                เพื่อที่จะแสดงให้เห็นถึงความสำคัญ ของ McKinsey’s 7 S Model จึงขอกล่าวในแต่ละ
องค์ประกอบโดยสรุป ดังนี้

                (1.1.1)  กลยุทธ์ขององค์กร (Strategies)

                                                การบริหารเชิงกลยุทธ์เป็นกระบวนการอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้บริหารตอบคำถามที่สำคัญ อาทิ องค์กรอยู่ที่ไหนในขณะนี้ องค์กรมีเป้าหมายอยู่ที่ไหน พันธกิจของเราคืออะไร  พันธกิจของเราควรจะเป็นอะไร  และใครเป็นผู้รับบริการของเรา การบริหารเชิงกลยุทธ์จะมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งและพอจะสรุปเป็นข้อๆ ได้ดังนี้

1)                        การบริหารเชิงกลยุทธ์จะช่วยให้องค์กร กำหนดและพัฒนาข้อได้เปรียบ

ทางการแข่งขันขึ้นมาได้และเป็นแนวทางที่บุคคลภายในองค์กรรู้ว่าจะใช้ความพยายามไปในทิศทางใดจึงจะประสบความสำเร็จในการให้บริการประชาชน

                                            2)      การบริหารเชิงกลยุทธ์สามารถส่งเสริมให้เกิดแรงผลักดันในการคิดค้นสิ่งใหม่ และได้วิธีการที่เป็นระบบ ในการกระตุ้นให้เกิดความคิดใหม่ๆ ที่มีความสัมพันธ์กับกลยุทธ์

                                           3)     การบริหารเชิงกลยุทธ์เป็นการดำเนินการโดยการมีส่วนร่วมของผู้บริหารทุกระดับ และมีความเข้าใจแผนกลยุทธ์ มีวิสัยทัศน์ เป้าหมายร่วมกัน มีความเป็นเจ้าของ และมีความผูกพันกับการดำเนินการตามกลยุทธ์ที่ร่วมกันกำหนดไว้

                                      (1.1.2) โครงสร้างองค์กร (Structure)

                                          องค์กร (Organization) คือ โครงสร้างที่ได้ตั้งขึ้นตามกระบวนการ โดยมีการรับบุคลากรให้เข้ามาทำงานร่วมกันในฝ่ายต่างๆ เพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์ที่ตั้งไว้ หรือหมายถึง การจัดระบบระเบียบให้กับบุคคล ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป เพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่วางไว้

                                                ดังนั้นการจัดองค์กรจึงหมายถึงความพยายามของผู้บริหารที่จะต้องหาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ เพื่อที่จะมอบหมายงาน (Delegation) และอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติงาน (Authority)

                                                การจัดองค์กรจึงมีความหมายต่อบุคคลที่จะเข้ามาร่วมกันทำงาน ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการประสานงานซึ่งกันและกัน ดังนั้นการจัดองค์กรจะต้องมีความชัดเจนในเรื่องต่างๆ ดังนี้

1)    จุดประสงค์ขององค์กร และการวางแผนในการปฏิบัติงาน

2)    กิจกรรมที่องค์กรต้องปฏิบัติ และหน้าที่หลักขององค์กร

3)    ขอบเขตของอำนาจ หน้าที่ กฎ ระเบียบ ที่บุคลากรจะต้องปฏิบัติตาม

        4)    ความสามารถในการปรับเปลี่ยนบทบาท โครงสร้างองค์กรให้เป็นไปตามยุค

ตามสมัยเพราะโลกยุคโลกาภิวัตน์ (Globalization) นั้นเราจะต้องเปลี่ยนกระบวนการคิดให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง

                                                    เนื่องจากองค์กรในปัจจุบันมีขนาดใหญ่ การจัดองค์กรที่ดีจะมีส่วนช่วยให้เกิดความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน (Work flow) ลดความซ้ำซ้อนหรือขัดแย้งในหน้าที่ ช่วยให้บุคลากรได้ทราบขอบเขตงานความรับผิดชอบ มีความสะดวกในการติดต่อประสานงาน ผู้บริหารสามารถตัดสินใจในการบริหารจัดการได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว 

                                        (1.1.3) ระบบการปฏิบัติงาน (System)

                           ในการปฏิบัติงานตามกลยุทธ์เพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์ตามที่กำหนดไว้นอกจากการจัดโครงสร้างที่เหมาะสมและมีกลยุทธ์ที่ดีแล้ว การจัดระบบการทำงาน (Working System) ก็มีความสำคัญยิ่ง อาทิ ระบบบัญชี/การเงิน (Accounting/Financial System) ระบบพัสดุ (Supply System) ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology System) ระบบการติดตาม/ประเมินผล (Monitoring/Evaluation System) ฯลฯ

             (1.1.4) บุคลากร (Staff)

                         ทรัพยากรมนุษย์นับเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการดำเนินงานขององค์กร องค์กรจะประสบความสำเร็จหรือไม่ส่วนหนึ่งจะขึ้นอยู่กับการจัดการทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Management : HRM) 

                         การวางแผนทรัพยากรมนุษย์ เป็นกระบวนการวิเคราะห์ความต้องการทรัพยากรมนุษย์ในอนาคต แผนกลยุทธ์ที่องค์กรได้กำหนดไว้จะเป็นตัวบ่งชี้ถึงจำนวนความต้องการบุคลากรและการ
ตัดสินใจเกี่ยวกับส่วนประกอบของงานที่สอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กร รวมถึงคุณลักษณะของบุคลากรที่เหมาะสมกับงานแต่ละประเภท

                         การจัดหาบุคลากรเข้าทำงาน เป็นกระบวนการคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานในตำแหน่งต่างๆ ภายในองค์กร โดยวิธีการสรรหาและคัดเลือกผู้สมัครที่เหมาะสม

                                         ปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นภายในองค์กร คือ การขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะหรือความชำนาญ จึงเป็นอุปสรรคต่อองค์กรที่กำลังขยายตัว ดังนั้นองค์กรจึงต้องมีการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากร ตลอดจนการบริหารค่าตอบแทน การประเมินผลการปฏิบัติงาน การโยกย้ายและปรับเปลี่ยนตำแหน่งหน้าที่ เพื่อเพิ่มขีดสมรรถนะสูงสุดของบุคลากรอันจะนำไปสู่ผลสำเร็จขององค์กร

 

 

                               (1.1.5) ทักษะ ความรู้ ความสามารถ (Skills)

                     ทักษะในการปฏิบัติงานของทรัพยากรบุคคลในองค์กรสามารถแยกทักษะออกเป็น 2 ด้านหลัก คือ ทักษะด้านงานอาชีพ และทักษะความถนัด / ความชาญฉลาดพิเศษ โดยมีรายละเอียดดังนี้

1)            ทักษะด้านงานอาชีพ (Occupational Skills)

                                 เป็นทักษะที่จะทำให้บุคลากรประสบความสำเร็จในงานอาชีพ ซึ่งตาม The Dictionary of Occupational Titles อธิบายว่า ทักษะด้านงานอาชีพสามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม (ขึ้นอยู่กับว่าจะเน้นด้านใด) ได้แก่ (1) ข้อมูล (Data) (2) คน (People) (3) สิ่งต่างๆ (Things) ในการทำแบบฟอร์มการจำแนกทักษะ โดยการนำกระดาษเปล่ามาแล้วเขียนหัวเรื่องว่า “งานที่ฉันพอใจมากที่สุดเท่าที่ฉันเคยทำมา” แล้วเขียนเรียงความสั้นๆ บรรยายเกี่ยวกับงาน โดยการเขียนรายละเอียดให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เกี่ยวกับหน้าที่ (Duties) และความรับผิดชอบ (Responsibilities) งานที่พอใจเป็นอย่างไร ในการเขียนเรียงความนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นงาน (Job) ที่ชอบทั้งหมด แต่เป็นรายละเอียดของงาน (Task) ที่พอใจที่สุดเท่าที่เคยทำ อาจจะมีตำแหน่งงานที่ไม่ได้พอใจจริงๆ แต่อาจมีหน้าที่ (Duty) เฉพาะอย่างหนึ่งในงาน ซึ่งชอบจริงๆ ต่อจากนั้นจึงเขียนงานอื่นๆ อีก 2 งาน (Two other tasks) ที่เคยทำโดยจะเป็นเรียงความ 3 เรื่อง แล้วจึง
ขีดเส้นใต้ทักษะ (Skills) ซึ่งได้กล่าวถึงบ่อยที่สุด ก็จะได้ทราบถึงทักษะที่จำเป็นในงานอาชีพ

                                          2)            ทักษะ ความถนัด / ความชาญฉลาดพิเศษ (Aptitudes and special talents)

                                สำหรับจุดมุ่งหมายการวางแผนงานอาชีพ ความถนัดของบุคคลมักได้รับการวัดโดยการทดสอบ เช่น แบบทดสอบความถนัดทั่วไป (General Aptitude Test Battery (GATB)) เครื่องมือวัดชนิดนี้เป็นการวัดความถนัดต่างๆ ที่หลากหลาย ซึ่งประกอบด้วย ระดับสติปัญญา ความสามารถด้านคณิตศาสตร์ ความเข้าใจด้านเครื่องจักร ความสามารถด้านศิลปะ ความสามารถด้านดนตรี ฯลฯ ซึ่งการวัดเหล่านี้จะมีความสำคัญต่อการเลือกงานอาชีพ

                                      (1.1.6) รูปแบบการบริหารจัดการ (Style)

                          แบบแผนพฤติกรรมในการปฏิบัติงานของผู้บริหารเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งของสภาพแวดล้อมภายในองค์กร พบว่า ความเป็นผู้นำขององค์กรจะมีบทบาทที่สำคัญต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวขององค์กร ผู้นำที่ประสบความสำเร็จจะต้องวางโครงสร้างวัฒนธรรมองค์กรด้วยการเชื่อมโยงระหว่างความเป็นเลิศและพฤติกรรมทางจรรยาบรรณให้เกิดขึ้น

                          ความเป็นผู้นำ คือ ความสามารถที่มีอิทธิพลเหนือบุคคลอื่นในด้านการกระทำตามที่ผู้นำต้องการให้กระทำ รูปแบบของความเป็นผู้นำสามารถจำแนกได้ 4 อย่าง คือ

                                            1)    ผู้นำแบบเผด็จการ (Autocratic Leader) คือ บุคคลที่สั่งการในสิ่งที่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาต้องกระทำและคาดหวังว่าจะต้องมีการเชื่อฟังโดยไม่มีข้อสงสัย

                                            2)    ผู้นำแบบมีส่วนร่วม (Participative Leader) คือ บุคคลที่ยอมให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ แต่อย่างไรก็ตามอาจจะรักษาอำนาจหน้าที่ของการตัดสินใจที่สำคัญเอาไว้

                                            3)    ผู้นำแบบประชาธิปไตย (Democratic Leader) คือ บุคคลที่ได้พยายามจะทำในสิ่งที่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาส่วนใหญ่ต้องการ ในสถานการณ์ปัจจุบันผู้นำแบบประชาธิปไตยมีความสำคัญมาก เมื่อวิธีการดำเนินงานแบบทีมงานได้ขยายตัวออกไป นอกจากนั้นผู้นำแบบดังกล่าวได้สนับสนุนคณะกรรมการและทีมงานเฉพาะกิจเฉพาะเรื่อง เพื่อที่จะอภิปรายข้อปัญหาตั้งแต่กลยุทธ์ขององค์กร จนถึงการออกแบบงานใหม่ การคิดค้นการบริการใหม่ๆ การมีส่วนร่วมของบุคลากร อันจะส่งผลให้การทำงานมีประสิทธิภาพสูงขึ้น

                                            4)    ผู้นำแบบเสรีนิยม (Laissez – Faire Leader) คือ บุคคลที่ไม่ได้มีส่วนร่วมกับการดำเนินงานของผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาเลย การตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ผู้นำจะปล่อยให้สมาชิกของกลุ่มตัดสินใจทุกอย่าง

                                         แนวโน้มในปัจจุบันที่สำคัญอย่างหนึ่ง พบว่าผู้บริหารระดับสูงจะให้อำนาจแก่บุคคลระดับล่างมากขึ้น ร้อยละ 72 ของผู้บริหารที่ถูกสำรวจยืนยันว่าพวกเขาใช้การมีส่วนร่วมมากขึ้น ให้ความสำคัญกับการสร้างความเห็นพ้องต้องกันมากขึ้น และการพึ่งพาการติดต่อสื่อสารมากกว่าการบังคับบัญชาในรูปแบบที่ดำเนินการอยู่ในอดีต และผู้บริหารระดับสูงจะไม่สงวนอำนาจไว้ที่ตัวเองเพียงคนเดียว

                                            (1.1.7) ค่านิยมร่วม (Shared values)

                                         ค่านิยมและบรรทัดฐานที่ยึดถือร่วมกันโดยสมาชิกขององค์กรที่ได้กลายเป็นรากฐานของระบบการบริหาร และวิธีการปฏิบัติของบุคลากรและผู้บริหารภายในองค์กร หรืออาจเรียกว่าวัฒนธรรมองค์กร

                         รากฐานของวัฒนธรรมองค์กรก็คือ ความเชื่อ ค่านิยมที่สร้างรากฐานทางปรัชญาเพื่อทิศทางขององค์กร โดยทั่วไปแล้วความเชื่อจะสะท้อนให้เห็นถึงบุคลิกภาพและเป้าหมายของผู้ก่อตั้งหรือผู้บริหารระดับสูง ต่อมาความเชื่อเหล่านั้นจะกำหนดบรรทัดฐาน เป็นพฤติกรรมประจำวันขึ้นมาภายในองค์กร เมื่อค่านิยมและความเชื่อได้ถูกยอมรับทั่วทั้งองค์กรและบุคลากรกระทำตามค่านิยมเหล่านั้นแล้วองค์กรก็จะมีวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง

                                                              ผู้บริหารที่บรรลุความสำเร็จโดยทั่วไปจะปลูกฝังวัฒนธรรมพิเศษที่แทรกซึมไปทั่วทุกด้านขององค์กร ทั้งนี้เนื่องจากรากฐานของค่านิยมที่องค์กรได้สร้างขึ้นมาจะได้รับอิทธิพลจากปัจจัยหลายๆ อย่าง เช่น ผลผลิต ลักษณะของการแข่งขัน ประเภทของลูกค้า และเทคโนโลยี องค์กรที่ประสบความสำเร็จสูงจะมุ่งค่านิยมที่โดดเด่น เช่น การบริการ คุณภาพผลผลิตและบริการ การคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ความรวดเร็วหรือประสิทธิภาพในการผลิตและการให้บริการ

                         

 

                          การศึกษาในอเมริกา พบว่า บริษัทที่ดีเด่นจะมีปัจจัยที่สำคัญของวัฒนธรรมองค์กร อาทิ

                                            1)    การดำเนินการที่มีความคล่องตัวและค่อนข้างจะไม่เป็นทางการจนเกินไป

                                            2)    การให้ความใกล้ชิดกับประชาชนผู้รับบริการ และรับฟังปัญหาอย่างตั้งใจ

                                            3)    การให้ความเป็นอิสระแก่บุคลากรและการเป็นผู้ประกอบการเพื่อการคิดค้นสิ่งใหม่

                                            4)    การเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน บุคลากรผู้ปฎิบัติจะถูกมองว่าอยู่ใกล้ชิดที่สุดกับการปฏิบัติงานและเหมาะสมที่สุดที่จะเสนอเทคนิคเพื่อการปรับปรุงคุณภาพและประสิทธิภาพ

                                            5)    การบริหารงานแบบมีความใกล้ชิดและผลักดันด้วยค่านิยมร่วมกัน องค์กรที่ดีเด่นจะมีความชัดเจนในพันธกิจที่กำหนดและดำเนินการปลูกฝังค่านิยมอย่างจริงจัง

                                             6) มีการกระจายงานที่ยืนอยู่บนพื้นฐานของทักษะอย่างเดียวกันหรือมีความเกี่ยวพันกัน

                                           7) มีโครงสร้างองค์กรที่เรียบง่ายและมีสายงานการบังคับบัญชาค่อนข้างสั้น

                        1.2  วิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายนอกองค์กร

                               ก่อนที่องค์กรจะกำหนดกลยุทธ์ จะต้องตรวจสอบสภาพแวดล้อมภายนอกองค์กร เพื่อประเมินโอกาส (Opportunities) และข้อจำกัดหรืออุปสรรค (Threats) การตรวจสอบสภาพแวดล้อมภายนอก คือ การประเมิน แจกแจงและวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารจากสภาพแวดล้อมภายนอกให้แก่ผู้บริหารและบุคลากรภายในองค์กรได้รับทราบ

                                      หลักนิยมทั่วไป คือใช้หลักที่เรียกกันว่า “PEST Analysis” หรือ “STEP Analysis” ซึ่งมีองค์ประกอบดังรูปที่ 3

รูปที่ 3  องค์ประกอบการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายนอก

External Environment

External Environment

องค์การ

องค์การ

หมายเลขบันทึก: 328696เขียนเมื่อ 17 มกราคม 2010 12:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 14:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณมากๆครับ จะได้เอาไปสอบพอดีเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท