ข้อแตกต่างระหว่างข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ


คำว่า ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ พนักงานราชการ และพนักงานมหาวิทยาลัย แตกต่างกันอย่างไร

คำว่า ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ พนักงานราชการ และพนักงานมหาวิทยาลัย แตกต่างกันอย่างไร

                สำหรับครั้งนี้ ผู้เขียน ขอนำคำว่า "ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ พนักงานราชการ และพนักงานมหาวิทยาลัย แตกต่างกันอย่างไร" มาอธิบายให้กับผู้สนใจได้อ่านเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องนะค่ะ

                ในวันนี้ ผู้เขียน ได้เข้าไปอ่านใน Web Site เกี่ยวกับ Web ของพนักงานราชการซึ่งในกระทู้ได้มีการออกความคิดเห็น ต่าง ๆ นานา ระหว่างเครื่องแบบพิธีการของพนักงานราชการ บางกระทู้ พาดพิงถึงคำว่า "ข้าราชการ" ผู้เขียนอ่านแล้วก็ไม่ค่อยสบายใจสักเท่าไร จึงขอนำคำว่า "ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ พนักงานราชการ และพนักงานมหาวิทยาลัย แตกต่างกันอย่างไร" โดยจะนำวิวัฒนาการ พ.ร.บ. ข้าราชการพลเรือน  ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของข้าราชการ มาเล่าให้กับน้อง ๆ ซึ่งเป็นเด็กรุ่นใหม่ได้ฟังเพื่อให้เกิดความเข้าใจยิ่งขึ้นค่ะ

                 พ.ศ. 2471  พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน ฉบับแรก เกิดคำว่า "ข้าราชการพลเรือน" ขึ้นเป็นครั้งแรกและเริ่มใช้ระบบคุณธรรมในการบริหารงานราชการ คือ ข้าราชการต้องมีสมรรถนะ มีความเสมอภาพ ในโอกาสและมีความมั่นคงในการดำรงสถานภาพ

                 ข้าราชการในสมัยรัชกาลที่ 7 นับว่ามีเกียรติภูมิสูงสุด เพราะมีทั้งยศและบรรดาศักดิ์ ผู้ที่จะเข้ารับราชการต้องผ่านการสอบแข่งขันและบรรจุ ตามลำดับคะแนนที่สอบได้ หรือคัดเลือกจากผู้ที่มีความรู้ ความชำนาญพิเศษ ก็สามารถพิจารณาบรรจุโดยไม่ต้องผ่านการสอบแข่งขัน

                 พ.ศ. 2476 หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีการตรา พ.ร.บ.ใหม่ ให้ข้าราชการเป็นพนักงานของรัฐ ถือว่าเป็นผู้รับใช้ประชาชน  ยกเลิก ยศและบรรดาศักดิ์ของข้าราชการ เพื่อสะท้อนถึงความเสมอภาพตามหลัก 6 ประการ ของคณะราษฎร์  แต่งตั้งข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) แทนคณะกรรมการรักษา พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน (กรพ.)

                 พ.ศ. 2479 กระจายอำนาจการบริหารงานของ ก.พ. ไปยังหน่วยราชการต่าง ๆ เป็นครั้งแรก  ใช้ระบบ "ชั้นยศ" ประกอบ ด้วย จัตวา ตรี โท เอก ชั้นพิเศษ

                 พ.ศ. 2497  มิได้กำหนดวิธีการกำหนดจำนวนตำแหน่งไว้ แต่ภายหลังมีการจัดทำกรอบอัตรากำลังในแต่ละกรม โดยคณะที่ปรึกษาระเบียบบริหารของนายกรัฐมนตรี

                 พ.ศ. 2518   ใช้ระบบจำแนกตำแหน่งแบบ "ระดับมาตรฐานกลาง" หรือที่คุ้นเคยกันว่า "ซี" หรือ common level แบ่งเป็น 11 ระดับ

                 พ.ศ. 2535     จัดแบ่งข้าราชการเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ข้าราชการพลเรือนในพระองค์ ข้าราชการประจำต่างประเทศพิศษ  เพิ่มหลักสำคัญ คือ ระบบคุณธรรม ความเสมอภาพ ความสามารถ ความมั่นคงและความเป็นกลาง

                   พ.ศ. 2551   ยกเลิกระดับมาตรฐานกลาง (Common Level หรือ C) โดยจัดกลุ่มประเภทตำแหน่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ บริหาร อำนวยการ วิชาการและทั่วไป ยึดแนวคิดหลัก 5 ประการ ได้แก่ หลักคุณธรรม หลักสมรรถนะ หลักผลงาน หลักกระจายอำนาจและคุณภาพชีวิตของข้าราชการ  จัดตั้ง "คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม" เพื่อดูแลและรักษาความเป็นธรรมให้กับข้าราชการ ปรับบทบาท ก.พ. ให้เหลือเพียงหน้าที่ "ผู้จัดการฝ่ายบุคคล" ของรัฐบาล

                   เห็นไหมค่ะว่า "ข้าราชการ" มีประวัติอันยาวนานมากว่า 80 ปี แล้ว ซึ่งคำว่า "ข้าราชการ" หมายถึง ผู้ทำงานรับใช้พระเจ้าแผ่นดิน ผู้ที่ทำงานสนองเบื้องพระบาทฯ มีหน้าที่ดูแลทุกข์บำรุงสุขของประชาชน หาใช่เจ้านายของประชาชนไม่ เพราะเงินเดือนและสวัสดิการที่เหล่าข้าราชการและครอบครัวได้รับล้วนมาจากเงินภาษีของประชาชนพลเมืองทั้งสิ้น เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วข้าราชการและบุคคลในครอบครัวที่สร้างความลำบากนำเรื่องเดือดร้อนมาสู่ประชาชนย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้เนรคุณต่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของเงินภาษี

                   เกียรติภูมิและศักดิ์ศรีของข้าราชการ จึงควรหมายถึง "เกียรติแห่งความนิยมที่บุคคลที่ได้รับในฐานะผู้ทำงานรับใช้พระเจ้าแผ่นดิน"

                   ซึ่งข้าราชการ จะมีสิทธิประโยชน์ ได้แก่ ค่ารักษาพยาบาล การศึกษาบุตร ค่าเช่าบ้าน บำเหน็จ บำนาญ การลา เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ฯลฯ

                   สำหรับคำว่า ลูกจ้างประจำ ก็เป็นกลุ่มบุคคลที่ทำงาน คล้าย ๆ กับข้าราชการ แตกต่างกันเพียงหน้าที่ที่รับผิดชอบ เพราะลูกจ้างประจำ ปัจจุบันแบ่งเป็นหมวด เช่น หมวดแรงงาน หมวดกึ่งฝีมือ หมวดฝีมือ หมวดฝีมือพิเศษระดับต้น หมวดฝีมือพิเศษระดับกลาง หมวดฝีมือพิเศษระดับสูง หมวดฝีมือพิเศษเฉพาะ (ปัจจุบัน รัฐ กำลังปรับเปลี่ยนให้แบ่งเป็นเพียง 3 กลุ่ม ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ) ในสมัยก่อน จะมีกลุ่มคนที่ปฏิบัติงานต่อระบบราชการส่วนใหญ่จะมี 2 ประเภท ได้แก่ ข้าราชการและลูกจ้างประจำ

                   พนักงานราชการ มีกำเนิด เมื่อ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วย พนักงานราชการ พ.ศ. 2547 ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2547 โดยนำระบบลูกจ้างสัญญาจ้างสู่ทางปฏิบัติ โดยเป็นการจ้างตามภารกิจของโครงการ เนื่องจากในสมัยก่อน รัฐ มีข้าราชการจำนวนมาก ภาระค่าใช้จ่ายในเรื่องสวัสดิการต่าง ๆ บำเหน็จ บำนาญ รัฐ ต้องมีการจัดเตรียมให้ ซึ่งเป็นภาระที่ค่อนข้างสูงมาก ตลอดรวมถึง คุณภาพในการทำงานในระบบราชการ ยังไม่เป็นที่พอใจของรัฐมากเท่าที่ควร รัฐจึงต้องปรับเปลี่ยน เป็นพนักงานราชการ ซึ่งเป็นการจ้างตามสัญญาจ้าง เพราะรัฐได้เล็งเห็นจากการทำงานในรูปแบบบริษัท รัฐวิสาหกิจ ที่บุคคลในบริษัท รัฐวิสาหกิจดังกล่าว ทำงานได้ผลงานมากกว่าระบบราชการที่คิดว่า ข้าราชการทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม และเพื่อเป็นการพัฒนาบุคลากรให้มีความกระตือรือร้นในการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพ คุณภาพมากยิ่งขึ้น จึงใช้ระบบของพนักงานราชการมาใช้กับหน่วยงานของรัฐ แทนอัตราของลูกจ้างประจำที่เกษียณอายุราชการ บางหน่วยงานจะได้พนักงานราชการ แทนอัตราข้าราชการ (แล้วแต่ความจำเป็น)

                     ซึ่งพนักงานราชการ จะต้องทำสัญญาจ้างทุก 4 ปี สิทธิประโยชน์ในการรับค่าตอบแทนจะได้รับค่าตอบแทนมากกว่าข้าราชการประมาณ 20 % ในทุกเดือน ไม่ได้รับค่าเช่าบ้าน ไม่ได้รับการรักษาพยาบาล เนื่องจากรัฐให้ทำประกันสังคม ไม่ได้รับบำเหน็จ บำนาญ แต่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตามที่กำหนด รัฐต้องการให้พนักงานราชการบริหารจัดการตนเอง เช่น ค่าตอบแทนที่ได้รับมากกว่าข้าราชการ 20 % ของทุกเดือน พนักงานราชการก็ต้องเป็นผู้จัดการตนเอง รู้จักเก็บออมเอง คือ พูดง่าย ๆ ว่าให้พึ่งตนเอง เช่น เงินเดือนข้าราชการ ได้รับเดือนละ 10,000 บาท พนักงานราชการ จะได้รับเงินเดือน 12,000 บาท ซึ่งมากกว่าข้าราชการ 2,000 บาท ขอฝากข้อคิดให้กับพนักงานราชการรุ่นใหม่ว่า ท่านลองนำส่วนต่างที่ได้รับในแต่ละเดือน ไปฝากธนาคาร ทุกเดือน จนอายุท่านครบ 60 ปี นั่นแหละคือเงินบำนาญของท่าน ที่คนเป็นข้าราชการยังไม่ได้รับแต่เขาจะไปได้รับในตอนที่เขาเกษียณอายุราชการค่ะ และฝากให้พนักงานราชการทุกคน ทำความเข้าใจ ศึกษาเรื่องของท่านให้มาก ๆ จะได้เข้าใจค่ะ ปัจจุบันไม่มีผู้ใดสามารถบอกเราได้ นอกจากตัวเราเอง ได้ศึกษาหาความรู้จากหลาย ๆ แหล่ง เพิ่มเติมค่ะ  ส่วนเครื่องแบบพิธีการของพนักงานราชการ พ.ศ. 2552 ได้ประกาศใช้ เมื่อ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 นี้เอง ช่วงนี้คงอยู่ระหว่าง การแจ้งเวียนให้ทราบค่ะ สำหรับผู้เขียนที่ได้นำมาลงให้ทราบ เนื่องจากได้เข้าร่วมประชุมกับสำนักงาน ก.พ. จึงนำมาเผยแพร่ให้ทราบค่ะ

                      สำหรับ คำว่า "พนักงานมหาวิทยาลัย" เป็นบุคคลที่ทำงานอยู่ในมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็น อาจารย์สายวิชาการ สายสนับสนุน โดยได้รับเงินจัดสรรจากรัฐมาในรูปแบบของหมวดเงินอุดหนุน โดยรัฐจัดสรรให้กับมหาวิทยาลัยมาก้อนหนึ่ง เนื่องจากปัจจุบันรัฐให้หน่วยงานของรัฐ คือ มหาวิทยาลัย เกิดความยืดหยุ่นในการปฏิบัติงาน ความคล่องตัวในการบริหารจัดการ ให้ตามความต้องการของมหาวิทยาลัยที่จะทำงานให้สำเร็จลงได้ คือ ให้มหาวิทยาลัยบริหารจัดการตนเอง แต่รัฐจะมาวัดผลงานที่ผลสัมฤทธิ์ของงาน โดยหน่วยงานที่มาวัด คือ ก.พ.ร. ซึ่งจะมาติดตามผลและประเมินผลการปฏิบัติงานทุกปี  พนักงานมหาวิทยาลัย ปัจจุบัน จะได้รับเงินที่รัฐจัดสรรให้ในอัตรา 1.7 สำหรับสายวิชาการ และอัตรา 1.5 สำหรับสายสนับสนุน (คือ ข้าราชการ ได้รับเงินเดือน 10,000 บาท พนักงานมหาวิทยาลัยจะได้รับ 17,000 บาท บางมหาวิทยาลัยจะจ่ายให้เพียง 1.5 สำหรับสายสนับสนุน มหาวิทยาลัยจะจ่ายให้เพียง 1.3  ส่วนที่เหลือ .2 จะนำไปเป็นเงินกองทุนให้กับพนักงานมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสภามหาวิทยาลัยแต่ละแห่งเป็นผู้กำหนด จะไม่เหมือนกัน)

                     สุดท้าย ผู้เขียนหวังว่า พนักงานราชการ หรือผู้อ่านคงจะเข้าใจคำว่า "ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ พนักงานราชการ และพนักงานมหาวิทยาลัย" แตกต่างกันอย่างไร นะค่ะ  ในความคิดของผู้เขียน คิดว่า ทั้ง 4 คำ เป็นประเภทของกลุ่มบุคคลที่ทำงานให้กับรัฐเพื่อให้งานบรรลุเป้าหมาย แตกต่างกันตรงสิทธิประโยชน์ ของแต่ละประเภทเท่านั้นเอง แต่บางครั้ง บางคน ชอบใช้อำนาจส่วนตนในการใช้อำนาจในทางที่ผิด จึงทำให้พนักงานราชการเกิดความเข้าใจไขว่เขว อำนาจจะมีไว้ใช้ในทางที่ถูกต้อง แต่บางคนชอบหลงลืมตนไปกับการใช้อำนาจในทางที่ผิด  สำหรับการทำงาน จริง ๆ แล้ว อยู่ที่การให้เกียรติซึ่งกันและกัน การเคารพในความอาวุโส การเคารพซึ่งกันและกัน  ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ กฎหมายของรัฐและของหน่วยงาน ค่ะ

                      อย่างไรแล้ว ขอฝากน้อง ๆ พนักงานราชการ พนักงานมหาวิทยาลัย ไว้ด้วยว่า ถึงแม้เราจะถูกจ้างด้วยการทำสัญญาจ้าง ถ้าเราทำงานอย่างมีศักดิ์ศรี ทำความดีต่อหน่วยงาน ต่อประเทศชาติ ไม่ทุจริต มีความซื่อสัตย์ รักในอาชีพของตนเอง โดยไม่คิดว่างานที่ท่านทำคุ้มกับที่ค่าตอบแทนที่ท่านได้รับหรือไม่ ไม่คิดเปรียบเทียบกับข้าราชการ ลูกจ้างประจำ เกี่ยวกับภาระงานในการทำงาน มุ่งผลสัมฤทธิ์ของงานเป็นหลัก ผู้เขียนบอกได้เลยว่า ในอนาคต ท่านก็จะมีประวัติ ความมีศักดิ์ศรีเช่นเดียวกันกับข้าราชการค่ะ ตั้งใจทำงานเพื่อแผ่นดินไทยนะค่ะ  ถ้าท่านทำได้ผู้เขียนขอมอบคำว่า "ข้าราชการไทยสายพันธุ์ใหม่" ให้กับพวกท่านค่ะ

 

หมายเลขบันทึก: 327146เขียนเมื่อ 12 มกราคม 2010 12:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 12:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

เป็นบันทึกที่มีประโยชน์กับผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ในสายงานทางราชการอย่างยิ่ง  บางคนอยู่ในกลุ่มข้าราชการ  ลูกจ้างประจำ  พนักงานราชการ  พนักงานมหาวิทยาลัย  แต่ไม่ทราบเลยว่า  "สิทธิประโยชน์"  ของตนเองมีอะไรบ้าง  แตกต่างจากกลุ่มอื่นๆอย่างไร  ขอชขื่นชมเจ้าของบันทึกที่เลือกสิ่งดีๆมาแบ่งปันสมาชิก

สุดยอดเลยครัฟ ดีมากๆ

พลเรือน กับ พลเมืองต่างกันตรงใหนครัฟ 

ได้ความรู้มากเลยครับ

ขอแชร์หน่อยนะคะ เป็นความรู้อย่างมากเลยค่ะ

ขอบคุณมากครับสำหรับความรู้ ผมขออนุญาติแชร์ความรู้ให้กับ พนักงานราชการทราบด้วยกันนะครับ

นิรุตติธรรม บุญรังษี

เงินที่เพิ่ม 20% จะบอกว่าหากฝากไว้ก็เท่ากับบำนาญที่ข้าราชการยังไม่ได้ ถือว่ายังไม่จริงทั้งหมด 20%นี้ ลดค่าใช้จ่ายอื่นๆเรื่องสวัสดิการไปได้มาก แค่นี้ก็เสียเปรียบแล้ว 20% ทำงาน 25 ปี ก็เท่ากับถ้ายังมีชีวิตอยู่หลังเกษียณ 25ปี เท่ากับ ได้บำนาญ 20% ของรายได้ทุกเดือน แถมเป็น 20% ที่เก็บมาตั้งแต่ช่วงที่เงินเดือนน้อยๆ
ในขณะที่ข้าราชการ เอาเงินเดือน สุดท้ายมาคิด และได้กันคิดเป็นกี่เปอร์เซนต์ของเดือนสุดท้าย? ไปจนสิ้นชีพ ถ้าอยู่นานอยู่ทนเลย 25 ปีล่ะ เจ็บป่วยก็รักษาฟรีด้วยนะ ซึ่งแน่นอนอายุขนาดนั้น ค่ารักษารวมกว่าจะเสียชีวิต มากกว่าบำนาญอีก คิดแค่นี้ ข้าราชการก็เหนือกว่าเห็นๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท