บรรยากาศการเรียนรู้ กับ การจัดการความรู้ : จากเวทีสอบปริญญานิพนธ์ ป. เอก เลยเก็บมาคิด (เอาเอง)


เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาผมมีโอกาสเข้าร่วมฟังการสอบวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก  สิ่งที่น่าสนใจจากการพูดคุยระหว่างผู้สอบ กับคณะกรรมการสอบ    ผมขอหยิบยกมาเพียงประเด็นที่ผมสนใจเท่านะครับ

จากประเด็นที่ผลการประมวลข้อมูลโดยใช้เครื่องมือเชิงปริมาณ ได้ค่าความสัมพันธ์ระหว่างการจัดการความรู้  กับ  ผลประกอบการธุรกิจ  เป็นตัวเลขติดลบ  ซึ่งหมายความว่า  การจัดการความรู้กรณีที่ศึกษามานั้น  ไม่ได้ส่งผลดีต่อผลประกอบการทางธุรกิจ

ประเด็นนี้ จึงมีข้อซักถามจากคณะกรรมการสอบเยอะมาก

สิ่งที่ผมสนใจ  ก็คือ

งานวิจัยชิ้นนี้  แยก บรรยากาศการเรียนรู้  ออกจาก การจัดการความรู้   ทำให้ผมสันนิฐานว่ามีความเป็นไปได้ที่  การจัดการความรู้ในที่นี้  ซึ่งเป็นเรื่องที่ครอบคลุมเฉพาะ   การรวบรวม  การจัดเก็บ  การเผยแพร่  การสร้าง และแสวงหาความรู้ การใช้ประโยชน์ 

เลยทำให้ การจัดการความรู้  ในความหมายนี้อาจแข็งไป  ซึ่งก็เป็นไปได้ และมีเกิดขึ้นจริงให้เห็นในสังคมไม่น้อย

อย่างปรากฏการณ์ในเมืองไทยในปี สองปีนี้  KM ก็เข้ามาทำนองนี้  เพราะว่าถูกหยิบส่วนผสมสำคัญดังที่กล่าวขึ้นมา  แล้วหน่วยงานต่างๆก็พยายามทำตามนั้น  แต่เสียงสะท้อนที่เข้ามาบ่อยๆ  คือ  คนไม่ happy กับ KM กลับให้ความเห็นว่า  "เป็นภาระเพิ่ม"  ซึ่งมีเกิดขึ้นไม่น้อยเลย

ที่จริงมันไม่เฉพาะ KM นะครับ  ตีเหมารวมไปถึงเครื่องมืออีกหลายๆตัว ที่เข้ามาเพื่อพัฒนาองค์กร  แต่มันกลับส่งผลไปอีกทางหนึ่ง

ความเชื่อส่วนตัวของผม (ซึ่งอยากรู้เหมือนกันว่าที่จริงแล้วคืออะไร) เห็นว่า  เครื่องมือเหล่านั้น รวมทั้ง KM มันถูกนำเข้ามาแบบ  "ไร้ความสุนทรียะ" เอาเสียเลย

คำว่า "สุนทรียะ" ของผม ซึ่งก็น่าจะหมายถึง  "บรรยากาศหนึ่งที่กระตุ้นให้คนเราถูกดึงดูดมาทำงาน  หรือมาอยู่ร่วมกัน"

ที่จริงจะว่าไปไม่เฉพาะเครื่องมือเท่านั้น   ชีวิตการทำงานโดยส่วนใหญ่  ในหลายๆ องค์กร  ที่เต็มไปด้วยบรรยากาศความเร่งรีบ  การพูดคุยที่ต่างคนต่างยกเหตุผลของตัวมาหักล้างกัน  มีสักกี่คนที่ฟังอย่างไตร่ตรอง  ฟังอย่างวางความคิดของตัวเองไว้  แถมมีการตำหนิบ่อยครั้งเมื่อคราวผิดพลาด  มากกว่า คำชมเชยเมื่อคราวทำอะไรสำเร็จเล็กๆน้อยๆบ่อยๆครั้ง   เหล่านี้ มันไม่ใช่บรรยากาศดอกหรือ?

กลับมาที่  KM กับ   บรรยากาศการเรียนรู้  

ผมเชื่ออย่างนี้ครับ

เชื่อว่า   โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  หากเรากำลังเล่นกับ  ความรู้ปฏิบัติที่อยู่ในคนทำงาน  (tacit Knowledge)  เราหนีเรื่อง "การสร้างบรรยากาศ" ไม่ได้เลย  ที่ผมเชื่อเพราะมีหลายเหตุปัจจัย

เหตุปัจจัยหนึ่ง  จาก  ทฤษฎีของ Prof. Nonaka  เกลียวความรู้  - การไหลเวียนของความรู้  ถ้าดูแต่เกลียวความรู้  อาจจะมองเห็นแต่ "ตัวความรู้"   เหมือนเรากำลังมอง จุด จุดเดียวบนกระดาษขาว  เราเห็นแต่จุด  ซึ่งเป็นส่วนน้อยที่อยู่บนกระดาษ   แต่มองพื้นที่ส่วนใหญ่แบบผิวเผินข้ามไป

แต่ผมตีความว่า Prof. Nonaka ย้ำมากเรื่อง  "Ba"  ซึ่งคือ พื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้  หรือก็คือ  บรรยากาศที่ห้อมล้อม  ที่ช่วยให้ความรู้ไหลเวียนได้นั่นเอง

เช่นเดียวกัน  หากเราพูดถึง  การเผยแพร่ความรู้   ดูเหมือนว่าเอาความรู้มาแล้วใส่ระบบ หรือส่งต่อให้คนอื่นได้เลย    แต่ในสภาพจริงที่เจอ มันไม่ง่ายอย่างนั้นเลย

สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากองค์กรที่มีผลงานดีๆ  พบว่า  การสร้างสรรค์ "พื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้" ให้แก่คนทำงานนั้น ว่าไปแล้วก็คือ "การสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของคนทำงาน"  มันเป็นศิลปะที่ยากจะหาสูตรสำเร็จได้จริงๆ

การจัดการความรู้ จะมีพลังมากน้อยแค่ไหน  ก็เกี่ยวข้องกับ  "การสร้างบรรยากาศ"  อย่างแรง  นี่คือความเชื่อของผม  (ซึ่งอาจจะผิดก็ได้ แต่ตอนนี้เห็นอย่างนี้ เลยเชื่ออย่างนี้)

หมายเลขบันทึก: 325599เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2010 11:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 20:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • สวัสดีปีใหม่ครับ อ.ธวัช KMI
  • เห็นด้วยครับ การสร้างบรรยากาศ และการเปิดพื้นที่ให้มีการ ลปรร.
  • และอีกหลายๆ ประเด็น ล้วนส่งผลต่อการ ลปรร. เพื่อพัฒนาองค์กรเป็นอย่างมาก
  • แต่ KM จะส่งผลต่อธุรกิจหรือไม่ ผมคิดว่าอาจจะต้องใช้เวลาบ้าง
  • และสิ่งที่ ลปรร.นั้นเป็นตัวแปรให้ส่งผลถึงผลประกอบการได้จริงๆ (ต้องสัมพันธ์กันด้วย)
  • อิอิ..ผมไม่ทราบรายละเอียดงานวิจัยฯ ที่บันทึกมา เลยได้ ลปรร.ได้นิดหน่อย
  • และขออภัยหากไม่ตรงประเด็น...555

 

สลามครับ อาจารย์สบายดีนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท