มลพิษทางเสียง


มลพิษทางเสียง

มลพิษทางเสียง

                เสียงคือพลังงานที่เกิดจากการสั่นสะเทือนของโมเลกุลของอากาศ ผ่านอากาศเข้าไปสู่อวัยวะรับเสียงคือหู ในที่ที่ไม่มีอากาศ เสียงจะไม่สามารถผ่านไปได้ ถ้าพูดกันก็จะไม่ได้ยิน ในแง่ของสุขภาพอนามัยเราแบ่งเสียงออกเป็น 2 แบบคือ

  1. เสียงอึกทึก(Noise) หมายถึงเสียงที่คนเราไม่ต้องการ ไม่ปรารถนา หรือเป็นเสียงที่ไม่มีความไพเราะนุ่มนวล ไม่น่าฟัง เสียงอึกทึกนี้มีผลกระทบกระเทือนทางด้านจิตใจ และถ้าได้รับนานๆไป อาจทำให้สุขภาพอนามัยเสื่อมและทำให้หูหนวกได้
  2. เสียงสบอารมณ์ (Sound) หมายถึงเสียงที่ฟังแล้วทำให้เกิดความสบายใจ ฟังแล้วมีความสุข ทำให้สามารถปฏิบัติงานได้ดียิ่งขึ้น

              เสียงที่ดังเกินขอบเขตจัดว่าเป็นอันตรายต่อหู อันตรายดังกล่าวนี้อาจเปรียบได้กับโรคจากการประกอบอาชีพอย่างอื่น เป็นต้นว่า โรคที่เกิดจากสารพิษ เช่น ตะกั่ว แมงกานีส โครเมี่ยม ดีดีที แก๊ส ควัน ฝุ่นละอองหรือเชื้อโรคที่เป็นพิษ การที่ต้องทำงานในที่ที่มีเสียงดังมากๆ ไม่เพียงแต่จะมีผลต่อระบบการได้ยินหรือทำให้ระบบการได้ยินเสื่อมลงเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดความเฉื่อยชา ความต้านทานของร่างกายเสื่อมลง ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ตลอดจนก่อให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ง่ายอีกด้วย

               การวัดระดับเสียงมีหน่วยเป็น เดซิเบล (dB) ระดับเสียงมาตรฐานที่หูของคนปกติจะรับได้จะอยู่ที่ 0-120 เดซิเบล (dB) ถือเป็นช่วงของระดับเสียงจากค่าต่ำสุดที่คนเราจะได้ยินขึ้นไป จนถึงระดับเสียงที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดในหูได้ ความดังของเสียงขึ้นอยู่กับผู้ที่ได้ยินว่าจะรู้สึกดังเกินกว่าที่เราจะฟังได้หรือไม่ ส่วนมากแล้วช่วงที่จะทนต่อเสียงได้สูงที่สุดเท่ากับ 3.5-4 กิโลไซเคิล(Kilocycle)

โดยหูของคนเรานั้นจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ หูส่วนนอก หูส่วนกลาง และหูส่วนใน โดยเมื่อคนเราได้ยินเสียงคลื่นเสียงจะผ่านเข้ามาในช่องหู กระทบเยื่อแก้วหู เยื่อแก้วหูมีหน้าที่ปรับหรือกรองเสียงหรือลดระดับเสียงให้ปลอดภัย แล้วจึงปล่อยเสียงเข้าไปในหูส่วนกลาง การเปลี่ยนแปลงเนื่องจากความดังของเสียงจะทำให้เยื่อแก้วหูเกิดการสั่นสะเทือน และเคลื่อนไหว การเคลื่อนไหวของเยื่อแก้วหูจะถูกส่งไปยังหูส่วนกลางโดยผ่านกระดูกชิ้นเล็กๆ 3 ชิ้น กระดูกชิ้นแรกคือ กระดูกค้อน ซึ่งติดอยู่กับเยื่อแก้วหู กระดูกชิ้นที่ 2 คือ กระดูกทั่ง ซึ่งอยู่ระหว่างกระดูกค้อน กับกระดูกโกลน และกระดูกชิ้นที่ 3 คือกระดูกโกลน ซึ่งทำหน้าที่นำเสียงเข้าไปสู่หูส่วนใน หรือ คอเคลีย ภายในหูส่วนในจะเต็มไปด้วยของเหลวที่เคลื่อนไหวได้ เนื่องจากการสั่นสะเทือนของปลายกระดูกโกลน การเคลื่อนไหวของของเหลวในหูส่วนใน จะกระตุ้นเซลล์เล็กๆที่มีขน (Hair cells) ของคอเคลียซึ่งมีอยู่ประมาณ 20,000 เซลล์ ทำหน้าที่เปลี่ยนการสั่นสะเทือนให้เป็นสัญญาณไฟฟ้า และส่งต่อไปยังปลายประสาทของเซลล์ขน เพื่อส่งไปตามเส้นประสาทของการได้ยิน ไปสู่ประสาทส่วนกลางในสมอง และทำให้เกิดการได้ยินและแปลออกมาให้เข้าใจ

                ถ้าหูได้รับเสียงดังมากๆจนเกินไป นอกจากจะทำให้เยื่อแก้วหูขาดได้แล้ว ยังทำให้เกิดความผิดปกติหรือความพิการ และไม่ได้ยินเกิดขึ้น ถึงแม้ว่าในสมัยนี้การแพทย์จะเจริญก้าวหน้าถึงกับมีการผ่าตัดเปลี่ยนแปลงเยื่อแก้วหูใหม่ แต่ก็ต้องใช้ค่าใช้จ่ายที่สูง และถ้าความพิการนี้เกิดขึ้นกับปลายประสาทที่เกี่ยวกับการได้ยินแล้ว ไม่มีทางที่จะรักษาให้หาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกๆคนจะต้องคำนึงให้มากในข้อนี้

แหล่งของมลพิษทางเสียง

1. ประเภทเคลื่อนที่ได้

               แหล่งกำเนิดมลพิษทางเสียงประเภทนี้ได้แก่ยวดยานพาหนะ ซึ่งจากผลการสำรวจและวิจัยพบว่าพาหนะชนิดต่างๆ ก่อให้เกิดมลพิษทางเสียงดังนี้

1. รถบรรทุกสิบล้อ                     96.1 เดซิเบล (dB)

2. รถสามล้อเครื่อง                      91.8 เดซิเบล (dB)

3. รถบรรทุก                                88.5 เดซิเบล (dB)

4. รถจักรยานยนต์                       87.8 เดซิเบล (dB)

5. รถตู้                                          87.2 เดซิเบล (dB)

6. รถแท็กซี่                                  87.1 เดซิเบล (dB)

7. รถโดยสาร                               86.8 เดซิเบล (dB)

8. รถยนต์                                     84.5 เดซิเบล (dB)

9. เรือยนต์                                  85-96 เดซิเบล (dB)

2. ประเภทไม่เคลื่อนที่

                  แหล่งกำเนิดเสียงประเภทนี้ได้แก่ โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ซึงจากผลการจิจัยพบว่าโรงงานอุตสาหกรรมก่อให้เกิดระดับเสียงดังนี้

1.โรงงานทอผ้า                                     83-88     เดซิเบล (dB)

2.โรงงานซ่อมเครื่องบิน                       71-113    เดซิเบล (dB)

3.โรงงานสุราบางยี่ขัน                          68-97      เดซิเบล (dB)

4.โรงงานผลิตท่อพลาสติก                   97            เดซิเบล (dB)

5.โรงงานองค์การแก้ว                          94-97       เดซิเบล (dB)

 

ผลกระทบจากมลพิษทางเสียง

  1. อาการที่เกิดขึ้นกับหูโดยตรง เมื่อคนเราได้รับฟังเสียงดังมากๆ เป็นเวลานานๆ ติดต่อกัน อาจทำให้เกิดอาการหูตึงหรือหูหนวก คือทำให้ไม่ได้ยินเสียงในการพูดกันตามธรรมดา ซึ่งทั้งนี้ก็มีข้อพิจารณาว่า ถ้าบุคคลนั้นไม่ได้ยินต่ำกว่า 10 วัน ถือว่าเป็นหูหนวกชั่วคราว แต่ถ้าไม่ได้ยินเสียงมากกว่า 10 วันขึ้นไป ถือว่าเป็นหูหนวกถาวร กัน อาจทำให้เกิดอาการหูตึงหรือหูหนวก คือทำให้ไม่ไนอกจากจะทำให้เกิดหูหนวกแล้ว ยังทำให้เกิดอาการปวดหู หูอื้อ มีเสียงดังในหูเมื่ออยู่ในที่เงียบๆได้
  2. อาการที่ไม่เกิดขึ้นกับหูโดยตรง ได้แก่การทำให้เกิดอาการอ่อนเปลี้ย เพลียแรง ทั้งทางร่างกายและจิตใจ เกิดอาการปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน เกิดความหงุดหงิด ซึ่งบางทีก็เป็นสาเหตุให้เกิดโรคประสาทได้ การแสดงออกของบุคคลเปลี่ยนไป เช่น เกิดความรำคาญ เสียบุคลิกลักษณะ ลดความคุ้นเคยซึ่งกันและกัน เสียสมาธิ เสียขวัญ นอกจากนี้ยังทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง พูดกันไม่ได้ยิน ทำให้สั่งงานผิดพลาดได้ง่าย เพิ่มอัตราการเกิดอุบัติเหตุ

หลักการควบคุมป้องกันเสียง

  1. การป้องกันที่ต้นเสียง เช่น จัดหาเครื่องมือที่มีเสียงเบาลงมาทดแทน หรือทำการปรับปรุงแก้ไขเครื่องมือที่มีเสียงดัง ให้เสียงดังลดน้อยลงจนอยู่ในระดับที่ปลอดภัย
  2. การป้องกันทางที่เสียงผ่าน โดย

        ก. ใช้ผนังกั้นอุปกรณ์ที่ก่อให้เกิดเสียง หรือหุ้มทับ ซึ่งมักจะใช้แผ่นตะกั่วหรือแผ่นไวนิล-ตะกั่ว ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงคุณสมบัติของตะกั่วให้ได้มาตรฐาน

        ข. การใช้ฉนวนหรืออุปกรณ์ลดเสียง หุ้มส่วนที่เป็นทางผ่านของเสียงเช่นเสียงที่เกิดจากการไหลของแก๊ส หรือของเหลวที่ไหลไปตามท่อ

        ค. การเก็บเสียงสะท้อนโดยใช้วัสดุบุผนัง ฝ้าและเพดานของโรงงาน เราอาจทำได้โดยการใช้แผ่นไฟเบอร์กลาส แผ่นกระเบื้องอะดูสติกบุตามส่วนดังกล่าว

        ง. ติดเครื่องเก็บเสียง หรือกแบบท่อเก็บเสียงชนิดพิเศษเข้าที่ท่อไอเสียของรถยนต์

        จ. ติดตั้งเครื่องจักรไว้บนวัสดุที่กันการสั่นสะเทือนและเสียงดังได้

3. การบ้องกันที่ตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเสียงดัง

                       ก. โดยใช้เครื่องป้องกันส่วนบุคคล เช่น ที่ปิดหู ที่อุดหู ซึ่งอาจเป็นชนิดพลาสติก จุกยาง ใย  แก้ว หรือฝุ่นฝ้ายก็ได้        

                        ข. ลดระยะเวลาที่ต้องอยู่ในที่ที่มีเสียงดังให้น้อยลง โดยการไปทำงานอย่างอื่นที่ไม่เกี่ยวกับเสียงบ้าง

                        ค. แยกคนงานที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเสียงหรือเครื่องจักรกลที่มีเสียงดังออกไป จากงานที่เกี่ยวข้องกับเสียงดังออกไป เพื่อลดอัตราการเสี่ยงจากอันตรายที่เกิดจากเสียงดัง

                         ง. ทำการทดสอบการได้ยินในคนงานที่เกี่ยวข้องกับเสียงดังทุกคน โดยแบ่งเป็นการตรวจก่อนเข้าทำงาน และระหว่างการทำงานเป็นระยะๆ เพื่อค้นหาอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับคนงาน เพื่อจะได้หาทางป้องกันต่อไป

       ข้อเสนอแนะ : เกี่ยวกับระดับความดังของเสียง

ตัวอย่างเช่น ในประเทศเยอรมันได้กำหนดค่าจำกัดของเสียงจากสถานที่ทำงานเอาไว้ดังนี้

  1. สถานที่ที่ต้องใช้ความคิดอย่างมากระดับเสียงไม่ควรเกิน 50 1.1.เดซิเบล (dB)
  2. ห้องทำงาน 70 เดซิเบล (dB)
  3. ในโรงงาน  90 เดซิเบล (dB)
  4. มาตรฐานดังกล่าวในแต่ละประเทศอาจต่างกันออกไป แต่ส่วนมากแล้วค่าความดังปกติของเสียง จะอยู่ที่ 80-90 เดซิเบล (dB) เพราะฉะนั้นเสียงในโรงงานอุตสาหกรรมจึงไม่ควรเกินค่าที่กำหนดไว้นี้

 

หมายเลขบันทึก: 326985เขียนเมื่อ 11 มกราคม 2010 21:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท