จัดการศึกษาไม่ดีสังคมจ่ายแพงในภายหลัง



          ในการประชุมที่ สกว. เมื่อเช้าวันที่ ๒ ธ.ค. ๕๒ เรื่อง Mind, Brain and Education สำหรับประเทศไทย โดยมี ดร. เหม่ง และคุณม่อนเป็นวิทยากร    คุณม่อนเป็นอดีตนักศึกษาแพทย์จุฬาฯ ที่ไม่ชอบเรียนแพทย์ หันไปเรียนหลักสูตรปริญญาโทด้าน MBE ที่ ฮาร์วาร์ด

          ดร. เหม่ง (ประภาพรรณ จูเจริญ) บอกว่า มีผลการศึกษาหลายสำนัก บอกว่าหากจัดการศึกษาระดับเด็กเล็กไม่ดี   เด็กจะโตไปเป็นคนที่ไม่เต็มศักยภาพ    หรือบางคนกลายเป็นภาระของสังคม หรือทำร้ายสังคม   เขาประมาณการให้เห็นว่า ค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาช่วงเด็กเล็กให้เหมาะสมนั้น แม้จะแพงหน่อย แต่ก็น้อยกว่าค่าใช้จ่ายในการป้องกันและแก้ปัญหาสังคมในภายหลัง ๗ – ๑๐ เท่า 

          ทำให้ผมมองเห็นความซับซ้อนของเรื่องต่างๆ ในสังคม   เห็นความสูญเปล่ามากมายที่เกิดจากมิจฉาทิฐิ   คือทำไปในทางที่ไร้ประโยชน์ หรือเกิดโทษ   แต่กล่าวอย่างนี้มันตื้นเกินไป   มิจฉาทิฐิส่วนใหญ่มันให้ผลดี แต่เป็นผลดีตื้นๆ หรือต่อบางคน หรือดีระยะสั้น   แล้วก่อผลร้ายซับซ้อนในระยะยาว    ดูสภาพการเมืองไทยในปัจจุบันเถิด จะเห็นชัด

          ดร. เหม่งบอกว่า นักการศึกษาสหรัฐกล่าวว่า ทุกๆ ๑ เหรียญที่สหรัฐลงทุนต่อโปรแกรมพัฒนาเด็กปฐมวัย   รัฐจะได้ผลประโยชน์กลับคืนกว่า ๑๐ เหรียญ

          มองในมุมหนึ่ง ช่วงชีวิตวัยเด็กเล็ก เป็น “หน้าต่างแห่งโอกาส” ในการกระตุ้น จัดสภาพการเรียนรู้ให้เด็กเรียนรู้และพัฒนาเต็มศักยภาพของแต่ละคน (ที่แตกต่างกัน)    เมื่อพ้นวัยเด็กเล็ก (๖ ขวบ) หน้าต่างแห่งโอกาสก็ปิดหรือเกือบปิด   หน้าต่างแห่งโอกาสนั้น คือการเจริญเติบโตเปลี่ยนแปลงของสมอง 

         แล้วสมองก็จะเปลี่ยนแปลงมากอีกครั้งในช่วงวัยรุ่น   ที่เกิดมรสุมลิมบิก (ผมตั้งชื่อเอง) คือสมองส่วนลิมบิกจะทำหน้าที่รุนแรง   ทำให้วัยรุ่นก้าวร้าว รุนแรง และขาดความรอบคอบ   ที่จริงวัยรุ่นโดนหลายมรสุม   อีกอย่างหนึ่งคือมรสุมฮอร์โมน มันกระตุ้นให้เร่งสืบพันธุ์ เพราะสมัยล้านปีก่อน บรรพบุรุษของมนุษย์ส่วนใหญ่ตายก่อนถึงวัยรุ่น   และหลังวัยรุ่นก็ตายเร็ว    ถ้าธรรมชาติไม่เร่งเร้าให้รีบสืบพันธุ์อย่างได้ผล   ก็จะไม่มีมนุษย์อยู่ในปัจจุบัน 

          ช่วงลิมบิกเป็นใหญ่ วัยรุ่นจึงเป็นเหยื่อทั้งจากภายในร่างกายตนเอง และเป็นเหยื่อของวงการโฆษณาชวนเชื่อให้บริโภค ให้ใช้ชีวิตแบบที่เขาเข้ามาตักตวงผลประโยชน์ได้   เหล่านี้คือความรู้เรื่องสมอง กับพฤติกรรมของมนุษย์

          ความรู้เป็นของกลาง    ดังนั้น ความรู้เรื่องสมองจากความก้าวหน้ารวดเร็วยิ่งของ neuroscience จึงถูกนำไปใช้ทั้งในทางที่เป็นประโยชน์สาธารณะ และเป็นประโยชน์ตักตวงจากความเดือดร้อนของคนอื่น

          จึงต้องการนักสังคม นักจัดการสังคม เข้ามาส่งเสริมการนำความรู้ไปใช้ประโยชน์สังคม สู้กับนักตักตวงสังคม

 

วิจารณ์ พานิช
๓ ธ.ค. ๕๒

บรรยากาศในห้องประชุม

 

คนกลางคือ ดร.เหม่ง คนขวาคือคุณม่อน

 

 

หมายเลขบันทึก: 323624เขียนเมื่อ 28 ธันวาคม 2009 12:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • เชื่อในเรื่องการศึกษาใรดับอนุบาลและประถมศึกษาครับ
  • เด็กวัยนี้จำเก่งและเป็นวันแห่งการเรียนรู้
  • ถ้ามีเจคติที่ไม่ดีต่อการศึกษา
  • จะน่ากลัวนะครับ

จะนำความรู้นี้ไปปฏิบัติกับลูกหลานให้ดีครับ

ทำอย่างไร???

ประชาชน(พ่อแม่)ทั้งหลาย

จะได้รับข้อมูล ความรู้เหล่านี้

เพราะการศึกษาในระบบ เริ่มที่ 6 ขวบ

แนวทาง???

คงต้องเผยแพร่ทางสื่อ ในวงกว้างต่อไป

คงต้องขอความร่วมมือ จากสื่อสร้างสรร น่ะครับ อาจารย์

สงสารลูกหลานและประเทศชาติในอนาคต จังเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท