คิดฮอดบ้าน(2)........เสียงเพลงจาก "บ้านเกิดเมืองนอน"


ได้เห็น "จิตวิญญาณ" ของภาพ ที่ผู้ถ่ายได้บันทึกไว้ในภาพนั่นเองที่ทำให้ภาพมีความ "สวยสมบูรณ์" เต็มความหมาย กับคน "ผู้ไท"บ้านเดียวกัน

ภูพานสูงตระหง่านเทียมฟ้า                    ทาบพสุธาถิ่นอีสานนานนิรันดร์

น้าตกโขดเขินแนวเนินหน้าผาสูงชัน         กล้วยไม้ป่านานาพันธุ์อบอวลชวนฝันชื่นฉ่ำ

เพลงแคนพลิ้วกล่อมแดนอีสาน                กล่อมเขาภูพานแผ่วแว่วหวานยามพลบค่ำ

สาวเก็บผักหวานลำนำแอ่วซุ้มหมอลำ        ซาบซึ้งดั่งมนต์ลำนำสนุกสุขล้ำประสาชาวไพร

ภูพานสงบแทบซบอกธรณินทร์                   แม่โขงไหลรินโอบกอดอีสานมานานแค่ไหน

ภูพานสะอื้นแม่โขงกล้ำกลืนต้องนอนร้องไห้   เคยร่มเย็นกลับลุกเป็นไฟ....

ตัวไกลใจพี่ห่วงอีสานห่วงสาวภูพาน            ข่าวกล่าวขานเคยได้ยิน....

.................วิงวอนให้น้องยุพิน                    จงคิดกลับใจถวิลสร้างสรรค์ถิ่นเฮาเทือกเขาภูพาน

                       

นั่นเป็นบทเพลงลุกทุ่งเก่าแก่มากแล้วครับ "ภูพานสะอื้น" ก้องเพชร แก่นนคร  ร้องเอาไว้  ต่อมาก็มีหลายคนนำมาบันทึกเสียงต่อแต่ที่เพราะที่สุดก็มีของก้องเพชร แก่นนครต้นฉบับและเสียงของสนธิ  สมมาตร ซึ่งนำมาร้องในภายหลังครับ

 

ภูพานสะอื้น
ก้องเพชร แก่นนคร

http://www.youtube.com/watch?v=yiE3QwxtvGg



ภาพภูพานในความทรงจำวัยเด็กของผม  เป็นความรู้สึกประทับใจ ภาคภูมิใจและกับความรู้สึกที่ผูกพันในถิ่นฐานบ้านเกิดเมืองนอน “คนผู้ไท”ครับ

                    

เครือญาติคน “ผู้ไท”ส่วนใหญ่จะตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนหมู่บ้านเป็นย่านๆในที่ราบเชิงเขา  ตลอดแนวทั้งสองฝากฝั่งของเทือกเขาภูพาน ตั้งแต่ อุดร สกลนคร กาฬสินธุ์ นครพนม มุกดาหาร  ร้อยเอ็ด(อ.เมยวดี) ยโสธร(อ.เลิงนกทา)   อำนาจเจริญ(อ.เสนางคนิคม)และอุบลราชธานี(อ.ชาณุมาน) คน “ผู้ไท”เป็นใคร  มาจากไหน  ทำไมจึงได้มาตั้งถิ่นฐานแถบนี้  และตั้งถิ่นฐานย่านนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่  ผมตั้งใจจะบันทึกไล่เรียงไปเรื่อยๆครับ

                   

ตลอดแนว สองฝากฝั่งของเทือกเขาภูพานหลากหลายด้วยกลุ่มชาติพันธ์นอกจากคน “ผู้ไท”แล้ว ยังมีทั้งบลู(ข่า)  กะเลิง  โส้  กุลา แสก ญ้อ ลาว คนจีนและคนเวียด(เวียดนาม) ความหลากหลายทางกลุ่มชาติพันธ์และวัฒนธรรมเป็นความงดงามอย่างยิ่งครับ  แม้ผมจะเติบโตมาในชุมชน “ผู้ไท”แต่ก็รับรู้ ซึมซับกับความหลากหลากทางชาติพันธ์เหล่านี้

                   

คน “ผู้ไทย”จะมีความผูกพันที่พิเศษกับพี่น้องชาติพันธ์ “บลู”(ข่า)ครับ คน “ผู้ไทย” “บลู”(ข่า)ว่า “อ้ายเถอะ”หมายถึงพี่ใหญ่ ตามตำนานน้ำเต้าปูง(จะเล่าในโอกาสต่อไป) คน “ผู้ไท”จึงให้เกียรติเอาใจใส่ดูแลพี่น้อง“บลู”(ข่า)เป็นพิเศษครับ

พี่น้องเครือญาติคน”ผู้ไท”มีความสัมพันธ์กันใกล้ชิด ผ่านกิจกรรมงานบุญประเพณี ที่ร่วมกันเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ก็เห็นจะเป็นงานบุญ “ธาตุพนม” พี่น้องจากทั่วสารทิศต่างเดินทางมาสักการะองค์พระธาตุพนมและงานบุญในหมู่บ้านที่ยิ่งใหญ่ของแต่ละหมู่บ้านที่พี่น้องต่างถิ่นต่างมาร่วมงานก็คือ “งานบุญผีฟ้า  บูชาพญาแถน”  ...นั่นเรื่องมันนานมาแล้ว         

                  

เป็นบันทึกความสุขจากการเพลิดเพลินกับการชื่นชมภาพสวยๆที่น้องแมว _วันทนีย์ “คนผู้ไท”คนบ้านเดียวกันจาก “กาฬสินธุ์” เป็นคนนำภาพมาฝาก   เคล้ากับเสียงเพลงจากบ้านเกิดเมืองนอน  ในยามคิดฮอดบ้าน

...แต่แมวว่าที่สำคัญภาพจะสวยไม่สวย  ปัจจัยที่ว่านั้นไม่ได้สำคัญอะไรมากนักหรอก   มันอยู่ที่ความรู้สึกที่เรามีเราผูกพันกับภาพนั้นต่างหาก 

ใช่แล้วน้องแมว.......

ภาพบางภาพจากบ้านเราแล้วแม้จะถ่ายด้วยกล้องดิจิตอลธรรมดาๆ 

คนอื่นดูแล้วก็อาจจะอย่างนั้นๆ

แต่เรากลับชอบมัน ผูกพันกับมัน  ดูแล้วดูอีก...

โดยเฉพาะภาพจากภูพานบ้านเราแล้ว   ดูอย่างไร....

ดูเมื่อไหร่ก็สวย......

เพ่งมองภาพทีไรก็จะเห็นได้ถึงภาพซ้อนจากภาพถึงข้างหลังของภาพ

 เป็นภาพแห่งความทรงจำอันงดงาม

สำคัญที่สุดคือได้เห็น "จิตวิญญาณ" ของภาพ ที่ผู้ถ่ายได้บันทึกไว้ในภาพนั่นเองที่ทำให้ภาพมีความ "สวยสมบูรณ์" เต็มความหมาย กับคน "ผู้ไท"บ้านเดียวกัน

หมายเลขบันทึก: 323163เขียนเมื่อ 26 ธันวาคม 2009 14:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

เสียงครวญจากคนภูไท ไกลบ้าน ดังมาถึง ศาลายา พุทธมณฑล เลยทีเดียวครับ..

ผมเองก็คิดถึงเมืองปายใจจะขาด แต่ช่วงปีใหม่นี้ ยังไม่กลับครับ เพราะคนมากมายเหลือเกินไปที่นั่น เอาไว้หลังปีใหม่ จะกลับไปบ้านครับ...

สวัสดีปีใหม่ผู้บ่าวภูไท คนไกลบ้าน ครับ

ผมควรเขียนว่า "ภูไท" หรือ "ผู้ไท" ครับ ถึงจะถูก ???

  • สวัสดีค่ะ
  • ออนซอนถิ่นอิสานบ้านเฮามากๆค่ะ
  • สุขสันต์วันปีใหม่ค่ะ

สวัสดีครับอ.เอก  ขอบคุณครับ

"ภูไท" เป็นการสะกดตามภาษาพูด ตามสำเนียงของคนท้องถิ่น

"ผู้ไท"  เป็นภาษาเขียนครับ สะกดตามความหมาย ตามเจตนารมณ์ของคำ

"ผู้" คือ คน

"ไท" คือชื่อกลุ่มชาติพันธ์ ซึ่งมีการเรียกตัวเองว่า "ไท"หรือ "ไต" ไม่เกี่ยวกับ "ไทย"นะครับนั่นเป็น "สยาม" "ผู้ไท"เป็นกลุ่มชาติพันธ์ย่อยหนึ่งมีลักษณะร่วมทางกับชาติพันธ์ "ไท_ลาว"(เครือชาติพันธ์ใหญ่ของสายวัฒนธรรมนำเต้าปูง)

คนที่เรียกตัวเองว่า "ผู้ไท" มี "ผู้ไทดำ"(คนสยามเรียกลาวโซ่ง) "ผู้ไทขาว" และ"ผู้ไท"มีภาษา วัฒนธรรมคล้ายกัน ผูกพันกันด้วยวัฒนธรรม "แถน"(หรืออารยธรรม "แถน")

เรียกอย่างไรถูกทั้งนั้นครับอ.เอก  หากเรียกในระดับท้องถิ่นก็เรียก "ภูไท"ได้ครับ  แต่หากเป็นวงกว้างแล้วควรเรียก "ผู้ไท"ครับ เพราะ "ผู้ไท"เป็นนานชาติครับ(ฮาๆๆ)มีคน "ผู้ไท"อยู่ในหลายประเทศ ที่มากที่สุดน่าจะในเวียดนามครับ(ไม่มีข้อมูลยืนยัน)ในประเทศต่างๆพวกเราก็เรียกตัวเองว่า "ผู้ไท"ครับ

สวัสดีปีใหม่ครับ คุณpa_dang

  • ขอบคุณครับ
  • เป็นบันทึกของคนไกลบ้าน ไกลถิ่น กับความทรงจำเก่าๆ
  • ได้เขียนเรื่องเก่าๆแล้วรู้สึกว่าโล่ง..มันอยู่ข้างในมานาน
  • เหมือนเป็นการปลดปล่อยตัวเองอย่างหนึ่งครับคุณpa_dang

ภูพานสะอื้น หวังยุพิน คืนถิ่นภูไท

เป็นเพลงที่ไพเราะ เปี่ยมความหมาย ออดอ้อนสาวได้ หวานซะค่ะ

ตอนนี้ เมืองไทยสะอื้น หวังพี่น้องกลับใจ จะมีหวังบ้างไหมหนา  ;)

ท่านเทพฯ สบายดีนะคะ ตอนนี้ชีพจรลงเท้าแถวไหนคะ ถ้าอยู่กรุง

รักษาเนื้อ รักษาตัว ...  ส่งกำลังใจให้ การงานคลี่คลาย นะคะ

 

สวัสดีครับคุณปูP

  • ย้อนมาเยี่ยมไกลเลยนะครับคุณปู
  • อยู่ในใจเสมอ..ตั้งใจจะบันทึกต่อ
  • เดินทางมาเชียงใหม่ตั้งแต่เมื่อวานตอนเย็นๆ  เกือบตกเครื่องครับ กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใกล้ๆสนามบินดอนเมือง
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะท่านเทพฯ

เชิญไปฟังเพลง ค่ะ http://gotoknow.org/blog/nareanpunyaah/387861

รอเก็บตกอ่านบันทึก เดินทางปลอดภัยนะคะ 

สวัสดีครับคุณปู
กลับมาจากชัยภูมิเมื่อคืนตอนดึ
........ 
ไปแวะฟังเพลง "หนาวลมที่เรณู" กับคุณอิงจันทร์ ที่เรือนปั้นหยา มาแล้วครับ
เป็นเพลงชอบมาก เป็นเพลงประจำตัวเพลงหนึ่ง

คู่กับเพลงตะวันรอนที่หนองหาน...หนองหานวิมานร้าง
เมืองเว เรณูนครในจินตนาการและในอดีตนั้นงดงาม รุ่งเรือง คึกคัก
ผ่านเมืองเว เรณูวันนี้ดูเงียบเหงา  .... 
คิดถึงเรณูที่ไร ...ความรู้สึกนึกย้อนเปรียบเปรยเหมือนได้อ่านตำนาน
เจ้าจันทร์ผมหอมกับพระธาตุอินทร์แขวน อย่างไรอย่างนั้น
            
                          
 
ในช่วงเวลาที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
การเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง การเปลี่ยนแปลงของผู้คน...
ต้องทำใจยอมรับซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้แก่นสารของชีวิต
จะเกิดขึ้นกับใคร ที่ใด  เมื่อไหร่ ก็ได้   
ฟังเพลงแล้วได้แต่หวนรำลึกถึงความรู้สึกที่ดีๆ ครั้นเก่าเมื่อวันวาน
 
......."เจ้าจันทร์แก้วยื่นฟ้า เจ้างามหล้าลือโลกโศกหมอง พระธาตุอินทร์แขวนหมายแทนเอาเป๋นพระธาตุประจำปีเกิด วาดไว้ว่าสูงเลิศส่งลอยทะลุอกฟ้า มาเห็นกับตา พระธาตุแก้วหล้าเก่าหมองเป็นแต่ก้อนหินหัวล้าน คราบไคลแลตะใคร่เกาะกินจนเนื้อหินแปดเปื้อน องค์พระธาตุก็เล็กน้อยนัก บ่สมฝีมือพระอินทร์เจ้าฟ้าก่อเสริมอยู่เหนือหินสูงสักสองสามวาเท่านั้น อิฐปูนกระเทาะแตก ยอดฉัตรปลายแฉกก็เศร้าหมอง บ่เหมือนดั่งทองต้องแดดตามที่ได้เห็น ช่อธงหักเหี้ยน กาฝากและรากไม้ก็เจาะไชจนฐานพระธาตุปริร้าว...
( " เจ้าจันทร์ผมหอม นิราศพระธาตุอินทร์แขวน หน้า105")
 
นึกถึงนานมาแล้วเกือบสามสิบปีได้  ได้อ่านงานของกรมพระยาดำรง  ในเรื่องบันทึกการเสด็จเยือนมณฑลลาว(ครั้งแรกสมัย ร.5)
 
......มาถึงบ้านเมืองหนึ่ง เป็นที่อัศจรรย์ใจยิ่งนัก ดูผู้คนในบ้านเรือนชนบทแต่การแต่งกายของผู้คนกลับสวยสดงดงามยิ่งนัก การแต่งกายของผู้คนในราชสำนักบางกอกก็มิอาจเทียบได้
      บอกว่าชื่อเมืองเว  ผู้คนอพยพมาจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง  ถิ่นฐานเดิมมาจากเมืองแถน ถามว่าทำไมผู้คนถิ่นฐานนี้ทำไมจึงได้มั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์ ตอบว่าผู้คนบ้านเมืองนี้นอกจากทำกสิกรรมแล้วยังทำมาค้าขาย..ไปถึงเมืองมะละแม่งไกลโพ้น
...จึงตั้งชื่อเมืองนี้ใหม่ เป็นเมือง เรณูนคร
(นานมาแล้วจำได้นิดหน่อย) 
ยินดีครับ  ที่มีเพื่อนที่มีความผูกพัน  มีความทรงจำที่ดีๆ ที่มีให้กับเรณุนคร
ในวันนี้
ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะท่านเทพฯ

ช่วงไปทำงานอิสาน อยากจะไปภูพานแต่เส้นทางไม่อำนวย ขอลงบัญชีไว้ก่อนค่ะ ;)

อาการป่วยหายสนิทแล้วไหมคะ ฝนตกไหมคะที่นั่น ด้วยระลึกค่ะ

การเปลี่ยนแปลงของผู้คน...
ต้องทำใจยอมรับซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้แก่นสารของชีวิต
จะเกิดขึ้นกับใคร ที่ใด  เมื่อไหร่ ก็ได้   

สวัสดีครับคุณปูIco32

  • ย้อนมาไกลเลยทีเดียว..ทำให้รำลึกความหลัง
  • สบายดีแล้วครับ
  • พึ่งกลับจากเชียงใหม่
  • คุณปูค้างบัญชีไว้ที่อิสาน....ภูพาน ผมอยากแนะนำไปหน้าหนาว
  • แถบภูพานมีที่ให้พักใจ  มีวัดดีๆ  มีสถานฝึกปฏิบัติธรรมเยอะเลย
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท