CBNA ฉบับที่ 43 :“ไทยจะเข้มแข็ง” ได้อย่างไร ? ถ้าสุขภาพ “คนในไทย” ยังอ่อนแอ


หรือเอาเข้าจริงแล้วกล่าวให้ถึงที่สุด คำตอบสุดท้ายที่ให้แม่ไป ก่อนจบการสนทนายาวๆบทนี้ คือ “เราก็ปล่อยเรื่องนี้ให้จบๆ ไป คนไทยลืมง่ายจะตาย เคอิโงะผ่านไป หม่องผ่านมา คนไร้สัญชาติก็เหมือนสายลมที่เย็นเพียงชั่ววูบชั่วครั้งชั่วคราว ช่างมัน ปล่อยให้ “ไทยเข้มแข็ง” กลายเป็น “ไทยอ่อนแอ” เพราะ “คนในไทย” เข้าไม่ถึงการบริการสุขภาพ”

ฉบับที่ 43 (3 ตุลาคม 2552)

 



“ไทยจะเข้มแข็ง” ได้อย่างไร ? ถ้าสุขภาพ “คนในไทย” ยังอ่อนแอ

 

 



บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ 

 

 

 


 

เมื่อวานนี้แม่ของคนที่อยู่บ้านเดียวกันโทรมาตัดพ้อด้วยน้ำเสียงแบบ “ใยมนุษย์ ! ช่างต่างกันเยี่ยงนี้” แม่เป็นข้าราชการบำนาญฉะนั้นเวลาแม่ไปรักษาอาการเจ็บป่วยที่โรงพยาบาล แม่ก็จะได้รับการบริการจากเจ้าหน้าที่แบบ “ข้าราชการ” ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีและแม่พอใจ แต่เนื่องจากบ้านของแม่อยู่จังหวัดชายแดนไกลโพ้นจากเมืองหลวง เมืองที่ประกอบไปด้วย “คนไทย” แบบแม่ และ “คนไม่ไทย” แบบพ่อแม่ของเด็กๆ ในโรงเรียนที่แม่และพ่อเคยสอน  ทำให้เวลาแม่ไปโรงพยาบาลคราใด แม่ถึงไม่สบอารมณ์เสียทุกครั้ง ที่เห็นความแตกต่างในการบริการทางสาธารณสุขแบบนี้ เพราะ “คนไม่ไทย” ถูกมองว่าเป็น “ภาระของโรงพยาบาล” บางคราแม่แอบพูดเล่นๆ แต่ดูจริงจังว่า “ถ้าไม่มีไออาร์ซี คนเหล่านี้จะอยู่กันอย่างไร?”

 

 

 



พอๆกับที่ในห้วงเวลาเดียวกัน รัฐบาลไทยภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ ได้จัดทำโครงการ “ปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง” เมื่อกันยายน 2552 ครอบคลุมใน 14 สาขา หนึ่งในนั้นคือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสาธารณสุข ที่จังหวัดของแม่ได้รับงบประมาณจัดสรรด้านนี้รวม 42.24 ล้านบาท เพื่อจัดทำโครงการ 3 ด้าน ได้แก่ โครงการสนับสนุนการปฏิบัติงานของเครือข่ายบริการทุกระดับ (17.64 ล้าน) เป็นการสร้างอาคารพักแพทย์ สร้างบ้านพักข้าราชการ และจัดซื้อรถโดยสารและรถบรรทุก, โครงการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (12.60 ล้าน) เป็นการพัฒนาสถานีอนามัยให้เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล และ โครงการพัฒนาระบบบริการระดับตติยภูมิ (12 ล้าน) เป็นการสร้างอาคารผู้ป่วยที่พร้อมให้บริการระดับสูง

 

 

 

 

แม่ได้ยินได้ฟังการทำโครงการแบบนี้แล้วรู้สึกไม่สบายใจ แม้รู้ว่าเงินกู้ก้อนนี้รัฐบาลกู้มาเพียงเพื่อพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเท่านั้นก็ตาม แต่ก็ยังรู้สึกว่าเงินกว่า 42 ล้านนี้ น่าจะทำอะไรได้เป็นประโยชน์มากกว่า แม่แลกเปลี่ยนกับลูกต่อว่า “ทำไมรัฐบาลถึงเชื่อว่า การสร้างสถานที่ดีๆ มีเครื่องมือเพียบพร้อม จะทำให้การบริการสาธารณสุขดีไปด้วย ในเมื่อทุกวันนี้ยังมีคนจำนวนมากเข้าไม่ถึงการบริการ แล้วการมีสถานที่ดีๆ เครื่องมือดีๆ จะแก้ปัญหาการเจ็บป่วยได้อย่างไร จะรักษาเฉพาะคนไทยเท่านั้นเหรอ แล้วพวกคนนอกล่ะ จะไม่รักษาหรือไง คนนอกไม่เจ็บป่วยหรือไง แม่ไม่เข้าใจจริงๆ ทำไมไม่ทำให้คนนอกเข้าถึงการบริการ มันน่าจะแก้ปัญหาสุขภาพได้ดีกว่า ทุกวันนี้เมืองนี้ก็แบกภาระค่ารักษาปีละกว่า 40 ล้านแล้ว ยังจะเอาเงินมาสร้างตึกอยู่อีกหรือไง”

 

 




อย่างที่บอกไปแล้วว่าเมืองที่แม่อยู่ประกอบไปด้วย “คนไทย” และ “คนไม่ไทย” แต่หลายคนแม่บอกว่า “คนไม่ไทย” เหล่านั้น ก็คือ คนไทยนั่นเอง แต่เป็นคนไทยที่ไม่ถูกนับอยู่ในสารบบของรัฐไทย หลายคนก็เกิดในประเทศไทย บรรพบุรุษก็อพยพมาอยู่ที่นี่หลายร้อยปีมาแล้ว พ่อแม่ของเด็กๆจำนวนมากก็เกิดในประเทศไทย พูดภาษาไทย เรียนภาษาไทย แล้วคนเหล่านี้ไม่ใช่ “คนไทย” หรืออย่างไร ความเป็นไทยอยู่ในกระดาษ อยู่ในฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรที่ประทับตรากรมการปกครองเท่านั้นหรือ แม่รู้ดีว่าบ้านของแม่อยู่ไกลโพ้น ระยะทางและความห่างไกลจากเมืองหลวงคณานับ พื้นที่สลับซับซ้อนแบบป่าเขาเนินดอย ทุรกันดาร หลายตำบลที่แม้อยู่สังกัดอำเภอเมืองในรัศมีเพียงห้าสิบกิโลเมตร แต่กว่าจะเดินทางเข้าไปถึงก็กินเวลาแรมวันแรมคืน ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ “คน ไทยในสายตาแม่” ถึงตกสำรวจ การตกสำรวจ “ความเป็นคนไทย” มาพร้อมกับ “การเข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุข” ที่แม่คิดว่าไม่เกี่ยวกันและไม่ควรนำมาปะปนกัน

 

 

 

 

 

ปัจจุบันนี้ประเทศไทยมีระบบสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาล 3 ระบบ คือ ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า (30 บาทรักษาทุกโรค) , ระบบประกันสังคม/กองทุนเงินทดแทน และ ระบบการรักษาพยาบาลข้าราชการ/ข้าราชการบำนาญ/รัฐวิสาหกิจ ซึ่งทั้ง 3 ระบบต่างมุ่งให้ประชาชนในประเทศมีสุขภาพดี สังคมน่าอยู่มากขึ้น

 

 

 

 

อ่านต่อทั้งหมด click : 

http://gotoknow.org/file/ngaochan/CBNA_43.pdf

 

หมายเลขบันทึก: 322930เขียนเมื่อ 25 ธันวาคม 2009 19:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 11:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท