การละคร ศิลปการละคร


ศิลปการละคร คือ ศิลปะที่เกิดขึ้นจากการนำภาพประสบการณ์ และจินตนาการของมนุษย์มาผูกเป็นเรื่อง และจัดเสนอในรูปของการแสดง

ศิลปการละคร คืออะไร

          ศิลปการละคร คือ ศิลปะที่เกิดขึ้นจากการนำภาพประสบการณ์ และจินตนาการของมนุษย์มาผูกเป็นเรื่อง และจัดเสนอในรูปของการแสดง นอกนั้นยังนำเอาศิลปหลายแขนงมารวมไว้ด้วยกัน เช่น การออกแบบต่างๆ การประพันธ์ การกำกับการแสดง สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวชี้ว่าละครเริ่มต้น จะสำเร็จ และน่าสนใจเพียงไร โดยดูจากการผสมผสานกันเป็นหนึ่งเดียวของศิลปหลายแขนง

 

ความสัมพันธ์ของละครกับชีวิตมนุษย์

                ละครมีบทบาทในชีวิตมนุษย์มาแต่โบราณ นับแต่มนุษย์เริ่มพัฒนาการขั้นพื้นฐาน เริ่มรู้จักแสดงออกด้วยท่าทาง การเคลื่อนไหว น้ำเสียง เริ่มเห็นความสำคัญของการอยู่เป็นหมู่เหล่า

                อริสโตเติล กล่าวถึงสัญชาติญาณหรือความสามารถพิเศษในการเลียนแบบของมนุษย์ ซึ่งเขาถือว่าเป็นบ่อเกิดของละครไว้ในหนังสือ เรื่อง โพเอทติกส์ (Poeitcs) เป็นใจความว่า

                “มนุษย์มีสัญชาติญาณการเลียนแบบมาแต่กำเนิด ซึ่งทำให้มนุษย์มีความเป็นเลิศเหนือสัตว์ทั้งปวง และสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ ในชีวิตได้ ฉะนั้นมนุษย์จึงมีความชื่นชมในผลงานที่เกิดขึ้นจากความสามารถในการเลียนแบบนี้”

                นอกจากมนุษย์จะมีความสามารถสูงในการเลียนแบบแล้ว มนุษย์ยังจะชอบแสดงออก เช่น ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ มนุษย์ก็สามารถนำความสามารถในการแสดงออกไปใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิตหลายประการ เช่น

  1. ใช้ประโยชน์ในการเล่าเรื่องแทนภาษาพูดที่ยังไม่สมบูรณ์
  2. ใช้ในพิธีศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เพื่อสร้างขวัญ และกำลังใจ
  3. ใช้ในการแสดงอารมณ์ เพื่อเฉลิมฉลอง และยกย่อง

จากการศึกษาถึงวิวัฒนาการของมนุษย์ และการละครตั้งแต่สมัยเริ่มแรก เราจะสามารถมองเห็นความสัมพันธ์ของละครกับมนุษย์ในแง่ที่ว่า มนุษย์พยายามจะใช้ละครเป็นเครื่องมือในการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับชีวิต ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะบังคับชีวิตให้เป็นไปตามใจปรารถนา ผู้เขียนบทละครทุกยุคทุกสมัยมักจะนำเรื่องต่อสู้ดิ้นรนของมนุษย์ที่จะบังคับชีวิตให้เป็นไปตามใจปรารถนาของตนมาเขียนขึ้นเป็นบทละคร เป็นต้นว่าในละครประเภทโศกนาฏกรรม ผู้เขียนพยายามแสดงให้เห็นถึงความพยายามอย่างสูงสุดของตัวละคร ที่จะบังคับชีวิตตนเองให้ประสบความสำเร็จ แต่ต้นประสบความหายนะเนื่องจากความผิดพลาดของการกระทำ หรือการตัดสินใจ

                หลังจากเราดูละครเรื่องนั้นๆ แล้ว เราก็สามารถเข้าใจถึงปัญหาชีวิตมากขึ้น สามารถนำบทเรียนมาแก้ไขปัญหาชีวิตที่อาจเกิดขึ้น ให้คลี่คลายไปในทางที่ถูกพัฒนาได้ ในละครประเภทตลกขบขัน จะพบว่าตัวละครพยายามอย่างยิ่งที่จะดำเนินชีวิตให้ประสบความสำเร็จ แต่กลับล้มเหลวอย่างน่าขบขัน เพราะความอ่อนแอ ความซื่อ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เมื่อเราดูแล้วก็สามารถนำประสบการณ์ที่ได้รับ มาแก้ไขความโง่เขลาของตัวเอง และความหลงผิดของตัวเราเองได้

                ละครประเภทที่หนีจากโลกความเป็นจริงไปสู่โลกอุดมคติ ก็มักแสดงให้เห็นความปรารถนาอันแรงกล้าของมนุษย์ที่จะให้ความดีชนะความชั่วอยู่ตลอดเวลา ละครประเภทนี้มีประโยชน์ต่อมนุษย์อยู่มาก ในแง่ให้ความบันเทิง และการพักผ่อนหย่อนใจ อย่างไรก็ตามในบรรดาละครสมัยใหม่ที่เขียนขึ้นด้วยจุดประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุง แก้ไขข้อบกพร่องของสังคม ก็เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นเป็นไปตามปรารถนาทั้งสิ้น

 

การศึกษาศิลปการละคร เกี่ยวข้องกับเยาวชนอย่างไร

                การศึกษาศิลปการละคร คือ การศึกษาให้เข้าใจชีวิต และจิตใจมนุษย์ เข้าใจมนุษย์ต่อทุกสิ่งทุกอย่างรอบข้าง ทั้งสังคม ธรรมชาติ หรือกฎเกณฑ์มนุษย์ด้วยกันเอง ซึ่งจะนำไปสู่ความเข้าใจตนเอง และคนอื่น

                อ่าน และตีความหมายบทละคร การศึกษา คำประกอบต่างๆ ของละครการศึกษา จะสะท้อนให้เห็นแนวทางการศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ปรัชญา ภาษา วรรณคดี สร้างเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ไปในทางที่ดี รู้จักศิลปการแสดงออก รู้จักใช้จินตนาการเพื่อสร้างสิ่งที่ดีงาม เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการศึกษาเล่าเรียน การจัดละครสามารถช่วยส่งเสริมให้เยาวชนรู้จักความสามัคคี ทำงานเป็นกลุ่ม รู้จักการทำงานร่วมกับผู้อื่น นอกจากนี้ในการจัดละคร คือศิลป และวรรณกรรม ยังสามารถส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความรู้ ความชำนาญในด้านวิชาการด้วย ในการจัดละครแต่ละครั้ง ผู้จัดต้องกล้าหาญที่จะเผชิญกับความสำเร็จ และความผิดหวัง โดยปราศจากความขมขื่น โดยไม่ถือว่าเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย ต้องมองเห็นข้อบกพร้องตนเอง ใจกว้างอยู่เสมอ และไม่หลงระเริงกับคำชม

                การเขียนบทละครช่วยสร้างให้เยาวชนเป็นคนช่างสังเกต ฝึกฝนความไวทางปัญญา เพิ่มพูนความสนใจ และเข้าใจในปัญหารอบด้าน ตลอดจนลักษณะนิสัย จิตใจ และการกระทำของมนุษย์ในสภาพแวดล้อมต่างๆ กัน

 

                ศิลปการแสดงออก เยาวชนรู้จักวางตัว พูด วางตัวในสังคมอย่างถูกต้อง และส่งเสริมความสามารถ และจินตนาการในทางสร้างสรรค์ ตลอดจนสนใจในมนุษย์ และธรรมชาติสิ่งแวดล้อม อันเป็นบ่อเกิดในการปรับตัว และเป็นผู้มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีดังที่ Stanislavsky บอกว่า ครูที่ดีที่สุดของการแสดง คือ ชีวิต และธรรมชาติของมนุษย์

                ทฤษฎีของ Stanislavsky เขาพยายามสอนให้นักเรียนการแสดงเรียนรู้ถึงมนุษย์ที่แท้จริง แทนที่จะให้เลียนแบบตัวละครเรื่องต่างๆ นักเรียนจะต้องศึกษาถึงบทบาทตัวละครให้ถ่องแท้ ค้นคว้าให้ลึกซึ้งถึงนิสัยใจคอ อารมณ์ จิตใจ รสนิยม ปฏิกิริยาตอบโต้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นปัจจัยในการทำให้เกิด “การตีบทแตก” ตามมา

                นอกจากนั้น ศิลปการละครยังก่อให้เกิดอุปนิสัยที่พยายามเข้าใจผู้อื่น ค้นหาเหตุผลของการกระทำ และไม่ตัดสินหรือประณามใครอย่างรวดเร็วโดยใช้ตนเองเป็นบรรทัดฐานลักษณะนิสัย และเป็นคนใจกว้าง เห็นใจผู้อื่น มีเหตุผล มีความสนใจที่จะแสวงหาเหตุผล หาความจริงเกี่ยวกับมนุษย์ และชีวิตอันเป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต และคบหาสมาคมกับผู้อื่นเป็นอันมาก

                ในการจัดการละครกำกับต้องใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์อย่างเต็มที่ เน้นในการจัดนั้นต้องมีความเป็นผู้นำ ซึ่งต่างมีความสามารถในการตัดสินใจตลอดจนการเป็นมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี

                ความถนัดของคนไม่เหมือนกัน บางคนชอบออกแบบเสียง ฉาก แต่งตัว บางคนชอบแสดง ผู้จัดหรือผู้กำกับต้องให้โอกาสผู้ร่วมงานได้เลือกปฏิบัติตามใจชอบ เนื่องจากกรมศิลปการละครเป็นศิลปกรรมที่รวมเอาศิลปะหลายแขนงไว้ด้วยกัน ความกลมกลืนของศิลปทุกแขนงจำเป็นสำหรับละครที่ดี การประสานงาน และความสามัคคี คือหัวใจของการจัดการแสดง

 

หมายเลขบันทึก: 327085เขียนเมื่อ 12 มกราคม 2010 09:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 20:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีครับ

  • ผมมาเยี่ยม มาทักทาย
  • มารับรู้เรื่องราวดีๆมีประโยชน์
  • โชคดีนะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท