มะม่วง


มะม่วงน้ำดอกไม้ให้ผลผลิตสูงอย่างสม่ำเสมอ และมีคุณภาพดี โดยการใส่ปุ๋ย

บทคัดย่อ
เพื่อที่จะให้มะม่วงน้ำดอกไม้ให้ผลผลิตสูงอย่างสม่ำเสมอ และมีคุณภาพดี โดยการใส่ปุ๋ยด้วยชนิด อัตรา วิธีการ และเวลาที่เหมาะสม จึงได้มีการศึกษาการจัดการธาตุอาหารในมะม่วงขึ้นใน 3 ภาคภูมิศาสตร์เป็นเวลา 3 ปี โดยการเก็บดินตัวอย่าง และใบมะม่วงที่ไม่ได้รับปุ๋ยเคมีรวม 108 ตัวอย่าง และนำมาวิเคราะห์หาระดับความเข้มข้นของธาตุอาหาร N P K Ca Mg S Fe Mn Cu Zn และ B และระดับของคาร์โบไฮเดรตในใบ เพื่อหาระดับของธาตุอาหาร และคาร์โบไฮเดรตที่เหมาะสมต่อการสร้างผลผลิต ต้นมะม่วงน้ำดอกไม้ที่ให้ผลผลิตแล้วอายุ 4-12 ปี ได้ถูกขุดมาศึกษาและประเมินหาสัดส่วนของ N P K และธาตุอื่น ๆ ที่มะม่วงใช้ในการเจริญเติบโต และให้ผลผลิตในรอบ 1 ปี ในขั้นต่อมาได้นำวิธีการต่าง ๆ ในการใส่ปุ๋ยให้แก่มะม่วงมาทดสอบถึงผลที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงของระดับความเข้มข้นของธาตุอาหารและคาร์โบไฮเดรต และศึกษาต่อไปถึงผลของการใช้สารแพคโคลบิวทราโซลที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงของระดับธาตุอาหารและวิธีการจัดการธาตุอาหารที่ควรใช้ในการผลิตมะม่วงนอกฤดู และได้นำแหล่งของธาตุ
อาหารที่มีการปลดปล่อยอย่างช้า ๆ มาลองใช้เป็นปุ๋ยรองพื้นแล้วเสริมให้ด้วยการใส่ปุ๋ยละลายเร็วของ Nและ K ทางดินและทางใบผลของการศึกษาปรากฏว่า ได้ค่าวิเคราะห์ระดับธาตุอาหารในดินที่มีความหลากหลายมาก แต่ในใบมีการกระจายที่แคบ ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นเกณฑ์ขั้นต้นในการเปรียบเทียบถึงความสมบูรณ์ของธาตุ
ต่าง ๆ ในต้นมะม่วงได้ จากการศึกษาพบว่า ระดับธาตุอาหารในใบมีความสัมพันธ์น้อยกับปริมาณธาตุอาหารในดิน และไม่พบความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดระหว่างธาตุอาหารใดต่อการออกดอก และติดผลของมะม่วง ซึ่งน่าจะเป็นการทำงานของปริมาณที่พอเหมาะและสมดุลของทุกธาตุ ผลของการประเมินความต้องการธาตุอาหารจากมะม่วงที่ขุดมาศึกษา แสดงว่ามะม่วงน้ำดอกไม้ต้องการ N : P2O5 : K2O ในสัดส่วนประมาณ 1 : 1 : 2 ไปจนถึง 2 : 1 : 3 ในปริมาณต่าง ๆ ตามอายุที่ได้แสดงไว้ วิธีการต่าง ๆ ที่ใช้ในการจัดการธาตุอาหารสามารถยกระดับของธาตุต่าง ๆ ในใบมะม่วงขึ้นได้เพียงเล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับความเปลี่ยนแปลงของธาตุอาหารอันเนื่องมาจากสภาวะแวดล้อม แต่การเพิ่มจากการใส่ปุ๋ยแม้เพียงเล็กน้อยมีผลทำให้มะม่วงออกดอกและติดผลดีขึ้น การทำงานของแพคโคลบิวทราโซลเกี่ยวพันกับการยกระดับความเข้มข้นของ K ในระยะสั้น ซึ่งส่งผลถึงการสะสมคาร์โบไฮเดรตในระดับที่ทำให้มะม่วงออกดอกได้ การทดลองจัดการธาตุอาหารโดยวิธีต่าง ๆ ในมะม่วงที่ใช้สารแพคโคลบิวทราโซล โดยอาศัยผลวิเคราะห์ใบเป็นแนวทางสามารถยกระดับบางธาตุขึ้น และทำให้มะม่วงออกดอกและติดผลได้ดีขึ้น แต่ไม่สามารถทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของระดับอีกหลายธาตุในใบมะม่วง การทดสอบใช้สารละลายช้าเพื่อเป็นแหล่งของธาตุอาหารแก่มะม่วงได้แสดงให้เห็นว่า มะม่วงมีดอกสมบูรณ์เพศมากขึ้น และติดผลดีขึ้น การให้ธาตุอาหารในรูปละลายช้าแก่มะม่วงทางดิน และละลายเร็วทางใบในสัดส่วน อัตรา และจังหวะที่เหมาะสมน่า
จะช่วยให้มะม่วงให้ผลผลิตในระดับสูง และมีคุณภาพต่อเนื่อง ซึ่งนับว่าเป็นการเปิดมิติใหม่ของการจัดการธาตุอาหารในมะม่วง

หมายเลขบันทึก: 328690เขียนเมื่อ 17 มกราคม 2010 11:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 11:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท